พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482

พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482
___________________________________

 

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480)
อาทิตย์ทิพอาภา
พล.อ.เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน
ตราไว้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2482
เป็นปีที่ 6 ในรัชกาลปัจจุบัน

        โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรให้มีกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายราชการ

        จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรดังต่อไปนี้


        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482


        มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป


        มาตรา 3 เครื่องหมายราชการในพระราชบัญญัตินี้ หมายถึงบรรดาเครื่องหมายซึ่งทางราชการจัดทำขึ้นและประกาศตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้


        มาตรา 4 เครื่องหมายราชการต้องเป็นเครื่องหมายที่กำหนดขึ้นไว้ในราชการ มีลักษณะบ่งเฉพาะและอาจเห็นได้ว่าเป็นเครื่องหมายของหน่วยราชการหน่วยใดหน่วยหนึ่ง


        มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีประกาศภาพเครื่องหมายราชการที่กำหนดขึ้นตามความในมาตราก่อนในราชกิจจา- นุเบกษา


        มาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะได้อนุญาต


        มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการไม่ว่าจะทำเป็นสีใดหรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใด ๆ ก็ตาม


        มาตรา 8 ผู้ใดฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งมาตรา 6 หรือมาตรา 7 มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองพันบาท


        มาตรา 9 เครื่องหมายหรือสังหาริมทรัพย์ที่มีเครื่องหมายฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของ ๆ ผู้กระทำผิดหรือมิใช่ และไม่ให้ถือเอาเหตุที่คำพิพากษาว่า ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำความผิดในคดีนั้นหรือไม่ผิดเป็นประมาณในการที่จะสั่งให้ริบทรัพย์ที่ว่ามานี้


        มาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎนั้น เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

 

 

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        พิบูลสงคราม

        นายกรัฐมนตรี
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ