พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
08/01/2008
ที่มา: 
พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522

พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522
––––––––––
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522
เป็นปีที่ 34 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด พ.ศ. 2522

        มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490
(2) พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2517

        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

        ธุรกิจ หมายความว่า กิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

        สินค้า หมายความว่า สิ่งของที่อาจใช้ในการอุปโภคหรือบริโภครวมทั้งเอกสารแสดงสิทธิในสิ่งของ และหมายความรวมถึงบริการด้วย

        ผู้จำหน่าย หมายความว่า ผู้ขาย แลกเปลี่ยน หรือโอนสิทธิหรือการครอบครองสินค้าให้แก่บุคคลอื่น และหมายความรวมถึงผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร ผู้ผลิตและผู้ซื้อสินค้ามาเพื่อผลิตหรือจำหน่ายด้วย

        ราคา หมายความว่า ราคาสินค้า และหมายความรวมถึงค่าบริการอันเป็นค่าตอบแทนสำหรับการใช้บริการด้วย

        คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดหรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด

        สำนักงาน หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดหรือสำนักงานคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด

        เลขาธิการ หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด

        พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ข้าราชการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

        มาตรา 6 พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค หรือราชการบริหารส่วนท้องถิ่น

[แก้ไข]
หมวด 1 คณะกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่

––––––––––


        มาตรา 7 ให้มีคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการกลาง ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสี่คนแต่ไม่เกินแปดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ทั้งนี้ จะต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง กับเลขาธิการ เป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และทำหน้าที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดสำหรับกรุงเทพมหานครด้วย

        ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการคณะกรรมการกลาง

        มาตรา 8 ให้คณะกรรมการกลางมีอำนาจหน้าที่ในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติการตามมาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 วรรคสอง มาตรา 27 มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 38 และมาตรา 40
(2) เข้าควบคุมหรือดำเนินการเพื่อให้การผลิตหรือจำหน่ายสินค้ามีเพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน
(3) พิจารณาเรื่องราวที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดร้องว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคาหรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ
(4) เชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น

        มาตรา 9 ในจังหวัดหนึ่งนอกจากกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดคณะหนึ่งเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการส่วนจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคนซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้ง กับพาณิชย์จังหวัดเป็นกรรมการมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ในจังหวัดนั้น

        ให้พาณิชย์จังหวัดเป็นเลขานุการคณะกรรมการส่วนจังหวัด

        มาตรา 10 ให้คณะกรรมการส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในจังหวัดนั้นดังต่อไปนี้

(1) ปฏิบัติการตามมาตรา 24 มาตรา 26 วรรคสอง มาตรา 28 และมาตรา 40
(2) เข้าควบคุมหรือดำเนินการเพื่อให้การผลิตหรือจำหน่ายสินค้ามีเพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน
(3) พิจารณาเรื่องราวที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดร้องว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเนื่องจากการกระทำอันมีผลกระทบกระเทือนต่อราคาหรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ
(4) เชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำ หรือความเห็น
(5) ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งของคณะกรรมการกลาง


        มาตรา 11 ให้กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 7 หรือมาตรา 9 อยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี

        ในกรณีที่กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระหรือในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนหรือเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น

        กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

        มาตรา 12 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 7 หรือมาตรา 9 พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) คณะรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสีย
(4) เป็นบุคคลล้มละลาย
(5) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(6) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

        มาตรา 13 การประชุมของคณะกรรมการ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

        ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม สำหรับการประชุมของคณะกรรมการกลาง ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้ารองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุมให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม สำหรับการประชุมของคณะกรรมการส่วนจังหวัด ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

        กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา 14 คณะกรรมการอาจตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการแล้วรายงานต่อคณะกรรมการ

        การประชุมของคณะอนุกรรมการ ให้นำมาตรา 13 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 15 ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดขึ้นในกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานและมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินงานธุรการของคณะกรรมการกลางและทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานกับคณะกรรมการส่วนจังหวัด
(2) ศึกษา วิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับสินค้า ราคา และการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเสนอโครงการ แผนงานหรือ

มาตรการเกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ ต่อคณะกรรมการกลาง

(3) ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าควบคุมและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจควบคุม แล้วรายงานต่อคณะกรรมการกลาง
(4) รับเรื่องราวที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ยื่นตามมาตรา 8 (3)
(5) ปฏิบัติการตามประกาศ ระเบียบ และมติของคณะกรรมการกลาง และปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการกลางมอบหมาย

        มาตรา 16 ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่วนจังหวัดกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดขึ้นในทุกจังหวัด โดยมีพาณิชย์จังหวัดเป็นหัวหน้าสำนักงานโดยตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงาน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินงานธุรการของคณะกรรมการส่วนจังหวัดและทำหน้าที่ประสานงานกับคณะกรรมการกลาง
(2) ศึกษา วิเคราะห์และวิจัยเกี่ยวกับสินค้า ราคา และการประกอบธุรกิจ รวมทั้งเสนอโครงการ แผนงานหรือมาตรการเกี่ยวกับการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัด
(3) ติดตามความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าควบคุมและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจควบคุม แล้วรายงานต่อคณะกรรมการส่วนจังหวัด
(4) รับเรื่องราวที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้ยื่นตามมาตรา 8 (3)
(5) ปฏิบัติการตามประกาศ ระเบียบ และมติของคณะกรรมการส่วนจังหวัด และปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดมอบหมาย

        มาตรา 17 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำหรือแจ้งข้อเท็จจริงหรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งบัญชี ทะเบียน เอกสารหรือหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบหรือเพื่อประกอบการพิจารณา
(2) เข้าไปในสถานที่ทำการ สถานที่ผลิต หรือสถานที่เก็บสินค้าของผู้ประกอบธุรกิจหรือของบุคคลใดหรือเข้าไปในยานพาหนะของบุคคลใด ในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการ เพื่อตรวจค้นสินค้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าได้มีการฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือเพื่อตรวจสอบให้การเป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ในการนี้ให้มีอำนาจสอบถามข้อเท็จจริงหรือเรียกบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจหรือจากบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง
(3) ในกรณีที่เห็นว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 30 ให้มีอำนาจกัก อายัด หรือยึดสินค้านั้น แต่การยึดสินค้านั้นต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากประธานคณะกรรมการก่อน

        มาตรา 18 ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

        มาตรา 19 ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวต่อบุคคลซึ่งเกี่ยวข้อง

        บัตรประจำตัวให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 20 หนังสือเรียกตามมาตรา 17 (1) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก็ได้และให้ถือว่าหนังสือเรียกที่ส่งโดยเจ้าพนักงานไปรษณีย์มีผลเสมือนพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ส่ง

ถ้าบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกปฏิเสธไม่ยอมรับหนังสือเรียกโดยปราศจากเหตุอันสมควร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้        พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจไปเป็นพยาน เพื่อวางหนังสือเรียกไว้ ณ ที่นั้น

        ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่พบบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียก ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการของบุคคลนั้น จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งมีอายุเกินยี่สิบปีซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือสถานที่ทำการที่ปรากฏว่าเป็นของบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกนั้นก็ได้

        ถ้าไม่พบบุคคลใด หรือพบแต่ไม่มีบุคคลใดยอมรับไว้แทน และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับให้ปิดหนังสือเรียกไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำการนั้น

        เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามวิธีการดังกล่าวในวรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม หรือวรรคสี่แล้ว ให้ถือว่าบุคคลซึ่งระบุไว้ในหนังสือเรียกได้รับหนังสือเรียกนั้นแล้ว

        มาตรา 21 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการอนุกรรมการ เลขาธิการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา 22 เพื่อประโยชน์ในการจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

[แก้ไข]
หมวด 2 การกำหนดราคาสินค้า

–––––––––––


        มาตรา 23 เพื่อป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาขาย หรือการกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการกลางด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดให้สินค้าใดเป็นสินค้าควบคุมได้

        ประกาศของคณะกรรมการกลางตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 24 เมื่อได้มีการประกาศกำหนดสินค้าควบคุมตามมาตรา 23 แล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าควบคุม ให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กำหนดหรือให้ผู้จำหน่ายจำหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กำหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง
(2) กำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยของสินค้าควบคุมที่ผู้จำหน่ายจะได้รับจากการจำหน่ายสินค้าควบคุม หรือกำหนดอัตราส่วนแตกต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายสินค้าควบคุมในแต่ละช่วงการค้า
(3) กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมแสดงราคาสินค้าควบคุม
(4) กำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมปฏิบัติเกี่ยวกับการผลิต การจ่ายแจก การนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกนอกราชอาณาจักร การซื้อ การจำหน่ายหรือการเก็บรักษาสินค้าควบคุม
(5) กำหนดท้องที่ หรือกำหนดระยะเวลาในการใช้บังคับประกาศของคณะกรรมการ
(6) กำหนดให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายกระบวนการผลิตและวิธีการจำหน่ายสินค้าควบคุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
(7) กำหนดให้มีการเก็บหรือเพิ่มปริมาณการเก็บสำรองสินค้าควบคุม และกำหนดท้องที่และสถานที่ให้เก็บสำรองสินค้าควบคุม
(8) ห้ามหรืออนุญาตการส่งออกไปนอกหรือนำเข้ามาในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดซึ่งสินค้าควบคุม
(9) สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การซื้อ การจำหน่าย หรือการเก็บรักษาสินค้าควบคุม รวมทั้งให้ระงับหรือลดค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่กำหนดไว้เกินสมควร
(10) จัดให้มีการปันส่วนในการซื้อและการจำหน่ายสินค้าควบคุมหรือกำหนดเงื่อนไขในการซื้อและการจำหน่ายสินค้าควบคุม
(11) บังคับให้จำหน่ายสินค้าควบคุมตามปริมาณและราคาที่กำหนด ตลอดจนบังคับให้จำหน่ายแก่ส่วนราชการหรือบุคคลใดซึ่งคณะกรรมการกำหนด
(12) ห้ามการจำหน่าย ให้ ใช้เอง ยักย้าย หรือเปลี่ยนสภาพซึ่งสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด
(13) ให้เลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเกี่ยวกับการผลิต การขนส่ง การซื้อ การจำหน่าย และการเก็บรักษาสินค้าควบคุม
(14) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าควบคุม หรือครอบครองสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนด

        การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการกระทำเป็นประกาศโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิจารณาทบทวนเป็นครั้งคราวให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายและอัตรากำไรที่เหมาะสม รวมทั้งผลกระทบต่อการลงทุนในการขยายกำลังการผลิตในระยะต่อไปด้วย

        มาตรา 25 ให้คณะกรรมการกลางมีอำนาจประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมแจ้งราคาซื้อ ราคาขายสินค้าควบคุม ชื่อสินค้าควบคุม ชื่อและปริมาณวัตถุอันเป็นส่วนประกอบ มาตรฐาน คุณภาพ ขนาด ปริมาณ และน้ำหนักต่อหน่วยของสินค้าควบคุมตามที่เป็นอยู่ในวันที่คณะกรรมการกลางกำหนด และห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงราคา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเลขาธิการตามระเบียบที่คณะกรรมการกลางกำหนด ในการนี้เลขาธิการจะกำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมแจ้งแผนการเปลี่ยนแปลงราคาหรือส่วนลดในการจำหน่ายสินค้าควบคุมต่อเลขาธิการด้วยก็ได้

        มาตรา 26 ในกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนและลับที่จะใช้อำนาจตามมาตรา 24 และจะเรียกประชุมคณะกรรมการให้ทันท่วงทีมิได้ ประธานคณะกรรมการมีอำนาจใช้อำนาจของคณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 เป็นการชั่วคราวได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        เมื่อได้ประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาภายในสามวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าคณะกรรมการอนุมัติประกาศนั้น ก็ให้คณะกรรมการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประกาศนั้นมีผลใช้บังคับต่อไป ถ้าคณะกรรมการไม่อนุมัติ ให้คณะกรรมการออกประกาศยกเลิกประกาศนั้น แต่ทั้งนี้ ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงการที่ได้กระทำไปแล้วในระหว่างที่ใช้ประกาศนั้น

        มาตรา 27 ในการปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการกลางตามมาตรา 24 คณะกรรมการกลางจะมีมติมอบหมายให้เลขาธิการกระทำการใด ๆ แทนก็ได้

        มาตรา 28 ในการปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดตามมาตรา 24 คณะกรรมการส่วนจังหวัดจะมีมติมอบหมายให้ประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัดกระทำการใด ๆ แทนก็ได้

        มาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใด โดยลำพัง สมคบ หรือร่วมกับบุคคลอื่นดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะกดราคาสินค้าให้ตกต่ำเกินสมควรหรือทำให้สูงเกินสมควรหรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาสินค้า

        มาตรา 30 ห้ามมิให้บุคคลใด กักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 24 (14) หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากที่เก็บตามที่ได้แจ้งไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 (6) หรือผู้ประกอบธุรกิจใดซึ่งมีสินค้าควบคุมไว้เพื่อจำหน่าย แล้วไม่นำออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

[แก้ไข]
หมวด 3 การป้องกันการผูกขาด

_________

 

        มาตรา 31 เมื่อปรากฏว่าการประกอบธุรกิจใดมีพฤติการณ์อันเป็นการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ คณะกรรมการกลางมีอำนาจประกาศกำหนดให้ธุรกิจนั้นเป็นธุรกิจควบคุม

        ประกาศของคณะกรรมการกลางตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 32 ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมตามมาตรา 31 ต้องแจ้งราคาขายสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมนั้นเป็นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาที่คณะกรรมการกลางประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 33 ในกรณีที่คณะกรรมการกลางเห็นว่าราคาที่แจ้งตามมาตรา 32 ไม่เหมาะสม โดยคำนึงถึงต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายและอัตรากำไรที่เหมาะสมแล้ว ให้คณะกรรมการกลางมีอำนาจกำหนดราคาตามที่เห็นสมควรได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้ง ถ้าคณะกรรมการกลางมิได้กำหนดราคาภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าราคาที่แจ้งตามมาตรา 32 เป็นราคาที่คณะกรรมการกลางกำหนด

        ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมไม่แจ้งราคาขายสินค้าตาม มาตรา 32 คณะกรรมการกลางมีอำนาจกำหนดตามที่เห็นสมควร และให้ถือว่าราคาที่กำหนดนี้เป็นราคาที่คณะกรรมการกลางกำหนดตามวรรคหนึ่ง

        มาตรา 34 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมจำหน่ายสินค้าเกินราคาที่คณะกรรมการกลางกำหนดตามมาตรา 33 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกลางโดยกำหนดราคาขึ้นใหม่

        มาตรา 35 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมกระทำการร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจควบคุมอื่นโดยจงใจที่จะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันโดยไม่ชอบธรรมในการประกอบธุรกิจ ในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) แต่งตั้งหรือมอบหมายให้บุคคลใดแต่ผู้เดียวเป็นผู้จำหน่ายสินค้าควบคุมอย่างเดียวกัน หรือประเภทเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
(2) กำหนดราคาขายสินค้าควบคุมเป็นราคาเดียวกันหรือตามที่ตกลงกัน
(3) กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมแต่ละรายจะจำหน่ายสินค้าควบคุมได้ในท้องที่นั้น หรือกำหนดลูกค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมแต่ละรายจะจำหน่ายสินค้าควบคุมให้ได้โดยผู้ประกอบธุรกิจควบคุมอื่นจะไม่จำหน่ายสินค้านั้นแข่งขัน
(4) กำหนดแบ่งท้องที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมแต่ละรายจะซื้อสินค้าควบคุมได้หรือกำหนดผู้ที่ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมจะซื้อสินค้าควบคุมได้
(5) กำหนดราคาซื้อสินค้าควบคุมเป็นราคาเดียวกัน หรือกดราคาซื้อสินค้าควบคุมให้ต่ำลง หรือจำกัดปริมาณการรับซื้อสินค้าควบคุม
(6) กำหนดปริมาณของสินค้าควบคุมที่ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมแต่ละรายจะผลิต ซื้อ หรือจำหน่าย เพื่อจำกัดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด
(7) กำหนดเงื่อนไขหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการซื้อหรือการจำหน่ายสินค้าควบคุมเพื่อให้ปฏิบัติเป็นแบบเดียวกันหรือตามที่ตกลงกัน
(8) ลดคุณภาพของสินค้าควบคุมให้ต่ำลงกว่าที่เคยผลิตหรือจำหน่าย โดยจำหน่ายในราคาเดิมหรือสูงขึ้น
(9) รวมธุรกิจควบคุมเข้าด้วยกัน หรือรวมการอำนวยการ หรือการควบคุมนโยบายและการบริหารธุรกิจควบคุม
(10) ทำความตกลงร่วมกันเพื่อเข้าครองตลาดหรือควบคุมตลาด

        มาตรา 36 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมระงับ ลด หรือจำกัดการผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักร ทำลายหรือทำให้เสียหายซึ่งสินค้าควบคุมเพื่อลดปริมาณให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด

        มาตรา 37 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นการทำลาย ทำให้เสียหาย ขัดขวาง กีดกัน หรือจำกัดการประกอบธุรกิจควบคุมของผู้อื่น หรือกระทำการใด ๆ เพื่อมิให้ผู้อื่นประกอบธุรกิจควบคุมหรือต้องล้มเลิกการประกอบธุรกิจควบคุม ทั้งนี้ เพื่อจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ

        มาตรา 38 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมกำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่คณะกรรมการกลางกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในลักษณะที่เป็นการบังคับให้ลูกค้าของตนต้องจำกัดการผลิต การซื้อหรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าหรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจควบคุมอื่น

[แก้ไข]
หมวด 4 เบ็ดเตล็ด

_________


        มาตรา 39 สินค้าที่ยึดไว้ตามมาตรา 17 (3) ถ้าไม่ปรากฏเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอรับคืนภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ยึด หรือวันที่ทราบคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือวันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไม่ให้ริบ แล้วแต่กรณี ให้ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีเจ้าของและให้ตกเป็นของแผ่นดิน

        ถ้าสินค้าที่ยึดไว้นั้นเป็นของเสียง่าย หรือถ้าหน่วงช้าไว้จะเป็นการเสี่ยงความเสียหาย หรือจะเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเกินราคาตลาดของสินค้านั้น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะจัดการขายทอดตลาดสินค้านั้น หรือจัดการโดยวิธีอื่นที่เห็นสมควรก่อนที่สินค้านั้นจะตกเป็นของแผ่นดิน หรือก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เงินค่าขายสินค้านั้นเมื่อได้หักค่าใช้จ่ายและค่าภาระติดพันทั้งปวงออกแล้ว ให้ถือไว้แทนสินค้า

        มาตรา 40 ในกรณีที่มีการจับกุมผู้กระทำความผิด เมื่อพนักงานอัยการร้องขอให้ศาลสั่งจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละยี่สิบห้า และเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจขายได้ ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล

        ในกรณีที่ไม่มีผู้นำจับ ให้จ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับร้อยละสามสิบของจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ หรือในกรณีที่มิได้ริบของกลางหรือของกลางไม่อาจขายได้ ให้หักจ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล

        ในกรณีที่ผู้นำจับหรือผู้จับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีหลายคน ให้จ่ายเงินสินบน หรือเงินรางวัลแก่บุคคลในฝ่ายนั้นคนละ เท่า ๆ กัน

        ในกรณีที่จับของกลางได้แต่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากจำนวนเงินสุทธิค่าขายของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยไม่เกินอัตราที่กำหนดในมาตรานี้

[แก้ไข]
หมวด 5 บทกำหนดโทษ

________


        มาตรา 41 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 17 (1) หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 17 (2) หรือ (3) หรือมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 42 ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา 43 ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 24 (1) (2) (4) (6) (7) (8) (9) (10) (11) (12) หรือ (14) หรือขัดขวางการดำเนินการของเลขาธิการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 (13) หรือเปลี่ยนแปลงราคาโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่แจ้งรายการตามประกาศของคณะกรรมการกลางตามมาตรา 25 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 44 ผู้ใดฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา 24 (3) หรือมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

        มาตรา 45 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 35 หรือมาตรา 37 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        ถ้าผู้กระทำผิดตามวรรคหนึ่งเป็นคนต่างด้าว ให้เนรเทศผู้นั้นออกนอกราชอาณาจักรด้วย

        มาตรา 46 ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 34 มาตรา 36 หรือมาตรา 38 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 47 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย

        มาตรา 48 บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งมีโทษปรับสถานเดียว ให้เลขาธิการ สำหรับกรุงเทพมหานคร หรือประธานคณะกรรมการส่วนจังหวัด สำหรับจังหวัดอื่น มีอำนาจเปรียบเทียบได้

        เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสิบห้าวัน คดีนั้นเป็นอันเลิกกัน

[แก้ไข]
บทเฉพาะกาล

        มาตรา 49 ให้บรรดาประกาศของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 และพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2517 ที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ส.โหตระกิตย์
รองนายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ากำไรเกินควรที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติที่ไม่รัดกุม เหมาะสมและเพียงพอที่จะรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคและป้องกันมิให้ราคาสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ สูงขึ้นโดยรวดเร็วเกินสมควร ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติควบคุมผู้ประกอบธุรกิจในการรวมตัวกันกำหนดราคาสินค้าและค่าบริการ และไม่มีบทบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจ สมควรยกเลิกกฎหมายดังกล่าวและมีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผู้ขาดขึ้น เพื่อควบคุมการกำหนดราคาสินค้าให้เป็นธรรมและป้องกันการผูกขาดและการจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น