พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
13/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477

พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477
---------------
นริศรานุวัดติวงศ์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามพระราชกฤษฎีกา ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2476)
        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า

        โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า เนื่องจากพาณิชยกรรมของประเทศได้เจริญขึ้น สมควรแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวด้วยการไปรษณีย์ซึ่งยังคงใช้อยู่ในเวลานี้ เพื่อให้ความสะดวกแก่ประชาชนและเหมาะสมแก่กาลสมัยยิ่งขึ้น

        จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรดังต่อไปนี้

[แก้ไข]
ข้อความเบื้องต้น
------
        มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477

        มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชกำหนดไปรษณีย์ รัตนโกสินทรศก 116 และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

[แก้ไข]
หมวด 1 บทวิเคราะห์ศัพท์
-----
        มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ ถ้าข้อความมิได้แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

         (1) รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข

         (2) อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ผู้แทนหรือเจ้าพนักงานอื่น ซึ่งทำการในตำแหน่งอธิบดี

         (3) เจ้าพนักงาน หมายความว่า เจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์โทรเลข

         (4) กรม หมายความว่า กรมไปรษณีย์โทรเลข

         (5) ที่ทำการไปรษณีย์ หมายความตลอดถึงโรงเรือนสิ่งที่ปลูกสร้างห้อง ยานพาหนะ หรือสถานที่ทุกแห่งที่ใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์

         (6) ตู้ไปรษณีย์ หมายความว่า ที่รับไปรษณียภัณฑ์ทุกชนิดซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดไว้

         (7) ถุงไปรษณีย์ หมายความตลอดถึง ถุง หีบ ห่อ ซอง หรือของหุ้มห่ออื่น ๆ สำหรับบรรจุไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ แม้ถุงนั้นจะมีไปรษณียภัณฑ์อยู่หรือไม่ก็ตาม

         (8) ไปรษณียากร หมายความว่า ค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียสำหรับส่งไปรษณียภัณฑ์ทางไปรษณีย์

         (9) ตราไปรษณียากร หมายความว่า บัตรตราใด ๆ ซึ่งรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้น เพื่อใช้เป็นค่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่น หรือจำนวนเงินที่จะต้องเสียในการส่งไปรษณียภัณฑ์ รวมทั้งตราไปรษณียากรสำหรับผนึก หรือตราไปรษณียากรที่พิมพ์ ดุน หรือแสดงไว้โดยวิธีอื่นบนซอง กระดาษห่อ ไปรษณียบัตรหรือสิ่งอื่น ๆ

         (10) ไปรษณียภัณฑ์ หมายความว่า จดหมาย ไปรษณีย์บัตร ไปรษณีย์บัตรตอบรับ หนังสือกิติยคดี ตัวอย่างหรือแบบสินค้า ของตีพิมพ์ทุกชนิด หนังสือพิมพ์ลงทะเบียน ห่อจดหมาย ห่อพัสดุ ธนาณัติ เช็คไปรษณีย์ หรือวัตถุอย่างอื่นที่นำมาใช้ในการสื่อสารไปรษณีย์

         (11) ธนาณัติ หมายความว่า ตราสารซึ่งที่ทำการไปรษณีย์แห่งหนึ่งสั่งให้ที่ทำการไปรษณีย์อีกแห่งหนึ่งจ่ายเงิน

         (12) ไปรษณียนิเทศ หมายความว่า สมุดกฎ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือประกาศว่าด้วยการไปรษณีย์ทั่วไป อันพึงต้องปฏิบัติตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามสัญญาสากลไปรษณีย์

         (13) เช็คไปรษณีย์ หมายความว่า ตราสารสำหรับขายแก่ประชาชนเพื่อประโยชน์ในการส่งเงินโดยเจ้าพนักงาน ณ ที่ทำการไปรษณีย์แห่งหนึ่งให้เจ้าพนักงาน ณ ที่ทำการไปรษณีย์แห่งใดแห่งหนึ่งจ่ายเงินให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งระบุนามไว้ หรือผู้ถือตราสารนั้น

[แก้ไข]
หมวด 2 อำนาจสิทธิ์ขาด
------
        มาตรา 5 รัฐบาลทรงไว้ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะจัดการไปรษณีย์ และตั้งที่ทำการไปรษณีย์ภายในราชอาณาจักร

        อำนาจนี้มอบหมายให้ไว้แก่กรมซึ่งมีสิทธิและหน้าที่จัดการไปรษณีย์ และตั้งที่ทำการไปรษณีย์ขึ้น ตามที่รัฐมนตรีเห็นสมควร และมีหน้าที่ทำกิจการต่าง ๆ อันเกี่ยวแก่การรับ รวบรวม ส่ง จ่าย และส่งมอบไปรษณียภัณฑ์ตามกฎ ข้อ-บังคับ และคำสั่งที่ตั้งขึ้น

        การตั้งหรือเลิกที่ทำการไปรษณีย์ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 6 เมื่อกรมได้จัดการไปรษณีย์ขึ้นที่ใดแล้ว ห้ามมิให้บุคคลซึ่งไม่ได้รับอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น ส่ง จัดให้ส่ง ฝาก ส่งมอบให้แก่ผู้อื่นเพื่อให้ไปส่ง นำส่ง หรือกระทำการอื่นเกี่ยวกับการนำส่งจดหมาย หรือไปรษณียบัตรโดยทางอื่นนอกจากทางไปรษณีย์ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

         (1) จดหมายหรือไปรษณียบัตรไม่เกินสามฉบับที่ฝากผู้เดินทางโดยผู้รับฝากนั้นมิได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง รางวัล หรือผลประโยชน์อย่างใด ๆ ในการนั้น

         (2) จดหมายหรือไปรษณียบัตรที่ได้จัดให้ผู้เดินหนังสือพิเศษถือไป และเกี่ยวข้องด้วยกิจธุระของผู้ฝาก หรือผู้รับจดหมายหรือไปรษณียบัตรนั้นโดยเฉพาะและ ผู้เดินหนังสือนั้นต้องห้ามมิให้รับจดหมายหรือไปรษณียบัตรจากผู้อื่น หรือนำส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรให้แก่ผู้อื่น

         (3) จดหมายหรือไปรษณียบัตรที่เกี่ยวข้องเฉพาะสินค้า หรือทรัพย์สินที่ส่งไปโดยทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ ซึ่งจะต้องส่งมอบพร้อมกับสินค้าหรือทรัพย์สินนั้นโดยมิต้องเสียค่าจ้าง รางวัล หรือได้ผลประโยชน์อย่างใด ในการรับนำไป หรือส่งมอบจดหมายหรือไปรษณียบัตรนั้นแต่จดหมายหรือไปรษณียบัตรนั้น ต้องให้เจ้าพนักงานตรวจดูได้ และต้องมีคำว่า จดหมายของผู้รับตราส่ง หรือถ้อยคำอย่างอื่นทำนองเดียวกัน

        มาตรา 7 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 6 ห้ามมิให้บุคคลต่อไปนี้นำส่ง รับ รวบรวม หรือส่งมอบจดหมาย หรือไปรษณียบัตร แม้ว่าตนจะมิได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง รางวัล หรือผลประโยชน์อย่างใด ๆ กล่าวคือ

         (1) ผู้ทำการรับขนของ หรือคนโดยสารโดยปกติ รวมทั้งผู้ขับ ลูกจ้าง หรือตัวแทนของบุคคลนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่ จดหมาย หรือไปรษณียบัตรอันเกี่ยวข้องกับของซึ่งรับขนนั้น

         (2) เจ้าของ นาย ผู้บังคับการ หรือกะลาสีเรือ หรืออากาศยาน ที่ผ่านหรือแล่นไปตามแม่น้ำลำคลอง หรือในอากาศภายในราชอาณาจักร หรือแล่นผ่านไปตามฝั่งทะเล หรือระหว่างท่าเรือ หรือที่ใด ๆ ภายในราชอาณาจักร หรือระหว่างที่ใด ๆ ภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือลูกจ้าง หรือตัวแทนของบุคคลนั้น ๆ เว้นแต่จดหมายหรือไปรษณียบัตรนั้น เกี่ยวกับของที่รับขนนั้น หรือเป็นจดหมาย หรือไปรษณียบัตรที่ได้รับไว้เพื่อนำส่งไปโดยได้รับอำนาจจากกรม

        มาตรา 8 กรมไม่จำต้องรับผิดในการที่ไปรษณียภัณฑ์ซึ่งอยู่ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์สูญหาย ส่งผิด เนิ่นช้า แตกหัก หรือบุบสลาย เว้นไว้แต่ในกรณีพิเศษที่มีกฎหมายหรือกฎข้อบังคับระบุไว้แจ้งชัดว่าต้องเสียค่าทำขวัญ

        มาตรา 9 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี อธิบดีอาจอนุญาตโดยออกเป็นข้อบังคับข้อสัญญา และเงื่อนไขทั่วไป หรือให้แต่เฉพาะบุคคลในกรณีพิเศษ

         (1) ให้ตั้งที่ทำการไปรษณีย์ประเภทรับอนุญาตขึ้นภายในราชอาณาจักร

         (2) ให้ส่ง นำส่ง หรือส่งมอบไปรษณียภัณฑ์โดยทางอื่นนอกจากทางไปรษณีย์

         (3) ให้ผู้อื่นรวบรวมไปรษณียภัณฑ์ เพื่อส่งโดยทางไปรษณีย์ หรือโดยทางที่ได้อนุญาตเป็นพิเศษตามมาตรานี้

         (4) ให้ทำกิจการอย่างอื่นทั่วไปตามที่เห็นสมควร เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

[แก้ไข]
หมวด 3 ไปรษณียากร
--------------
        มาตรา 10 รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากร และค่าธรรมเนียมอื่นในการส่งไปรษณียภัณฑ์ทางไปรษณีย์ภายในราชอาณาจักรตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือเกี่ยวแก่ไปรษณียภัณฑ์ต่างประเทศ ซึ่งมีบทกำหนดไว้ตามสัญญาสากลไปรษณีย์และวางข้อบังคับกำหนดข้อสัญญาและเงื่อนไขในการเรียกเก็บไปรษณียากรตามที่กำหนดไว้นั้น

        มาตรา 11 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี อธิบดีอาจออกข้อบังคับ

         (1) ให้เสียไปรษณียากรล่วงหน้าสำหรับไปรษณียภัณฑ์ที่ส่งภายในราชอาณาจักรทุกประเภท หรือแต่บางประเภท และกำหนดวิธีที่จะต้องเสียไปรษณียากรล่วงหน้า

         (2) กำหนดอัตราไปรษณียากรที่จะต้องเสียสำหรับไปรษณียภัณฑ์ภายในราชอาณาจักร เมื่อมิได้เสียไปรษณียากรหรือได้เสียล่วงหน้าไว้ไม่พอ

         (3) กำหนดวิธีที่จะสั่งให้ส่งไปรษณียภัณฑ์ต่อไปยังที่อื่นโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือต้องเสียเพิ่มขึ้นอีก ตามแต่จะระบุไว้ในข้อบังคับ

         (4) กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม การส่งด่วน คือ นำส่งนอกเวลาส่งธรรมดา สำหรับไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้น หรือ ใช้แทนอัตราไปรษณียากรที่ต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้

         (5) ว่าด้วยกิจการอย่างอื่นทั่วไปที่เกี่ยวแก่ไปรษณียากร

        ข้อบังคับนี้ เมื่อได้โฆษณาแล้วให้ใช้บังคับได้

        มาตรา 12 ผู้รับไปรษณียภัณฑ์ ซึ่งยังมีไปรษณียากรหรือค่าธรรมเนียมอื่นที่ต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้ค้างอยู่จำต้องชำระค่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นนั้นในขณะที่รับไปรษณียภัณฑ์ เว้นแต่จะต้องส่งคืนเสียทันทีโดยมิได้เปิดผนึกหรืออ่านข้อความ

        ถ้าอธิบดีเห็นว่าไปรษณียภัณฑ์นั้นได้มีผู้แกล้งส่งมาเพื่อเป็นเครื่องรบกวนผู้รับ จะงดไม่เรียกเก็บไปรษณียากรนั้นก็ได้

        ถ้าผู้รับไม่ยอมรับ หรือส่งคืนไปรษณียภัณฑ์ซึ่งยังมีไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ค้างอยู่ดังกล่าวแล้ว หรือถ้าผู้รับตายหรือหาตัวไม่พบ ผู้ฝากจำต้องชำระค่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นที่ค้างอยู่นั้นจนครบตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 13 เมื่อได้รับไปรษณียภัณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีจากที่แห่งใดแห่งหนึ่งภายนอกราชอาณาจักร และเจ้าพนักงานได้เสียค่าภาษีนั้นให้แก่ด่านภาษีใดหรือ ณ ที่ใดแล้ว เงินค่าภาษีนั้นให้เรียกคืนได้เหมือนหนึ่งว่าเป็นไปรษณียากรที่ค้างอยู่ตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 14 ในการเรียกร้องให้ใช้ไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นสำหรับไปรษณียภัณฑ์ที่ค้างอยู่ตามพระราชบัญญัตินี้

         (1) เมื่อได้ยื่นไปรษณียภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายของเจ้าพนักงานแสดงว่าผู้รับไม่ยอมรับ หรือผู้รับตาย หรือหาตัวไม่พบ ให้ถือเป็นหลักฐานเบื้องต้นว่าการได้เป็นจริงตามข้อความที่ได้แสดงนั้น

         (2) ถ้าได้ความว่า ไปรษณียภัณฑ์มาจากผู้ใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ฝากเว้นแต่จะพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น

        มาตรา 15 เครื่องหมายของเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์โทรเลขแห่งกรุงสยามหรือต่างประเทศบนไปรษณียภัณฑ์ใด แสดงว่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นสำหรับไปรษณียภัณฑ์นั้นยังค้างอยู่ ให้ถือเป็นหลักฐานเบื้องต้นว่า จำนวนเงินที่ปรากฏนั้นได้ค้างอยู่จริง

[แก้ไข]
หมวด 4 ตราไปรษณียากร
--------------
        มาตรา 16 ให้รัฐมนตรีจัดให้มีตราไปรษณียากรชนิดต่าง ๆ และบอกมูลค่าตามที่เห็นว่าจำเป็น และให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขราคาตราไปรษณียากรนั้น เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        ตราไปรษณียากรที่จัดให้มีขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขราคานั้นให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

        มาตรา 17 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี อธิบดีอาจออกข้อบังคับ

         (1) ว่าด้วยการจ่าย ขาย เก็บรักษา และใช้ตราไปรษณียากร

         (2) กำหนดราคาตราไปรษณียากรที่จะขาย

         (3) ระบุบุคคลที่จะขายตราไปรษณียากร กับวางอัตราและเงื่อนไขในการขาย

         (4) กำหนดหน้าที่และสินจ้าง ที่จะให้แก่ผู้ขายตราไปรษณียากร

         (5) วางเงื่อนไขในการปรุตราไปรษณียากร การลบเลือน ทำให้เสียสภาพและว่าด้วยตราไปรษณียากรอย่างใดควรรับหรือไม่ควรรับไว้ใช้เป็นค่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่น

         (6) แสดงประเภทไปรษณียภัณฑ์ที่อาจเสียไปรษณียากรเป็นเงิน และใช้เครื่องหมายอย่างอื่นประทับแทนตราไปรษณียากรเป็นค่าไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นที่จะต้องเสียตามพระราชบัญญัตินี้

         (7) ว่าด้วยกิจการอย่างอื่นทั่วไปที่เกี่ยวแก่ตราไปรษณียากร

[แก้ไข]
หมวด 5 การรับและส่งไปรษณียภัณฑ์
------
        มาตรา 18 ไปรษณียภัณฑ์อันจะส่งทางไปรษณีย์นั้น จะต้องให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น และกฎข้อบังคับที่ได้ตั้งขึ้น

        มาตรา 19 ไปรษณียภัณฑ์นั้น ให้ถือว่าอยู่ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ตั้งแต่เวลาที่ได้สอดลงในตู้ไปรษณีย์ หรือได้มอบให้แก่เจ้าพนักงานประจำที่ทำการไปรษณีย์ จนถึงเวลาที่ได้ส่งถึงผู้รับ หรือส่งกลับคืนมายังผู้ฝาก หรือได้จัดการเป็นอย่างอื่นตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 20 ผู้ฝากมีสิทธิที่จะถอนไปรษณียภัณฑ์นั้นคืนจากที่ทำการไปรษณีย์ หรือเปลี่ยนชื่อหรือที่อยู่ หรือให้จัดการแก่ไปรษณียภัณฑ์นั้นเป็นอย่างอื่นได้ตลอดเวลาที่ไปรษณียภัณฑ์นั้นยังอยู่ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์

        มาตรา 21 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี อธิบดีอาจออกข้อบังคับว่าด้วยการรับและส่งไปรษณียภัณฑ์ทางไปรษณีย์ ทั่วไป แต่โดยเฉพาะไม่ลบล้างอำนาจทั่วไป คือ

         (1) ระบุชนิดวัตถุที่ไม่อนุญาตให้ส่งทางไปรษณีย์

         (2) วางเงื่อนไขในการส่งวัตถุทางไปรษณีย์

         (3) วางระเบียบการกัก และจำหน่ายวัตถุ ที่ส่งทางไปรษณีย์อันเป็นของต้องห้าม หรือต้องพิกัดภาษี หรือฝ่าฝืน ต่อกฎข้อบังคับที่ได้ตั้งขึ้น

         (4) จำแนกประเภท และวางระเบียบว่าด้วยสันฐาน ขนาดน้ำหนักเครื่องหุ้มห่อ และการผูกมัด กับการใช้ ไปรษณียภัณฑ์

         (5) วางระเบียบการออกใบรับ การออกและรับใบสำคัญในการรับและส่งไปรษณียภัณฑ์ และกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องเสียนอกจากไปรษณียากร สำหรับใบรับและใบสำคัญนั้น

         (6) กำหนดประเภทไปรษณียภัณฑ์อันควรอยู่ในลำดับจ่าย หรือส่งก่อนและหลังตามที่จำเป็น

         (7) กำหนดเวลาและวิธีให้รับและส่งไปรษณียภัณฑ์

        ข้อบังคับนี้เมื่อได้โฆษณาแล้วให้ใช้บังคับได้

        มาตรา 22 ให้อธิบดีจัดทำไปรษณียนิทเทสขึ้น เพื่อใช้ประกอบกับพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัดทอนเพิ่มเติมหรือยกเลิกเพิกถอนเสียได้เป็นคราว ๆ

         ไปรษณีย์นิทเทสนั้น เมื่อได้รับอนุมัติของรัฐมนตรีและได้โฆษณาแล้วให้ใช้บังคับได้

        มาตรา 23 ห้ามมิให้บุคคลใดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งวัตถุมีคมที่ไม่มีเครื่องหุ้มห่อป้องกันพอ หรือวัตถุระเบิด หรือสิ่งโสโครก หรือสิ่งมีพิษ หรือสัตว์มีชีวิต หรือสิ่งของที่มีสภาพอันน่าจะก่อให้เกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ หรือแก่เจ้าพนักงาน เว้นไว้แต่จะมีข้อบังคับหรือเงื่อนไขกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

        มาตรา 24 ห้ามมิให้บุคคลใดส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งไปรษณียภัณฑ์อันเห็นได้ประจักษ์ว่ามีถ้อยคำ เครื่องหมาย หรือลวดลายเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดิน หรือหยาบช้าลามก หรือเป็นที่ยุยงส่งเสริมให้มีการกำเริบหรือหยาบคาย หรือขู่เข็ญ หรือกรรโชก หรือผรุสวาทอย่างร้ายแรง หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย

        มาตรา 25 ไปรษณียภัณฑ์ใดที่ส่งทางไปรษณีย์เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ อธิบดีอาจมีคำสั่งตามควรแก่กรณีกล่าวคือ

         (1) ให้กักไว้หรือส่งต่อไป หรือส่งกลับคืนไปยังผู้ฝาก หรือให้จำหน่ายเป็นอย่างอื่น

         (2) ให้เปิดตรวจ หรือทำลายเสียได้ ถ้าจำเป็นและเมื่อทำลายแล้วให้แจ้งไปให้ผู้ฝากทราบ

         (3) ให้ส่งตรงไปยังพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อมีเหตุสงสัยว่าเป็นความผิดอาญา เพื่อจัดการฟ้องร้อง

        มาตรา 26 ในเวลาที่ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือในเวลาสงครามรัฐมนตรี หรือเจ้าพนักงานคนใดที่ได้รับอำนาจพิเศษจากรัฐมนตรี เพื่อการนี้อาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ ให้งดการส่งหรือกักไปรษณียภัณฑ์ประเภทใด ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์นั้นไว้ได้ หรือให้จัดการจำหน่ายโดยวิธีใดแล้วแต่เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจะได้กำหนด

        มาตรา 27 ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นว่า ไปรษณียภัณฑ์ใดเป็นจดหมายหรือไปรษณียบัตรหรือเป็นไปรษณียภัณฑ์ประเภทอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎข้อบังคับและคำสั่งที่ได้ตั้งขึ้น ให้ถือเอาคำวินิจฉัยของอธิบดี แต่รัฐมนตรีอาจแก้ไขคำวินิจฉัยนั้นได้เมื่อเห็นสมควร

[แก้ไข]
หมวด 6 การลงทะเบียนและการประกัน
------
        มาตรา 28 ผู้ฝากอาจขอให้ลงทะเบียนหรือประกันไปรษณียภัณฑ์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ตามกฎข้อบังคับที่ได้ตั้งขึ้น

        มาตรา 29 กรมจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการที่ไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนสูญหายไป หรือไปรษณียภัณฑ์รับประกันแตกหัก หรือสูญหายไปในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ตามข้อบังคับที่ใช้อยู่เวลานั้น เว้นไว้แต่การแตกหักหรือสูญหายนั้น เกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งไปรษณียภัณฑ์นั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ฝาก หรือผู้รับ

        มาตรา 30 เมื่อกรมจะต้องใช้ราคาไปรษณียภัณฑ์ที่แตกหักหรือสูญหายไปนั้น โดยที่ผู้ฝากได้ระบุแจ้งราคาไว้แล้วให้ถือว่าการระบุแจ้งราคาไว้นั้นเป็นข้อสันนิษฐานว่า ไปรษณียภัณฑ์นั้นมีราคาตามที่ได้ระบุแจ้งไว้ แต่ทั้งนี้ผู้ฝากจะเรียกค่าสินไหมทดแทนเกินกว่ากำหนดราคาที่ได้ระบุแจ้งไว้นั้นหาได้ไม่

        มาตรา 31 ผู้รับหรือผู้ฝากมีสิทธิที่จะขอให้เปิดไปรษณียภัณฑ์ที่จะส่งมอบแก่ตนก่อนรับต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมได้ ในกรณีเช่นนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นั้นทำบันทึกแสดงพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏแก่ตนไว้ แล้วลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายไว้เป็นสำคัญ

        มาตรา 32 ในเรื่องความรับผิดของกรมในการที่ไปรษณียภัณฑ์แตกหักหรือสูญหายนั้น ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือวันที่ควรจะได้ส่งมอบ

        มาตรา 33 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี อธิบดีอาจออกข้อบังคับว่าด้วยการลงทะเบียน และการประกันไปรษณียภัณฑ์ทั่วไป แต่โดยเฉพาะไม่ลบล้างอำนาจทั่วไป คือ

         (1) กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์ประเภทใด ที่อาจให้ลงทะเบียน หรือเอาประกันได้ หรือต้องบังคับให้ลงทะเบียนหรือให้เอาประกัน

         (2) กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์ที่ต้องบังคับให้ลงทะเบียนหรือเอาประกันซึ่งได้ส่งไปโดยมิได้ลงทะเบียนหรือเอาประกันนั้นให้ส่งกลับคืนแก่ผู้ฝาก หรือให้ส่งต่อไปยังผู้รับ หรือให้จัดการเป็นอย่างอื่น

         (3) จำกัดจำนวนเงิน สำหรับรับลงทะเบียน หรือรับประกันไปรษณียภัณฑ์ และจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน

         (4) วางระเบียบที่ต้องเสียไปรษณียากร หรือค่าธรรมเนียมอื่นสำหรับลงทะเบียน หรือรับประกัน และการออกใบรับใบสำคัญสำหรับการลงทะเบียนหรือรับประกันนั้น

         (5) กำหนดเวลาและระเบียบว่าด้วยการจัดส่งไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียน หรือรับประกันที่ส่งมอบแก่ที่ทำการไปรษณีย์

        ข้อบังคับนี้เมื่อได้โฆษณาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

        มาตรา 34 ถ้ากรมได้ทำความตกลงไว้กับต่างประเทศเป็นพิเศษว่าด้วยการรับและส่งไปรษณียภัณฑ์ลงทะเบียนหรือรับประกันทางไปรษณีย์ไว้อย่างใด ให้ใช้ความตกลงนั้นเป็นข้อบังคับ

[แก้ไข]
หมวด 7 ไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้
---------------
        มาตรา 35 อธิบดีอาจออกข้อบังคับว่าด้วยวิธีจำหน่ายไปรษณียภัณฑ์ที่ไม่สามารถส่งได้เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่าไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้ แต่โดยเฉพาะไม่ลบล้างอำนาจทั่วไป คือ

         (1) กำหนดเวลาให้ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางเก็บรักษาไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้พักไว้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์นั้น

         (2) จัดให้มีการโฆษณาบัญชีไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้ทุกประเภทหรือแต่บางประเภท

        ไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้นั้น เมื่อได้พักไว้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางครบกำหนดเวลาแล้ว ให้ส่งกลับไปยังที่ทำการไปรษณีย์ต้นทาง เพื่อคืนให้แก่ผู้ฝาก หรือให้ส่งตรง ไปยังกรม

        มาตรา 36 ไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้ที่กรมได้รับไว้ตามมาตรา 35 ให้จัดการดังต่อไปนี้

         (1) ถ้าสามารถจะส่งได้ ให้สลักหลังเสียใหม่แล้วส่งไปยังผู้รับโดยทางไปรษณีย์

         (2) ถ้าจะทำดังกล่าวมาแล้วไม่ได้ ให้เจ้าพนักงานผู้ที่อธิบดีได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อการนี้เปิดไปรษณียภัณฑ์นั้นออก เพื่อให้ทราบชื่อและที่อยู่ของผู้ฝาก แต่จำต้องสงวนข้อความที่ได้ทราบนั้นไว้เป็นความลับ แล้วให้ส่งไปรษณียภัณฑ์นั้นคืนไปยังผู้ฝากทางไปรษณีย์ โดยมิต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือจะต้องเสียอีกตามแต่จะกำหนดไว้ในข้อบังคับ

        มาตรา 37 ไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้ ที่ไม่สามารถจะจัดการให้เป็นไปตามมาตรา 36 ให้กักไว้มีกำหนดเวลาต่อไปอีก หรือให้จัดการสถานใดแล้วแต่จะได้วางไว้ในข้อบังคับ แต่ถ้า

         (1) เป็นจดหมายและไปรษณียบัตรให้ทำลายเสีย

         (2) เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อาจเสื่อมศูนย์โดยสภาพ ซึ่งพบในไปรษณียภัณฑ์ส่งไม่ได้ ให้กักไว้มีกำหนดหนึ่งปี เมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว ไม่มีผู้ใดมาอ้างว่ามีสิทธิในทรัพย์สินนั้น ให้ตกเป็นสิทธิของรัฐบาล

[แก้ไข]
หมวด 8 ถุงไปรษณีย์ส่งทางเรือ
------
        มาตรา 38 นายเรือของเรือทุกลำที่จะออกจากท่าหรือที่แห่งหนึ่งภายในราชอาณาจักร ไปยังท่าหรือที่อีกแห่งหนึ่งภายในหรือภายนอกราชอาณาจักรจำต้องรับถุงไปรษณีย์ที่เจ้าพนักงานคนใดคนหนึ่งนำมามอบให้เพื่อส่งไปกับเรือนั้น และต้องออกใบรับให้ และเมื่อถึงท่าหรือที่ต้องส่งถุงไปรษณีย์นั้นแล้วให้นำส่งโดยมิชักช้า

        มาตรา 39 เจ้าของเรือทุกลำหรือตัวแทนที่กำหนดจะส่งเรือออกจากท่าใดในราชอาณาจักร ไปยังท่าอื่นภายใน หรือภายนอกราชอาณาจักร จำต้องแจ้งความบอกวันและเวลาที่เรือจะออกเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานประจำที่ทำการ-ไปรษณีย์ทราบในเวลาอันสมควร กับทั้งให้บอกชื่อท่าหรือที่ซึ่งเรือจะแวะด้วย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกำหนดวันและเวลาที่เรือจะออก ก็ให้แจ้งความเป็นหนังสือให้เจ้าพนักงานทราบทันที เพื่อเจ้าพนักงานนั้นจะได้แจ้งความให้ประชาชนทราบวันและเวลาปิดไปรษณีย์ ที่จะส่งไปกับเรือนั้น

        มาตรา 40 ภายหลังเวลาปิดไปรษณีย์ที่จะส่งไปกับเรือ เจ้าพนักงานซึ่งได้รับอำนาจจากอธิบดีหรือจากผู้แทนอธิบดีอาจลงไปอยู่ในเรือเพื่อรับไปรษณียภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งได้เสียไปรษณียากรล่วงหน้าครบถ้วนแล้วที่มีผู้นำมาฝากที่เรือ จนถึงเวลาเรือออกเพื่อให้ส่งไปกับเรือนั้น ให้นายเรือช่วยเหลือเจ้าพนักงานเพื่อได้กระทำการตามหน้าที่โดยสะดวกทุกอย่าง

        มาตรา 41 ถ้าไม่มีเจ้าพนักงานอยู่ในเรือนั้น นายเรืออาจรับไปรษณียภัณฑ์ที่ได้เสียไปรษณียากรล่วงหน้าครบถ้วนแล้วไว้ได้และให้นำไปรษณียภัณฑ์นั้น ๆ ส่งต่อที่ทำการไปรษณีย์หรือที่ท่าหรือที่ใดที่จะต้องส่งไปรษณียภัณฑ์นั้น

        มาตรา 42 (1) นายเรือที่มาถึงท่าใดในราชอาณาจักร ต้องรีบจัดการนำส่งบรรดาไปรษณียภัณฑ์หรือถุงไปรษณีย์ซึ่งอยู่ในเรือที่สลักหลังส่งถึงท่านั้น และส่งมอบต่อที่ทำการไปรษณีย์ที่ท่านั้น หรือต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้รับอำนาจจากอธิบดีเพื่อการนี้

         (2) ถ้านายเรือลำใดมีไปรษณียภัณฑ์หรือถุงไปรษณีย์ที่สลักหลังส่งยังที่แห่งอื่นภายในราชอาณาจักร เมื่อเรือนั้นมาถึงท่า ให้นายเรือรีบรายงานต่อเจ้าพนักงานประจำที่ทำการไปรษณีย์แห่งท่านั้น และให้กระทำตามที่เจ้าพนักงานผู้นั้นจะสั่ง

         (3) ในท่าที่นายเรือจะต้องรายงานนั้น ให้นายเรือลงนามในใบปฏิญาณว่าได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นที่ได้รับอำนาจจากอธิบดี ใบปฏิญาณนี้ให้ผู้ที่อยู่รู้เห็นในขณะนั้นลงนามเป็นพยานไว้ด้วย

         (4) ถ้าเรือลำใดจำต้องเข้าท่า หรือแวะที่แห่งใดนอกทางที่กำหนดให้นายเรือลำนั้นแจ้งความต่อเจ้าพนักงานหรือต่อเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ซึ่งอยู่ใกล้ที่สุดว่า ในเรือนั้นมีไปรษณีย์มาด้วยและถ้าเจ้าพนักงานนั้นสั่งประการใดให้ปฏิบัติตาม

        มาตรา 43 รัฐมนตรีอาจออกกฎกระทรวงกำหนด เงินบำเหน็จที่จะให้แก่นายเรือเพื่อทำการรับส่งไปรษณียภัณฑ์ในนามของกรม และนายเรือที่เรือจะออกจากท่าใดในราชอาณาจักร เมื่อได้รับถุงไปรษณีย์ไว้เพื่อนำไปแล้ว มีสิทธิที่จะร้องขอและรับเงินบำเหน็จที่ควรได้ ในการนำส่งถุงไปรษณีย์และของในถุงนั้นตามความในมาตรานี้

        มาตรา 44 ไปรษณียภัณฑ์ที่ได้เข้ามาถึงกรุงสยามจากประเทศใด ๆ ภายนอกราชอาณาจักร โดยยานพาหนะใด ๆ ต้องมอบให้แก่เจ้าพนักงานประจำที่ทำการไปรษณีย์ที่อยู่ใกล้ที่สุดทันที

[แก้ไข]
หมวด 9 สิทธิพิเศษในการรับส่งไปรษณีย์
----------------
        มาตรา 45 บรรดาบุคคล สัตว์ หรือยานพาหนะอย่างใด ๆ ที่รับส่งแต่เฉพาะถุงไปรษณีย์นั้น ถ้ามีค่าผ่านทางที่จะต้องเสีย ให้ยกเว้นไม่ต้องเสีย

        มาตรา 46 ห้ามมิให้ผู้ใดขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือกีดกั้นบุคคลสัตว์ หรือยานพาหนะอย่างใด ๆ ที่จะไปรับ หรือใช้ให้ไปรับถุงไปรษณีย์ หรือที่กำลังรับส่งถุงไปรษณีย์

        มาตรา 47 ถ้าถุงไปรษณีย์ที่ส่งไปทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศนั้นไม่อาจส่งไปยังที่ซึ่งจะส่งถึงได้ เพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ให้เป็นหน้าที่ของบุคคลทุกคนที่สามารถช่วยได้ช่วยเหลือจนเต็มกำลัง เพื่อให้ถุงไปรษณีย์นั้นส่งไปถึงที่ได้โดยเร็วที่สุด

        มาตรา 48 บุคคลผู้รับขนส่งของ หรือคนโดยสาร เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน จำต้องรับขนส่งไปรษณีย-ภัณฑ์หรือถุงไปรษณีย์ ซึ่งอธิบดีจะกำหนดให้ส่งและให้ได้รับค่าระวางพาหนะสำหรับการนี้ ตามแต่จะได้ตกลงกันเป็นครั้งคราว

        มาตรา 49 ถ้ามีข้อโต้เถียงเกิดขึ้นด้วยเรื่องสัญญาหรือเงื่อนไขก็ดีค่าระวางพาหนะก็ดี ซึ่งไม่สามารถจะตกลงกันได้ ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นฝ่ายละคน แต่ถ้าฝ่ายใดละเลยเสีย ไม่เลือกตั้งอนุญาโตตุลาการอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้เลือกตั้งอนุญาโตตุลาการแทนฝ่ายที่ละเลยนั้นได้เพื่อวินิจฉัยข้อโต้เถียงนั้น

        ถ้าความเห็นของอนุญาโตตุลาการก้ำกึ่งไม่ตกลงกัน อนุญาโตตุลาการอาจเลือกตั้งผู้เป็นประธานขึ้นคนหนึ่ง เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

        ถ้าอนุญาโตตุลาการไม่ตกลงกันในการเลือกตั้งผู้เป็นประธานก็ให้ร้องขอต่อศาลให้เลือกตั้งผู้เป็นประธานขึ้น

[แก้ไข]
หมวด 10 ธนาณัติ
-------
        มาตรา 50 กรมอาจจัดให้มีการรับส่งเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใดทางธนาณัติ และอาจเรียกรับเงินค่าส่วนลด หรือค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

        มาตรา 51 โดยอนุมัติของรัฐมนตรี อธิบดีอาจวางระเบียบว่าด้วยธนาณัติและจ่ายเงินตามธนาณัติ กับทั้งบุคคลที่จะจ่ายหรือรับเงินตลอดถึงเวลาและวิธีจ่าย

        มาตรา 52 เมื่อไม่สามารถจะจ่ายเงินตามธนาณัติให้แก่ผู้รับ เพราะเหตุที่ผู้รับตาย หรือล้มละลาย กรมมีอำนาจที่จะจ่ายเงินจำนวนนั้นให้แก่ทายาท หรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้รับ หรือแก่เจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ ฯลฯ แล้วแต่กรณีเมื่อบุคคลนั้น ๆ แสดงหลักฐานแห่งฐานะของตนดังกล่าวข้างต้นได้จนเป็นที่พอใจ

        มาตรา 53 บุคคลใดซึ่งฝากเงินไปโดยทางธนาณัติ และถ้าเงินนั้นยังมิได้จ่ายให้แก่ผู้รับ อาจขอให้จ่ายเงินตามธนาณัตินั้นคืนแก่ตน หรือให้จ่ายแก่บุคคลอื่นนอกจากผู้รับเดิมได้ แล้วแต่จะสั่งถ้าหาตัวผู้รับและผู้ฝากธนาณัติไม่ได้ให้กรมโฆษณาหาตัวผู้รับและผู้ฝากเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันโฆษณา ผู้รับหรือผู้ฝากจะเรียกเงินจำนวนนั้นคืนหาได้ไม่

        มาตรา 54 เมื่อเจ้าพนักงานได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลใดตามธนาณัติเกินกว่าจำนวนที่ควรจ่ายให้แก่บุคคลนั้นก็ดี หรือได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลใดตามธนาณัติซึ่งควรจ่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ดี ให้กรมแจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ใช้เงินที่จ่ายไปโดยมิชอบนั้นคืนภายในเวลาอันสมควร

        มาตรา 55 เมื่อเจ้าพนักงานได้จ่ายเงินตามธนาณัติให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่นำธนาณัติ หรือใบเสร็จใบสำคัญ หรือใบแจ้งความสำหรับธนาณัติมาแสดงว่าเป็นผู้รับเงินหรือตัวแทนไปแล้ว กรมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดในเงินจำนวนนั้น

        ห้ามมิให้ผู้ใดฟ้องกรมในการจ่ายเงินตามธนาณัติเนิ่นช้า เพราะเหตุสุดวิสัย หรือประมาทเลินเล่อ หรือละเว้น หรือผิดหลง หรือกลฉ้อฉล หรือยักยอก หรือด้วยความตั้งใจกระทำ หรือเป็นด้วยความละเลยของเจ้าพนักงาน แต่ในกรณีเช่นนี้ให้ส่งมอบเงินตามจำนวนในธนาณัตินั้นให้แก่ผู้รับ หรือผู้ฝาก

        ห้ามมิให้ผู้ใดฟ้องกรมเพราะเหตุที่จ่ายเงินผิด เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ออกธนาณัติ กรมไม่ต้องรับผิดเกินกว่าจำนวนเงินในธนาณัติ และไม่ต้องรับผิด ถ้าการจ่ายเงินตามธนาณัตินั้นได้จ่ายผิดไป เพราะเหตุที่ผู้ฝากบอกชื่อและที่อยู่ของผู้รับไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์

[แก้ไข]
หมวด 11 การตรวจค้น จับกุม ฟ้องร้อง และบทลงโทษ
-------
[แก้ไข]
ส่วนที่ 1 ความผิดที่เจ้าพนักงานกรมกระทำขึ้น
------
        มาตรา 56 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานไปรษณีย์ หรือเป็นผู้มีหน้าที่ราชการติดต่อกับที่ทำการไปรษณีย์ หรือตู้ไปรษณีย์ เชือนแชหรือทำให้เนิ่นช้าในการนำส่ง หรือส่งมอบถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์หรือธนาณัติ หรือกระทำให้เกิดเสียหายแก่สิ่งเหล่านั้นโดยเจตนา ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบห้าวัน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 57 ผู้ใดซึ่งท่านใช้ให้นำส่งถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์ระหว่างส่งทางไปรษณีย์ และเวลาที่ใช้ให้ทำการนั้นได้มอบให้เป็นหน้าที่จดและรักษาบัญชีใด จดหรือมอบให้ผู้อื่นจดข้อความเท็จลงในบัญชี โดยเจตนาจะทำให้หลงเชื่อว่าตนได้ไปถึงที่ หรือได้นำส่งถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์นั้นแล้วซึ่งความจริงไม่ได้ไปถึงที่หรือไม่ได้นำส่ง ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 58 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานกระทำผิดหน้าที่ของตน เปิดหรือยอมให้ผู้อื่นเปิดถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ หรือตั้งใจกัก หรือ หน่วงเหนี่ยว หรือยอมให้ผู้อื่นกักหรือหน่วงเหนี่ยวถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณีย-ภัณฑ์ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินพันบาท

        แต่มาตรานี้ไม่กินความถึงการเปิด หรือกัก หรือหน่วงเหนี่ยวถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามคำสั่งของรัฐมนตรี หรือศาลที่มีอำนาจ

        มาตรา 59 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน

         (ก) ลงเครื่องหมายของราชการบนถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์ผิดโดยเจตนาทุจริต

         (ข) เปลี่ยนแปลง ขูดลบ หรือทำให้เครื่องหมายของราชการบนถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์สูญหายโดยเจตนาทุจริต          (ค) เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำการไปรษณีย์อย่างใด ๆ เรียกหรือรับเงินเป็นค่าไปรษณียากร ซึ่งตนรู้อยู่แล้วว่าเรียกไม่ได้ตามพระราชบัญญัตินี้

        ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

        มาตรา 60 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน โดยเจตนาทุจริต ส่งทางไปรษณีย์หรือบรรจุลงในถุงไปรษณีย์ ซึ่งไปรษณียภัณฑ์ที่ยังมิได้เสียไปรษณียากรให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎข้อบังคับและคำสั่งที่ได้ตั้งขึ้นผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองพันบาท

[แก้ไข]
ส่วนที่ 2 ความผิดอย่างอื่น
------
        มาตรา 61 ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนต่อมาตรา 6 คือ

         (ก) นำส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรโดยทางอื่นนอกจากทางไปรษณีย์ภายในเขตซึ่งกรมมีสิทธิพิเศษที่จะทำการนี้ได้ฝ่ายเดียว

         (ข) กระทำการอย่างใด ๆ ที่เกี่ยวแก่การนำส่งจดหมายหรือไปรษณียบัตรโดยทางอื่นนอกจากทางไปรษณีย์ ภายในเขตซึ่งกรมมีสิทธิพิเศษที่จะทำการนี้ได้ฝ่ายเดียว

         (ค) ส่งหรือขอให้รับ หรือส่งมอบจดหมาย หรือไปรษณียบัตรเพื่อให้ส่งโดยทางอื่น นอกจากทางไปรษณีย์ ภายในเขตซึ่งกรมมีสิทธิพิเศษที่จะทำการนี้ได้ ฝ่ายเดียว

         (ง) รวบรวมจดหมาย หรือไปรษณียบัตร เพื่อส่งไปทางอื่นนอกจากทางไปรษณีย์ เว้นแต่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าวข้างต้น

        ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับตามจำนวนจดหมาย หรือไปรษณียบัตรไม่เกินฉบับละสิบบาท

        มาตรา 62 ผู้ใดรวบรวมจดหมาย หรือไปรษณียบัตรหลายฉบับ ถึงบุคคลหลายคนเข้าในห่อหรือซองเดียวกัน เพื่อส่งทางไปรษณีย์เป็นห่อจดหมาย หรือตนรู้อยู่แล้ว ขอให้รับหรือส่งมอบจดหมายหรือไปรษณียบัตรเพื่อให้ส่งเป็นห่อจดหมาย เว้นแต่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าวข้างต้น ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับตามจำนวนจดหมาย หรือไปรษณียบัตรไม่เกินฉบับละสิบบาท

        มาตรา 63 ผู้ใดนำส่ง รับ ขอให้รับ หรือส่งมอบจดหมายหรือไปรษณียบัตร หรือรวบรวมจดหมายหรือไปรษณียบัตรเป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 7 ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับตามจำนวนจดหมายหรือไปรษณียบัตรไม่เกินฉบับละยี่สิบบาท

        มาตรา 64 ผู้ใดส่ง ขอให้รับ หรือจัดทำขึ้นแล้วส่งไปเพื่อให้ส่งไปรษณียภัณฑ์หรือสิ่งใด ๆ ทางไปรษณีย์ เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรา 23 หรือ 24 ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 65 ผู้ใดเอาไฟเผา หรือเอาไม้ขีดไฟใส่ในตู้ไปรษณีย์ หรือเอาวัตถุระเบิดใส่ในหรือที่ตู้ไปรษณีย์ หรือวัตถุที่น่าเป็นอันตรายสิ่งโสโครก สิ่งมีพิษหรือของน้ำอย่างใด ๆ เทหรือใส่ในหรือที่ตู้ไปรษณีย์ หรือทำให้เสียหายแก่ตู้ไปรษณีย์ หรือกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นการเสียหายแก่ตู้ไปรษณีย์หรือเครื่องประกอบและอุปกรณ์หรือของในตู้ไปรษณีย์ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรา 66 ผู้ใดปิดกระดาษแจ้งความ ปิดประกาศหรือคำแจ้งความหรือปิดบัญชี ป้าย หรือสิ่งใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ ให้เปื้อน หรือให้เสียหายแก่ที่ทำการไปรษณีย์หรือตู้ไปรษณีย์ โดยไม่มีอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท

        มาตรา 67 ผู้ใดซึ่งบังคับไว้โดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ทำการปฏิญาณอันเกี่ยวแก่ไปรษณียภัณฑ์ หรือของในไปรษณียภัณฑ์ หรือราคาของนั้นที่ต้องส่งไปทางไปรษณีย์ กล่าวข้อความใดในการปฏิญาณที่ตนรู้ หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นเท็จ หรือที่ตนไม่เชื่อว่าเป็นจริง ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

        ถ้าการปฏิญาณที่เป็นเท็จนั้น ได้กระทำขึ้นฉ้อโกงกรมให้ปรับไม่เกินสี่ร้อยบาท

        มาตรา 68 ผู้ใดเป็นนายเรือ

         (ก) ละเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา 38

         (ข) ละเลยไม่นำส่งถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ที่ตนต้องกระทำตามมาตรา 42 โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควรซึ่งเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องนำสืบ

         (ค) ไม่ยอมหรือจงใจละเว้นไม่ส่งมอบถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ที่อยู่ในความปกครองของตนให้แก่บุคคลที่ได้แต่งตั้งไว้ให้เป็นผู้รับ ในเมื่อเรือจอดอยู่ที่ด่านตรวจป้องกันโรค

         (ง) ไม่ยอมหรือจงใจละเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่ซึ่งจำต้องกระทำตามมาตรา 39 หรือมาตรา 40

        ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินพันบาท

        มาตรา 69 ผู้ใดเป็นนายเรือที่มาถึงท่าหรือที่แห่งใดในราชอาณาจักรหรือเป็นคนประจำเรือนั้น ภายหลังที่ได้ส่งไปรษณียภัณฑ์ที่อยู่บนเรือทั้งหมดหรือแต่ส่วนใดไปยังที่ทำการไปรษณีย์ประจำท่าที่เรือมาถึงนั้นแล้ว ยังมีไปรษณียภัณฑ์ซึ่งกรมมีสิทธิพิเศษแต่ฝ่ายเดียวที่จะต้องส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์นั้นเหลืออยู่ในหีบหรือในความปกครอง หรือในความยึดถือของตนโดยความรู้สึกละเลยไม่นำส่ง ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับตามจำนวนไปรษณียภัณฑ์นั้นไม่เกินสิ่งละร้อยบาท

        ผู้ใดเป็นนายเรือหรือบุคคลประจำเรือดังกล่าวในวรรคก่อน เมื่อเจ้าพนักงานได้เรียกร้องให้ส่งไปรษณียภัณฑ์นั้นแล้วหน่วงเหนี่ยวหรือกักไปรษณียภัณฑ์นั้นไว้ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับตามจำนวนไปรษณียภัณฑ์ไม่เกินสิ่งละสองร้อยบาท

        มาตรา 70 ผู้ใดขัดขวาง กีดกั้น หน่วงเหนี่ยว กัก หรือทำให้เนิ่นช้าต่อการนำส่งถุงไปรษณีย์ หรือ ไปรษณียภัณฑ์ ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ หรือด้วยอุบายอย่างใด ๆ เปิดถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามคำสั่งของรัฐมนตรี หรือของศาลที่มีอำนาจ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        มาตรานี้ ไม่ตัดอำนาจที่จะกักเจ้าพนักงานหรือบุคคลใดที่กำลังนำส่งถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์ โดยมีข้อหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายลักษณะอาชญาหรือกฎหมายอื่นที่ใช้อยู่ในเวลานั้น

        มาตรา 71 ผู้ใดยึด หรือจงใจซ่อนเร้น เก็บ หรือกักถุงไปรษณีย์ หรือไปรษณียภัณฑ์ในระหว่างส่งทางไปรษณีย์โดยเจตนาทุจริต หรือเมื่อเจ้าพนักงานได้ร้องขอ ยังละเลยไม่ยอมมอบถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ อันควรมอบให้แก่ผู้อื่น ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินห้าร้อยบาท

        มาตรา 72 ผู้ใดที่เจ้าพนักงานต้องการให้ช่วยเหลือในการส่งถุงไปรษณีย์ในขณะที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ดั่งกล่าวไว้ในมาตรา 47 ไม่ยอมรับ หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอ โดยความจงใจ และไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท

        มาตรา 73 ผู้ใดเป็นผู้รับขน ละเลยหรือไม่ยอมรับขนส่งถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ ที่อธิบดีกำหนดให้ส่งดังกล่าวไว้ในมาตรา 48 โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันสมควร ซึ่งเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องนำสืบ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

        มาตรา 74 ผู้ใดซึ่งกรมได้อนุญาตให้ตั้งที่ทำการไปรษณีย์ ประเภทรับอนุญาตหรือแต่งตั้งให้เป็นผู้ขายตราไปรษณียากร

         (ก) เรียกเอาราคาตราไปรษณียากรจากผู้ซื้อสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ อันได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 17 (2) ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

         (ข) กระทำความผิดต่อข้อบังคับอื่น ที่ได้ตั้งขึ้นตามมาตรา 17 ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

        มาตรา 75 ห้ามมิให้ผู้ใดซึ่งไม่ได้รับอำนาจจากกรมปิดถ้อยคำ ตัวอักษร หรือเครื่องหมายตามที่ระบุไว้ต่อไปนี้ หรือให้ถ้อยคำ ตัวอักษร หรือ เครื่องหมายนั้น ๆ ปรากฏอยู่ที่เรือน กำแพง ประตู หน้าต่าง หีบ เสา หรือที่อื่นอันเป็นของตน หรืออยู่ในความคุ้มครองของตน กล่าวคือ

         (ก) คำว่า ที่ทำการไปรษณีย์ หรือ ตู้ไปรษณีย์ ประกอบด้วยถ้อยคำ ตัวอักษร หรือเครื่องหมายใด ๆ ที่แสดงให้รู้หรือส่อให้เห็น หรืออาจชักนำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นที่ทำการไปรษณีย์ หรือตู้ไปรษณีย์

         (ข) ถ้อยคำ ตัวอักษร หรือเครื่องหมายใด ๆ ที่แสดงให้รู้ หรือส่อให้เห็น หรืออาจชักนำให้ประชาชนเชื่อว่าเรือนหรือที่นั้น ๆ เป็นที่ทำการไปรษณีย์ หรือตู้ไปรษณีย์

        ผู้ใดกระทำผิดต่อมาตรานี้ ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าสิบบาท

        มาตรา 76 ผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 75 กรมอาจบังคับให้ถอน หรือลบถ้อยคำ ตัวอักษร หรือเครื่องหมายนั้นออกเสียภายในเวลาอันสมควร หรือให้ย้าย หรือถอน หรือปิดตู้จดหมายที่เป็นของผู้นั้น หรืออยู่ในความคุ้มครองของผู้นั้น ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นที่ทำการไปรษณีย์หรือตู้ไปรษณีย์

        ถ้าผู้กระทำความผิดได้รับคำบังคับตามวรรคต้น ละเลยไม่ปฏิบัติตามมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินวันละสิบบาททุกวันตลอดเวลาที่ความผิดนั้นยังปรากฏอยู่

        มาตรา 77 ผู้ใดใช้ตราไปรษณียากร ซึ่งมีเครื่องหมายแสดงว่าตราไปรษณียากรนั้นได้ใช้แล้ว ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[แก้ไข]
ส่วนที่ 3 การตรวจค้นจับกุมและฟ้องร้อง
------
        มาตรา 78 ผู้ใดฝ่าฝืน หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำผิดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ว่าด้วยอำนาจสิทธิขาดของรัฐบาล เจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีเป็นหนังสือโดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี อาจตรวจค้นจับกุม หรือหน่วงเหนี่ยวไว้ได้เป็นเวลาอันสมควรเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        มาตรา 79 การฟ้องบุคคลผู้กระทำผิดอาญาเกี่ยวด้วยถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์ส่งทางไปรษณีย์นั้น ในฟ้องจะกล่าวแต่เพียงว่า ถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์นั้น เป็นทรัพย์สินของกรมก็พอ และไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าถุงไปรษณีย์หรือไปรษณียภัณฑ์นั้นมีค่ามากน้อยเท่าใด

        มาตรา 80 การฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ฟ้องได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์ได้ร้องขอ

        ในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา เจ้าพนักงานไปรษณีย์มีอำนาจเปรียบเทียบเพื่อเรียกร้องเงินค่าปรับ หรือเพื่อริบทรัพย์อันผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ โดยกระทำความตกลงและวางเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ สุดแล้วแต่จะเห็นควร

        มาตรา 81 เมื่อผู้กระทำผิดจะต้องถูกปรับสำหรับความผิดอย่างใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ากรมได้ทำคำร้องขอเป็นพิเศษแล้ว ศาลอาจสั่งในคำพิพากษาให้แบ่งเงินพินัยไม่เกินกึ่งหนึ่งให้แก่ผู้สืบการกระทำผิดนั้น

[แก้ไข]
หมวด 12 การรักษาการตามพระราชบัญญัติ
-------
        มาตรา 82 ให้รัฐมนตรีมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อการนี้ให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงตั้งเจ้าพนักงาน กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

        กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

        ประกาศมา ณ วันที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2477 เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน

        ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

        นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

        นายกรัฐมนตรี

        พระราชบัญญัติไปรษณีย์ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2483

        หมายเหต:- พระราชบัญญัติไปรษณีย์ (ฉะบับที่ 2) พุทธศักราช 2483 นี้ มีหลักการให้มี เช็คไปรษณีย์ ขึ้น เพื่อให้ประชาชนส่งเงินทางเช็คไปรษณีย์ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ผู้ประสงค์จะส่งเงินจำนวนเล็กน้อยให้แก่กันและกัน

         [รก.2483/-/282/13 สิงหาคม 2483]
ประเภทของหน้า: พระราชบัญญัติ