พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔

พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔
_____________
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร

ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐)

อาทิตย์ทิพอาภา

พล.อ. พิชเยนทรโยธิน

ตราไว้ ณ วันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔

เป็นปีที่ ๘ ในรัชกาลปัจจุบัน
        โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับความดีความชอบเหรียญดุษฎีมาลา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔”

        มาตรา ๒ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติ เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับความดีความชอบเหรียญดุษฎีมาลา ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๒๔๔ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้

        *มาตรา ๔ เหรียญนี้สำหรับพระราชทานผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปวิทยาอันได้แสดงให้ประจักษ์เป็นพิเศษแล้ว ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร และถ้าผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ได้ใช้ศิลปวิทยาเป็นคุณประโยชน์ ให้แก่ชาติบ้านเมืองได้ผลถึงขนาดผู้นั้นอาจได้รับพระราชทานเงินพิเศษประจำเดือนซึ่งชาติให้เป็นการตอบแทน เงินพิเศษนี้จะได้กำหนดเป็นกรณีๆ คิดเป็นเงินปีราย หนึ่งปีหนึ่งอย่างสูงสำหรับผู้ต้นคิดชั้นเยี่ยม ไม่เกิน ๔,๘๐๐ บาท นอกจากนั้นไม่เกิน ๑,๒๐๐ บาท และจะจ่ายให้ตลอดชีวิตของผู้ที่ได้รับพระราชทาน เว้นแต่ผู้นั้นประพฤติตนไม่สมเกียรติ หรือไม่อยู่ภายใต้ระเบียบและวินัยซึ่งกำหนดไว้ ก็อาจถูกตัดเงินพิเศษดังกล่าวนี้ได้

        มาตรา ๕ เหรียญนี้มีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปไข่ กาไหล่ทอง ด้านหน้ามีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องล่างมีใบชัยพฤกษ์ไขว้ ด้านหลังมีรูปพระไทยเทวาธิราชทรงพระขรรค์ยืนแท่นพิงโล่ พระหัตถ์ซ้ายทรงพวงมาลัยจะสวมที่ตรงจารึกนามผู้ได้รับมีเลข ๑๒๔๔ ห่วงเหรียญเป็นรูปพระขรรค์ชัยศรีกับธารพระกรเทวรูปไขว้รองรับโลหะ จารึกอักษรว่า “ทรงยินดี” ห้อยกับแพรแถบ กว้าง ๓ เซนติเมตร ริ้วแดงริ้วขาวสำหรับฝ่ายทหารและตำรวจ ริ้วขาวริ้วชมพูสำหรับฝ่ายพลเรือน ประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย กับมีเข็มปลายเป็นช่อปทุมทั้ง ๒ ข้าง จารึกอักษรว่า “ศิลปวิทยา” กลัดที่แพรแถบเหนือเหรียญ สำหรับพระราชทานสตรีใช้ห้อยกับแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอประดับเสื้อที่หน้าบ่าซ้าย

        มาตรา ๖ การพระราชทานเหรียญนี้พระราชทานให้เป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ได้รับพระราชทานวายชนม์ ให้ทายาทโดยธรรมรักษาไว้เป็นที่ระลึก แต่ถ้าผู้ได้รับพระราชทานก็ดีทายาทโดยธรรมก็ดีประพฤติตนไม่สมเกียรติ อาจทรงเรียกคืนได้ ถ้าส่งคืนไม่ได้ด้วยประการใด ๆ ภายในกำหนดสามสิบวันจะต้องใช้ราคาเหรียญนั้น

        มาตรา ๗ บรรดาผู้ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา และเข็มอยู่แล้วในวันใช้พระราชบัญญัตินี้ มีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ


--------------------------------------------------------------------------------

        * มาตรา ๔ แก้ไขใหม่โดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา (ฉบับที่ ๒)พุทธศักราช ๒๔๘๕

        มาตรา ๘ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

 

 


พระราชบัญญัติ
เหรียญดุษฎีมาลา ( ฉบับที่ ๒)

พุทธศักราช ๒๔๘๔
_____________

 

ในพระปรมาภิไธยสมเด็ดพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร

ลงวันที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐

และวันที่ ๑๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒)

อาทิตย์ทิพอาภา

ปรีดี พนมยงค์

ตราไว้ ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๕

เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลปัจจุบัน
        โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควนแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธศักราช ๒๔๘๔

        จึงมีพระบรมราชโองการไห้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

        มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้ไห้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๔๘๕”

        มาตรา ๒ ไห้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา ๓ ไห้ยกเลิกความไนมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเหรียญดุษฎีมาลา พุทธ ศักราช ๒๔๘๔ และไห้ไช้ความต่อไปนี้แทน

         “ มาตรา ๔ เหรียญนี้สำหรับพระราชทานผู้ทรงคุณวุทธิในทางศิลปวิทยา อันได้แสดงไห้ประจักษ์เป็นพิเศษแล้ว ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร และถ้าผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญนี้ได้ใช้ศิลปวิทยาเป็นคุณประโยชน์ไห้แก่ชาติบ้านเมืองได้ผลถึงขนาด ผู้นั้นอาดได้รับพระราชทานเงินพิเศษประจำเดือน ซึ่งชาติไห้เป็นการตอบแทน เงินพิเศษนี้จะได้กำหนดเป็นกรณี ๆ คิดเป็นเงินปี รายหนึ่งปีหนึ่งอย่างสูงสำหรับผู้ต้นคิดชั้นเยี่ยมไม่เกิน ๔,๘๐๐ บาท นอกจากนั้นไม่เกิน ๔,๒๐๐บาท และจะจ่ายไห้ตลอดชีวิตของผู้ที่ได้รับพระราชทาน เว้นแต่ผู้นั้นประพฤติตนไม่สมเกียรติ หรือไม่อยู่พายไต้ระเบียบและวินัยซึ่งกำหนดไว้ ก็อาดถูกตัดเงินพิเศษดังกล่าวนี้ได้”

        มาตรา ๔ ไห้นายกรัถมนตรีรักสาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม

นายกรัฐมนตรี
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ