พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖

พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖
________________________

 

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖
เป็นปีที่ ๔๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

 

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยานในคดีอาญา

        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้


        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๖”


        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

        “พยาน” หมายความว่า พยานบุคคลซึ่งจะมาให้ หรือได้ให้ข้อเท็จจริง ต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือศาลในการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งผู้ชำนาญการพิเศษ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน

        “ความปลอดภัย” หมายความว่า ความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของพยาน ทั้งก่อน ขณะและหลังมาเป็นพยาน

        “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๔ การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่พยานพึงได้รับตามกฎหมายอื่น


        มาตรา ๕ ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และเพื่อการนั้นให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงวางระเบียบการงานตามหน้าที่ กับให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละกระทรวง

        กฎกระทรวงและระเบียบนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

[แก้ไข]
หมวด ๑ มาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยาน

________________________


        มาตรา ๖ ในกรณีที่พยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา ศาล หรือสำนักงานคุ้มครองพยาน แล้วแต่กรณี อาจจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นเป็นการสมควร หรือตามที่พยานหรือบุคคลอื่นใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ร้องขอ และในกรณีจำเป็นบุคคลดังกล่าวจะขอให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นช่วยให้ความคุ้มครองแก่พยานได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมของพยานด้วย

        การแจ้งและวิธีการที่เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่นจะให้ความคุ้มครองแก่พยานตามคำขอและการสิ้นสุดลงซึ่งการคุ้มครองตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดโดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี

        การคุ้มครองให้พยานได้รับความปลอดภัย ให้รวมถึงการจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เว้นแต่พยานจะไม่ให้ความยินยอมและการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้ ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมแก่สถานะและสภาพของพยานและลักษณะของคดีอาญาที่เกี่ยวข้อง


        มาตรา ๗ ในกรณีที่สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานซึ่งมีผลต่อการที่พยานจะมาเป็นพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัยและพยานได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณานำมาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยานมาใช้บังคับแก่บุคคลดังกล่าวได้ตามความจำเป็นที่เห็นสมควร เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะไม่ให้ความยินยอม

 

[แก้ไข]
หมวด ๒ มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน

___________________________


        มาตรา ๘ พยานในคดีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ อาจได้รับการคุ้มครองตามมาตรการพิเศษได้

        (๑) คดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

        (๒) คดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา

        (๓) คดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นธุระจัดหาล่อไปหรือพาไปเพื่อการอนาจาร เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และความผิดฐานพรากเด็กและผู้เยาว์ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี หรือความผิดเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณี ผู้ดูแลหรือผู้จัดการกิจการค้าประเวณี หรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการณ์ค้าประเวณี

        (๔) คดีความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรม ได้แก่ ความผิดฐานอั้งยี่และซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา และให้หมายความรวมถึงความผิดอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการกระทำร่วมกันโดยกลุ่มอาชญากร ที่มีการวางแผนอย่างเป็นระบบและมีการวางเครือข่ายเป็นขบวนการหรือองค์กรลับอย่างซับซ้อนและเป็นสัดส่วน

        (๕) คดีความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น

        (๖) คดีซึ่งสำนักงานคุ้มครองพยานเห็นสมควรให้ความคุ้มครองพยาน


        มาตรา ๙ เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าพยานจะไม่ได้รับความปลอดภัยพยานหรือบุคคลอื่นใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้อง พนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา หรือพนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา อาจยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย เพื่อขอใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมของพยานด้วย

        เมื่อได้รับคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีว่าการทระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยด่วน ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานจะไม่ได้รับความปลอดภัย ก็ให้สั่งให้ใช้มาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน

        การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง และการดำเนินการตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง


        มาตรา ๑๐ ให้สำนักงานคุ้มครองพยานดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

        (๑) ย้ายที่อยู่ หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม

        (๒) จ่ายค่าเลี้ยงชีพที่สมควรแก่พยานหรือบุคคลที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของพยานเป็นระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอาจขอขยายระยะเวลาครั้งละไม่เกินสามเดือน แต่ไม่เกินสองปี

        (๓) ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล และหลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน รวมทั้งการดำเนินการเพื่อกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามคำขอของพยานด้วย

        (๔) ดำเนินการเพื่อให้มีอาชีพหรือให้มีการศึกษาอบรม หรือดำเนินการใดเพื่อให้พยานสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามที่เหมาะสม

        (๕) ช่วยเหลือในการเรียกร้องสิทธิที่พยานพึงได้รับ

        (๖) ดำเนินการให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในระยะเวลาที่จำเป็น

        (๗) ดำเนินการอื่นใดให้พยานได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับความคุ้มครองตามที่เห็นสมควร

        ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำขอดังกล่าว โดยให้ถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับ และห้ามมิให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม


        มาตรา ๑๑ ในกรณีที่สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของพยาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยานซึ่งมีผลต่อการที่พยานจะมาเป็นพยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัยและพยานได้ร้องขอให้นำมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยานมาใช้บังคับแก่บุคคลดังกล่าวได้ เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะไม่ให้ความยินยอม


        มาตรา ๑๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายอาจสั่งให้การคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษสิ้นสุดลง เมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

        (๑) พยานร้องขอ

        (๒) พยานไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบของกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษ

        (๓) พฤติการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของพยานเปลี่ยนแปลงไป และกรณีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้การคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษอีกต่อไป

        (๔) พยานไม่ให้การเป็นพยานโดยไม่มีเหตุสมควร

        (๕) ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษพยานในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ความผิดฐานเบิกความ อันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล หรือความผิดฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จอันเนื่องมาจากการเป็นพยานในคดีที่พยานได้รับความคุ้มครอง

 

[แก้ไข]
หมวด ๓ สำนักงานคุ้มครองพยานและการดำเนินคดี

__________________________


        มาตรา ๑๓ ให้จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองพยานขึ้นในกระทรวงยุติธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานตามมาตรการทั่วไปและมาตรการพิเศษ การปฏิบัติที่เหมาะสม รวมทั้งประสานการปฏิบัติงานและข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความปลอดภัยแก่พยานตามพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา ๑๔ ในกรณีที่เห็นว่ามีความจำเป็น กระทรวงยุติธรรมจะแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เพื่อให้มีอำนาจดำเนินคดีแพ่งตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่กระทรวงยุติธรรมมอบหมายก็ได้ โดยแจ้งให้ศาลทราบ

        การดำเนินคดีตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ข้าราชการผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินคดีหรือพนักงานอัยการได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง

 

[แก้ไข]
หมวด ๔ ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแก่พยาน

_____________________________


        มาตรา ๑๕ ในกรณีเกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ชื่อเสียง ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของพยานหรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน เพราะมีการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาเนื่องจากการที่พยานจะมา หรือได้มาเป็นพยานบุคคลนั้นมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควร

        ค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

        ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งปฏิเสธการได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๑ แล้วแต่กรณี บุคคลดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน


        มาตรา ๑๖ ให้บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๕ หรือทายาทยื่นคำขอต่อสำนักงานคุ้มครองพยานตามแบบที่สำนักงานคุ้มครองพยานกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้รู้ถึงการกระทำความผิด

        หลักเกณฑ์ วิธีการยื่นคำขอ และวิธีพิจารณาคำขอ ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด


        มาตรา ๑๗ เมื่อพยานได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญา หรือเบิกความต่อศาลแล้ว พยานพึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง แต่ในกรณีที่เป็นพยานโจทก์ในคดีความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ หรือเป็นพยานจำเลยให้อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะมีคำสั่งให้มีการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว แต่ไม่เกินอัตราตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง


        มาตรา ๑๘ ค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานหรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง


        มาตรา ๑๙ หากปรากฏในภายหลังว่าพยานไม่มา ไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่เบิกความเป็นพยานโดยไม่มีเหตุสมควร หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษพยานในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล หรือความผิดฐานทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในคดีที่บุคคลนั้นเป็นพยาน ให้บุคคลนั้นคืนหรือชดใช้ค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๕ หรือมาตรา ๑๗ หรือคืนหรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองพยานและบุคคลอื่นตามมาตรา ๑๘ แล้วแต่กรณี ที่รัฐได้จ่ายไปจริงภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากสำนักงานคุ้มครองพยาน

        ให้หน่วยงานที่ได้จ่ายค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายประสานงานกับสำนักงานคุ้มครองพยานในการเรียกคืนหรือเรียกให้ชดใช้ค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง

 

[แก้ไข]
หมวด ๕ การอุทธรณ์

_________________________


        มาตรา ๒๐ ในกรณีที่ผู้ได้รับคำสั่งตามมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๙ อันมิใช่คำสั่งของศาล ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว ให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นโดยยื่นเป็นคำร้องต่อศาลยุติธรรมชั้นต้นซึ่งมิใช่ศาลแขวงและมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาหรือศาลทหารชั้นต้น ที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นหรือที่บุคคลเหล่านั้นมีที่อยู่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

        การยื่นอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง

        ให้การอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา ๑๙ เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงานคุ้มครองพยาน

        การอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๙ มาตรา ๑๐ มาตรา ๑๑ หรือมาตรา ๑๒ ให้ศาลพิจารณาเป็นการลับและให้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีตามที่ศาลเห็นสมควรมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ทั้งนี้ ให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุอันสมควรศาลอาจขยายระยะเวลาออกไปได้ตามความจำเป็นแก่กรณี แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้

        ในการพิจารณาอุทธรณ์ ให้ศาลมีอำนาจหมายเรียกเอกสาร ข้อมูล หรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องมาศาลเพื่อทำการไต่สวนโดยไม่ชักช้า และสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร

        คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

 

[แก้ไข]
หมวด ๖ บทกำหนดโทษ

___________________________


        มาตรา ๒๑ ผู้ใดเปิดเผยความลับเกี่ยวกับสถานที่อยู่ ชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ซึ่งได้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยตามมาตรา ๖ มาตรา ๗ มาตรา ๑๐ หรือมาตรา ๑๑ โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้บุคคลเหล่านั้นไม่ได้รับความปลอดภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


        มาตรา ๒๒ ถ้าการกระทำตามมาตรา ๒๑ เป็นการกระทำเพื่อให้บุคคลตามมาตราดังกล่าวไม่ได้รับความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง


        มาตรา ๒๓ ผู้ใดกระทำความผิดอาญาต่อบุคคลใดเพราะเหตุที่บุคคลนั้น สามี ภริยา ผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของบุคคลนั้นจะมา หรือได้มาเป็นพยาน ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง

 


        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร

        นายกรัฐมนตรี

 

        หมายเหตุ :เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติมาตรา ๒๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรองรับสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นพยานในคดีอาญาให้ได้รับความคุ้มครอง การปฏิบัติที่เหมาะสมและค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ และเนื่องจากปัจจุบันพยานยังไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร ทั้งที่พยานมีความสำคัญยิ่งต่อการพิสูจน์ความจริงในทางอรรถคดี เป็นเหตุให้เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น เพื่อเพิ่มความคุ้มครองพยานให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้