มิติประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ : กรณีรัฐธรรมนูญต่างประเทศกับรัฐธรรมนูญไทย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
20/01/2008
ที่มา: 
ดร. เชาวนะ ไตรมาศ ศาลรัฐธรรมนูญ

มิติประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ : กรณีรัฐธรรมนูญต่างประเทศกับรัฐธรรมนูญไทย
[แก้ไข] ๑. ความสำคัญของรัฐธรรมนูญต่างประเทศ
        ๑.๑ การแสดงความเป็นเอกราชของประเทศและการมีอำนาจอธิปไตยของประเทศ ทั้งอธิปไตยภายในและภายนอกประเทศ

        ๑.๒ การแสดงฐานะทางการเมืองและฐานะของรัฐระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นสมาชิกร่วมอยู่ในประชาคมโลก โดยได้รับการรับรองความเป็นรัฐจากนานาชาติ

        ๑.๓ การแสดงความเจริญก้าวหน้าและสภาพการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในด้านการเมือง การปกครอง และสิทธิมนุษยชน

        ๑.๔ การแสดงอิทธิพลต่อประเทศอื่นในการจัดรูปแบบรัฐบาลและการเมืองการปกครอง

 


[แก้ไข] ๒. พัฒนาการของรัฐธรรมนูญต่างประเทศ
        ๒.๑ พัฒนาการของรัฐธรรมนูญต่างประเทศในช่วงหลังการประกาศเอกราชของอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. ๑๗๘๙) เป็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสและอเมริกา แพร่อิทธิพลในเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษยชนอย่างกว้างขวาง อันเนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาแสดงสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” (Déclaration des Droits de l ' homme et du Citoyen) 1 ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส จนมีการกล่าวกันว่า “รัฐธรรมนูญของประเทศใดไม่มีการรับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ถือว่าประเทศนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญ” ซึ่งความคิดดังกล่าวได้มีอิทธิพลต่อประเทศอื่นๆตามมา เช่น สวีเดน นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนกรณีของอเมริกาก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ปฏิญญาแสดงเอกราชของอเมริกา” (Declaration ofIndependence) ด้วย เช่นกัน

        ๒.๒ พัฒนาการของรัฐธรรมนูญต่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ แยกออกเป็นสองฝ่าย โดยที่เลื่อมใสในลัทธิการปกครองแบบมาร์กซิสม์(Marxism) ฝ่ายหนึ่ง หรือระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์(Communism) ภายใต้อิทธิพลของรัฐธรรมนูญแบบสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตรัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยประชาชน” (people democracy) ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเลื่อมใสu3651 ในลัทธิการปกครองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” (parliamentary democracy) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก

        ๒.๓ พัฒนาการของรัฐธรรมนูญต่างประเทศในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นช่วงเวลาที่รัฐธรรมนูญของประเทศเกิดใหม่ที่ได้เอกราชคืนจากอาณัติการปกครองโดยเจ้าอาณานิคมและประเทศที่เกิดใหม่จากผลของสงครามถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของรัฐธรรมนูญ ทั้งจากลัทธิการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยและแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่สงครามเย็นกำลังก่อตัวและแพร่ขยายเพื่อแบ่งแยกระหว่างประเทศขั้วพันธมิตรของฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีอเมริกาเป็นผู้นำ และประเทศขั้วบริวารของฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพสาธารณรัฐโซเวียตรัสเซียเป็นผู้นำ

 


[แก้ไข] ๓. ภาพรวมของรัฐธรรมนูญต่างประเทศ
๓.๑รัฐธรรมนูญของประเทศในกลุ่มยุโรป
(๑) มีทั้งรัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณีหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร(unwrittenconstitution) และแบบลายลักษณ์อักษร(written constitution)

(๒) มีทั้งระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย(Democracy) (ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันตก) สังคมนิยม(Socialism) (ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปที่เป็นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย) และคอมมิวนิสต์ (Communism) (ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปตะวันออกซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ)

(๓) มีทั้งรัฐบาลในรูปแบบรัฐสภา(parliamentary system) ประธานาธิบดี(presidentialsystem) และกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา(quasi – presidential system)

(๔) มักนำรัฐธรรมนูญตามแบบของประเทศตนไปใช้กับประเทศอื่นที่ตนปกครองในฐานะประเทศอาณานิคมทั่วโลก

(๕) กำเนิดของรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการทำความตกลงระหว่างประมุขของรัฐกับราษฎรและมาจากประมุขของรัฐมอบให้

(๖) รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เกิดขึ้นด้วยสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ มิใช่การเกิดรัฐใหม่

 


๓.๒ รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกา
(๑) เป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร

(๒) มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

(๓) มีรัฐบาลรูปแบบประธานาธิบดี

(๔) มีการเผยแพร่แบบอย่างการปกครองตามรัฐธรรมนูญของตนไปใช้กับประเทศอื่น ทั้งในลาตินอเมริกา ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

(๕) กำเนิดของรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการทำความตกลงระหว่างผู้ยกร่างที่เป็นผู้แทนจากมลรัฐของสมาพันธรัฐเดิม

(๖) รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากสาเหตุของการเกิดรัฐใหม่

(๗) จัดรูปแบบของรัฐแบบรัฐรวมที่เรียกว่า สหพันธรัฐ(Federation)

๓.๓ รัฐธรรมนูญของประเทศในกลุ่มเอเชีย
(๑) เป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร

(๒) มีระบอบการปกครองทั้งแบบประชาธิปไตย สังคมนิยม และคอมมิวนิสต์

(๓) มีรัฐบาลทั้งรูปแบบรัฐสภา และประธานาธิบดี

(๔) ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายที่นำรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ เช่น ประเทศยุโรป อเมริกา และโซเวียตรัสเซียมาเป็นแบบ รวมทั้งมีการผสมจากหลายประเทศ ซึ่งเป็นลักษณะของการประยุกต์รัฐธรรมนูญจากประเทศต่าง ๆ หลาย ๆ แบบเข้าด้วยกัน

(๕) รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่มีที่มาจากสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การช่วงชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองการปกครอง การรับอิทธิพลจากประเทศเจ้าอาณานิคม และการปลดแอกจากการปกครองของประเทศเจ้าอาณานิคม ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างและหลากหลายมาก

(๖) กำเนิดของรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ มีที่มาจากผู้ปกครองสูงสุดหรือประมุขของประเทศกับคณะปฏิวัติ และประชาชนที่เป็นแนวร่วมพันธมิตรให้ความยินยอม ทั้งในรูปของการประนีประนอมออมชอมให้ผู้ปกครองเดิมยอมลิดรอนอำนาจตนลงไปบ้าง และเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชนมากขึ้นโดยที่ผู้ปกครองยังคงดำรงรักษาฐานะอำนาจอยู่ต่อไป ซึ่งเป็นลักษณะของประเทศที่สร้างรัฐธรรมนูญใหม่ภายหลังที่ได้เอกราชจากการปลดแอกจากอำนาจการปกครองของประเทศเจ้าอาณานิคม และการแข่งขันช่วงชิงอำนาจกันระหว่างผู้นำใหม่ภายหลังที่ประเทศได้รับเอกราชแล้ว

(๗) มีอำนาจภายนอกประเทศเป็นผู้จัดทำหรือใช้อิทธิพลแทรกแซงการจัดทำรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก ทั้งจากเหตุผลของระบบจักรวรรดินิยม สงครามโลก และสงครามเย็น

 


[แก้ไข] ๔. ลักษณะสำคัญของรัฐธรรมนูญต่างประเทศบางประเทศ
        ๔.๑ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากแรงบันดาลใจในการแสวงหาเอกราชของประเทศและความมุ่งมั่นในการสร้างประเทศให้มีสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ ตามสิทธิที่ถือว่ามีอยู่เท่าเทียมกันทุกคนคือ สิทธิในชีวิต เสรีภาพและการแสวงหาความสุข (life, liberty and the pursuit of happiness) 2 ทั้งนี้ มีจุดเด่นที่เป็นลักษณะสำคัญคือ

(๑) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

(๒) เป็นรัฐธรรมนูญที่วางกรอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นรูปธรรม มีความเป็นประชาธิปไตยในความเป็นจริง หรือประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ

(๓) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างกว้างขวาง จนถือเป็นจุดมุ่งหมายของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามปฏิญญาแสดงเอกราชของอเมริกา

(๔) เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดมาตรการการแบ่งแยกอำนาจการปกครองไว้อย่างเด็ดขาด จนมีการกล่าวกันว่า สังคมใดไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ สังคมนั้นไม่มีรัฐธรรมนูญ

(๕) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเคร่งครัดในการใช้มาตรการจำกัดและควบคุมอำนาจรัฐอย่างเป็นสัดส่วนและมีความแยบยลละเอียดซับซ้อน

(๖) เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีการควบคุมกฎหมายและตีความรัฐธรรมนูญแบบกระจายอำนาจโดยองค์กรศาล(supreme court)

(๗) เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดสถานะทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

(๘) เป็นรัฐธรรมนูญที่วางเงื่อนไขให้แก้ไขได้ยาก

(๙) เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดรูปแบบรัฐบาลแบบสาธารณรัฐ ซึ่งมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีฐานะเป็นประมุขของรัฐ

(๑๐) เป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นออกแบบวิธีปฏิบัติทางการเมืองการปกครองให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของประเทศและอุดมการณ์ทางการเมือง ในรูปของหลักการสำคัญในทางการเมืองการปกครองที่หลากหลาย อาทิเช่น

หลักความเสมอภาคของมนุษย์
หลักการว่าด้วยมนุษย์มีสิทธิเสรีภาพบางประการ (สิทธิตามธรรมชาติ) ที่จะถูกเพิกถอนหรือละเมิดมิได้
หลักการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพอันสำคัญ (สิทธิในชีวิตและสิทธิในการแสวงหาความสุข) ที่รัฐจะละเมิดมิได้
หลักการมีรัฐบาลโดยความยินยอมของประชาชน
หลักการประชาชนเปลี่ยนแปลงล้มล้างรัฐบาลที่ไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้
หลักการรัฐบาลที่จำกัดอำนาจ โดยการจำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล(limited power) การถ่วงดุลอำนาจ(checks and balances) และการแยกอำนาจ (separate of power) และรัฐบาลต้องค้ำประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน(rights ofthe people)
        ๔.๒ ประเทศฝรั่งเศส ประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๘ (ในยุคสาธารณรัฐที่ห้า) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานมาจากประสบการณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง รวมทั้งอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับการแบ่งแยกอำนาจของ มองเตสกิเออ (Montesquieu)แนวความคิดเกี่ยวกับรัฐบาลประชาธิปไตยของ อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอวิu3621 ลล์ (Alexis de Tocqueville)แนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของ จอห์น ล้อค (Locke) และแนวความคิดความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของปวงชนของ รุสโซ(Rousseau) ทั้งนี้ มีจุดเด่นที่เป็นลักษณะสำคัญคือ

(๑) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานทางทฤษฎีและแนวปฏิบัติที่ลึกซึ้ง และละเอียดอ่อนสูงมากตามหลักประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม(liberal democracy)

(๒) เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบระบอบการปกครอง โดยผสมทั้งหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักการถ่วงดุลย์อำนาจไว้ด้วยกัน ในรูปของรัฐบาลในรูปแบบพิเศษที่เรียกว่า กึ่งประธานาธิบดี –กึ่งรัฐสภา(quasi – presidential system)

(๓) เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแบบที่เรียกว่า “ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง”หรือ “Strong Executive”

(๔) เป็นรัฐธรรมนูญที่วางหลักปฏิบัติทางการเมืองการปกครองที่สอดคล้องกับกรอบของหลักการทางทฤษฎีอย่างเคร่งครัด

(๕) เป็นรัฐธรรมนูญที่ผสมผสานแนวการประยุกต์ในการใช้ทฤษฎีประชาธิปไตยจากหลายสำนักความคิดเข้าด้วยกัน

(๖) เป็นรัฐธรรมนูญที่วางหลักการสำคัญทางการเมืองการปกครองที่เน้นการจำกัดอำนาจของรัฐสภา และการสร้างความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร อาทิเช่น

 


หลักการทอนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติลง โดยการกำหนดกรอบเขตอำนาจการตรารัฐบัญญัติของรัฐสภา
หลักการให้ความสำคัญแก่ฝ่ายบริหาร และการใช้อำนาจรัฐสภาอย่างมีเหตุผล โดยการลดอำนาจของรัฐสภาในกระบวนการใช้อำนาจทางรัฐสภา การลดอำนาจควบคุมของรัฐสภา การเพิ่มความมีสมดุลย์ของกลไกรัฐสภา
หลักการเพิ่มเสริมอำนาจผู้นำฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โดยการเพิ่มศักดิ์ศรีและอำนาจของประธานาธิบดีด้วยการเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชน และการเสริมสร้างอำนาจบริหารของประธานาธิบดีด้วยการเปิดช่องให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญได้สามคน ให้ประธานาธิบดีร้องขอให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐบัญญัติที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และให้ประธานาธิบดีร้องขอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อผูกพันระหว่างประเทศที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญก่อนการลงสัตยาบัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงการให้อำนาจการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศแก่ประธานาธิบดีอีกด้วย ได้แก่ การประกาศให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชน เมื่อมีข้อพิพาทเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบสถาบันการเมืองของรัฐ u3619 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และบริการสาธารณะ และร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับรองสนธิสัญญาที่มีผลกระทบกระเทือนต่อการทำหน้าที่ของสถาบันสำคัญ รวมตลอดจนการให้อำนาจการยุบสภาแก่ประธานาธิบดีด้วย
        ๔.๓ ประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซีย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นประเทศรัสเซีย) ประกาศใช้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๘ เป็นรัฐธรรมนูญต้นแบบของประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ (Communism) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีมาร์กซิสต์ ของ คาร์ล มาร์กซ์(Karl Marx) และมีการประยุกต์ใช้โดย เลนิน(Lenin) ผู้นำปฏิวัติคอมมิวนิสต์ของรัสเซีย ทั้งนี้ มีจุดเด่นที่เป็นลักษณะสำคัญคือ

(๑) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีฐานะเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์

(๒) เป็นรัฐธรรมนูญที่มิได้มีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับฐานะและความสำคัญของนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์

(๓) เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจเผด็จการของชนชั้นนำทางการเมือง สำหรับสนับสนุนฐานอำนาจทางการเมืองการปกครองของตน

(๔) เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้ปกครองสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองที่ขัดขวางต่อต้านอุดมการณ์และนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ มากกว่าการใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

(๕) เป็นรัฐธรรมนูญที่เชื่อมโยงความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อความหวังทางการเมืองในอนาคต และการสร้างความสำคัญที่เหนือกว่าของเป้าหมายอนาคตที่เป็นอุดมคติ

(๖) เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งควบคุมและจำกัดกรอบความคิดความเชื่อทางการเมืองการปกครองของประชาชนแบบเข้มงวดขึงตึงเพียงแนวทางเดียว

(๗) เป็นรัฐธรรมนูญที่ยอมรับความสำคัญและความมีอภิสิทธิ์หรือสิทธิพิเศษของชนชั้นที่เสียเปรียบถูกกดขี่ขูดรีด

(๘) เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งกำหนดหน้าที่ของประชาชนมากกว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

(๙) เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งวางกฎเกณฑ์ในการกำกับควบคุมให้โครงการสำคัญของรัฐ ได้รับการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์

        ๔.๔ ประเทศอังกฤษ เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์ด้านรัฐธรรมนูญที่เป็นแบบจารีตประเพณีหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร(Unwritten Constitution) มากกว่าการเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นแบบลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษจึงเป็นการสั่งสมประสบการณ์จากพัฒนาการแบบค่อยเป็นค่อยไปจากแนวทางการปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์(Absolute Monarchy) เป็นระบอบประชาธิปไตย(Liberal Democracy) ซึ่งอาจนับย้อนกลับไปในครั้งเริ่มแรกได้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๒๑๕ ในรัชสมัยของพระเจ้าจอห์นที่มีการลงพระปรมาภิไธยใน“ตราสารมหากฎบัตร” (Magna Carta) ซึ่งจัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากความตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนโดยมีขุนนางเป็นตัวแทน และต่อมาก็ได้ปรากฏเป็นตราสารอื่นโดยที่มีลักษณะแยกกันไปในฉบับต่าง ๆ โดยที่มิได้รวมอยู่ในฉบับเดียวกัน อาทิเช่น“คำร้องขอสิทธิ” (Petition of Rights) ใน ค.ศ. ๑๖๒๘ พระราชบัญญัติแห่งสิทธิ (Bill of Rights)ใน ค.ศ. ๑๖๘๙ และตราสารอื่น ๆ อีกหลายฉบับ นอกจากนี้ ยังรวมถึงหลักฐานและวิธีปฏิบัติทางการเมืองการปกครองของบรรดาผู้ปกครองและสถาบันสำคัญทางการเมืองการปกครองอื่น ๆ ในรูปของจารีตประเพณีหรือธรรมเนียมปฏิบัติอีกด้วย อาทิเช่น คำวินิจฉัยของศาล การตีความของศาลธรรมเนียมปฏิบัติ กฎหมายและจารีตประเพณีของรัฐสภา และสิ่งที่เรียกว่าข้อเขียนที่ทรงคุณค่า ทั้งนี้รัฐธรรมนูญของประเทศอังกฤษมีจุดเด่นที่เป็นลักษณะสำคัญคือ

(๑) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานจากพัฒนาการของการสั่งสมประสบการณ์จากประวัติศาสตร์ทางการเมือง ในทิศทางที่สลับทิศทางกัน ระหว่างการค่อย ๆ ลดอำนาจของกษัตริย์ผู้ปกครองกับการเพิ่มสิทธิของประชาชนผู้รับการปกครอง


(๒) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเอกลักษณ์ในการเป็นต้นแบบของการใช้รัฐธรรมนูญแบบจารีตประเพณี โดยผสมเข้ากับส่วนที่มีการตราเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบที่หลากหลายไม่ได้รวมอยู่ในฉบับเดียวกัน และเรียงมาตราเหมือนกับรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรทั่วไป ดังที่ใช้กันอยู่ในประเทศอื่น

(๓) เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดหรือสร้างขึ้นมาด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ และการปฏิบัติจากประสบการณ์จริง มากกว่าการยึดถือเหตุผลตามหลักการทางทฤษฎี กล่าวอีกนัยก็คือ การที่รัฐธรรมนูญเป็นบ่อเกิดของทฤษฎี มากกว่าการใช้ทฤษฎีเป็นหลักอ้างอิงในการสร้างรัฐธรรมนูญอาทิเช่น การเกิดรูปแบบของสภาคู่ เนื่องจากการขัดแย้งแข่งขันต่อสู้u3585 กันระหว่างคนสองชนชั้น หรือสองกลุ่มต่างสถานภาพกัน คือ ฝ่ายพระและขุนนางซึ่งรวมอยู่สภาสูงหรือสภาขุนนาง กับฝ่ายผู้แทนราษฎรและสามัญชน ซึ่งรวมกันอยู่ในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร

(๔) เป็นรัฐธรรมนูญที่หล่อหลอมวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม โดยที่จารีตประเพณีของธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดต่อเนื่องกันมา มีการหยั่งรากและยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยง่าย เมื่อเทียบกับการยึดถือผูกพันหรือดำรงรักษาไว้ ทำให้เป็นรากฐานสำคัญในการสืบสานระบอบการปกครองและสถาบันหลักที่สำคัญทางการเมืองการปกครองของประเทศไว้ เช่น ความเป็นราชอาณาจักรแบบรัฐเดียว สถาบันพระมหากษัตริย์และระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

(๕) เป็นรัฐธรรมนูญที่ควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองให้เกิดขึ้นในครรลองของการค่อยปรับค่อยเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการรักษารากฐานสำคัญหลักไว้ มากกว่าการปฏิวัติแบบก้าวหน้า ซึ่งส่งผลให้ความมีรากฐานที่มั่นคงตามสภาวะที่ดำรงอยู่จริง มีความสำคัญเหนือกว่าความทันสมัยที่ยึดโยงอยู่กับความคาดหวังที่เพ้อฝันหรือคาดหมายจากความน่าจะเป็นในอนาคต

(๖) เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความต่อเนื่องและสืบเนื่องแบบสะสมต่อยอด และมีความยืดหยุ่นอ่อนตัวเชิงประยุกต์ และปรับตัว โดยที่รัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์ได้ โดยที่มิจำเป็นต้องมีความเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างเคร่งครัด

(๗) เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลักษณะปฏิบัตินิยม(pragmatism) มากกว่าลักษณะอุดมคตินิยม(idealism) โดยที่ถือเอาสภาพการณ์ปัจจุบันที่ผสมระหว่างปัญหาและความต้องการที่เกิดขึ้นขณะนั้นในสภาวะปัจจุบันเป็นปัจจัยกำหนดหรืออ้างอิง ทำให้รัฐธรรมนูญมีสภาพพลวัต โดยสภาพของการใช้อยู่เสมอแทนที่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากความตั้งใจในการสร้างความทันสมัยให้แก่รัฐธรรมนูญ โดยที่มิได้ยึดโยงมาจากผลของการใช้รัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติ

(๘) เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฝ่ายต่าง ๆ สามารถปรับตัวได้ง่ายและเข้ากันได้อย่างผสมกลมกลืนโดยที่มีการวางหลักการสำคัญทางการเมืองการปกครองที่สอดคล้อง มีดุลยภาพ และพึ่งพากันอย่างเกื้อกูล หลายประการ ได้แก่

หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลย์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร(checks and balances) โดยที่ฝ่ายบริหารยุบสภาได้ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติอภิปรายไม่ไว้วางu3651 ใจฝ่ายบริหารได้ด้วยเช่นกัน
หลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก (majority rule) โดยฝ่ายบริหารอาศัยความยินยอมและการตรวจสอบควบคุมจากรัฐสภา ซึ่งฝ่ายบริหารต้องอาศัยเสียงข้างมากของรัฐสภาในการสนับสนุนการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร
หลักการถืออำนาจสูงสุดของรัฐสภา (supremacy of parliament) โดยยกย่องอำนาจนิติบัญญัติในฐานะที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง
หลักการดำรงเสถียรภาพของรัฐบาลด้วยความรับผิดชอบ โดยที่ครอบคลุมทั้งความรับผิดชอบแบบคณะหรือความรับผิดชอบร่วมกัน (collective & individualresponsibility) และความรับผิดชอบแบบบุคคลหรือเฉพาะตัวรัฐมนตรี
        ๔.๕ ประเทศเยอรมัน เป็นการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันเผด็จการ และเพื่อการสร้างประชาธิปไตยไปพร้อม ๆ กัน โดยเน้นการสร้างการเมืองการปกครองที่มีทั้งเสถียรภาพและประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญของเยอรมันมีชื่อเรียกว่า “กฎหมายพื้นฐาน” (Basic Law) ประกาศใช้เมื่อค.ศ. ๑๙๔๙ มีจุดเด่นที่เป็นลักษณะสำคัญคือ

(๑) การเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการวางรากฐานประชาธิปไตย โดยการพัฒนาระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งให้เป็นเสาหลักขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตยในรูปของการอุดหนุนพรรคการเมืองเพื่อสร้างพรรคมหาชน (Mass Parties) หรือพรรคขนาดใหญ่ และการสร้างนักการเมืองอาชีพโดยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน

(๒) การเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งสร้างระบบการปกครองโดยกฎหมาย การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีมาตรการควบคุมฝ่ายบริหารทั้งโดยกลไกของรัฐสภา ในรูปของการรับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนโดยตรง และกลไกของฝ่ายตุลาการ ในรูปของการมีระบบศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญเพื่อการควบคุมตรวจสอบอำนาจรัฐของฝ่ายบริหารโดยตรง

(๓) การเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพของรัฐบาล โดยมาตรการสร้างดุลยภาพระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารในรูปของการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบสร้างสรรค์ของรัฐสภา โดยการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่พร้อมญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และการริเริ่มยุบสภาโดยฝ่ายบริหาร มาตรการให้อำนาจพิเศษแก่นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะฉุกเฉินทางนิติบัญญัติ ในกรณีที่ฝ่ายบริหารมีเสียงข้างน้อยในสภา มาตรการสานความต่อเนื่องของรัฐบาลในที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงก่อนครบวาระ สภาสามารถเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนได้ ภายใน ๔๘ ชั่วโมง โดยที่คณะรัฐมนตรีชุดเดิมไม่ต้องพ้นวาระตามไปด้วย

(๔) เป็นรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมการป้องกันรักษาประชาธิปไตยหลายมาตรการด้วย ได้แก่มาตรการให้สิทธิประชาชนในการต่อสู้ขัดขวางบุคคลหรือคณะบุคคลใดที่จะทำลายระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญได้ หากไม่มีทางเลือกหรือวิธีการอื่นใดที่สามารถทำได้ มาตรการทอนอำนาจศูนย์กลางด้วยการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาตรการป้องกันทหารใช้กำลังเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองด้วยการจำกัดบทบาทหน้าที่ของทหารเฉพาะการป้องกันประเทศ และการให้อำนาจบังคับบัญชาทหารอยู่ที่ผู้นำการเมืองทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน

(๕) เป็นรัฐธรรมนูญที่จูงใจให้ข้าราชการประจำเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง เพื่อไม่ให้อาชีพข้าราชการเป็นอุปสรรคในการลิดรอนสิทธิทางการเมือง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนทั่วไป ไม่กีดกันการร่วมมีประสบการณ์ทางการเมืองของข้าราชการประจำ แม้แต่ข้าราชการซึ่งต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

(๖) เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตย โดยการอบรมเผยแพร่ความรู้ทางการเมืองอย่างระบบและเป็นขบวนการครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ

        ๔.๖ ประเทศญี่ปุ่น เป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ประกาศใช้ ค.ศ. ๑๙๔๖ มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างชาติและสร้างประชาธิปไตยใหม่ภายหลังเหตุการณ์สงครามโลก ทั้งนี้ มีจุดเด่นที่เป็นลักษณะสำคัญคือ

(๑) เป็นรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นภายใต้อิทธิพลภายนอกประเทศ ซึ่งแทรกแซงโดยสหรัฐอเมริกา จนเรียกกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแมคอาร์เธอร์ ซึ่งเป็นชื่อของผู้บัญชาการรบชาวอเมริกัน โดยที่กำหนดแบบแผนตามประเพณีการปกครองของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ให้การยอมรับสูง เนื่องจากดำรงรักษาสถาบันสูงสุดอันเป็นที่ยกย่องสดุดีของชาวญี่ปุ่นไว้ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์หรือพระจักรพรรดิ

(๒) เป็นรัฐธรรมนูญที่วางมาตรการป้องกันการฟื้นตัวของลัทธิทหาร และบทบาทของกองทัพอย่างเข้มงวด โดยการห้ามมีกำลังทหารทั้งทางบก เรือ และอากาศ รวมทั้งการห้ามสร้างศักยภาพสงครามทั้งภายในและภายนอกประเทศ คงไว้แต่เฉพาะในกรอบของการป้องกันรักษาตนเองไว้ได้เท่านั้น ทั้งนี้ หากมีภัยคุกคามใด ๆ ให้ปฏิบัติตามสนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น – สหรัฐอเมริกาคือ ให้เป็นภาระของสหรัฐอเมริกาในการช่วยป้องกันประเทศให้แก่ญี่ปุ่นแทน

(๓) เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากเพื่อวางหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง ตามหลักการของประชาธิปไตยและคำนิยมของสหรัฐอเมริกา โดยมีมาตรการป้องกันและการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการที่ยุ่งยากซับซ้อนหลายขั้นตอน และต้องอาศัยความยินยอมของประชาชนเป็นสำคัญ คือ การผ่านความเห็นชอบของสภาจำนวนสองในสาม ผ่านสภาสูงสองในสาม และผ่านการออกเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

(๔) เป็นรัฐธรรมนูญที่วางหลักการปกครองระดับชาติในระบบรัฐสภา ที่มีพระกษัตริย์เป็นประมุข อย่างอังกฤษ ขณะที่วางหลักการปกครองระดับท้องถิ่นคล้ายระบบสหพันธรัฐอย่างอเมริกาโดยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบโดยตรงจากประชาชน

(๕) เป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพื่อใช้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นศักดิ์ศรี และความมั่งคั่งของประเทศทดแทนการสร้างแสนยานุภาพทางทหารและกำลังรบเพื่อความมั่นคง ซึ่งสามารถประหยัดงบประมาณการป้องกันประเทศ และอาศัยความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาแทน

(๖) เป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีพันธะผูกพันและฝักใฝ่ต่อประเทศตะวันตกและอเมริกาอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นสายใยของการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงให้ญี่ปุ่นได้รับโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งในทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ การลงทุน การค้าการศึกษาและวัฒนธรรมแบบตะวันตกและอเมริกา

(๗) เป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสร้างรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแบบตะวันตก ส่งผลให้เกิดระบบพรรคเด่นพรรคเดียว ที่มีแนวนโยบายโน้มเอียงไปในทางเสรีประชาธิปไตย คือ พรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP , Liberal Democratic Party)

(๘) เป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยสูงตามแบบของตะวันตก โดยพระจักรพรรดิเป็นประมุขของประเทศ และอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพสูงทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิu3592 จ มีระบบการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นมีการดำเนินการที่เปิดเผยเสรี มีความยุติธรรม และมีการแข่งขันสูง รัฐบาลมีความรับผิดชอบต่อรัฐสภาและประชาชนอย่างชัดเจน กลุ่มตัวแทนผลประโยชน์มีความหลากหลายและเคลื่อนไหวต่อสู้กันภายใต้กรอบของกติการะบบราชการและทหารไม่สามารถครอบงำระบบการเมืองได้ ขณะที่หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ก็เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างประเทศตะวันตก จนได้ชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยแบบเต็มใบ

 


[แก้ไข] ๕. มิติประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญต่างประเทศกับรัฐธรรมนูญไทย
๕.๑มิติด้านระบอบการปกครอง
๑) ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(parliamentarydemocracy) ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ

๒) การปกครองแบบรัฐเดียวในระบบราชอาณาจักร (unitary) ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ

๓) ระบบความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอำนาจการปกครองแบบอำนาจเดี่ยวและอำนาจควบ (monist & fusion) ซึ่งเป็นแบบอังกฤษ

๔) การปกครองที่ยกย่องความสูงส่งของสถาบันรัฐสภา (supremacy of parliament) ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ

๕) การปกครองโดยหลักความรับผิดชอบร่วมกันของฝ่ายบริหาร (collectiveresponsibility) ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ

๖) การจำกัดอำนาจการปกครองของรัฐ (limited government) ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมัน

๗) การคุ้มครองปกป้องสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเป็นแบบของสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสอังกฤษ และเยอรมัน

๘) การปกครองโดยกฎหมาย (rule of law) ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ สหรัฐอเมริกาฝรั่งเศส และเยอรมัน

๙) การปกครองระบบนิติรัฐ (legal state) ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ สหรัฐอเมริกาฝรั่งเศส และเยอรมัน

๕.๒มิติด้านสถาบันการเมืองการปกครอง
๑) รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษร (written constitution) ซึ่งเป็นแบบของสหรัฐอเมริกา

๒) พรรคการเมืองแบบพรรคมหาชนขนาดใหญ่ (mass party) มีการอุดหนุนการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองโดยรัฐ ซึ่งเป็นแบบของเยอรมัน

๓) การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมกับแบบแบ่งเขตรอบเดียวโดยเสียงข้างมาก (mixed formelection) ซึ่งเป็นแบบที่ประยุกต์มาจากเยอรมันและอังกฤษ

๔) การสร้างภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง(strong leadership) ของผู้นำฝ่ายบริหาร หรือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นแบบที่ประยุกต์มาจากเยอรมันและฝรั่งเศส

๕) การสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล และรัฐสภาที่มีเหตุผล(rationalized parliament) โดยการอภิปรายของรัฐสภาเชิงสร้างสรรค์ และการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ยาก ซึ่งเป็นแบบของเยอรมัน

๖) การแยกหน้าที่ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร (separate of function) โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งเป็นการประยุกต์มาจากเยอรมันและอเมริกา

๗) การจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชน (referendum) ซึ่งมีใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น

๘) การสร้างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(organic law) เพื่อเสริมความสมบูรณ์ให้แก่รัฐธรรมนูญ และการคุ้มครองกฎหมายสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแบบที่ใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส

๙) การสร้างองค์กรที่ปรึกษาและให้คำแนะนำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นแบบที่ใช้อยู่ในฝรั่งเศส

๑๐) การสร้างองค์กรอิสระควบคุมการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ซึ่งเป็นแบบที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ

๑๑) การจัดตั้งศาลปกครองเพื่อควบคุมตรวจสอบการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ในฝรั่งเศส

๑๒) การจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และควบคุมกฎหมายไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ในเยอรมัน

๑๓) การสร้างสถาบันเพื่อการตรวจสอบและการลงโทษผู้กระทำผิดทางการเมือง ในรูปของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การชี้มูลความผิดและฐานโทษโดย ป.ป.ช.การรับเรื่องราวร้องทุกข์โดยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และการถอดถอนโดยวุฒิสภา เป็นระบบที่ผสมผสานและประยุกต์มาจากหลาย ๆ ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และฝรั่งเศส

๑๔) การจัดตั้งองค์กรอิสระของรัฐด้านต่าง ๆ เพื่อการกำกับ ควบคุม ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการประยุกต์และผสมผสานของฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

๕.๓มิติด้านโครงสร้าง – หน้าที่ของระบบการเมือง
๑) องค์ประกอบหลักทางโครงสร้าง – หน้าที่ของระบบการเมือง ประกอบด้วย สถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ตามกรอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับอังกฤษฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา

๒) การแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เป็นการประยุกต์ระบบการแบ่งแยกอำนาจแบบสหรัฐอเมริกา

๓) ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เป็นการประยุกต์และผสมผสานระหว่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ได้แก่ การยกย่องความสูงส่งของสถาบันนิติบัญญัติแบบระบบรัฐสภาของอังกฤษ การตรวจสอบถ่วงดุลย์ระหว่างสถาบันนิติบัญญัติกับสถาบันบริหารแบบสหรัฐอเมริกา การสร้างความเข้มแข็งของผู้นำฝ่ายบริหารแบบฝรั่งเศสการมีเหตุผลและจำกัดขอบเขตอำนาจของรัฐสภาแบบเยอรมัน

๔) การจำกัดควบคุมตรวจสอบอำนาจของสถาบันการเมืองการปกครองและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน เป็นการผสมผสานและประยุกต์แบบอังกฤษ ซึ่งเน้นบทบาทของสถาบันนิติบัญญัติแบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบทบาทร่วมระหว่างสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการและแบบฝรั่งเศสกับเยอรมัน ซึ่งเน้นบทบาทของสถาบันตุลาการ

๕) กระบวนการใช้อำนาจของสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เป็นการผสมผสานและประยุกต์จากบางส่วนของแบบอังกฤษ ซึ่งเน้นศูนย์กลางอำนาจและอำนาจเดี่ยวที่สถาบันนิติบัญญัติ แบบสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งอำนาจและกระจายอำนาจระหว่างสถาบันนิติบัญญัติกับสถาบันบริหาร แบบฝรั่งเศส ซึ่งเน้นศูนย์กลางอำนาจที่สถาบันบริหาร และแบบเยอรมัน ซึ่งเน้นความมีเหตุผล สร้างสรรค์ และการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่จำกัดของสถาบันนิติบัญญัติ

๕.๔ มิติด้านรูปแบบของรัฐบาล
(๑) การเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (parliamentary system) ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ผู้นำรัฐบาลมาจากรัฐสภาแต่งตั้ง และรับผิดชอบโดยตรงต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ

(๒) การเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากแบบผสมจากหลายพรรคการเมือง (coalitiongovernment) อันเนื่องมาจากเหตุผลของการเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากเกินครึ่ง การจัดตั้งรัฐบาลผสมจึงเกิดจากความจำเป็นในการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอาจมีความคล้ายคลึงกับกรณีของฝรั่งเศส แต่มิใช่เป็นเพราะจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญโดยตรง

(๓) การเป็นรัฐบาลที่ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจที่ศูนย์กลาง(centralization) ตามกรอบของรัฐเดี่ยว ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ

(๔) การเป็นรัฐบาลแห่งปวงชน (popular government) ที่มาจากความยินยอมของรัฐสภาและอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของรัฐสภาด้วย ซึ่งเป็นแบบของอังกฤษ

(๕) การเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อรัฐสภาแบบผสม ทั้งแบบความรับผิดชอบร่วมเป็นคณะและรับผิดชอบแยกเป็นรายบุคคล (collective & individual responsibility) ซึ่งเป็นการผสมผสานและประยุกต์ทั้งแบบอังกฤษและเยอรมัน


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศาลรัฐธรรมนูญ
ดร. เชาวนะ ไตรมาศ

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย