วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
30/01/2008
ที่มา: 
นิตยสารสกุลไทยออนไลน์ Culture.go.th

พุทธมามกะ


[แก้ไข] คำว่า พุทธมามกะ มาจากคำภาษาบาลี ๒ คำ คือ พุทธ กับ มามกะ
          คำว่าพุทธ แปลว่า รู้แล้ว หรือตื่นแล้ว หมายถึง ผู้ตรัสรู้อริยสัจ คือ พระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของพระพุทธศาสนา

          ส่วนคำว่า มามก แปลว่า เป็นของเรา เมื่อรวมคำว่า พุทธ กับ มามก เป็นพุทธมามกะ จึงแปลว่า ผู้ที่นับถือพระพุทธเจ้าเป็นของเราใช้เป็นคำเรียก ผู้ที่ได้ปฏิญาณตนขอนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว

          พุทธมามกะ ต้องนับถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่เคารพบูชาสูงสุดประจำชีวิตของตนแต่พระองค์เดียว หากไปปฏิญาณตนนับถือศาสดาในศาสนาอื่น ก็ถือว่า ขาดจากความเป็นพุทธมามกะไม่ใช่ชาวพุทธอีกต่อไป

         
          ในการประกอบพิธีปฏิญาณตนต่อหน้าพระสงฆ์ สำหรับผู้ที่เป็นชายใช้คำแทนตัวว่า “พุทธมามกะ”กล่าวว่า “ขอพระสงฆ์จงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นพุทธมามกะ”ส่วนผู้ที่เป็นหญิงใช้คำแทนตัวว่า “พุทธมามิกา”โดยกล่าวว่า “ขอพระสงฆ์จงทรงจำข้าพเจ้าว่า เป็นพุทธมามิกา”

          พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทยมาตั้งแต่โบราณกาลนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ ๑ ด้าน ๒ ที่จารึกไว้ว่า "คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่ว ท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทั้งหลาย ทั้งผู้ชายผู้หญิงฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงแล้ว..." คนไทยจึงมีความผูกพันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่อดีตอันยาวนาน และเป็นรากฐานของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามที่คนไทยทั้งชาติยึด ถือและปฏิบัติร่วมกันอันเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนา สมดังเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ซึ่งการที่บุคคลจะยอมรับนับถือพุทธศาสนา จะต้องเข้าพิธีปฏิญาณตนเป็น พุทธมามกะตามพุทธประเพณี การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ นับเป็นมงคลพิธีสำหรับพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นโอกาสได้ประกาศศรัทธาในพระพุทธศาสนาของตนต่อหน้าพระพุทธปฏิมาท่ามกลางสงฆ์ พร้อมทั้งได้รับการประสาทพรจากสงฆ์ เป็นพิธีที่แสดงถึงความภาคภูมิและความมั่นใจในพระพุทธศาสนา อันเป็นพิธีที่เสริมสร้างสำนึกทางจริยธรรม คุณธรรมให้แข็งแกร่งแน่วแน่ยิ่งขึ้น เพราะผู้ที่ได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะแล้ว เท่ากับได้ถวายสัญญาใจต่อพระพุทธเจ้าท่ามกลางสงฆ์ว่า จะเคารพนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง และจะดำรงตนอยู่ในหลักศีลธรรม คุณธรรมของพระพุทธศาสนาตามที่ได้รับคำแนะนำศึกษานั้นตลอดไป พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ พุทธมามกะ (พุดทะมามะกะ) หมายถึง ผู้ประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา หรืออีกนัยหนึ่งการแสดงตนเป็น พุทธมามกะ คือ การประกาศตนยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งที่นับถือของตน โดยความหมายก็คือ ประกาศว่าตนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นการประกาศ

          ศรัทธา คือ ความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ที่มีอยู่ในใจตนให้ปรากฏออกมาภายนอกด้วยกิริยาวาจา เพื่อให้ผู้อื่นได้รับทราบว่าตนมีความเคารพนับถืออย่างไร เป็นการปฏิบัติที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ดังปรากฏในพุทธประวัติว่า คฤหัสถ์ที่ประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนาครั้งแรกคือ พ่อค้าสองพี่น้องชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ โดยประกาศรับเอาพระพุทธเจ้าและพระธรรมว่าเป็นสรณะของตน (เพราะยังไม่มีพระสงฆ์) นับเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะสองชุดแรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาบิดามารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ ได้ประกาศตนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศรับเอาพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะของตนนับเป็นอุบาสก อุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยชุดแรกในพุทธศาสนา พระครูวิสุทธิธรรมภาณผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์จริยศึกษา สธ จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า พระพุทธศาสนา เกิดขึ้นมาท่ามกลางศาสนาอื่น เมื่อมีการนับถือพุทธศาสนา จึงมีการประกาศตน แสดงตนเป็นผู้นับถือศาสนาทำการแสดงตนเป็นผู้นับถือศาสนา การนับถือพุทธศาสนา มิใช่เป็นเรื่องแต่ตนเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นการนับถือทั้งครอบครัวตั้งแต่เด็กที่ไร้เดียงสา เมื่อมีเด็กเกิดขึ้นมาก็พระตั้งชื่อให้ให้เบญจศีลซึ่งแต่ก่อนในประเทศไทยจะทำพิธีนี้เฉพาะแต่ในหมู่เจ้านาย เมื่อมีพระโอรส หรือพระธิดากำเนิดขึ้นมาก็จะนิมนต์พระไปทำพิธีให้ให้เบญจศีล และผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือ ถ้าเป็นพระธิดาก็วางสายสิญจน์ไว้หมอนเป็นการผูกโยงให้จิตใจผูกใจซึ่งกันและกัน เมื่ออายุเข้าถึงเกณฑ์ พระโอรสก็จะให้ผนวชเป็นเณร ต่อมาพิธีดังกล่าวได้แพร่หลายไปสู่สามัญชนและถือปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อมา สำหรับการประกาศตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาในประเทศไทย บูรพาจารย์ได้นำแบบอย่างแบบเดิมมากำหนดให้เป็นพิธีการที่มีรูปแบบเหมาะสม เรียกว่า พิธีแสดงตนเป็น พุทธมามกะ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นครั้งแรก

ขอบคุณข้อมูลจาก
          Culture.go.th
          นิตยสารสกุลไทยออนไลน์
ประเภทของหน้า: ศาสนาพุทธ