พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
07/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522
___________________________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2522
เป็นปีที่ 34 ในรัชกาลปัจจุบัน


        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัตินี้ไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภาดังต่อไปนี้


        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครคิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522


        มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ และประกาศอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน


        มาตรา 3 ทวิ พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในเคหสถาน สิทธิในทรัพย์สินของบุคคล และเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคสองมาตรา 48 และมาตรา 50 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        ธุรกิจเงินทุน หมายความว่า ธุรกิจการจัดหามาซึ่งเงินทุนและใช้เงินนั้นในการประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งจำแนกประเภทได้ดังต่อไปนี้

        (1) กิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์

        (2) กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา

        (3) กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภค

        (4) กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ

        (5) กิจการเงินทุนอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        กิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ หมายความว่า กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และให้กู้ยืมเงินระยะสั้น รวมทั้งการเป็นผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้สอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินเป็นทางค้าปกติ

        กิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนา หมายความว่า กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และให้กู้ยืมเงินระยะปานกลาง หรือระยะยาวแก่กิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือพาณิชยกรรมเป็นทางค้าปกติ

        กิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภค หมายความว่ากิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชน และทำการดังต่อไปนี้ เป็นทางค้าปกติ

        (1) ให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ใช้เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าโดยชำระราคาเป็นงวด ๆ หรือโดยให้เช่าซื้อ

        (2) ให้กู้ยืมเงินแก่ประชาชน เพื่อให้ใช้ในการซื้อสินค้าจากกิจการที่มิใช่ของตนเอง

        (3) ให้ประชาชนเช่าซื้อสินค้าที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากกิจการซึ่งจำหน่ายสินค้านั้นเมื่อได้ตกลงจะให้เช่าซื้อ หรือให้ประชาชนเช่าซื้อสินค้าซึ่งยึดได้จากผู้เช่าซื้อรายอื่น

        (4) รับโอนโดยมีค่าตอบแทนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการจำหน่ายสินค้า

        กิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ หมายความว่า กิจการจัดหาเงินทุนจากประชาชนและทำการดังต่อไปนี้ เป็นทางค้าปกติ

        (1) ให้กู้ยืมเงินแก่ประชาชนเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและหรือบ้านที่อยู่อาศัย

        (2) ให้กู้ยืมเงินเพื่อใช้ในการจัดหาที่ดินและหรือบ้านที่อยู่อาศัยสำหรับจำหน่ายแก่ประชาชนหรือให้ประชาชนเช่าซื้อ หรือ

        (3) จัดหาที่ดินและหรือบ้านที่อยู่อาศัยมาจำหน่ายแก่ประชาชนรวมทั้งให้ประชาชนเช่าซื้อ

        จัดหาเงินทุนจากประชาชน หมายความรวมถึง กู้ยืมเงินหรือรับฝากเงินจากประชาชนด้วย

        บัตรเงินฝาก หมายความว่า ตราสารซึ่งเปลี่ยนมือได้ที่บริษัทเงินทุนออกให้แก่ผู้ฝากเงินเพื่อเป็นหลักฐานการรับฝากเงิน และเพื่อแสดงสิทธิของผู้ทรงตราสารที่จะได้รับเงินฝากคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ โดยจะมีการกำหนดดอกเบี้ยไว้ด้วยหรือไม่ก็ได้

        ให้กู้ยืมเงิน เฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกิจเงินทุน หมายความรวมถึงรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงิน ตราสารเปลี่ยนมืออื่น หรือตราสารการเครดิต

        ให้กู้ยืมเงินระยะสั้น หมายความว่า ให้กู้ยืมเงินมีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันให้กู้ยืม

        ให้กู้ยืมเงินระยะปานกลาง หมายความว่า ให้กู้ยืมเงินมีกำหนดชำระคืน เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้เกินหนึ่งปี แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันให้กู้ยืม

        ให้กู้ยืมเงินระยะยาว หมายความว่า ให้กู้ยืมเงินมีกำหนดชำระคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้เกินห้าปีนับแต่วันให้กู้ยืม

        เงินกองทุน หมายความว่า

        (1) ทุนชำระแล้วซึ่งรวมทั้งส่วนล้ำมูลค่าหุ้นที่บริษัทได้รับ และเงินที่บริษัทได้รับจากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของบริษัทนั้น

        (2) ทุนสำรอง

        (3) เงินสำรองที่ได้จัดสรรจากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นงวดการบัญชีตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นหรือตามข้อบังคับของบริษัท แต่ไม่รวมถึงเงินสำรองสำหรับการลดค่าของสินทรัพย์และเงินสำรองเพื่อการชำระหนี้

        (4) กำไรสุทธิคงเหลือหลังจากการจัดสรร

        (5) เงินสำรองจากการตีราคาสินทรัพย์ เงินสำรองอื่น และ

        (6) เงินที่บริษัทได้รับเนื่องจากการออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้ระยะยาวเกินห้าปีที่มีสิทธิด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญ

        เงินกองทุนตาม (1) (2) (3) และ (4) ให้หักผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในทุกงวดการบัญชีออกก่อน และให้หักค่าแห่งกู๊ดวิลล์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

        ชนิด ประเภท และการคำนวณเงินกองทุนตาม (5) หรือ (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

        เงินกองทุนตาม (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ให้หักเงินตามตราสารใน (6) ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทอื่นที่บริษัทนั้นถือไว้และสินทรัพย์อื่นใด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

        หลักทรัพย์ หมายความว่า

        (1) ตั๋วเงินคลัง

        (2) พันธบัตร

        (3) หุ้นหรือหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้นหรือหุ้นกู้ ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงการเข้าชื่อซื้อหุ้นหรือหุ้นกู้

        (4) ใบสำคัญแสดงสิทธิในเงินปันผลหรือดอกเบี้ยจากหลักทรัพย์

        (5) ตราสารหรือหลักฐานแสดงสิทธิในทรัพย์สินของโครงการลงทุนซึ่งผู้ประกอบกิจการจัดการลงทุนไม่ว่าในหรือนอกประเทศเป็นผู้ออก

        (6) ตราสารอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หมายความว่า ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ประเภท ดังต่อไปนี้

        (1) กิจการเครดิตฟองซิเอร์

        (2) กิจการรับซื้อฝาก

        (3) กิจการอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        กิจการเครดิตฟองซิเอร์ หมายความว่า กิจการให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าปกติ

        กิจการรับซื้อฝาก หมายความว่า กิจการรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาขายฝากเป็นทางค้าปกติ

        บริษัทจำกัด หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด

        บริษัท หมายความว่า บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์

        บริษัทเงินทุน หมายความว่า บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุน

        บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หมายความว่า บริษัทจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

        สำนักงานสาขา หมายความรวมถึง สำนักงานใด ๆ ซึ่งแยกออกจากสำนักงานใหญ่ของบริษัทไปประกอบการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของบริษัท

        ใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

        ผู้จัดการ หมายความรวมถึงรองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นด้วย

        สถาบันการเงิน หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน

        พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีหรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา 5 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น


        มาตรา 6 รัฐมนตรีจะมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

        การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 6 ทวิ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

        ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งมีหน้าที่ให้คำเสนอแนะต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ในการออกข้อกำหนด และการดำเนินมาตรการใด ๆ ที่เป็นอำนาจหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา 7 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจ

        (1) แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่

        (2) ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

        (3) ออกกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นใดให้เป็นธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

        (4) ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการหรือแบบบัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่

        (5) ออกประกาศตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้

        ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงตาม (3) ให้ระบุความหมายของกิจการที่กำหนดด้วยและจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบกิจการนั้นไว้ด้วยก็ได้

        กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด 1 การจัดตั้งบริษัทและการขอรับใบอนุญาต

______________________


        มาตรา 8 การประกอบธุรกิจเงินทุน หรือการประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ จะกระทำได้ต่อเมื่อได้จัดตั้งในรูปบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และโดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี

        การจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ตามวรรคหนึ่งและวรรคสองจะดำเนินการได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีในการให้ความเห็นชอบ รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        การควบบริษัทเข้ากันให้ถือว่าเป็นการจัดตั้งบริษัทจำกัด

        การขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา 9 ในการออกใบอนุญาตตามมาตรา 8 รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        เงื่อนไขที่กำหนดในวรรคหนึ่ง เมื่อรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชน รัฐมนตรีจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมก็ได้ และจะกำหนดให้เงื่อนไขที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมนั้นมีผลบังคับเมื่อระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่งได้ล่วงพ้นไปแล้วก็ได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี


        มาตรา 10 บริษัทอาจมีสำนักงานสาขาได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

        การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด

        ในการอนุญาต รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้


        มาตรา 10 ทวิ ผู้ใดจะกระทำการแทนบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศโดยมีสำนักงานติดต่อกับบุคคลทั่วไปในราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

        มิให้นำมาตรา 13 และมาตรา 52 มาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง

 

[แก้ไข]
หมวด 2 บริษัทเงินทุน

_____________________


        มาตรา 11 ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากบริษัทเงินทุนประกอบธุรกิจเงินทุน


        มาตรา 12 บริษัทเงินทุนต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า บริษัทเงินทุน นำหน้าและ จำกัด ต่อท้าย


        มาตรา 13 ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากบริษัทเงินทุนใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า เงินทุน การเงิน การลงทุน เครดิต ทรัสต์ ไฟแนนซ์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์หรือสำนักงานที่กระทำการแทนธนาคารต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์


        มาตรา 14 บริษัทเงินทุนต้องมีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วตามจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า หกสิบล้านบาท

        หุ้นบริษัทเงินทุนที่บุคคลหรือห้างหุ้นส่วนดังต่อไปนี้ถืออยู่ให้นับรวมเป็นหุ้นของบุคคลตามวรรคสองด้วย

        (1) คู่สมรสของบุคคลตามวรรคสอง

        (2) บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคสอง

        (3) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลตามวรรคสองหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วน

        (4) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลตามวรรคสองหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของหุ้นทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น

        (5) บริษัทจำกัดที่บุคคลตามวรรคสองหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (3) หรือ (4) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น หรือ

        (6) บริษัทจำกัดที่บุคคลตามวรรคสองหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (3) หรือ (4) หรือบริษัทจำกัดตาม (5) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น


        มาตรา 15 ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนใดจำหน่ายหุ้นของบริษัทเงินทุนนั้นอันจะทำให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งถือหุ้นเกินอัตราที่กำหนดตามมาตรา 14


        มาตรา 16 หุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของบริษัทเงินทุนต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อผู้ถือมีมูลค่าของหุ้นไม่เกินหุ้นละหนึ่งร้อยบาท และข้อบังคับของบริษัทเงินทุนต้องไม่มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น เว้นแต่เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด


        มาตรา 17 บริษัทเงินทุนต้องมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และต้องมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนนั้น รัฐมนตรีด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจผ่อนผันให้มีจำนวนผู้ถือหุ้นหรือกรรมการเป็นอย่างอื่นได้ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้


        มาตรา 18 เมื่อปรากฏว่าการได้มาซึ่งหุ้นของบริษัทเงินทุนเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดถือหุ้นเกินจำนวนที่จะถือได้ตามมาตรา 14 บุคคลนั้นจะยกเอาการถือหุ้นในส่วนที่เกินจำนวนดังกล่าวขึ้นใช้ยันต่อบริษัทเงินทุนนั้นมิได้ และบริษัทเงินทุนนั้นจะจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอย่างอื่นให้แก่บุคคลนั้นหรือให้บุคคลนั้นออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมของผู้ถือหุ้นตามจำนวนหุ้นในส่วนที่เกินมิได้


        มาตรา 19 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามมาตรา 14 วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 17 และมาตรา 18 ให้บริษัทเงินทุนตรวจสอบทะเบียนผู้ถือหุ้นทุกคราวก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นและก่อนจ่ายเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นใด แล้วแจ้งผลการตรวจสอบต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามรายการและภายในเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และในกรณีที่พบว่าผู้ถือหุ้นรายใดถือหุ้นเกินจำนวนที่กำหนดในมาตรา 14 ให้บริษัทเงินทุนแจ้งให้ผู้นั้นทราบเพื่อดำเนินการจำหน่ายหุ้นที่เกินนั้นเสีย


        มาตรา 20 ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนกระทำการดังต่อไปนี้

        (1) ลดทุนหรือเพิ่มทุนโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        (2) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่

(ก) เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับเป็นที่พัก หรือเพื่อสวัสดิสงเคราะห์ของพนักงานและลูกจ้างของบริษัทเงินทุนนั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(ข) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนได้มาจากการชำระหนี้การประกันการให้กู้ยืมเงิน หรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่รับจำนองไว้จากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่ต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในสามปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกมาเป็นของบริษัทเงินทุน หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ
(ค) เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเงินทุนประเภทกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะมีไว้เพื่อประกอบธุรกิจนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        ในการอนุญาตตาม (ก) หรือ (ข) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        (3) รับหุ้นของบริษัทเงินทุนนั้นเป็นประกัน หรือรับหุ้นของบริษัทเงินทุนจากบริษัทเงินทุนอื่นเป็นประกัน

        (4) ซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดใดเป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้ความเห็นชอบธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        (5) ซื้อหรือมีหุ้นบริษัทเงินทุนอื่น เว้นแต่

(ก) เป็นการได้มาจากการชำระหนี้ หรือการประกันการให้กู้ยืมเงิน แต่ต้องจำหน่ายภายในเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ได้มา
(ข) เป็นการได้มาเนื่องจากการประกอบธุรกิจอื่นที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี หรือ
(ค) เป็นการได้มาโดยได้รับผ่อนผันจากรัฐมนตรีด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการผ่อนผันนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

        (6) ประกอบกิจการอื่นใดนอกจากธุรกิจเงินทุนในประเภทที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ในการอนุญาตนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

        สำหรับบริษัทเงินทุนที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพัฒนาให้ได้รับยกเว้นที่จะประกอบการดังต่อไปนี้ได้ด้วย

(ก) การเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการจัดหาเงินกู้ยืมหรือเงินลงทุนให้แก่กิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือพาณิชยกรรม หรือการจัดการเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินแก่หรือการลงทุนในกิจการดังกล่าว
(ข) การให้บริการจัดทำหรือวิเคราะห์โครงการเพื่อการลงทุน
(ค) การเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเงินหรือการดำเนินงานของกิจการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือพาณิชยกรรม
(ง) การเป็นที่ปรึกษาในการจัดซื้อกิจการหรือการจัดการควบธุรกิจเข้าด้วยกัน

        สำหรับบริษัทเงินทุนที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการเงินทุน เพื่อการพาณิชย์ให้ได้รับยกเว้นที่จะประกอบธุรกิจการค้ำประกันได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

         (7) ให้กรรมการของบริษัทเงินทุนนั้นกู้ยืมเงิน

        การกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการให้กรรมการนั้นกู้ยืมเงินด้วย

(ก) การให้กู้ยืมเงินแก่คู่สมรสหรือบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการ
(ข) การให้กู้ยืมเงินแก่ห้างหุ้นส่วนสามัญที่กรรมการหรือบุคคลตาม (ก) เป็นหุ้นส่วน
(ค) การให้กู้ยืมเงินแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่กรรมการหรือบุคคลตาม (ก) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น
(ง) การให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทจำกัดที่กรรมการหรือบุคคลตาม (ก) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ข) หรือ (ค) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น
(จ) การให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทจำกัดที่กรรมการหรือบุคคลตาม (ก) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ข) หรือ (ค) หรือบริษัทจำกัดตาม (ง) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น
(ฉ) การรับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงินที่กรรมการหรือบุคคลตาม (ก) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ข) หรือ (ค) หรือบริษัทจำกัดตาม (ง) หรือ (จ) เป็นผู้สั่งจ่าย หรือผู้ออกตั๋ว หรือผู้สลักหลัง
(ช) การประกันหนี้ใด ๆ ของกรรมการหรือบุคคลตาม (ก)หรือห้างหุ้นส่วนตาม (ข) หรือ (ค) หรือบริษัทจำกัดตาม (ง) หรือ (จ)

        (8) ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาของบริษัทเงินทุนโดยมิได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตนั้นจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้

        (9) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นแก่กรรมการ พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทเงินทุนนั้นเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับหรือเนื่องจากการกระทำหรือการประกอบธุรกิจใด ๆ ของบริษัทเงินทุนนั้น ทั้งนี้ นอกจากบำเหน็จเงินเดือน รางวัล และเงินเพิ่มอย่างอื่นบรรดาที่พึงจ่ายตามปกติ

        (10) ขายหรือให้อสังหาริมทรัพย์ใด ๆ หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดแก่กรรมการ หรือซื้อทรัพย์สินจากกรรมการ ทั้งนี้ รวมถึงบุคคลตาม (ก) ห้างหุ้นส่วนตาม (ข) หรือ (ค) หรือบริษัทจำกัดตาม (ง) หรือ (จ) ของ (7) วรรคสองด้วย เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย

        (11) โฆษณากิจการของบริษัทเงินทุนนั้น เว้นแต่การโฆษณานั้นจะได้กระทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

        (12) ทำสัญญาหรือยินยอมให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่กรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานของบริษัทเงินทุนมีอำนาจทั้งหมดหรือบางส่วนในการบริหารงานของบริษัทเงินทุน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย

        (13) กระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือแก่ประโยชน์ของประชาชนหรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรมหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือต่อการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินหรือเป็นการผูกขาดหรือจำกัดตัดตอนทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 21 เมื่อมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ ให้บริษัทเงินทุนแจ้งแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่มีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น

        (1) การแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ หรือข้อบังคับของบริษัทเงินทุน

        (2) การเปลี่ยนแปลงกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุน


        มาตรา 22 ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงาน หรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทเงินทุน

        (1) เป็นหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลาย

        (2) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต

        (3) เคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับยกเว้นจากธนาคารแห่งประเทศไทย

        (4) เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุนอื่น

        (5) ถูกถอดถอนจากการเป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้จัดการ ตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 57 ทวิ (1)

        (6) เป็นข้าราชการการเมือง

        (7) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย เว้นแต่

(ก) เป็นกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีเพื่อเข้าไปช่วยเหลือในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุน หรือ
(ข) เป็นกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 57 ทวิ (2)

        (8) เป็นผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัดซึ่งตนหรือบุคคลหรือห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัดตามมาตรา 20 (7) วรรคสอง เป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นอยู่ เว้นแต่

(ก) เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของบริษัทเงินทุนซึ่งไม่มีอำนาจในการจัดการ
(ข) เป็นกรณีที่ได้รับยกเว้นจากรัฐมนตรีเพราะมีเหตุจำเป็นต้องแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทเงินทุน
(ค) เป็นกรณีที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 57 ทวิ (2)

        (9) เป็นบุคคลซึ่งมิได้มีคุณวุฒิทางการศึกษา ประสบการณ์ในการทำงาน หรือคุณสมบัติอื่น ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        (10) มีลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        บริษัทเงินทุนจะแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทเงินทุน หรือทำสัญญาให้บุคคลอื่นมีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารงานของบริษัทเงินทุนได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ความเห็นชอบมิได้ และในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่าบุคคลดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่ง ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิกถอนความเห็นชอบที่ได้ให้ไว้แล้ว และให้บริษัทเงินทุนเสนอชื่อบุคคลอื่นแทนเพื่อขอความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนความเห็นชอบ

        ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่บุคคลซึ่งบริษัทเงินทุนทำสัญญาให้มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารงานของบริษัทเงินทุนนั้น ตลอดจนผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่บุคคลนั้นด้วยโดยอนุโลม


        มาตรา 22 ทวิ ให้บริษัทเงินทุนจัดทำบัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินให้ครบถ้วนถูกต้องเป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง บัญชีนั้นให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด


        มาตรา 22 ตรี ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติเกี่ยวกับการรับหรือจ่ายเงิน การทำนิติกรรมใด ๆ ตลอดจนการตรวจสอบและควบคุมภายในได้


        มาตรา 23 ให้บริษัทเงินทุนประกาศงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่แล้วภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นปีธุรกิจของบริษัทเงินทุน ตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของบริษัทเงินทุนนั้น และในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับภายในยี่สิบเอ็ดวันนับจากวันที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ ทั้งนี้ เว้นแต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น และให้เสนอต่อรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยแห่งละหนึ่งฉบับ

        ให้บริษัทเงินทุนประกาศรายการหรือเปิดเผยข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับบริษัทเงินทุนนั้นตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดประกาศรายการหรือข้อมูลดังกล่าวให้แสดงไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของบริษัทเงินทุนนั้น และให้รายงานต่อรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยทราบพร้อมด้วยสำเนาประกาศรายการหรือข้อมูลที่เปิดเผยแห่งละหนึ่งฉบับ

        งบดุลตามวรรคหนึ่งจะต้องมีการรับรองของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีนั้นต้องเป็นผู้ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบทุกรอบปีบัญชี และต้องมิใช่กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทเงินทุนนั้น

        ผู้สอบบัญชีตามวรรคสาม ต้องรักษามารยาทและปฏิบัติงานการตรวจสอบ และรับรองบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี รวมทั้งมาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเพิ่มขึ้นด้วย ในกรณีที่บริษัทเงินทุนได้ทำเอกสารประกอบการลงบัญชีและหรือลงบัญชีไม่ตรงกับความเป็นจริง ให้ผู้สอบบัญชีเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของบัญชีและแจ้งพฤติการณ์ไว้ในรายงานการสอบบัญชีที่ตนจะต้องลงลายมือชื่อรับรองพร้อมทั้งรายงานพฤติการณ์นั้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบด้วย

        ผู้สอบบัญชีผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคสี่ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีผู้นั้นได้


        มาตรา 23 ทวิ ให้บริษัทเงินทุนปิดบัญชีทุกงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือน ถ้าบริษัทเงินทุนนั้นมีสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้หรือที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ ทั้งนี้ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ให้บริษัทเงินทุนนั้นตัดสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ดังกล่าวออกจากบัญชี หรือกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ดังกล่าวเมื่อสิ้นงวดการบัญชีนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น ในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ถ้านำสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ในส่วนที่ไม่ได้ตัดออกจากบัญชีหรือสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ในส่วนที่ไม่ได้กันเงินสำรองมาหักออกจากเงินกองทุนของบริษัทเงินทุนนั้นแล้ว หากปรากฏว่าเงินกองทุนที่คงเหลือมีจำนวนต่ำกว่าเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามมาตรา 29 ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดมาตรการใด ๆ ให้บริษัทเงินทุนนั้นถือปฏิบัติจนกว่าจะได้ตัดสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้นั้นหมดสิ้นไป หรือกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้นั้นครบจำนวนแล้ว


        มาตรา 23 ตรี รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยื่นรายงานเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทเงินทุนเป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะ โดยมีรายการและระยะเวลาตามที่กำหนด และจะให้ทำคำชี้แจงข้อความเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานนั้นก็ได้


        มาตรา 24 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้บริษัทเงินทุนบริษัทใดยื่นรายงานหรือแสดงเอกสารใด ตามระยะเวลาหรือเป็นครั้งคราวตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดก็ได้ และธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ทำคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความแห่งรายงานหรือเอกสารนั้นด้วยก็ได้

        รายงานและเอกสารที่ยื่นหรือแสดงหรือคำชี้แจงเพื่ออธิบายหรือขยายความตามวรรคหนึ่งบริษัทเงินทุนต้องทำให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริง


        มาตรา 25 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอ บริษัทเงินทุนต้องจัดให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้สอบบัญชีของบริษัทเงินทุนมาให้ถ้อยคำ หรือแสดงสมุดบัญชี เอกสารและหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการของบริษัทเงินทุนนั้นตามความประสงค์ของพนักงานเจ้าหน้าที่


        มาตรา 26 ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าบริษัทเงินทุนใด

        (1) จัดทำบัญชีไม่เรียบร้อยหรือไม่ทำให้เสร็จภายในเวลาอันสมควร

        (2) จัดความสัมพันธ์ของระยะเวลาการกู้ยืมเงินจากประชาชนกับระยะเวลาในการเรียกคืนเงินให้กู้ยืมหรือลงทุนไม่เหมาะสม

        (3) ให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่บริษัทเงินทุน กรรมการผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุนนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนนั้นใน ปริมาณเกินสมควร หรือมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษผิดไปจากปกติ หรือ

        (4) กระทำการหรือไม่กระทำการที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนรวม ดังต่อไปนี้

(ก) ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ได้ตามอัตราส่วนที่กำหนดเป็นเนืองนิจ
(ข) ให้กู้ยืมเงินเกินอัตราส่วนที่กำหนดหรือไม่มีหลักประกันเป็นปริมาณมาก
(ค) ไม่ตัดสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ออกจากบัญชีถึงขนาดที่จะกระทบกระเทือนถึงฐานะของบริษัทเงินทุนนั้น
(ง) ไม่กันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ถึงขนาดที่จะกระทบกระเทือนถึงฐานะของบริษัทเงินทุนนั้น
(จ) กระทำการหรือไม่กระทำการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้บริษัทเงินทุนนั้นแก้ไขการกระทำดังกล่าว หรือกระทำการ หรืองดกระทำการตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นสมควรภายในเวลาที่กำหนด

        บริษัทเงินทุนใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่สั่งการเมื่อมีกรณีตาม (4) ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานต่อรัฐมนตรีและให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งควบคุมบริษัทเงินทุนนั้นหรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยให้นำความในหมวด 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม


        มาตรา 26 ทวิ เมื่อบริษัทเงินทุนใดมีผลขาดทุนถึงจำนวนที่ทำให้เงินกองทุนลดลงเหลือสามในสี่ของทุนซึ่งชำระแล้ว ไม่ว่าโดยบริษัทเงินทุนนั้นตรวจพบเองหรือปรากฏจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี หรือของธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทเงินทุนนั้นจะกู้ยืมเงิน หรือรับเงินจากประชาชนต่อไปไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการให้ความเห็นชอบธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินหรือการลงทุน หรือเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        ถ้าผลขาดทุนตามวรรคหนึ่งทำให้เงินกองทุนลดลงเหลือไม่เกินกึ่งหนึ่งของทุนซึ่งชำระแล้ว ให้บริษัทเงินทุนนั้นเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อขอความเห็นชอบภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่บริษัทเงินทุนหรือผู้สอบบัญชีตรวจพบหรือวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้บริษัทเงินทุนนั้นทราบ ในการให้ความเห็นชอบธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้ และให้แจ้งให้บริษัทเงินทุนนั้นทราบโดยมิชักช้า

        ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้ความเห็นชอบในโครงการตามวรรคสอง บริษัทเงินทุนนั้นอาจอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง คำชี้ขาดของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

        ให้บริษัทเงินทุนที่มีผลขาดทุนตามวรรคสอง ระงับการดำเนินกิจการทันทีจนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะให้ความเห็นชอบในโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงาน หรือรัฐมนตรีจะได้มีคำชี้ขาดให้ดำเนินการตามโครงการนั้นได้ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ดำเนินกิจการบางอย่างได้

        ในกรณีที่บริษัทเงินทุนต้องดำเนินการลดทุนหรือเพิ่มทุนตามโครงการที่รับความเห็นชอบตามวรรคสองหรือตามคำชี้ขาดตามวรรคสาม มิให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วของบริษัทเงินทุน และมาตรา 1222 มาตรา 1224 มาตรา 1225 และมาตรา 1226 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 139 มาตรา 140 และมาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วแต่กรณีมาใช้บังคับ


        มาตรา 26 ตรี บริษัทเงินทุนใดหยุดทำการจ่ายเงินที่มีหน้าที่จะต้องคืนเงิน ให้บริษัทเงินทุนนั้นแจ้งให้รัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทันที และห้ามมิให้ดำเนินกิจการใด ๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี และให้บริษัทเงินทุนนั้นส่งรายงานเพิ่มเติมโดยละเอียดแสดงเหตุที่ต้องหยุดทำการจ่ายเงินภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่หยุดทำการจ่ายเงิน

        เมื่อรัฐมนตรีได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ไปทำการสอบสวนพฤติการณ์ และเมื่อได้รับรายงานการสอบสวนแล้ว ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการตามที่เห็นสมควรหรือจะสั่งควบคุมบริษัทเงินทุนหรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้ โดยให้นำความในหมวด 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม


        มาตรา 26 จัตวา เพื่อแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทเงินทุน หรือเพื่อประโยชน์ในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินหรือระบบสถาบันการเงิน ให้รัฐมนตรีด้วยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้บริษัทเงินทุนระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนด และในการนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้


        มาตรา 27 ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนในเรื่องดังต่อไปนี้

        (1) วงเงินขั้นต่ำ

        (2) ระยะเวลาชำระคืน

        (3) หลักเกณฑ์และวิธีการในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน

        การกำหนดตามมาตรานี้ จะกำหนดตามประเภทธุรกิจเงินทุน ประเภทกิจการ หรือประเภทของบุคคลก็ได้


        มาตรา 27 ทวิ บริษัทเงินทุนจะรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้โดยวิธีออกบัตรเงินฝากก็ได้

        บัตรเงินฝากต้องมีรายการดังต่อไปนี้

        (1) คำบอกชื่อว่าเป็นบัตรเงินฝาก

        (2) ชื่อบริษัทเงินทุนผู้ออกบัตรเงินฝาก

        (3) วันที่ออกบัตรเงินฝาก

        (4) จังหวัดที่ออกบัตรเงินฝาก

        (5) ข้อตกลงอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินเป็นจำนวนหนึ่งที่แน่นอนพร้อมด้วยดอกเบี้ย (ถ้ามี)

        (6) วันถึงกำหนดจ่ายเงิน

        (7) สถานที่จ่ายเงิน

        (8) ชื่อของผู้ฝากเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือ

        (9) ลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทเงินทุนผู้ออกบัตรเงินฝาก


        มาตรา 27 ตรี ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899 ถึงมาตรา 907 มาตรา 911 มาตรา 913 (1) และ (2) มาตรา 914 ถึงมาตรา 916 มาตรา 917 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 918 ถึงมาตรา 922 มาตรา 925 มาตรา 926 มาตรา 938 ถึง มาตรา 942 มาตรา 945 มาตรา 946 มาตรา 948 มาตรา 949 มาตรา 959 มาตรา 967 มาตรา 971 มาตรา 973 มาตรา 986 มาตรา 994 ถึงมาตรา 1000 มาตรา 1006 ถึงมาตรา 1008 มาตรา 1010 และมาตรา 1011 มาใช้บังคับแก่บัตรเงินฝากโดยอนุโลม


        มาตรา 28 ให้บริษัทเงินทุนดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นอัตราส่วนกับเงินที่ได้จากการกู้ยืมหรือได้รับจากประชาชน อันบริษัทเงินทุนมีหน้าที่จะต้องชำระคืนให้แก่บุคคลเหล่านี้ไม่ต่ำกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        การกำหนดอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดตามประเภทของบุคคลที่บริษัทเงินทุนกู้ยืมหรือได้รับเงินก็ได้

        สินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่ สินทรัพย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

        การกำหนดสินทรัพย์สภาพคล่องจะกำหนดอัตราส่วนระหว่างสินทรัพย์สภาพคล่องแต่ละประเภทหรืออัตราส่วนตามประเภทธุรกิจเงินทุนก็ได้

        อัตราส่วนที่ดำรงนั้น จะกำหนดให้ถือเอาส่วนเฉลี่ยตามระยะเวลามากน้อยเท่าใดก็ได้


        มาตรา 29 ให้บริษัทเงินทุนดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี


        มาตรา 29 ทวิ ให้บริษัทเงินทุนดำรงเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนซึ่งชำระแล้วไว้เป็นสินทรัพย์ตามชนิด วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี


        มาตรา 30 ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้

        (1) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายได้ในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชน

        (2) ดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจเรียกได้

        (3) ค่าบริการที่บริษัทเงินทุนอาจเรียกได้

        (4) ผลประโยชน์ที่บริษัทเงินทุนอาจเรียกได้จากการให้เช่าซื้อ

        (5) หลักประกันเป็นทรัพย์สินที่บริษัทเงินทุนต้องเรียก

        บรรดาเงิน ทรัพย์สิน หรือสิ่งอื่นใดที่อาจกำหนดเป็นเงินได้ ที่บุคคลใดได้รับจากบริษัทเงินทุน หรือพนักงาน หรือลูกจ้าง ของบริษัทเงินทุนนั้น เนื่องจากการที่บริษัทเงินทุนกู้ยืมเงิน หรือรับเงิน หรือที่บริษัทเงินทุน หรือพนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทเงินทุนนั้นได้รับเนื่องจากการประกอบธุรกิจนั้นของบริษัทเงินทุน ให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลดค่าบริการ หรือผลประโยชน์ใน (1) (2) (3) หรือ (4) แล้วแต่กรณี เว้นแต่ค่าบริการตาม (3) ไม่ให้ถือว่าเป็นดอกเบี้ยหรือส่วนลด ที่บริษัทเงินทุนอาจเรียกได้ตาม (2)

        การกำหนดตามมาตรานี้ จะกำหนดตามประเภทธุรกิจเงินทุนหรือตามประเภทการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนหรือประเภทกิจการที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียก หรือจะกำหนดวิธีการคำนวณและระยะเวลาการจ่ายหรือระยะเวลาเรียกเก็บได้


        มาตรา 31 ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้อันเกี่ยวกับการให้เช่าซื้อในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการจำหน่ายและการบริโภค หรือกิจการเงินทุนเพื่อการเคหะ

        (1) จำนวนเงินที่ต้องชำระครั้งแรกและครั้งต่อ ๆ ไป เป็นอัตราส่วนกับยอดเงินให้เช่าซื้อแต่ละราย

        (2) ระยะเวลาในการให้เช่าซื้อ

        (3) วิธีการชำระเงิน

        (4) เงื่อนไขการริบเงินที่ได้รับชำระแล้ว และการกลับเข้าครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อ

        (5) วิธีการแสดงผลประโยชน์ที่บริษัทเงินทุนเรียกเก็บ


        มาตรา 32 เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศหรือเพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้

        (1) การให้กู้ยืมเงินแก่กิจการประเภทใดประเภทหนึ่งไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนด

        (2) วงเงินสูงสุดที่บริษัทเงินทุนจะให้กู้ยืมแก่และหรือรับรองและรับอาวัลตั๋วเงินที่เกิดจากกิจการประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือวงเงินสูงสุดที่บริษัทเงินทุนจะให้เช่าซื้อ

        (3) วงเงินสูงสุดที่บริษัทเงินทุนจะให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง และหรือจะให้กู้ยืมแก่ผู้ดำเนินกิจการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ประเภทนั้น


        มาตรา 33 ในการกำหนดอัตราตามมาตรา 32(1) ให้กำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินที่บริษัทเงินทุนได้กู้ยืมและรับจากประชาชน ณ ขณะใดขณะหนึ่ง และอัตราที่กำหนดนั้นรวมกันทั้งสิ้นต้องไม่เกินร้อยละยี่สิบของยอดเงินดังกล่าว

        การกำหนดวงเงินสูงสุดตามมาตรา 32(2) จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินที่บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมและหรือรับรองและรับอาวัลตั๋วเงินหรือยอดเงินที่บริษัทเงินทุนให้เช่าซื้อและยังคงค้างชำระอยู่ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง หรือเป็นอัตราส่วนกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน หรือยอดเงินที่บริษัทเงินทุนได้กู้ยืมและรับจากประชาชน ณ ขณะใดขณะหนึ่งก็ได้

        การกำหนดวงเงินสูงสุดตามมาตรา 32(3) จะกำหนดเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินที่บริษัทเงินทุนได้ให้เช่าซื้อและหรือได้ให้กู้ยืมแก่ผู้ดำเนินกิจการให้เช่าซื้อทั้งสิ้น ซึ่งยังคงค้างชำระอยู่ในวันที่กำหนด หรือเป็นอัตราส่วนกับยอดเงินที่บริษัทเงินทุนได้ให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ประเภทนั้น ๆ และหรือได้ให้กู้ยืมแก่ผู้ดำเนินกิจการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ประเภทนั้น ๆ ซึ่งยังคงค้างชำระอยู่ในวันที่กำหนดหรือเป็นอัตราส่วนกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุนก็ได้


        มาตรา 34 ให้บริษัทเงินทุนถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีในเรื่องต่อไปนี้

        (1) การลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง

        (2) การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ หรือโดยมีหลักทรัพย์เป็นประกัน


        มาตรา 35 ห้ามมิให้บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกิจการของผู้อื่นหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ เกินจำนวนเงินหรืออัตราส่วนกับเงินกองทุนทั้งหมดหรือเงินกองทุนชนิดหนึ่งชนิดใด หรือหลายชนิดตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกิจการของบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนดังต่อไปนี้หรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนหรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วย

        (1) คู่สมรสของบุคคลตามวรรคหนึ่ง

        (2) บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลตามวรรคหนึ่ง

        (3) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่บุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) เป็นหุ้นส่วน

        (4) ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่บุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3) เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด หรือเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่มีหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น

        (5) บริษัทจำกัดที่บุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) หรือห้างหุ้นส่วนตาม (3) หรือ (4) ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละสามสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น

        ในการให้กู้ยืมเงินหรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันตามวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลตามวรรคหนึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด จำนวนเงินที่ให้กู้ยืมหรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันรวมกันจะต้องไม่เกินอัตราส่วนกับทุนหรือเงินกองทุนของบุคคลนั้นตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับผ่อนผันจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการผ่อนผันธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเฉพาะธุรกิจเงินทุนบางประเภท และจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        การกำหนดตามมาตรานี้ จะกำหนดตามประเภทธุรกิจเงินทุนแต่ละประเภทก็ได้


        มาตรา 36 ความในมาตรา 35 ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่บริษัทเงินทุน

        (ก) ให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนโดยการซื้อหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือ หลักทรัพย์อื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

        (ข) ให้กู้ยืมเงินโดยมีประกันด้วยหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือทรัพย์สินอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินราคาของหลักประกัน การคำนวณราคาของหลักประกัน ถ้าเป็นหลักทรัพย์รัฐบาลไทยให้ถือตามราคาที่ตราไว้ ถ้าเป็นหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นให้ถือตามราคาตลาด ถ้าไม่มีราคาตลาดให้ถือตามราคาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด


        มาตรา 37 บริษัทเงินทุนต้องเปิดทำตามเวลา และหยุดทำการตามวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้เปิดทำการหรือหยุดทำการในเวลาหรือวันอื่นจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการอนุญาตดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้


        มาตรา 38 การกำหนดตามมาตรา 20(2) (ค) และ (11) มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 และมาตรา 37 เว้นแต่การกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาต ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

[แก้ไข]
หมวด 3 บริษัทหลักทรัพย์

_____________________

 

 

[แก้ไข]
หมวด 4 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์

______________________


        มาตรา 50 ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ประกอบธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์


        มาตรา 51 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ นำหน้าและ จำกัด ต่อท้าย


        มาตรา 52 ห้ามมิให้ผู้ใดนอกจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน


        มาตรา 53 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องมีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วตามจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท


        มาตรา 54 ห้ามมิให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์กระทำการดังต่อไปนี้

        (1) ลดทุนหรือเพิ่มทุนโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        (2) ให้กู้ยืมเงิน เว้นแต่การรับจำนองทรัพย์สินลำดับหนึ่งเป็นประกัน

        (3) ให้กรรมการของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นกู้ยืมเงิน และให้นำความในมาตรา 20(7) วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        (4) ประกอบกิจการอื่นใดนอกจากธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ในประเภทที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก รัฐมนตรี ในการอนุญาตรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        ส่วนการให้ประชาชนเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากผู้จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เมื่อได้มีบุคคล ตกลงจะเช่าซื้อแล้ว รวมทั้งการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้กลับเข้าครองอสังหาริมทรัพย์เนื่องจากผู้เช่าซื้อผิดสัญญานั้น ให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์กระทำได้ เมื่อได้กระทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี การกำหนดดังกล่าวนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        (5) ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่

(ก) อสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบธุรกิจหรือสำหรับเป็นที่พักหรือเพื่อสวัสดิสงเคราะห์ของพนักงานและลูกจ้างของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นตามสมควร และได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(ข) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้มาเนื่องจากการรับจำนองและซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้นจากการขายทอดตลาดโดยคำสั่งศาลหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือได้รับโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นมาเนื่องจากการชำระหนี้ แต่จะต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวภายในห้าปี นับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกมาเป็นของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(ค) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาเพื่อการให้เช่าซื้อตาม (4) วรรคสอง และเมื่อมีการให้เช่าซื้อแล้ว บริษัทเครดิตฟองซิเอร์จะนำเอาอสังหาริมทรัพย์นั้นไปจำนองหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิใด ๆ ไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
(ง) อสังหาริมทรัพย์ที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ได้มาเนื่องจากสัญญาขายฝาก แต่จะต้องจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าวภายในห้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นพ้นกำหนดไถ่คืนตามสัญญาหรือตามเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ แล้วแต่กรณี หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย

        ในการอนุญาตตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) ธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        (6) ซื้อหรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดใดเป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น หรือซื้อหรือมีหุ้นหรือหุ้นกู้มีมูลค่าหุ้นรวมกันทั้งสิ้นเกินร้อยละยี่สิบของเงินกองทุนของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        (7) จัดหาเงินทุนจากประชาชน เว้นแต่การออกหุ้นกู้และการกู้ยืมเงินที่มีกำหนดเวลาจ่ายคืนไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี ซึ่งมีหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการกู้ยืม การชำระคืน และวงเงินขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี การกำหนดดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        (8) ย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หรือสำนักงานสาขาของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ โดยมิได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการอนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        (9) โฆษณากิจการของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้น เว้นแต่การโฆษณานั้นจะได้กระทำตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 55 ในสัญญาที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ให้กู้ยืมเงินโดยการรับจำนองต้องมีข้อสงวนสิทธิให้ผู้กู้โดยสมบูรณ์ในการชำระเงินคืนทั้งสิ้น หรือแต่บางส่วนได้ก่อนเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ในการนี้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์จะเรียกค่าชดเชยได้ไม่เกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        ในสัญญาที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ต้องมีข้อสงวนสิทธิให้ผู้เช่าซื้อโดยสมบูรณ์ในการชำระราคาที่เช่าซื้อทั้งสิ้นได้ก่อนเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ในการนี้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ต้องลดราคาที่เช่าซื้อลงตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี

        การกำหนดตามมาตรานี้ จะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 56 ให้นำมาตรา 14 วรรคสองและวรรคสาม มาตรา 15 มาตรา 16 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20(13) มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 22 ทวิ มาตรา 22 ตรี มาตรา 23 มาตรา 23 ทวิ มาตรา 23 ตรี มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 26 ทวิ มาตรา 26 ตรี มาตรา 26 จัตวา มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 29 ทวิ มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 38 มาใช้บังคับแก่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์โดยอนุโลม

 

[แก้ไข]
หมวด 5 การควบคุมบริษัท การเพิกถอนใบอนุญาต และการเลิกบริษัท

___________________


        มาตรา 57 เมื่อปรากฏหลักฐานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยว่าบริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ในการนี้จะสั่งให้เพิ่มทุนหรือลดทุนด้วยก็ได้

        ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าบริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งควบคุมบริษัทหรือเพิกถอนใบอนุญาต แต่ในกรณีที่บริษัทดำเนินการแก้ไขการบริหารงานให้ถูกต้อง หรือดำเนินการอื่นใดตามคำแนะนำของรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด รัฐมนตรีจะยังไม่สั่งควบคุมบริษัทนั้นหรือยังไม่สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้ ในการนี้รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทนั้น ให้บริษัทต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

        ในกรณีที่รัฐมนตรีสั่งควบคุมบริษัทใดตามวรรคสอง รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นระงับการดำเนินกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีกำหนด


        มาตรา 57 ทวิ เมื่อปรากฏหลักฐานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยว่า บริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินงานอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน หรือกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทใด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 57 ตรี ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นถอดถอนกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทผู้เป็นต้นเหตุดังกล่าวออกจากตำแหน่งได้ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งให้ถอดถอนบุคคลใด ให้บริษัทนั้นแต่งตั้งบุคคลอื่นโดยความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าดำรงตำแหน่งแทนภายในสามสิบวันนับแต่วันถอดถอน บริษัทใดไม่ถอดถอนบุคคลหรือถอดถอนแล้วไม่แต่งตั้งบุคคลอื่นเข้าดำรงตำแหน่งแทน ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งดังต่อไปนี้

        (1) ถอดถอนกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งบริษัทนั้นไม่ถอดถอน

        (2) แต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนไปดำรงตำแหน่งแทนผู้ซึ่งถูกถอดถอน

        ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานของบริษัทใด ซึ่งหากปล่อยเนิ่นช้าอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งถอดถอนกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น และแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนไปดำรงตำแหน่งแทนได้ทันทีตามที่เห็นสมควร

        ให้ผู้ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง (2) หรือวรรคสองอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลาไม่เกินสามปี และมิให้นำความในมาตรา 22(7) และ (8) มาใช้บังคับ และให้บุคคลดังกล่าวได้รับค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัทนั้น และในระหว่างเวลาที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งอยู่ ผู้ถือหุ้นของบริษัทจะมีมติเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้

        บุคคลซึ่งถูกถอดถอนจะเข้าไปเกี่ยวข้องหรือดำเนินการใด ๆ ในบริษัทนั้นไม่ได้ไม่ว่าโดยทางตรงและทางอ้อม และต้องอำนวยความสะดวกและให้ข้อเท็จจริงแก่บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง (2) หรือวรรคสอง หรือตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด

        เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรานี้ เป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด แล้วแต่กรณี


        มาตรา 57 ตรี ในกรณีที่บริษัทใดไม่เพิ่มทุนหรือลดทุนภายในกำหนดเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว

        ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องให้บริษัทใดเพิ่มทุนหรือลดทุนเพื่อให้บริษัทนั้นสามารถพยุงฐานะและการดำเนินงานต่อไปได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะสั่งให้บริษัทนั้นเพิ่มทุนหรือลดทุนทันทีก็ได้ โดยให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น


        มาตรา 58 ในการสั่งควบคุมบริษัทหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 57 วรรคสอง ให้รัฐมนตรีแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้บริษัทนั้นทราบและปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของบริษัทนั้น กับทั้งให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ


        มาตรา 59 ในการควบคุมบริษัทให้รัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการควบคุมบริษัทขึ้นประกอบด้วยประธานกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนคณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการของบริษัทนั้นได้ทุกประการ และให้ประธานกรรมการเป็นผู้แทนของบริษัทนั้น

        ในกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน

        คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งและกำหนดอำนาจและหน้าที่พนักงานควบคุมบริษัทคนหนึ่งหรือหลายคนให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งได้

        การตั้งคณะกรรมการและการแต่งตั้งกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


        มาตรา 60 เมื่อรัฐมนตรีได้แจ้งคำสั่งควบคุมแก่บริษัทใด

        (1) ห้ามมิให้กรรมการและพนักงานของบริษัทกระทำกิจการของบริษัทนั้นอีกต่อไป เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมบริษัท

        (2) ให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทนั้นจัดการอันสมควร เพื่อปกปักรักษาทรัพย์และประโยชน์ของบริษัทไว้ และรีบรายงานกิจการ และมอบทรัพย์สินพร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา และหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัทให้แก่คณะกรรมการควบคุมบริษัทโดยมิชักช้า


        มาตรา 61 เมื่อบริษัทใดถูกควบคุม ให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือเอกสารของบริษัทนั้นแจ้งการครอบครองให้คณะกรรมการควบคุมบริษัททราบโดยมิชักช้า


        มาตรา 62 เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา 57 ให้คณะกรรมการควบคุมบริษัท หรือพนักงานควบคุมบริษัทที่ได้รับมอบอำนาจ มีอำนาจสั่งให้บุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำหรือให้แสดง หรือส่งสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา และหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์ และหนี้สินของบริษัทที่ถูกควบคุม


        มาตรา 63 เมื่อคณะกรรมการควบคุมบริษัทเห็นว่าบริษัทที่ถูกควบคุมสามารถจะดำเนินกิจการของตนเองได้ ให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบ ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรก็ให้สั่งเลิกการควบคุม และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ

        เมื่อคณะกรรมการควบคุมบริษัทเห็นว่า บริษัทที่ถูกควบคุมไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบ ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรก็ให้สั่งเพิกถอนใบอนุญาต และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ


        มาตรา 64 ในกรณีที่บริษัทใดไม่ประกอบกิจการประเภทที่ได้รับใบอนุญาตตามปริมาณที่รัฐมนตรีเห็นสมควรในช่วงระยะเวลาสองปีใด ๆ รัฐมนตรีจะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการทุกประเภทหรือประเภทใดประเภทหนึ่งที่ได้รับใบอนุญาตก็ได้


        มาตรา 64 ทวิ ในกรณีที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 57 วรรคสอง มาตรา 63 วรรคสอง หรือในกรณีที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทุกประเภทตามมาตรา 64 ให้บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวเป็นอันเลิกบริษัทจำกัด


        มาตรา 65 เมื่อบริษัทใดมีความประสงค์ที่จะเลิกประกอบกิจการตามประเภทที่ได้รับใบอนุญาต ให้ยื่นขออนุญาตเลิกประกอบกิจการต่อรัฐมนตรี ในการอนุญาต รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้


        มาตรา 65 ทวิ บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ใดมีผลขาดทุนตามมาตรา 26 ทวิ วรรคสอง ให้บริษัทนั้นเป็นอันเลิกบริษัทจำกัดและให้ถือว่าใบอนุญาตของบริษัทนั้นถูกเพิกถอน เมื่อมีกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

        (1) บริษัทมิได้เสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 26 ทวิ วรรคสอง

        (2) บริษัทมิได้ปฏิบัติตามโครงการที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 26 ทวิ ภายในระยะเวลาตามเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

        (3) ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ให้ความเห็นชอบด้วยในโครงการตามมาตรา 26 ทวิ วรรคสอง และบริษัทไม่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 26 ทวิ วรรคสาม

        (4) รัฐมนตรีมีคำชี้ขาดยืนตามการไม่ให้ความเห็นชอบด้วยของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 26 ทวิ วรรคสาม


        มาตรา 66 เมื่อมีการเลิกบริษัทตามมาตรา 64 ทวิ หรือมาตรา 65 ทวิ ให้มีการชำระบัญชีและให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี

        การชำระบัญชีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีบริษัทจำกัด หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดว่าด้วยการชำระบัญชี แล้วแต่กรณี เว้นแต่การใดที่เป็นอำนาจและหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐมนตรี


        มาตรา 67 กรรมการควบคุมบริษัท พนักงานควบคุมบริษัท และผู้ชำระบัญชีอาจได้รับเงินค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด

        ค่าใช้จ่ายและเงินค่าตอบแทนในการควบคุมหรือชำระบัญชีบริษัทใดให้จ่ายจากทรัพย์สินของบริษัทนั้น

 

[แก้ไข]
หมวด 5 ทวิ การควบกิจการและการโอนกิจการ

____________________


        มาตรา 67 ทวิ การควบบริษัทเข้าด้วยกันไม่มีผลเป็นการโอนใบอนุญาตของบริษัทเดิมไปเป็นของบริษัทใหม่


        มาตรา 67 ตรี การโอนกิจการของบริษัททั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่สถาบันการเงินอื่นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี

        เมื่อได้รับความเห็นชอบการโอนกิจการจากรัฐมนตรีแล้ว ให้ดำเนินการโอนกิจการได้ โดยการโอนสิทธิเรียกร้องในการโอนกิจการนี้ไม่ต้องบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ตามมาตรา 306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ที่จะยกข้อต่อสู้ตามมาตรา 308 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        ในกรณีที่เป็นการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่นเพื่อโอนกิจการ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจผ่อนผันไม่นำมาตรา 22(4) มาใช้บังคับเป็นเวลาไม่เกินห้าปี


        มาตรา 67 จัตวา ในกรณีที่คณะกรรมการของบริษัทใดมีข้อเสนอจะควบกิจการกับสถาบันการเงินอื่นหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนที่สำคัญให้แก่สถาบันการเงินอื่นเป็นการเร่งด่วน หรือในกรณีตามมาตรา 26 ทวิ ที่คณะกรรมการของบริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานโดยการควบกิจการหรือโอนกิจการ หรือในกรณีตามมาตรา 26 มาตรา 26 ตรี หรือมาตรา 57 ที่คณะกรรมการของบริษัทหรือคณะกรรมการควบคุมเสนอแก้ไขฐานะหรือการดำเนินงานโดยการควบกิจการหรือโอนกิจการ ถ้ารัฐมนตรีโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องควบกิจการหรือโอนกิจการเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและประโยชน์ของประชาชน ให้มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาอนุญาตให้ดำเนินการได้โดยจะกำหนดระยะเวลาดำเนินการและเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        ในการดำเนินการตามโครงการที่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ถ้าบริษัทหรือสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติดังต่อไปนี้ ให้ได้รับยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี

        (1) มาตรา 237 มาตรา 1117 มาตรา 1185 มาตรา 1220 มาตรา 1222 มาตรา 1224 มาตรา 1225 มาตรา 1226 และมาตรา 1240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

        (2) มาตรา 50 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 102 ประกอบกับมาตรา 33 วรรคสอง มาตรา 137 มาตรา 139 วรรคหนึ่ง มาตรา 140 มาตรา 141 มาตรา 147 และมาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

        (3) มาตรา 94 (2) มาตรา 114 และมาตรา 115 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ทั้งนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินเนื่องในการควบกิจการหรือการโอนกิจการ

        ให้บริษัทและสถาบันการเงินที่ควบกิจการหรือโอนหรือรับโอนกิจการตามวรรคหนึ่ง จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อควบกิจการหรือโอนหรือรับโอนกิจการ ในการนี้มิให้นำบทกฎหมายเกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อควบกิจการหรือโอนหรือรับโอนกิจการของบริษัทหรือสถาบันการเงินนั้นมาใช้บังคับ และให้บริษัทและสถาบันการเงินนั้นงดรับลงทะเบียนการโอนหุ้นเมื่อพ้นเจ็ดวันนับแต่วันมีประกาศอนุญาตให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งจนถึงวันประชุมผู้ถือหุ้น และเรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยจัดส่งหนังสือนัดให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันแต่ต้องไม่เกินสิบสี่วัน ทั้งนี้ ให้โฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันประชุมด้วย ในการประชุมถ้ามีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม ให้ถือว่าการควบกิจการหรือการโอนหรือรับโอนกิจการนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมาย

        ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทและสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่งเป็นคดีล้มละลายในระหว่างการดำเนินการเพื่อควบกิจการหรือโอนกิจการตามที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรานี้

        ให้บริษัทและสถาบันการเงินตามวรรคหนึ่งได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรต่าง ๆ บรรดาที่เกิดจากการควบกิจการหรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะกำหนดเป็นการทั่วไปหรือเป็นการเฉพาะรายก็ได้

        คณะกรรมการของสถาบันการเงินที่ควบกันแล้วมีสิทธิยื่นขอจดทะเบียนการควบกิจการได้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีอนุญาตให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

        ในการอนุญาตให้ควบกิจการหรือโอนกิจการตามมาตรานี้ หากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยจำต้องเข้าไปช่วยเหลือทางการเงินและได้รับความเสียหาย ให้รัฐบาลช่วยเหลือทางการเงินแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามควรแก่กรณี

        ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคลใดในการดำเนินการตามวรรคสอง บริษัทและสถาบันการเงินต้องร่วมกันรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น


        มาตรา 67 เบญจ ในการควบคุมกิจการของบริษัทหรือโอนกิจการของบริษัทให้แกาสถาบันการเงินหากมีการโอนสินทรัพย์ทีมีหลักประกันอย่างอื่นที่มิใช่สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันให้กลักประกันนั้นตกแก่สถาบันการเงินที่ควบกันหรือที่รับโอนกิจการ


        มาตรา 67 ฉ ในการควบกิจการของบริษัทหรือโอนกิจการของบริษัทให้แก่สถาบันการเงินถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้สถาบันการเงินที่ควบกันหรือที่รับโอนกิจการเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนใดคดีดังกล่าว และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงคัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้แล้ว ถามค้านพยานที่สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้ว และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น

 

[แก้ไข]
หมวด 6 พนักงานเจ้าหน้าที่

___________________


        มาตรา 68 ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ

        (1) สั่งให้กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท ผู้สอบบัญชีของบริษัท และผู้รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบริษัทด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใดมาให้ถ้อยคำ หรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตรา หรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท

        (2) เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของบริษัท หรือในสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของบริษัทด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด

        (3) เข้าไปในสถานที่ใด ๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 11 หรือมาตรา 50 หรือมีหลักฐานหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวเพื่อตรวจสอบได้ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นจนพระอาทิตย์ตก

        (4) ยึดหรืออายัดทรัพย์สิน เอกสารหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหรือดำเนินคดี

        (5) เข้าไปตรวจสอบฐานะหรือการดำเนินงานในสถานที่ประกอบธุรกิจของลูกหนี้ของบริษัท

        ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

        มาตรา 69 ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

        บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

 

[แก้ไข]
หมวด 7 บทกำหนดโทษ

_____________________


        มาตรา 70 บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 มาตรา 12 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มาตรา 15 มาตรา 17 มาตรา 18 มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 22 ทวิ มาตรา 23 วรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม มาตรา 23 ทวิ วรรคหนึ่ง มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 ทวิ วรรคหนึ่งหรือวรรคสี่ มาตรา 26 ตรี วรรคหนึ่ง มาตรา 27 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 34 มาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา 37 มาตรา 51 มาตรา 53 มาตรา 54 หรือมาตรา 55 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งที่กำหนดตามมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 20 (1) (2) (4) (5) (6) (8) หรือ (11) มาตรา 22 ตรี มาตรา 23 ทวิ มาตรา 26 วรรคสอง มาตรา 26 ทวิ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 26 ตรี วรรคสอง มาตรา 26 จัตวา มาตรา 29 ทวิ มาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา 37 มาตรา 54(1) (4) (5) (6) (8) หรือ (9) มาตรา 55 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ มาตรา 57 ตรี หรือมาตรา 65 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในกฎกระทรวงตามมาตรา 7 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง


        มาตรา 71 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 11 หรือมาตรา 50 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่


        มาตรา 72 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 10 ทวิ มาตรา 13 หรือมาตรา 52 หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 10 ทวิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสองพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่


        มาตรา 73 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 57 ทวิ วรรคสอง มาตรา 60 หรือมาตรา 61 หรือฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการควบคุมบริษัท หรือพนักงานควบคุมบริษัทตามมาตรา 62 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่


        มาตรา 73 ทวิ ผู้ใดให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท


        มาตรา 74 ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท


        มาตรา 74 ทวิ ผู้ใดถอน ทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมายซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งใด ๆ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึดหรืออายัด หรือรักษาสิ่งนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท


        มาตรา 74 ตรี ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินหรือเอกสารใด ๆ อันพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ยึด อายัด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่ง เพื่อเป็นพยานหลักฐานหรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะรักษาทรัพย์สินหรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่นส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท


        มาตรา 75 ในกรณีที่บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง มาตรา 22 ทวิ มาตรา 23 วรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสาม มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 37 หรือมาตรา 53 กรรมการ หรือผู้จัดการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาท เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย

        ในกรณีที่บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 มาตรา 23 ทวิ มาตรา 26 ทวิ วรรคหนึ่งหรือวรรคสี่ มาตรา 26 ตรี วรรคหนึ่ง มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 32 มาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา 54 หรือมาตรา 55 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งที่กำหนดตามมาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 20(1) (2) (4) (6) หรือ (11) มาตรา 22 ตรี มาตรา 23 ทวิ มาตรา 26 วรรคสอง มาตรา 26 ทวิ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง มาตรา 29 ทวิ มาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา 54(1) (4) (5) (6) หรือ มาตรา 35 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม มาตรา 54(1) (4) (5) (6) หรือ (9) มาตรา 55 หรือมาตรา 57 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง กรรมการ หรือผู้จัดการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของบริษัทนั้นด้วย


        มาตรา 75 ทวิ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทโดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากประชาชนผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ประชาชนผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท


        มาตรา 75 ตรีกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของบริษัทหรือทรัพย์สินที่บริษัทเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท


        มาตรา 75 จัตวา กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของบริษัทหรือซึ่งบริษัทเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท


        มาตรา 75 เบญจ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินอันบริษัทมีหน้าที่ดูแลหรือที่อยู่ในความครอบครองของบริษัท ถ้าได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท


        มาตรา 75 ฉ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท รู้ว่าเจ้าหนี้ของบริษัทหรือเจ้าหนี้ของบุคคลอื่นซึ่งจะใช้สิทธิของเจ้าหนี้บริษัทบังคับการชำระหนี้จากบริษัท ใช้หรือน่าจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

        (1) ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือ

        (2) แกล้งให้บริษัทเป็นหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง

        ถ้าได้กระทำเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท


        มาตรา 75 สัตต กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่บริษัทนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท


        มาตรา 75 อัฏฐ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้

        (1) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของบริษัทหรือที่เกี่ยวกับบริษัท

        (2) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของบริษัทหรือที่เกี่ยวกับบริษัท หรือ

        (3) ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง

        ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำ เพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ หรือลวงบุคคลใด ๆ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท


        มาตรา 75 นว ผู้สอบบัญชีใดของบริษัทรับรองงบดุล หรือบัญชีอื่นใดอันไม่ถูกต้อง หรือทำรายงานเท็จ หรือฝ่าฝืนมาตรา 23 วรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสามแสนบาท


        มาตรา 75 ทศ ผู้ใดก่อให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่ง รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท หรือผู้สอบบัญชีกระทำความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 75 ทวิ มาตรา 75 ตรี มาตรา 75 จัตวา มาตรา 75 เบญจ มาตรา 75 ฉ มาตรา 75 สัตต มาตรา 75 อัฏฐ และมาตรา 75 นว ไม่ว่าด้วยการใช้ สั่ง ขู่เข็ญ จ้าง หรือด้วยวิธีอื่นใดต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ


        มาตรา 75 เอกาทศ ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 75 ทวิ มาตรา 75 ตรี มาตรา 75 จัตวา มาตรา 75 เบญจ มาตรา 75 ฉ มาตรา 75 สัตต และมาตรา 75 อัฏฐ ไม่ว่าก่อนหรือขณะกระทำความผิดต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ เว้นแต่ผู้นั้นมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น


        มาตรา 75 ทวาทศ ในความผิดตามมาตรา 75 ทวิ มาตรา 75 ตรี มาตรา 75 จัตวา มาตรา 75 เบญจ มาตรา 75 ฉ มาตรา 75 สัตต มาตรา 75 อัฏฐ มาตรา 75 นว มาตรา 75 ทศ หรือมาตรา 75 เอกาทศเมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคา หรือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแทนผู้เสียหายด้วย และให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล


        มาตรา 75 เตรส ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรา 75 ทวิ มาตรา 75 ตรี มาตรา 75 จัตวา มาตรา 75 เบญจ มาตรา 75 ฉ มาตรา 75 สัตต มาตรา 75 อัฏฐ มาตรา 75 นว มาตรา 75 ทศ หรือมาตรา 75 เอกาทศ และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไว้อาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้น หรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น แต่จะยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้เกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล ให้คำสั่งยึดหรืออายัดดังกล่าวยังคงมีผลต่อไปจนกว่าศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ศาลที่มีเขตอำนาจจะสั่งขยายระยะเวลาออกไปอีกตามคำขอของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้

        ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง

        การยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ในกรณีตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลดังกล่าวจะหลบหนีออกนอกราชอาณาจักรเมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยร้องขอ ให้ศาลอาญามีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนได้ ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน เมื่อผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือบุคคลที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมายแจ้งให้อธิบดีกรมตำรวจทราบ ให้อธิบดีกรมตำรวจมีอำนาจสั่งห้ามมิให้บุคคลนั้นออกนอกราชอาณาจักรไว้ก่อนเป็นการชั่วคราวได้เป็นเวลาไม่เกินสิบห้าวันจนกว่าศาลอาญาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

        ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของศาลอาญาหรือของอธิบดีกรมตำรวจที่สั่งตามวรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท


        มาตรา 76 ความผิดตามมาตรา 70 ถ้ามิได้ฟ้องต่อศาลหรือมิได้มีการเปรียบเทียบตามมาตรา 79 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำความผิดหรือภายในห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด เป็นอันขาดอายุความ


        มาตรา 77 ผู้ใดล่วงรู้กิจการของบริษัทใดเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยจะพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยนอกจากตามหน้าที่ หรือเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวน หรือการพิจารณาคดี หรือเป็นการเปิดเผยเกี่ยวกับการกระทำความผิดของบริษัทตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา 78 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 71 มาตรา 72 หรือมาตรา 73 เป็นนิติบุคคล กรรมการของนิติบุคคลนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น


        มาตรา 79 ความผิดตามมาตรา 70 หรือมาตรา 75 ให้คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจเปรียบเทียบได้

        คณะกรรมการที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีจำนวนสามคนซึ่งคนหนึ่งต้องเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

        เมื่อคณะกรรมการได้ทำการเปรียบเทียบกรณีใด และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้วให้คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

 

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

_____________________


        มาตรา 80 ให้ถือว่าบริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ประเภทใด ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ประเภทนั้น แล้วแต่กรณีตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าสำนักงานสาขาที่ได้รับอนุญาตของบริษัทตามกฎหมายดังกล่าวในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นสำนักงานสาขาที่ได้รับอนุญาตของบริษัทนั้นตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีได้กำหนดไว้ในการอนุญาต


        มาตรา 81 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา 80 บริษัทใดมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยเป็นจำนวนต่ำกว่าอัตราที่กำหนดในมาตรา 17 วรรคสาม อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงมีผู้ถือหุ้นหรือกรรมการที่เป็นผู้มีสัญชาติไทยในอัตราที่เป็นอยู่นั้นได้ต่อไป แต่ถ้าบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา 80 บริษัทใดมีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถืออยู่ไม่ถึงสามในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ถึงสามในห้าของจำนวนกรรมการทั้งหมด บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นต้องดำเนินการให้มีจำนวนหุ้นที่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยถือไม่ต่ำกว่าสามในห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด หรือมีกรรมการเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่ต่ำกว่าสามในห้าของจำนวนกรรมการทั้งหมดภายในเวลาเจ็ดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


        มาตรา 82 บุคคลใดถือหุ้นบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์รวมกันเกินอัตราที่กำหนดตามมาตรา 14 อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงมีสิทธิถือหุ้นนั้นได้ต่อไป แต่ถ้าได้จำหน่ายหุ้นนั้นไปเท่าใดก็ให้คงมีสิทธิถือหุ้นเกินอัตราที่กำหนดได้เท่าจำนวนหุ้นที่เหลือนั้น

        ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งได้รับมรดกในหุ้นนั้นในวันหรือหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

        บทบัญญัติมาตรา 18 มิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ถือหุ้นซึ่งถือหุ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งและวรรคสอง


        มาตรา 83 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่จัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชนอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไปได้ และถ้าบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นได้ออกหุ้นไว้แล้ว ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 16 และหรือมีผู้ถือหุ้นซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครคิตฟองซิเอร์นั้นดำเนินการแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยต้องดำเนินการตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

        (1) ภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าห้าสิบรายโดยผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

        (2) ภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าเจ็ดสิบห้าราย โดยผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

        (3) ภายในเจ็ดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยราย โดยผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องถือหุ้นรวมกันเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

        ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (3) ถ้ามีเหตุจำเป็นและสมควร รัฐมนตรีจะขยายระยะเวลาให้ก็ได้ ในการขยายระยะเวลาดังกล่าว รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้


        มาตรา 84 ภายในเจ็ดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีขยายให้ตามมาตรา 83 หากบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ใดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ประสงค์จะเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นใหม่ ถ้าบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นยังมิได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นดำเนินการออกหนังสือชี้ชวนให้ประชาชนเข้าชื่อซื้อหุ้นได้ ในการออกหนังสือชี้ชวนดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยหนังสือชี้ชวนในกรณีเพิ่มทุนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมาให้บังคับโดยอนุโลม

        บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามมิให้บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น และบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่มิให้นำมาใช้บังคับแก่การเพิ่มทุนตามมาตรานี้


        มาตรา 85 (ยกเลิก)


        มาตรา 86 บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา 80 บริษัทใดมีทุนถูกต้องตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง มาตรา 42 หรือมาตรา 53 แล้วแต่กรณีอยู่แล้ว และได้มีมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เพิ่มทุนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้บริษัทนั้นดำเนินการเพิ่มทุนตามมติพิเศษนั้นไปได้ โดยไม่ต้องขอรับอนุญาตตามมาตรา 20(1) มาตรา 43(1) หรือมาตรา 54(1) แล้วแต่กรณี


        มาตรา 87 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ตามมาตรา 80 ประกอบกิจการใด ๆ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ไม่อาจกระทำได้ตามมาตรา 43(6) อยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทหลักทรัพย์เลิกประกอบกิจการนั้น ๆ ให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        แต่ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวมีความผูกพันตามนิติกรรมที่จะเลิกประกอบกิจการที่ต้องห้ามตามมาตรา 43(6) ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งมิได้ ให้บริษัทหลักทรัพย์นั้นยื่นขออนุญาตต่อรัฐมนตรีและให้รัฐมนตรีขยายกำหนดระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้เท่าที่เห็นสมควร ในการอนุญาตให้ขยายกำหนดระยะเวลา รัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้


        มาตรา 88 ให้บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามมาตรา 80 ปฏิบัติตามมาตรา 12 มาตรา 40 หรือมาตรา 51 ตามแต่กรณีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

        บริษัทเงินทุนตามมาตรา 80 ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นำหน้า และ จำกัด ต่อท้าย ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง


        มาตรา 89 ให้ผู้ที่ใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้ตามมาตรา 13 มาตรา 41 หรือมาตรา 52 เลิกใช้ชื่อหรือคำอื่นใดดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


        มาตรา 90 บริษัทเงินทุนตามมาตรา 80 บริษัทใดรับหุ้นของบริษัทเงินทุนจากบริษัทเงินทุนอื่นเป็นประกัน หรือมีหุ้นในบริษัทจำกัดใดเป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้นหรือมีหุ้นในบริษัทเงินทุนอื่นโดยชอบอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทเงินทุนนั้นปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 20(3) (4) หรือ (5) แล้วแต่กรณีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี

        บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา 80 บริษัทใดมีหุ้นในบริษัทจำกัดใดเป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น หรือมีหุ้นหรือหุ้นกู้มีมูลค่าหุ้นรวมกันทั้งสิ้นเกินร้อยละยี่สิบของเงินกองทุนของบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นโดยชอบอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 54(6) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือภายในกำหนดเวลากว่านั้นตามที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี


        มาตรา 91 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา 80 บริษัทใดมีอสังหาริมทรัพย์ไว้เพื่อการประกอบธุรกิจให้เช่าซื้ออยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นแจ้งต่อธนาคารแห่งประเทศไทยภายในเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วให้ดำเนินการหรือให้จำหน่ายไปภายในเงื่อนไขและระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด


        มาตรา 92 ให้ถือว่าสัญญาที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีข้อสงวนสิทธิให้ผู้เช่าซื้อโดยสมบูรณ์ในการชำระราคาที่เช่าซื้อทั้งสิ้นได้ก่อนเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว และให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นปฏิบัติตามมาตรา 55 วรรคสอง ด้วย


        มาตรา 93 บริษัทตามมาตรา 80 บริษัทใดมีกรรมการ ผู้จัดการพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาอยู่แล้วโดยชอบก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บริษัทนั้นปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 22 ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ


        มาตรา 94 ให้บรรดาประกาศของกระทรวงการคลังที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 และประกาศและเงื่อนไขของกระทรวงการคลัง และประกาศและเงื่อนไขของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกตามประกาศของกระทรวงการคลังดังกล่าวซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีกฎกระทรวงประกาศ หรือเงื่อนไขตามพระราชบัญญัตินี้ออกใช้บังคับ


        มาตรา 95 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามมาตรา 80 บริษัทใดไม่ดำเนินการแก้ไขจำนวนหุ้นหรือกรรมการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดตามมาตรา 81 หรือไม่ดำเนินการแก้ไขหุ้นหรือผู้ถือหุ้นให้ถูกต้องตามมาตรา 16 หรือมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณีภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือที่รัฐมนตรีขยายให้ตามมาตรา 83 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังกระทำการฝ่าฝืนอยู่


        มาตรา 96 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามมาตรา 80 บริษัทใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 84 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท


        มาตรา 97 ความผิดตามมาตรา 95 และมาตรา 96 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 79 มีอำนาจเปรียบเทียบได้ และให้นำมาตรา 76 มาใช้บังคับโดยอนุโลม


        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        ส.โหตระกิตย์

        รองนายกรัฐมนตรี

 

______________________________________

 

[แก้ไข]
อัตราค่าธรรมเนียม

_______________________


        (1) คำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 500 บาท

        (2) ใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ประเภทละ 10,000 บาท


        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องด้วยขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ โดยเฉพาะ การควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าวได้อาศัยประกาศของกระทรวงการคลังและประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคโดยทั่วไป ซึ่งยังไม่รัดกุมพอทำให้ประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องเสียเปรียบและไม่ได้รับความคุ้มครองเท่าที่ควร สมควรมีกฎหมายเฉพาะควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าว เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนได้โดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

 

 

[แก้ไข]
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526


        มาตรา 37 ให้บุคคลซึ่งใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจที่มีคำว่า การลงทุน เครดิต หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกันอยู่แล้วในวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้ตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ เลิกใช้ชื่อคำแสดงชื่อหรือคำอื่นใดดังกล่าวภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ


        มาตรา 38 บริษัทเงินทุนใดมีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วไม่ถูกต้องตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้บริษัทเงินทุนนั้นดำเนินการตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

        (1) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท

        (2) ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท

        (3) ภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าห้าสิบล้านบาท

        (4) ภายในสี่ปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าหกสิบล้านบาท


        มาตรา 39 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ใดมีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วไม่ถูกต้องตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นดำเนินการตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

        (1) ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท

        (2) ภายในกำหนดสองปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนไม่ต่ำกว่ายี่สิบล้านบาท

        (3) ภายในกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ต้องดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนไม่ต่ำกว่าสามสิบล้านบาท


        มาตรา 40 ในการดำเนินการตามมาตรา 38 หรือมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดนี้ ถ้ามีเหตุจำเป็นและสมควร รัฐมนตรีจะขยายระยะเวลาให้ก็ได้ ในการขยายระยะเวลาดังกล่าวรัฐมนตรีจะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ก็ได้

        ความในมาตรา 20(1) หรือมาตรา 54(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่การเพิ่มทุนของบริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์เพื่อดำเนินการตามมาตรา 38 หรือมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดนี้ แล้วแต่กรณี


        มาตรา 41 ในกรณีที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ใดที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินทุนหรือธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จะต้องเพิ่มทุนตามมาตรา 38 หรือมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดนี้ โดยการออกหุ้นใหม่ ถ้าบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นยังมิได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นดำเนินการออกหนังสือชี้ชวนให้ประชาชนเข้าชื่อซื้อหุ้นได้ ในการออกหนังสือชี้ชวนดังกล่าวให้นำบทบัญญัติว่าด้วยหนังสือชี้ชวนในกรณีเพิ่มทุนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดมาใช้บังคับโดยอนุโลม

        บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ห้ามมิให้บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้นและบทบัญญัติว่าด้วยการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ มิให้นำมาใช้บังคับแก่การเพิ่มทุนตามมาตรานี้


        มาตรา 42 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ใดไม่ดำเนินการให้มีทุนจดทะเบียนและทุนซึ่งชำระแล้วหรือเงินกองทุนให้ถูกต้องตามมาตรา 38 หรือมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดนี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละสามพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

        ความผิดตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มีอำนาจเปรียบเทียบได้ และให้นำความในมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม


        มาตรา 43 ให้บริษัทปิดบัญชีทุกงวดการบัญชีในรอบระยะเวลาหกเดือนตามมาตรา 23 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ตั้งแต่ปีบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2527 เป็นต้นไป


        มาตรา 44 ในกรณีที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์บริษัทใดมีผลขาดทุนตามมาตรา 26 ทวิ วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้บริษัทดังกล่าวเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ภายในสามเดือนนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับและให้นำความในมาตรา 26 ทวิ วรรคสองและวรรคสาม และมาตรา 65 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการดำเนินงานของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามวรรคหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร


        มาตรา 45 ให้บริษัทซึ่งดำเนินการอยู่แล้วในวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับดำเนินการขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของบริษัทต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามมาตรา 22 มาตรา 49 หรือมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

 

_________________________________


        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 มีมาตรการยังไม่เพียงพอในการควบคุมการประกอบธุรกิจเงินทุนธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงซึ่งต้องได้รับการควบคุมกำกับเป็นกรณีเร่งด่วน และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

        [รก.2526/195/1พ./15 ธันวาคม 2526]

 

 

[แก้ไข]
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522

[แก้ไข]
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2528

_____________________________

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

        มาตรา 18 บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ใดซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการลดทุน เพิ่มทุน ควบกิจการหรือรวมกิจการเข้ากับบริษัทอื่นตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะและการดำเนินงานอยู่ในวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ให้นำความในมาตรา 26 ทวิ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ มาใช้บังคับ


        มาตรา 19 ผู้ใดกระทำการแทนบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ โดยมีสำนักงานติดต่อกับบุคคลทั่วไปในราชอาณาจักรอยู่แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะดำเนินการต่อไป ให้ยื่นขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

        เมื่อได้ยื่นขออนุญาตตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้จนกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะสั่งไม่อนุญาต

_______________________________

 

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ยังมีมาตรการไม่เพียงพอแก่การควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน รวมทั้งขาดมาตรการที่เหมาะสมในการช่วยแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินหากจะพึงมีขึ้น สมควรที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับภาวการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและก่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบสถาบันการเงินอย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนรวม และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

        [รก.2528/177/21พ./26 พฤศจิกายน 2528]

 

[แก้ไข]
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

[แก้ไข]
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

__________________________


        หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการควบคุมดูแลเรื่องตลาดทุน และธุรกิจเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์อยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับ ทางราชการจึงได้ตราพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ขึ้นใช้บังคับ เพื่อรวบรวมบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกัน โดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าวได้มีบทบัญญัติครอบคลุมถึงการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้อยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเดรดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 สมควรยกเลิกบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวเพื่อมิให้ซ้ำซ้อนกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

        [รก.2535/43/1/8 เมษายน 2535]

 

 

[แก้ไข]
พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535

____________________________


        มาตรา 11 ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมิได้ออกประกาศตามมาตรา 29 หรือมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ หรือออกประกาศแล้วแต่ประกาศดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับ ให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ถือปฏิบัติตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามมาตรา 29 หรือมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2526 ไปพลางก่อน

______________________________

 

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่เพื่อขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจเงินทุน โดยให้บริษัทเงินทุนสามารถรับฝากเงินจากประชาชนโดยการออกสมุดคู่ฝากหรืออกบัตรเงินฝากได้ นอกจากนี้ ได้ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการกระจายหุ้นให้บุคคลธรรมดารายย่อยเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด และปรับปรุงข้อกำหนดในเรื่องเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางสากลตามข้อเสนอของ BANK FOR INTERNATIONAL SETTLEMENT (BIS) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ช่วยพัฒนาและกำกับสถาบันการเงินที่ดำเนินกิจการในตลาดต่างประเทศให้มีความมั่นคงเป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

        [รก.2535/44/7/9 เมษายน 2535]

 

[แก้ไข]
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจ หลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540

____________________________

 

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ยังขาดมาตรการส่งเสริมสนับสนุนให้สถาบันการเงินดำเนินการควบกิจการหรือโอนกิจการ ประกอบกับการควบกิจการหรือโอนกิจการบางกรณีจำเป็นต้องกระทำโดยเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูฐานะและสร้างความมั่นคงแก่ระบบสถาบันการเงินและคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน สมควรกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนองความจำเป็นดังกล่าว และโดยที่ธุรกิจการเงินในปัจจุบันอยู่ในภาวะซบเซาจำต้องแก้ไขโดยเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

        [รก.2540/29ก/15/28 มิถุนายน 2540]

 

[แก้ไข]
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจ หลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2540

_____________________________

 

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ประสบปัญหาด้านฐานะหรือการดำเนินการอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชนตามบทบัญญัติของกฎหมายในปัจจุบันไม่อาจดำเนินการให้ทันต่อความเร่งด่วนของสถานการณ์ได้ ซึ่งความล่าช้าของการดำเนินการจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางแก่เศรษฐกิจของประเทศโดยรวม สมควรให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแก้ไขปัญหาของบริษัทดังกล่าวที่ประสบภาวะวิกฤตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

        [รก.2540/60ก/29/24 ตุลาคม 2540]

 

[แก้ไข]
พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจ หลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2541

_________________________

 

        หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถควบกิจการหรือโอนกิจการได้โดยเร็ว อันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และในขณะเดียวกันสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ก็สามารถควบกิจการและโอนกิจการได้ด้วย ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์เพื่อให้การควบกิจการหรือโอนกิจการระหว่างธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินตามกฎหมายทั้งสองฉบับมีความสอดคล้องกัน และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

        [รก.2541/51ก/9/23 สิงหาคม 2541]