พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกพุทธศักราช 2484

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 58 หน้า 1566 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2484 พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกพุทธศักราช 2484

พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกพุทธศักราช 2484
_____________

 

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2484
เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน
        โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกจึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก พุทธศักราช 2484”

        มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก รัตนโกสินทรศก 128 และบรรดากฎหมาย กฎและข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 4 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก และทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้

        มาตรา 5 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้สำหรับพระราชทาน ผู้กระทำความดีความชอบเป็นประโยชน์แก่ราชการหรือสาธารณชน ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร

        มาตรา 6 เจ้านายหรือผู้มีเกียรติของต่างประเทศอาจได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้

        มาตรา 7 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้แบ่งเป็น 8 ชั้น มีนาม ดั่งต่อไปนี้

         ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก อักษรย่อ ม.ป.ช.

         ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก อักษรย่อ ป.ช.

         ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก อักษรย่อ ท.ช.

         ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก อักษรย่อ ต.ช.

         ชั้นที่ 4 จัตุถาภรณ์ช้างเผือก อักษรย่อ จ.ช.

         ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก อักษรย่อ บ.ช.

         ชั้นที่ 6 เหรียญทองช้างเผือก อักษรย่อ ร.ท.ช.

         ชั้นที่ 7 เหรียญเงินช้างเผือก อักษรย่อ ร.ง.ช.

        มาตรา 8 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีลักษณะ ดั่งต่อไปนี้ คือ

        ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

        ดวงตราด้านหน้าเป็นรูปช้างไอราพต ลงยาสีขาวอยู่บนพื้นทองในดอกบัวบาน กลีบลงยาสีชมพูสลับแดง เกสรเงิน รอบนอกมีกระจังทองลงยาสีเขียวสี่ทิศ มีรัศมีเปลวเงินตามระหว่างด้านหลังเปลี่ยนรูปช้างเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ม.ป.ร.ลงยาสีแดง เบื้องบนมีอุณาโลมเงินและพระมหามงกุฎทองมีรัศมี ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สีแดงริมเขียวมีริ้วเหลืองริ้วน้ำเงิน ขนาดเล็กควบคั่นทั้งสองข้างสะพายบ่าซ้ายเฉียงลงทางขวา กับมีดาราด้านหน้าอย่างดวงตรา แต่ย่อมกว่าซ้อนอยู่บนรัศมีเงินจำหลักเป็นเพ็ชร์สร่งสี่แฉกรัศมีทองสี่แฉก ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายสำหรับพระราชทานสตรีนั้น ดวงตรา ดารา และสายสะพายมีขนาดย่อมกว่า

        ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก

        ดวงตราเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นอยู่บนพื้นทองในดอกบัวบาน กลีบลงยาสีแดงสลับเขียว เกศรเงิน รอบนอกมีกระจังเงินแปดทิศ มีกระจังแทรกตามระหว่าง ด้านหลังเปลี่ยนรูปช้างเผือกเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ม.ป.ร.ลงยาสีแดง เบื้องบนมีพระมหามงกุฎทองมีรัศมีห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร สีแดงริมเขียว มีริ้วเหลือง ริ้วน้ำเงิน ขนาดใหญ่ควบคั่นทั้งสองข้างสะพายบ่าขวาเฉียงลงทางซ้ายกับมีดาราด้านหน้าอย่างดวงตราแต่กระจังยาวกว่าด้านหลังเป็นทอง ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายสำหรับพระราชทานสตรีนั้น ดวงตรา ดารา และสายสะพายมีขนาดย่อมกว่า

        ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก

        ดวงตราอย่างประถมาภรณ์ แต่ย่อมกว่าและที่พระมหามงกุฎไม่มีรัศมี ด้านหลังเป็นทองเกลี้ยงห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 4 เซนติเมตร สวมคอ กับมีดาราอย่างประถมาภรณ์ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับพระราชทานสตรีนั้น ดวงตรา ดารามีขนาดย่อมกว่า และดวงตราใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก

        ดวงตราอย่างทวีติยาภรณ์ ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 4 เซนติเมตรสวมคอ สำหรับพระราชทานสตรีนั้น ดวงตรามีขนาดย่อมกว่า และห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        ชั้นที่ 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก

        ดวงตราอย่างตริตาภรณ์ แต่ย่อมกว่า ห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร มีดอกไม้จีบติดบนแพรแถบประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้ายสำหรับสตรีผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก

        ดวงตราอย่างจัตุรถาภรณ์ แต่ไม่มีดอกไม้จีบสำหรับสตรีผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        ชั้นที่ 6 เหรียญทองช้างเผือก

        เหรียญเงินกลมกาไหล่ทอง ด้านหน้าเป็นรูปช้างเผือกอยู่ในดอกบัวบาน ด้านหลังเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ม.ป.ร.เบื้องบนมีพระมหามงกุฎห้อยกับแพรแถบ ขนาดกว้าง 3 เซนติเมตร ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย สำหรับสตรีผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        ชั้นที่ 7 เหรียญเงินช้างเผือก

        เหรียญเงิน มีลักษณะอย่างเหรียญทอง สำหรับสตรีผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        มาตรา 9 ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ตั้งแต่ชั้นที่ 5 ถึงชั้นสูงสุด ให้มีประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธย และประทับพระราชลัญฉกร ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นที่ 6 และที่ 7 จะได้ประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 10 เมื่อผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้วายชนม์ ผู้รับมฤดกจะต้องส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้คืนภายในกำหนดสามสิบวัน ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ กองมฤดกจะต้องรับผิดชอบ

        มาตรา 11 เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้รับพระราชทานชั้นสูงขึ้น ผู้รับพระราชทานต้องส่งคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นรอง หรือในกรณีที่ทรงเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้คืน ตามความในมาตรา 4 ถ้าผู้รับพระราชทานส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ผู้รับพระราชทานจะต้องใช้ราคาเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น

        มาตรา 12 บรรดาผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้อยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ

        มาตรา 13 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

 


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี
_____________
        พระราชบัญญัติฉบับนี้ ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่ม 58 หน้า 1566 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2484
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ