มาปฏิบัติตามกฎหมายกันเถิด

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/01/2008
ที่มา: 
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา www.lawonline.co.th

มาปฏิบัติตามกฎหมายกันเถิด
        การดำเนินคดีในศาลนั้น การแพ้หรือชนะย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สำหรับข้อเท็จจริงนั้นอาศัยพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบเป็นสำคัญ ส่วนข้อกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งศาลรู้ได้เองโดยไม่ต้องอาศัยการนำสืบของโจทก์หรือจำเลยแต่อย่างใด

        ในคดีอาญานั้น เมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้น ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เพื่อให้มีการสืบสวนสอบสวน และดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดได้อยู่แล้ว ปัญหาข้อยุ่งยากในการดำเนินคดีจึงเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ แต่ในคดีแพ่ง การดำเนินคดีเป็นหน้าที่ของผู้เสียหายเอง แม้ผู้เสียหายอาจจะต้องหาทนายความมาช่วยเหลือในการดำเนินคดีก็ตาม แต่ผู้เสียหายหรือผู้ที่ถูกดำเนินคดีก็ควรรู้เหตุแห่งการแพ้ชนะในการดำเนินคดีในศาลบ้างพอสมควรเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง

        ดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การแพ้หรือชนะคดีในศาลนั้นย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย หรือทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สำหรับข้อเท็จจริงนั้นได้มาจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น คำพิพากษาฎีกาที่ 899/2487 วางหลักว่า ในคดีแพ่งศาลต้องดูพยานหลักฐานของทุกฝ่ายแล้วพิจารณาว่า พยานหลักฐานทั้งหมดเจือสมหนักไปข้างฝ่ายใด แม้จะไม่ถึงกับปราศจากสงสัย ศาลก็ชี้ขาดให้ชนะคดีได้

        ตามปกติในคดีแพ่ง คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใดเพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ก็มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่า ความจริงเป็นไปดังข้อเท็จจริงที่ตนได้กล่าว ดังนั้นถ้าตนนำสืบให้ฟังตามข้อเท็จจริงนั้นไม่ได้ ก็ย่อมแพ้คดีในประเด็นตามข้อเท็จจริงนั้น ๆ เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินแล้วไม่ชำระ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินที่กู้แก่โจทก์ จำเลยให้การว่าไม่เคยกู้เงินจากโจทก์เลย ดังนั้นโจทก์ต้องนำสืบให้เห็นว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์จริง หากโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์จริง หรือนำสืบแล้วแต่พยานเบิกความแตกต่างกัน ทำให้ศาลไม่เชื่อว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์จริง ศาลย่อมพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี

        หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีข้อยกเว้นดังนี้

        1. ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป เช่น เดือนพฤษภาคม มี 31 วัน และมิถุนายน มี 30 วัน หรือประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย เป็นต้น

        2. ข้อเท็จจริงซึ่งไม่อาจโต้แย้งได้ เช่น น้ำตาลมีรสหวาน เกลือมีรสเค็ม เป็นต้น

        3. ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความอีกฝ่ายได้ยอมรับแล้วว่าเป็นความจริง หรือมิได้ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และชนโจทก์บาดเจ็บ จึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดเอง ในการที่ถูกรถยนต์ชน และค่าสินไหมทดแทนก็ไม่มากดังฟ้อง ดังนี้ประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยรับแล้วว่าเป็นความจริง

        ใน 3 กรณี ดังกล่าวผู้ที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหาจำต้องนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างนั้นไม่ ศาลรับฟังว่าเป็นจริงตามข้อเท็จจริงนั้น ๆ ได้เลย

        4.ในกรณีที่มีกฎหมายสันนิษฐานเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นเพียงแต่นำสืบพิสูจน์ว่าตนได้ปฏิบัติตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอันเป็นประโยชน์แก่ตนเท่านั้นก็พอแล้ว เป็นหน้าที่ของคู่ความอีกฝ่ายที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่า ความจริงหาได้เป็นไปตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายนั้นไม่ เช่น จำเลยขับรถยนต์ชนโจทก์ซึ่งเดินข้ามถนน โจทก์นำสืบพิสูจน์ว่า จำเลยขับรถยนต์ชนโจทก์เท่านั้นก็พอ เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ว่าการที่รถยนต์ชนโจทก์นั้น เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์เอง ทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

        ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้าง เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน แต่คู่ความฝ่ายนั้นมิได้นำสืบก็ดี หรือนำสืบแล้วแต่ศาลไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงตามที่นำสืบก็ดี หรือพยานหลักฐานที่ตนนำสืบนั้นก้ำกึ่งกัน เช่น เขียนฟ้องเคลือบคลุม คือ มิได้เขียนฟ้องให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 และคู่ความอีกฝ่ายได้ให้การคัดค้านไว้ ศาลก็จะยกฟ้องโดยไม่ต้องพิจารณาเนื้อหาแห่งคดีเลย หรือนำคดีซึ่งเคยมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว และตนเคยเป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีนั้นมาฟ้องโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ซึ่งเรียกว่า “ฟ้องซ้ำ” ศาลก็ย่อมยกฟ้องเพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือเมื่อได้ฟ้องคดีใดไว้แล้ว และคดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ก็นำคดีเรื่องเดียวกันนั้นมาฟ้องอีกซึ่งเรียกว่า “ฟ้องซ้อน” ศาลก็จะยกฟ้องอีกเช่นกัน เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 หรือคู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานที่ตนจะนำสืบต่อศาลก่อนวันสืบพยานนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วัน และศาลไม่อนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าวนั้น ดังนี้คู่ความฝ่ายนั้นย่อมไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบ จึงอาจแพ้คดีไปได้ถ้าตนมีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างเพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตน ทั้งนี้ เพราะมิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88

        ในส่วนที่เกี่ยวกับการมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายสารบัญญัตินั้น มักจะเกิดจากการไม่รู้กฎหมายประการหนึ่ง หรือรู้กฎหมายแต่ก็มิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องเกรงใจหรือไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะความเป็นญาติ ความเป็นเพื่อน ความที่เป็นคนเคยรู้จัก หรือความที่เคยเป็นลูกน้อง เจ้านายกันมาก่อน เช่น บางคนไม่รู้เลยว่าในการฟ้องเอาที่ดินมือเปล่า (คือที่ดินซึ่งผู้เป็นเจ้าของยังไม่มีโฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ได้ตราว่าทำประโยชน์แล้ว แต่ผู้เป็นเจ้าของคงมีเพียง ส.ค. 1, น.ส. 3, ใบไต่สวนหรือไม่มีหนังสือแสดงสิทธิที่ดินอย่างใดเลย) คืนจากผู้ที่แย่งการครอบครองหรือผู้ที่บุกรุกที่ดินนั้น ต้องฟ้องเสียภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง หรือถูกบุกรุกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฉะนั้นเมื่อนำคดีมาฟ้องเกิน 1 ปี นับตั้งแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือเวลาที่ถูกบุกรุก ศาลย่อมยกฟ้อง ส่วนกรณีที่รู้กฎหมายแต่มิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพราะความเกรงใจหรือไว้วางใจดังกล่วข้างต้นนั้น เช่น การให้ยืมเงินเกินกว่า 50 บาทก็ดี การใช้เงินที่ยืมตามสัญญากู้ก็ดี มิได้ทำหลักฐานการกู้ยืมไว้เป็นหนังสือ หรือมิได้ทำหลักฐานการใช้เงินไว้เป็นหนังสือ หรือมิได้ขอสัญญากู้คืน หรือมิได้ขอให้มีการขีดฆ่าเพิกถอนสัญญากู้นั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 หรือการสมรสกันก็จะต้องมีการจดทะเบียนดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากชายหญิงอยู่กินกันมาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ก็ไม่ถือว่าชายหญิงนั้นเป็นสามีภริยากันโดยชอบ และบุตรที่เกิดมาก็ไม่ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามี เว้นแต่ชายหญิงนั้นจะได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง หรือชายจดทะเบียนรับรองว่าเด็กนั้นเป็นบุตร หรือมีการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรและศาลมีคำพิพากษาเช่นนั้น ทั้งนี้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ในกรณีดังกล่าว ถ้าจะบังคับให้จดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิงที่อยู่กินกันมานานแล้ว และอีกฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนด้วย ดังนี้จะมาฟ้องศาลว่าอีกฝ่ายผิดสัญญาและเรียกสินสอดทองหมั้นคืน หรือเรียกค่าเสียหายใด ๆ มิได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 756/2513) เพราะถือว่าชายและหญิงแต่งงานกันโดยไม่นำพาต่อการที่จะไปจดทะเบียนสมรส

        กฎหมายที่บัญญัติหลักเกณฑ์การทำนิติกรรมหรือสัญญาไว้มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน หากไม่ทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ บางเรื่องกฎหมายก็บัญญัติว่า นิติกรรมหรือสัญญานั้นเป็นโมฆะ คือ นิติกรรมหรือสัญญานั้นเสียเปล่าไม่มีผลเป็นนิติกรรมหรือสัญญาตามที่ประสงค์แต่อย่างใด เช่น การซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือให้อสังหาริมทรัพย์ เรือกำปั่นหรือเรือที่มีระวางตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์ที่มีระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป แพ (ที่คนอยู่อาศัย) และสัตว์พาหนะ ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา 456, 519 และ 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้เป็นโมฆะ การเช่าซื้อถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ มาตรา 572 บัญญัติว่าเป็นโมฆะ การจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 715 และ 115 เป็นต้น นิติกรรมหรือสัญญาบางเรื่องกฎหมายบัญญัติว่า ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีกันหาได้ไม่ เช่น การเช่าอสังหาริมทรัพย์ (มาตรา 538) การกู้เงินเกินกว่า 50 บาทขึ้นไป (มาตรา 653) การค้ำประกัน (มาตรา 680) การประนีประนอมยอมความ (มาตรา 851) เป็นต้น สำหรับการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถ้ากำหนดเวลากว่า 3 ปี ขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การเช่านั้นจะฟ้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี นอกจากนี้การทำนิติกรรมก่อตั้งการจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ถือว่ามีภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้น (มาตรา 1299) แต่ก็ยังมีผลใช้บังคับตามที่ตกลงกันไว้ได้ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ถึงกับเสียไปเลยเหมือนดังกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะทีเดียว

        เนื่องจากการแพ้คดีในข้อกฎหมายเป็นเรื่องของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเนื่องมาจากความไม่รู้กฎหมายประการหนึ่ง และการเกรงอกเกรงใจหรือไว้เนื้อเชื่อใจกันอีกประการหนึ่งดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ทางแก้ไขจึงอยู่ที่นักกฎหมายต้องหาทางเผยแพร่กฎหมายที่จำเป็นทั้งหลายให้ประชาชนทั่วไปทราบกัน ซึ่งอาจจะเป็นการพิมพ์โฆษณาในหนังสือ หรือเผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือแนะนำชี้แจงให้ประชาชนทราบโดยตรง หรือในการทำนิติกรรมสัญญาใด ๆ ก็ควรทำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยอย่างเกรงอกเกรงใจ หรือไว้เนื้อเชื่อใจกันเลย หากแก้ไขดังกล่าวได้ ปัญหาการแพ้คดีในข้อกฎหมายเพราะมิได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็จะลดน้อยลงไป ซึ่งจะเป็นผลดีแก่ผู้ที่จะเป็นความในศาล ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยก็ตาม


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมุลจาก

www.lawonline.co.th
บัญญัติ สุชีวะ ธรรมศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตอังกฤษ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย