พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๕

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๕

พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๕
พระราชบัญญัติ
เลื่อยโซ่ยนต์
พ.ศ.๒๕๔๕
______________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕
เป็นปีที่ ๕๗ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์
        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๘ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๕”

        มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้

         “เลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง

“มี” หมายความว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง
“ผลิต” หมายความว่า ทำหรือประกอบเพื่อการจำหน่าย
“นำเข้า” หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
         “นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์” หมายความว่า อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายสำหรับกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายสำหรับจังหวัดอื่น

“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมป่าไม้
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
        มาตรา ๔ ห้ามมิให้ผู้ใดมี ผลิต หรือนำเข้าเลื่อยโซ่ยนต์ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์

        ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตตามวรรคหนึ่งเปลี่ยนแปลงเลื่อยโซ่ยนต์ให้มีกำลังเครื่องจักรกลเพิ่มขึ้นจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์

        การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตเลื่อยโซ่ยนต์ต้องจัดทำบัญชีและหมายเลขแสดงหน่วยการผลิตตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        การออกใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ ให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ทำเครื่องหมายที่เลื่อยโซ่ยนต์ตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง และระบุพื้นที่ที่อนุญาตให้มีหรือใช้เลื่อยโซ่ยนต์ไว้ด้วย

        มาตรา ๕ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา ๔ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ผู้ขอรับใบอนุญาตมีเลื่อยโซ่ยนต์ต้องประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการที่ต้องใช้เลื่อยโซ่ยนต์และต้องไม่เคยต้องโทษสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาก่อน

        ความในวรรคสองมิให้นำมาใช้บังคับกับนิติบุคคลในทางศาสนา และกระทรวง ทบวง กรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่นของรัฐ

        มาตรา ๖ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประสงค์จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้มีหรือใช้เลื่อยโซ่ยนต์ให้แตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตตามมาตรา ๔ วรรคห้า ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังนี้

         (๑) สำหรับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ภายในจังหวัดเดียวกันกับที่ได้รับใบอนุญาต ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ผู้ออกใบอนุญาต

         (๒) สำหรับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่น ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ผู้มีอำนาจในจังหวัดนั้น

        ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๗ ผู้ใดมีเลื่อยโซ่ยนต์ต้องมีใบอนุญาตหรือสำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตสำหรับเลื่อยโซ่ยนต์เครื่องนั้นเพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทันที

        มาตรา ๘ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ประสงค์จะนำหรือให้ผู้อื่นนำเลื่อยโซ่ยนต์ของตนออกไปใช้นอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔ วรรคห้า เป็นการชั่วคราว ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องขออนุญาตโดยระบุพื้นที่ และระยะเวลาที่จะนำไปใช้ต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์และให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์อนุญาตหรือไม่อนุญาตภายในสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้รับคำขอ และถ้านายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์มิได้ดำเนินการพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาคำขอให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตทราบภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่านายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์มีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ และให้ถือว่าใบรับคำขอเสมือนหนึ่งเป็นหนังสืออนุญาต

        ให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ผู้อนุญาตแจ้งและส่งสำเนาหนังสืออนุญาตให้แก่นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ในพื้นที่ที่ระบุในหนังสืออนุญาต ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ในพื้นที่ที่ระบุในหนังสืออนุญาตประกาศการอนุญาตหรือคำขออนุญาตดังกล่าว ณ ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของพื้นที่นั้น

        ในกรณีมีเหตุอันควร ผู้ได้รับใบอนุญาตจะขออนุญาตต่อระยะเวลาที่ให้นำเลื่อยโซ่ยนต์ออกไปใช้นอกพื้นที่อีกได้ แต่ต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตไว้เดิม

        การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        มาตรา ๙ ถ้ามีการนำเลื่อยโซ่ยนต์ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔ ไปใช้ในการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ได้รับใบอนุญาตมีส่วนร่วมในการกระทำผิดนั้น

        มาตรา ๑๐ ห้ามมิให้ผู้ใดซ่อมแซมเลื่อยโซ่ยนต์เป็นธุรกิจเพื่อสินจ้าง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์

        คุณสมบัติของผู้ได้รับใบอนุญาต การขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

        ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ซ่อมแซมเลื่อยโซ่ยนต์เป็นธุรกิจเพื่อสินจ้างจะกระทำการเช่นว่านี้ได้แต่เฉพาะแก่เลื่อยโซ่ยนต์ที่มีผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้เลื่อยโซ่ยนต์และเมื่อเลื่อยโซ่ยนต์นั้นมีเครื่องหมายถูกต้องตามใบอนุญาตเท่านั้น

        มาตรา ๑๑ ถ้าผู้ได้รับใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์ตาย ให้ทายาทผู้ครอบครองเลื่อยโซ่ยนต์นั้น หรือผู้จัดการมรดกของผู้ตายแจ้งการตายและการครอบครองต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ตามใบอนุญาตภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ทราบการตายของผู้ได้รับใบอนุญาต

        นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์มีอำนาจสั่งให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกตามวรรคหนึ่งเก็บรักษาหรือใช้เลื่อยโซ่ยนต์ของผู้ได้รับใบอนุญาตที่ตายไว้ได้ และถ้ามีข้อโต้แย้งถึงสิทธิของทายาทก็ให้ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ดังกล่าวเก็บรักษาไว้จนกว่าข้อโต้แย้งนั้นถึงที่สุด

        ภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ผู้ได้รับใบอนุญาตตาย หรือถ้ามีข้อโต้แย้งถึงเรื่องสิทธิของทายาทนับแต่วันที่ข้อโต้แย้งนั้นถึงที่สุด ผู้จัดการมรดกหรือทายาทอาจขออนุญาตใหม่ได้ เมื่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ได้ออกใบอนุญาตให้แล้ว ให้มอบเลื่อยโซ่ยนต์นั้นแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตใหม่ ถ้าไม่ออกใบอนุญาตให้ใหม่ ก็ให้แจ้งให้ผู้ขอทราบและสั่งให้จัดจำหน่ายเลื่อยโซ่ยนต์นั้นภายในกำหนดหกเดือนนับแต่วันรับคำสั่ง มิฉะนั้นให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์มีอำนาจจัดการขายทอดตลาดเลื่อยโซ่ยนต์นั้น เงินสุทธิที่ได้รับจากการขายทอดตลาดให้เปิดบัญชีเงินฝากไว้ให้แก่ผู้มีสิทธิที่มาขอรับต่อไป

        มาตรา ๑๒ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา ๔ เป็นนิติบุคคล และนิติบุคคลนั้นเลิกกัน ให้ผู้ชำระบัญชีนำส่งเลื่อยโซ่ยนต์แก่นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์เพื่อเก็บรักษาตลอดระยะเวลาที่ยังคงทำการชำระบัญชีนั้น

        ในการแบ่งคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นที่ได้รับการแบ่งคืนเลื่อยโซ่ยนต์ แจ้งขอรับและขอใบอนุญาตมีไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์นั้นต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการแบ่งคืนเลื่อยโซ่ยนต์จากผู้ชำระบัญชี

        ในกรณีที่ผู้ชำระบัญชีประสงค์จะขายเลื่อยโซ่ยนต์เพื่อการชำระหนี้ของนิติบุคคลนั้น ให้ผู้ชำระบัญชีแจ้งต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์เพื่อทราบ และไม่ว่าในกรณีใดจะขายให้แก่บุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้

        ให้ผู้ประสงค์จะซื้อเลื่อยโซ่ยนต์ตามความในวรรคสามมายื่นคำขอรับและขอมีใบอนุญาตมีไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์นั้นต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ได้ตกลงซื้อขายกัน

        มาตรา ๑๓ ในกรณีที่มีผู้นำจับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาล และให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนเงินไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับตามคำพิพากษาโดยจ่ายจากเงินค่าปรับที่ชำระต่อศาล ถ้าผู้กระทำความผิดชำระเงินค่าปรับไม่ถึงจำนวนที่ต้องจ่ายค่าสินบนนำจับได้ครบถ้วน ให้จ่ายเงินสินบนนำจับเพียงเท่าที่ผู้กระทำความผิดชำระ

ในกรณีที่มีผู้นำจับหลายคน ให้แบ่งเงินสินบนนำจับให้คนละเท่าๆ กัน
การจ่ายเงินสินบนนำจับนั้น จะจ่ายได้เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว
        มาตรา ๑๔ ผู้ใดมีเลื่อยโซ่ยนต์อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้ามาขอรับใบอนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา ๔ และให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ออกใบอนุญาตให้มีเลื่อยโซ่ยนต์แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตนั้น เว้นแต่จะขาดคุณสมบัติที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้

        ให้ผู้ซึ่งปฏิบัติตามวรรคหนึ่งไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และกฎหมายว่าด้วยการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า

        ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและคดียังไม่ถึงที่สุด

        ในกรณีที่นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ไม่ออกใบอนุญาตให้ เมื่อผู้นั้นได้นำเลื่อยโซ่ยนต์มามอบแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งไม่อนุญาต

        ในกรณีที่ผู้ใดไม่ได้รับอนุญาตตามวรรคหนึ่งและวรรคสี่ ให้เลื่อยโซ่ยนต์ของผู้นั้นตกเป็นของแผ่นดินนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาตหรือนับแต่วันที่รัฐมนตรีมีคำวินิจฉัย

        เลื่อยโซ่ยนต์ที่ตกเป็นของแผ่นดินตามวรรคห้า ให้นำไปใช้ประโยชน์ในราชการ หรือจำหน่ายให้แก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือทำลายตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๑๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ ในกรณีที่นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์มีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตต่อนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ผู้มีคำสั่งไม่อนุญาตนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่งไม่อนุญาต

        ให้นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ว่าเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์โดยการอนุญาตตามคำขอหรือยืนยันคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในสามสิบวัน

        ในกรณีที่นายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ยืนยันคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ขออนุญาตมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งยืนยันคำสั่งไม่อนุญาตต่อรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งยืนยันคำสั่งไม่อนุญาต

        มาตรา ๑๖ การจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

        มาตรา ๑๗ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งริบเลื่อยโซ่ยนต์นั้น         เลื่อยโซ่ยนต์ที่ศาลสั่งริบ ให้นำไปใช้ประโยชน์ในราชการ หรือจำหน่ายให้แก่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือทำลายตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด

        มาตรา ๑๘ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๔ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท และต้องแก้ไขให้เลื่อยโซ่ยนต์นั้นมีกำลังเครื่องจักรกลเท่าที่ขออนุญาตไว้เดิมภายในเวลาที่ศาลกำหนด หากไม่ปฏิบัติตามให้ศาลสั่งริบเลื่อยโซ่ยนต์นั้น

        มาตรา ๑๙ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ หรือมาตรา ๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา ๒๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

        มาตรา ๒๑ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

        มาตรา ๒๒ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

        มาตรา ๒๓ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม* รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

 

 


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี

 


        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าไม่อาจประสบผลสำเร็จได้ตามเป้าหมาย สาเหตุหนึ่งเนื่องจากมีการใช้เลื่อยโซ่ยนต์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการตัดไม้และแปรรูปไม้ที่มีประสิทธิภาพสูงกันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะได้มีมาตรการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยกฎหมายอื่นอยู่แล้วก็ตาม แต่ยังมีการลักลอบนำเลื่อยโซ่ยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อใช้ในการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก จึงสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์เพื่อควบคุมการมีไว้ในครอบครอง และการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าตามนโยบายของรัฐบาลและในขณะเดียวกันไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพที่ต้องใช้เลื่อยโซ่ยนต์โดยสุจริต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชกฤษฎีกาโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปเป็นกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๔๖ [๒]
        มาตรา ๑๐ โดยผลของบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๓๐ วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชกฤษฎีกานี้มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกบทบัญญัติในกฎหมาย ดังนี้

         (๗) ในพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้แก้ไขคำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” เป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

        มาตรา ๑๒ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

        หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดให้กรมป่าไม้เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดปัญหาการบริหาร ทั้งในด้านนโยบาย วิชาการ บุคลากร และการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นเหตุให้ระบบการบริหารงานและการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบูรณาการตามกลุ่มภารกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติและนโยบายของรัฐบาล สมควรโอนกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ สิทธิ ภาระผูกพัน ข้าราชการ ลูกจ้าง ตำแหน่งและอัตรากำลัง ไปเป็นกรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสมควรที่จะได้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งโอนอำนาจหน้าที่และกิจการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ไปเป็นของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีขอบเขตที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน นอกจากนี้ สมควรแก้ไขการใช้อำนาจของรัฐมนตรีและการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สอดคล้องกับการดำเนินการดังกล่าวด้วย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

 

 


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ