พระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
11/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507

พระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2507
เป็นปีที่ 19 ในรัชกาลปัจจุบัน

        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

        โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการทุ่มตลาดเพื่อคุ้มครอง และส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรม ภายในประเทศ

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507

        มาตรา 2(1) พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

        คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันการทุ่มตลาด

        กรรมการ หมายความว่า กรรมการป้องกันการทุ่มตลาด และหมายความรวมถึงประธานกรรมการและรองประธานกรรมการป้องกันการทุ่มตลาดด้วย

        พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 การทุ่มตลาดตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่การนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรในราคาที่ต่ำกว่าปกติของสินค้านั้น อันก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่กิจการอุตสาหกรรมภายในประเทศ

        ราคาปกติของสินค้า ได้แก่

(1) ราคาของสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน เพื่อจำหน่ายในทางการค้าตามปกติภายในประเทศที่ผลิตหรือส่งออก
(2) ราคาสูงสุดของสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกัน เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในประเทศอื่นในทางการค้าตามปกติ หรือ
(3) ราคาอันประกอบด้วยต้นทุนการผลิตของสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันหรือคล้ายกันในประเทศที่ผลิต ค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายและกำไรตามสมควร
        การพิจารณาดังกล่าวข้างต้นให้คำนึงถึงความแตกต่างในเงื่อนไขและข้อตกลงในการจำหน่าย ความแตกต่างในเรื่องภาษีอากรและความแตกต่างประการอื่น อันมีผลกระทบกระเทือนต่อการเปรียบเทียบราคาประกอบด้วย

        ถ้าไม่สามารถหาราคาดังกล่าวข้างต้นจนเป็นที่พอใจได้ราคาเช่นว่านั้นให้เป็นไปตามรัฐมนตรีกะประมาณ

        มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการป้องกันการทุ่มตลาดประกอบด้วยปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรองประธาน อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงเศรษฐการผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกิจการอุตสาหกรรม และกรรมการอื่นไม่เกินสี่คนซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

        กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้

        คณะกรรมการจะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการคณะกรรมการก็ได้

        มาตรา 6 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 5 วรรคสอง กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
        เมื่อกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระคณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทน

        กรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวรรคก่อนให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระของกรรมการซึ่งตนแทน

        มาตรา 7 การประชุมของคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนของกรรมการทั้งหมดจึงเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการทำหน้าที่แทน ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกันเองเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น

        การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก

        กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

        มาตรา 8 ให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) สืบสวนหาข้อเท็จจริงและพิจารณาว่า มีการทุ่มตลาดหรือไม่ในการนี้คณะกรรมการอาจเชิญบุคคลหนึ่งบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริงและชี้แจงแสดงความเห็นได้
(2) รายงานผลของการพิจารณาและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการที่พึงใช้
(3) ปฏิบัติการอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
        มาตรา 9 ในกรณีที่มีผู้ร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาว่ามีการทุ่มตลาด และคณะกรรมการเห็นสมควรจะสืบสวนหาข้อเท็จจริงและพิจารณาให้คณะกรรมการประกาศโฆษณาสารสำคัญแห่งคำร้องขอนั้นตามวิธีการที่คณะกรรมการ เห็นสมควรเพื่อให้โอกาสแก่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านคำร้องขอนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณาในประกาศโฆษณานั้น ให้คณะกรรมการกำหนดระยะเวลาที่ให้โอกาสยื่นคำชี้แจงต่อคณะกรรมการไว้ด้วย

        มาตรา 10 ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอยู่ในขอบเขตแห่งอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการได้

        การประชุมอนุกรรมการ ให้นำมาตรา 7 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

        มาตรา 11 เมื่อคณะกรรมการรายงานผลของการพิจารณาตามมาตรา 8 ต่อรัฐมนตรีแล้ว ถ้ารัฐมนตรีเห็นว่าสินค้าใดนำเข้ามาเพื่อการทุ่มตลาดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้เรียกเก็บอากรป้องกันการทุ่มตลาดแก่สินค้านั้นในอัตราที่เห็นสมควร แต่อัตราที่เรียกเก็บต้องไม่เกินหนึ่งเท่าของราคาปกติของสินค้านั้น ประกาศนี้ให้ใช้บังคับได้คราวละหนึ่งปี

        ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกประกาศดังกล่าวในวรรคก่อน

        ประกาศตามมาตรานี้ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

        การจัดเก็บอากรป้องกันการทุ่มตลาดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของกรมศุลกากร

        ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับแก่อากรป้องกันการทุ่มตลาดโดยให้ถือเสมือนว่าอากรป้องกันการทุ่มตลาดเป็นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร

        มาตรา 12 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) เข้าไปในสถานที่ใด ๆ ในระหว่างเวลาทำการเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบเอกสารหรือสิ่งของใด ๆ
(2) อายัดเอกสารหรือสิ่งของใด ๆ
(3) เรียกบุคคลใด ๆ มาให้ถ้อยคำ ให้ส่งเอกสารหรือสิ่งของมาเพื่อประกอบการพิจารณา
        มาตรา 13 ในการปฏิบัติการตามมาตรา 12 ให้กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัว เมื่อผู้ซึ่งเกี่ยวข้องร้องขอ

        บัตรประจำตัว ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา 14 ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

        มาตรา 15 ผู้ใดไม่ให้ความสะดวกแก่กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามมาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 16 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี

--------------------------------------------------------------------------------

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากปรากฏว่าได้มีการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายตามปกติของสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกับที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศ โดย ตัดราคาจำหน่ายลง อันอาจจะยังความเสียหายแก่กิจการอุตสาหกรรมซึ่งผลิตสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกันภายในประเทศ จึงสมควรมีกฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด เพื่อให้ความคุ้มครองและส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงอันจะเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ