วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม. (2549). พระราชประวัติพระมหากษัตริยาธิราช และพระราชินีในราชจักรีวงศ์ พระปกเกล้ากษัตริย์นักประชาธิปไตย

ภาพ:9king.jpg

พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์โดยทั่วกันว่า ในยุคแห่งกรุงเทพมหานคร หรือกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงสถาพร ให้แก่ชาติไทยจนตกทอดมาถึงเราชาวไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งแม้ปัจจุบันนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงมีความสำคัญต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงเสมอมา ซึ่งจะขอนำเสนอประวัติและพระราชกรณียกิจดังนี้

 

ราชวงศ์จักรี

[แก้ไข] รัชกาลที่ 1 : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

[แก้ไข] พระราชประวัติ

        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ด้วง เป็นบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คน ของนายทองดี หรือต่อมาได้เป็นหลวงพินิจอักษร เสมียนตราในกรมมหาดไทยกับนางหยก หลานสาวของเจ้าพระยาอภัยราชา ซึ่งดำรงตำแหน่งสมุหนายก ประสูติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2279 ในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ


        นายด้วงได้มีโอกาสรู้จักกับ นายหยง แซ่แต้ (บุตรจีนไทหง และนางนกเอี้ยง ซึ่งต่อมาก็คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) เมื่อตอนบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาทลาย เมื่อปีพุทธศักราช 2300


        ต่อมาเข้ารับราชการในตอนปลายแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา โดยนายหยงได้เป็นตำแหน่งหลวงยกกระบัตรเมืองตาก และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “นายสิน” ส่วนนายด้วงก็รับราชการด้วยดีจนได้เป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ต่อมาได้สมรสกับธิดาคหบดีบ้านอัมพวา ตำบลบางช้าง จังหวัดสมุทรสงคราม


        หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าใน พ.ศ.2310 แล้ว หลวงยกกระบัตรเมืองตาก ซึ่งตอนนั้นได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ได้ทำการรวบรวมผู้คนซึ่งแตกกระจายกันเป็นก๊กเป็นเหล่าต่าง ๆ มาตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรี และสามารถยึดกรุงธนบุรีกลับคืนมาได้ และเคลื่อนทัพไปยังกรุงศรีอยุธยา เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น จนนายทัพพม่า ที่เรียกกันว่า สุคยี (ภาษาพม่า หมายถึง นายกอง แต่คนไทยเอามาเรียกเป็นชื่อว่าสุกี้) ตายในที่รบ จึงเป็นอันกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2310 จากนั้นพระยาตากจึงทำการอพยพผู้คนมายังกรุงธนบุรี ด้วยเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาถูกพม่าทำลายจนเสียหายยากแก่การบูรณะซ่อมแซม ประกอบกับกรุงธนบุรีมีชัยภูมิที่ดีกว่าและพอเหมาะกับกำลังไพร่พล จึงทรงประกาศตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงใหม่ของไทย พร้อมกับประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ไทย ทรงพระนามว่า พระบรมราชาธิราชที่ 4 ขึ้นเมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม พุทธศักราช 2311 แต่ประชาชนทั่วไปมักเรียกพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน บ้างก็เรียกว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


        ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ได้ทรงรวบรวมญาติพี่น้องเพื่อสถาปนาขึ้นเป็นพระบรมราชวงศ์ รวมทังปูนบำเหน็จให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกองและผู้ร่วมกอบกู้ชาติ ซึ่งได้รวมไปถึงหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี เพื่อนเก่าที่ชอบพอและร่วมเป็นร่วมตายในการศึกนี้ด้วย โดยโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจขวานอก แล้วให้เข้ามารับราชการใกล้ชิด พระราชวรินทร์ได้รับราชการสนองพระบรมราชโองการสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วยความเข้มแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง จนได้รับอาญาสิทธิ์และเลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขี้นหลังจากที่ได้ออกไปในการศึกสงครามหลายต่อหลายครั้งเป็น เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมา ทุกนคราระย่อเดช นเรศราชสุริยวงศ์ องค์บาทมุลิกากร บวงรัตนปรินายก


        ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชอัธยาศัยผิดไปจากพระองค์เดิม เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายขึ้นทั้งในหมู่ภิกษุสงฆ์และประชาชนคนไทย ในเวลานั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกไปราชการสงครามที่เขมร จึงเป็นโอกาสให้พระยาสรรค์กับพวกคิดกบฏแย่งชิงราชสมบัติ ประกาศตนเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่เมื่อสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกทรงทราบข่าวว่าเกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีจึงรีบยกทัพกลับมา พระยาสรรค์เกรงกลัวจึงยอมลดตนเองกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม ในส่วนของสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เห็นว่าหากละไว้อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นได้อีกในภายหลัง จึงเห็นชอบให้นำไปสำเร็จโทษเสียเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 แล้วอัญเชิญสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นดำรงสิริราชสมบัติ ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณีนทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชฎวิสุทธิ์ รัตนมงกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว” หรือต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถวายพระนามใหม่ว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” นับเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2325 โดยขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 46 พรรษา

 

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        สร้างกรุงเทพมหานครเป็นนครหลวง ทรงเห็นว่ากรุงธนบุรีซึ่งเป็นเมืองหลวงอยู่นั้นคับแคบ ไม่สามารถขยายอาณาเขตบ้านเมืองให้เจริญยิ่งขึ้นได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่พื้นที่ราบกว้างขวาง และสามารถอาศัยลำน้ำเจ้าพระยาเป็นคูพระนคร เหมาะแก่การป้องกันภัยจากการรุกรานของข้าศึกศัตรู ทรงพระราชทานพระนครใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถาน อมรพิมาน อวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” หรือที่เรียกขานกันโดยทั่ว ๆ ไปว่า “กรุงเทพมหานคร”


        นอกจากนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดซึ่งประกอบด้วย พระอุโบสถพระเจดีย์ หอราชมณเฑียรสำหรับเก็บพระไตรปิฎก หอพระเทพบิดรและศาลาโดยรอบขึ้นในบริเวณพระบรมมหาราชวัง แล้วพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต เพื่อให้คนไทยได้สักการบูชาตราบมาจนทุกวันนี้


        การสงครามกับพม่า ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พม่ายังคงส่งกองทัพเข้ามารบกวนอยู่เสมอ ๆ ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้องทรงนำทัพออกไปทำศึกสงครามกับพม่าอยู่หลายครั้ง ที่นับว่าสำคัญ ๆ มีดังนี้


         1. สงคราม 9 ทัพ เป็นการยกทัพที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่พม่าเคยยกทัพมาตีไทย ซึ่งขณะนั้นทรงมีกำลังทหารเพียงครึ่งหนึ่งของฝ่ายพม่า จึงทรงวางแผนยุทธวิธีในการรบใหม่ เอาคนน้อยสู้คนมาก และด้วยยุทธวิธีการรบที่เหนือกว่า ผนวกกับจุดบกพร่องของพม่า ทำให้กองทัพไทยได้รับชัยชนะอย่างงดงาม สามารถตีทัพของพม่าแตกพ่ายกลับไปในที่สุด


         2. สงครามท่าดินแดน ไทยรับมือกับพม่าในครั้งนี้ด้วยการจัดทัพออกไป 2 ทัพ โดยทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมทัพยกไปตีพม่าที่สามสบ และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงยกทัพหลวงไปตีค่ายพม่าที่ท่าดินแดง สงครามครั้งนี้ไทยรบกับพม่าอยู่ราว 3 วัน ทัพพม่าก็แตกพายหนีกลับไป


         3. สงครามที่ป่าซางและลำปาง ในปีพุทธศักราช 2330 เมื่อพระเจ้าปุดงแพ้ศึกให้ไทยถึง 2 ครั้งแล้ว เมืองขึ้นของพม่าที่อยู่ทางเหนือก็เริ่มแข็งเมือง พระเจ้าปุดงจึงให้กองทัพพม่ายกไปทำการปราบปราม แล้วให้เดินทัพเลยเข้ามาในเขตล้านนา เพื่อจะเข้าตีเมืองลำปาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางแบ่งกำลังคนไปตั้งรับที่เชียงใหม่ และให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทยกทัพหลวงขึ้นไปช่วยตีทัพพม่าที่ตั้งล้อมเมืองอยู่จนพม่าพ่ายแพ้ไปในที่สุด และเมื่อเสด็จยกทัพกลับ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่ลงมาประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพฯ ด้วย


         4. การรบที่เมืองทวาย การรบครั้งนี้ไม่สำเร็จ เนื่องจากไทยไม่ชำนาญทาง ทำให้เมื่อไปถึงทหารไทยบอบช้ำมากจากการที่ต้องเดินทางไกล ประกอบกับเสบียงอาหารที่ขนไปหมดลง ดังนั้น หลังจากที่ได้ล้อมเมืองทวายไว้ได้ระยะหนึ่ง ไทยจึงต้องเลิกทัพกลับ ถึงแม้การรบครั้งนี้ไทยจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ทำให้พม่ารุ้ซึ่งว่าไทยมีกำลังเข้มแข็งมาก และยังทำให้เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองมะริด ยอมเข้ามาสวามิภักดิ์กับไทยในอีก 4 ปีต่อมา


         5. การขับไล่พม่าออกจากเขตล้านนาไทย ในปีพุทธศักราช 2345 พม่ายกกองทัพใหญ่รวม 7 ทัพ เข้ามาในไทยหวังจะตีเอาล้านนาคืนกลับไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขยกทัพไปช่วยจนสามารถขับไล่พม่าออกจากเขตล้านนาได้หมด ทั้งยังได้หัวเมืองล้านนาอีก 57 หัวเมืองเข้ามาเป็นเมืองขึ้นของไทยอีกด้วย


         ทางด้านศาสนา โปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พ.ศ.2331 และจารฉบับทอง ประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงสร้างและบูรณะปฎิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปต่าง ๆ เป็นอันมาก


        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น 42 พระองค์ โดยก่อนปราบดาภิเษกทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 10 พระองค์ และหลังจากปราบดาภิเษกแล้วอีก 32 พระองค์ ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติได้ 27 ปีเศษ ก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2352 รวมพระชนมายุได้ 74 พรรษา

[แก้ไข] รัชกาลที่ 2 : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

[แก้ไข] พระราชประวัติ

        พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระอมรินทรา พระบรมราชินี ทรงมีพระนามเดิมว่า ฉิม ประสูติเมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2310 ณ ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม ขณะประสูติเป็นเวลาที่ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าได้ราว 10 เดือนเศษแล้ว และสมเด็จพระราชบิดายังทรงเป็นสามัญชนโดยดำรงพระยศเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี


        เมื่อทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาอักษรสมัยในสำนักสมเด็จพระวนรัตน (ทองอยู่) วัดบางหว้าใหญ่ ด้านวิชาการรบ สำหรับขัตติยราชกุมารนั้น พระองค์ได้ทรงศึกษาจากประสบการณ์ที่เป็นจริง กล่าวคือได้ทรงตามเสด็จ พระบรมชนกนาถไปในราชการสงครามตั้งแต่อายุ 8 พรรษา ซึ่งพระปรีชาสามารถและจัดเจนนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระองค์ท่านขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่อุปราชรับรัชทายาทสืบแทนสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งทิวงคตไป


พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเสกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด พระธิดาในพระพี่นางเธอสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ได้ทรงสถาปนาพระชายาขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนม์ 42 พรรษา จึงได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2352 ทรงพระนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายกดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยตโรมนต์สากลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรา ธาดาธิบดี ศรีวิบูลย์คุณอกนิษญ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาติเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศคตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

 

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเริ่มทำเร่งด่วนครั้งแรกคือ การรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายกันอยู่ตั้งแต่ครั้งกรุงแตกให้อยู่ตั้งมั่นเพื่อความเป็นปึกแผ่นของประเทศ โดยออกพระราชกำหนดสักเลข และทำทะเบียนราษฎรอย่างจริงจัง และได้ทรงผ่อนผันการเข้ารับราชการของพลเรือนชายให้เหลือเพียงปีละ 3 เดือน (คือเข้ารับราชการ 1 เดือน แล้วกลับไปพักประกอบอาชีพส่วนตัวอีก 3 เดือน )นอกจากนี้ยังได้ทรงออกกฎหมายฉบับสำคัญอีกฉบับหนึ่งเรียกว่า พระราชกำหนดเรื่องห้าม สูบฝิ่น ขายฝิ่น พร้อมทรงกำหนดบทลงโทษแก่ผู้ที่ฝ่าฝืนไว้ด้วย ทำให้ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นไม่เกิดสงครามฝิ่นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ


        การทำนุบำรุงบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเตรียมพร้อมในด้านการป้องกันอริราชศัตรู โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองและป้อมปราการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะยกเข้ามาทางทะเลที่เมืองสมุทรปราการและที่ปากลัด


         การศาสนา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงฟื้นฟูพระบวรพุทธศาสนาอย่างแข็งขัน เช่น ให้ดำเนินการสร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีที่ได้สร้างค้างไว้ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และโปรดให้สร้างวัดใหม่เพิ่มเติมขึ้นอีกคือ วัดชัยพฤกษมาลา วัดโมฬีโลกยาราม วัดหงสาราม รวมทั้งการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอรุณราชวราราม โดยทำการสร้างพระอุโบสถ และพระวิหารขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลของพระองค์ และเนื่องจากในรัชกาลนี้ มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง 3 เชือก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขธงชาติไท จากที่เคยใช้ธงสีแดงทั้งผืนมาตังแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้เป็นรูปช้างสีขาวอยู่ในวงจักรติดอยู่ตรงกลางผืนธงที่มีพื้นแดง ซึ่งได้ใช้ธงในรูปลักษณ์นี้เป็นธงชาติไทยสืบต่อเรื่อยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 73 พระองค์ เสด็จอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลา 14 ปีเศษ ก็ทรงพระประชวรด้วยพิษไข้ พระองค์ประชวรอยู่ได้เพียง 3 วัน ก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พุทธศักราช 2367 ขณะมีพระชนมายุได้ 58 พรรษา

 

 

 

[แก้ไข] รัชกาลที่ 3 : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้ไข] พระราชประวัติ

        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “ทับ” ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาเรียม (ต่อมาทรงได้รับการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์เป็น กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พุทธศักราช 2330 เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระยศเป็น “หม่อมเจ้า”ด้วยเวลานั้นพระราชบิดายังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าต่างกรม และพระราชมารดาเป็นเพียงสามัญชน จนเมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้รับการสถาปนาเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงได้เลื่อนพระยศขึ้นเป็น “พระองค์เจ้า” ทุกพระองค์


        ต่อมาในปีพุทธศักราช 2356 ภายหลังจากที่พระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระองค์เจ้าทับ ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์


        กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพระปรีชาสามารถในศาสตร์หลายแขนง อาทิ ในด้านอักษรศาสตร์ พุทธศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ จึงเป็นเหตุให้ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบรมชนกนาถให้ไปบังคับบัญชาหน่วยราชการอื่น ๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ


        เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตโดยมิได้ทรงตรัสมอบราชสมบัติพระราชทานให้แก่ผู้ใด ประกอบกับในรัชกาลของพระองค์ก็มิได้ทรงแต่งตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือตำแหน่งรัชทายาทไว้ ดังนั้น พระราชวงศ์และบรรดาข้าราชการจึงได้ปรึกษากันตามโบราณราชประเพณี เพื่อเลือกผู้สืบราชสมบัติ เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงพากันเข้าเฝ้า ทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ แม้ตามที่ควรแล้วราชสมบัติควรจะตกแก่เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรสที่ประสูติแต่สมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 แต่ด้วยเหตุที่เจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงพระเยาว์และไม่เคยทรงงานใหญ่มาก่อนในขณะที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเจริญพระชนมายุมากกว่า และได้ทรงปฎิบัติราชกิจต่างพระเนตรพระกรรณจนเป็นที่ว้างพระราชหฤทัยมาโดยตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ผนวกกับพระองค์ทรงเป็นผู้มีน้ำพระทัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จนเป็นที่รักใคร่นับถือแก่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนทั่วไป รวมทั้งในช่วงเวลานั้นบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อยดีและยังคงมีข้าศึกมาประชิดติดพันอยู่เนื่อง ๆ เมื่อพิจารณาเห็นดังนี้แล้วจึงได้พร้อมกันถวายสิริราชสมบัติแต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ โดยมีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสริฐ มหาเจษฎาบดินทร สยามินทราวโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        การปกครองประเทศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็โปรดให้จัดการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในเวลานั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่เพื่อสะดวกแก่การปกครองและเพื่อรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายกันให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกที่อาจจู่โจมเข้ามาทางเรือเพิ่มเติมขึ้นที่สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และที่จันทบุรี โปรดให้มีการปราบปรามโจรผู้ร้าย ซึ่งในเวลานั้นมี “พวกอั้งยี่” เข้ามาระรานปล้นสะดมภ์จนราษฎร์ไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงโปรดให้ทหารเรือยกกำลังไปปราบปรามจนสงบราบคาบ ตลอดจนการลักลอบค้าฝิ่นและการสูบฝิ่นก็ให้ปราบปรามเช่นกัน


        การทำนุบำรุงบ้านเมือง ในช่วงของรัชกาลที่ 2 ฐานะทางเศรษฐกิจของไทยไม่ใคร่มั่นคงมากนัก ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเข้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงเร่งหาเงินเข้าประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองและบริหารราชการแผ่นดินด้วยการทำการค้ากับต่างประเทศ และจากการเก็บภาษีอากรภายในประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับภาษีอากรนี้สามารถทำรายได้ให้แผ่นดินเป็นอันมาก


         ทางด้านศาสนา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิจ ทรงบูรณะปฎิสังขรณ์พระอารามเป้นจำนวนมาก โปรดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ และโปรดให้จารึกสรรพตำราต่าง ๆ 8 หมวดบนแผ่นศิลา ประดับไว้ ณ ศาลาราย ในวัดพระเชตุพนฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน เสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ส่วนด้านวรรณกรรมนั้นทรงเป็นกวีด้วยพระองค์เอง และทรงส่งเสริมผู้มีความรู้ด้านนี้ ส่วนงานด้านศิลปกรรมนับเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้าง บูรณะปฎิสังขรณ์พระอาราม มีผู้กล่าวว่า ลักษณะศิลปกรรมในรัชกาลที่ 3 เป็นแบบที่งดงามยิ่ง เพราะหลังจากนี้ศิลปกรรมไทยรับอิทธิพลศิลปะตะวันตกมากเกินไป


        ในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2393 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยุ่หัวทรงเริ่มมีพระอาการประชวร และนับแต่นั้นพระอาการก็ค่อย ๆ ทรุดหนักลงเป็นลำดับนับเป็นเวลานานหลายเดือน ในที่สุดมิอาจเสด็จออกมาราชการได้ จนเมื่อวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2394 จึงเสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุได้ 64 พรรษา รวมเวลาที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัตินานราว 27 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 51 พระองค์ โดยประสูติก่อนที่จะทรงบรมราชาภิเษก 38 พระองค์ และประสูติหลังจากที่ทรงบรมราชาภิเษกแล้ว 11 พระองค์


        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์ใดขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้นจึงไม่มีพระบรมราชินีในรัชกาลนี้ คงมีเพียงแต่เจ้าจอมมารดาและพระสนมเอกเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการสืบราชสมบัติทางสายของพระองค์กับทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้แล้วว่าเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้ว โปรดที่จะเวนคืนราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้ามงกุฎต่อไป

 

[แก้ไข] รัชกาลที่ 4 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้ไข] พระราชประวัติ

        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงพระราชสมภพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2347 ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี


        เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พุทธศักราช 2367 ขณะสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงเจริญพระชันษาได้เกือบ 20 พรรษา ได้เสด็จออกผนวชตามโบราณราชประเพณีที่วัดสมอราย (หรือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน)


        หลังที่ทรงผนวชได้เพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดาก็เสด็จสวรรคต โดยมิได้ทรงตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด พระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางและขุนนางชั้นผู้ใหญ่มีมติให้ทูลเกล้าฯ ถวายราชสมบัติแด่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสองค์ใหญี่ทประสูติแต่พระสนมเอก เนื่องจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเข้มแข็งและรอบรู้ในข้อราชการซึ่งเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ยังไม่สงบเรียบร้อยในขณะนั้น พระวชิรญาณเถระหรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎจึงตัดสินพระทัยดำรงอยู่ในสมณเพศต่อไปตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 นับเป็นเวลาได้ 27 ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นการตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจนเป็นสาเหตุให้เกิดข้อบาดหมางพระทัยกันระหว่างพระองคืและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


        ในระหว่างทรงผนวช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีโอกาสศึกษาภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาละติน และภาษาอังกฤษจากบาทหลวงและมิชชั่นนารีที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาอย่างแตกฉาน ทำให้ทราบถึงนิสัยใจคอของคนตะวันตกในยุคนั้น และยังได้ทรงทราบถึงวิทยาการความรู้สมัยใหม่ในตอนนั้น รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศของเราได้อย่างกระจ่างชัด


        ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอย่หัวจะเสด็จสวรรคต ได้ตรัสเวนคืนราชสมบัติให้พระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อสถาปนาพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ตามแต่ความคิดเห็นส่วนใหญ่ของที่ประชุม ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตแล้ว ที่ประชุมมีมติให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์ ซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 46 พรรษาเศษ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระบรมเชษฐา เมื่อวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2394 ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บูรพาดูลยกฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฎิสาธุ คุณวิบุลยสันดานทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สนุนทรวิจิตรปฎิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัตินพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวย นับเป็นรัชกาลที 4 แห่งราชจักรีวงศ์


        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเจ้าฟ้าชายจุฑามณี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระอนุชาร่วมพระชนนี โดยในขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็นพระสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงพระราชอิสริยยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินทุกประการ ทำให้เป็นที่กล่าวกันว่าในรัชกาลที่ 4 นี้ไทยมีพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญุรุ่งเรื่องในทุก ๆ ด้าน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เริ่มศักราชการติดต่อกับนานาอารยประเทศอย่างจริงจัง ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศต่าง ๆ ส่งคณะทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี และติดต่อค้าขาย และพระองค์ได้ทรงแต่งคณะทูต ออกไปเจริญสัมพันธไมตรีตอบแทนหลายครั้ง เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา โปรตุเกส เดนมาร์ค ฯลฯ ทรงสนับสนุนให้มีการศึกษาศิลปะวิทยาการใหม่ ๆ เช่น วิชาการต่อเรือใบ เรือกลไฟ เรือรบ การฝึกทหารอย่างยุโรป การยกเลิกธรรมเนียมที่ล้าสมัยบางประการ เช่น ประเพณีการเข้าเฝ้าให้ใส่เสื้อเข้าเฝ้า การให้ประชาชนเฝ้าแหนรับเสด็จตลอดระยะรายทางเสด็จได้ และหากประชาชนมีเรื่องเดือนเนื้อร้อนใจก็สามารถถวายฏีกาเพื่อขอความเป็นธรรมได้โดยตรงไม่ต้องผ่านข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก่อน ฯลฯ พระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ที่สำคัญประการหนึ่งคือ วิชาการด้านโหราศาสตร์ และดาราศาสตร์ ทรงสามารถคำนวณระยะเวลา การเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ ดังได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมพระราชอาคันตุกะทั้งปวงไปชมสุริยุปราคาที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ.2411


        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ เมื่อวันที่1 ตุลาคม พุทธศักราช 2411 สิริพระชนมายุได้ 64 พรรษา รวมเวลาที่ปกครองประเทศนาน 17 ปีเศา


        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 82 พระองค์

 

[แก้ไข] รัชกาลที่ 5 : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประสูติแต่พระนางเธอพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระศิรินทรา พระบรมราชินี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีฉลู แรม 3 ค่ำ เดือน 10 ตรงกับ วันอังคารที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2396 ในพระบรมมหาราชวัง มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์บดินทรเทพมหามงกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์วรุตมพงศบริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร ในปีพุทธศักราช 2404 เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถปนาเป็น กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ และต่อมาปีพุทธศักราช 2410 ทรงได้รับเลื่อนพระอิสริยยศเป็น กรมขุนพินิจประชานารถ ทรงได้รับตำแหน่งในการกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และว่าการกรมทหารบกวังหน้าตามลำดับ


        ทรงได้รับการศึกษาอย่างดีทั้งด้านอักษรศาสตร์ โบราณราชประเพณี วิชาการสงคราม และการปกครอง พร้อมกันนั้นก็ทรงได้รับการอบรมศึกษาสรรพวิชาทั้งปวงจากบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และจากสมเด็จพระราชบิดาของพระองค์เอง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ติดตามใกล้ชิดในเวลาที่ทรงออกว่าราชการ นอกจากนี้ในเวลาที่พระราชบิดาทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ข้อราชการก็มกมีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้าเพื่อรับฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราชาธิบายในข้อราชการรวมไปถึงราชประเพณีต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมพระองค์พระราชโอรสให้พร้อมที่จะปกครองบ้านเมืองต่อไปในภายหน้า


        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรคตแล้ว บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ และเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิจประชานาถเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจาก สมเด็จพระราชบิดา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พุทธศักราช 2411 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวีวงศ์ วรุฒมพงษ์บริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันต บรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษฏ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภ ผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมล ขัติยราชประยูรมูลมุขราชดิลก มหาปริวาร นายกอนันต์มหันตวรฤทธิ์เดช สรรวิเศษสิรินมทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศ มโหดมบรมราชสมบัติ นภดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวมินทร์ มเหศวรมหินทรามหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติ อาชาวศรัย พุทธาธิไตย รัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ในขณะที่เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 15 พรรษา ที่ประชุมจึงเห็นควรให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปก่อนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ และเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ในปีพุทธศักราช 2416 และนับแต่นั้นมาจึงทรงมีพระราชอำนาจสิทธิขาดในการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ด้วยพระองค์เองสืบต่อไป

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับยกย่องว่าเป็นนักปฎิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ จากแบบเก่ามาสู่แบบใหม่ ทรงเป็นผู้นำในการปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณี ระบบสังคม และระบอบการปกครองของไทยให้ทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ เช่น ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรูปแบบจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) มาสู่รูปแบบการปกครองซึ่งเป็นต้นแบบของการปกครองในปัจจุบันที่เป็นระบบกระทรวง นับเป็นการกระจายพระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์ไปยังเสนาบดี อธิบดี และเจ้ากรมให้เข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศมากขึ้นตามลำดับ


        ทรงประกาศเลิกทาส ระบบทาสในไทยมีมานานตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจากกฎหมายตรา 3 ดวง ที่บัญญัติขึ้นในรัชกาลที่ 1 ได้แบ่งแยกทาสไว้เป็น 7 ประเภทด้วยกัน พระองค์ทรงมีพระราชดำริอยากเห็นคนไทยมีสิทธิเสมอภาคกันทุกคน จนในปีพุทธศักราช 2452 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตราประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 กำหนดว่าผู้ใดจะเอาคนลงเป็นทาส นอกจากที่ได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัติ ร.ศ.124 อีกไม่ได้ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี และปรับตั้งแต่ 100 ถึง 1,000 บาท ซึ่งนับเป็นการปลดปล่อยทาสทั่วประเทศอย่างเด็ดขาด รวมระยะเวลาที่ทรงดำเนินการปลดปล่อยเลิกทาสให้เป็นอิสระตามพระราชประสงค์นี้ใช้เวลานานถึง 35 ปี


        นอกจากนี้ทรงโปรดให้ปรับปรุงการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น การประปา การรถไฟ และการไปรษณีย์-โทรเลข ทรงวางระเบียบทางด้านเศรษฐกิจเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเมือง เห็นได้จากการทรงตั้งกรมธนบัตรขึ้น มีการใช้ระบบเงินตราใหม่ โดยยกเลิกการใช้เงินพดด้วยด้วย ทรงประกาศให้เลิกโรงบ่อนเบี้ยและปิดโรงหวยต่าง ๆ ทรงให้ตราพระราชบัญญัติทองคำ เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของอัตราการแลกเงินตราระหว่างประเทศและเงินต่างประเทศ มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน จัดตั้งธนาคารขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยเงินทุนของคนไทย ธนาคารแห่งนี้เรียกว่า “แบ็งค์สยามกัมมาจล


         ด้านการทหาร ทรงให้จัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กรักษาพระองค์ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อทำการฝึกหัดทหารแบบยุโรปและเพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดกรมกองทหารของกรมอื่น ๆ ด้วย ด้านการศาล ทรงให้จัดตั้งกระทรวงยุติธรรม และให้ตรา พ.ร.บ.จัดการศาลสถิตยุติธรรมขึ้น เพื่อใช้เป็นหลักปฎิบัติในการพิจารณาพิพากษาคดี


        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำการปรับปรุงระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมหลายประการเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในรัชสมัยของพระองค์ อาทิเช่น ทรงให้ยุบเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า พร้อมกับทรงสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารขึ้นแทน ทรงยกเลิกประเพณีหมอบคลานและคุกเข่าในเวลาเข้าเฝ้า ทรงให้ข้าราชการแต่งกายในชุดราชปะแตนเวลาเข้าเฝ้าฯ หรือเวลาที่เข้าร่วมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ และทรงมีพระราชปรารถต่อสมาชิกในพระราชวงศ์ว่า พระองค์ไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีการเสกสมรสกันเองระหว่างพระราชโอรสและพระราชธิดา แม้จะต่างพระชนนีกันก็ตาม ทั้งนี้ด้วยเหตุผลทางการแพทย์


        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระวักกะพิการ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2453 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 58 พรรษา รวมเวลาที่อยู่ในสิริราชสมบัตินับได้ 42 ปีเศษ ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 77 พระองค์

 

[แก้ไข] รัชกาลที่ 6 : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2423 เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เอกอัคร มหาบุรษบรมนราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชโอรส มหาสมมตขัติยพิสุทธิ์ บรมมกุฎสุริยสันตติวงษ์ อดิสัยพงษ์วโรภโตสุชาติ คุณสังกาศ วิมลรัตน พฤฆชนมสวัสดิขัติยราชกุมารมุสิกนาม


        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ทั้งด้านอักษรศาสตร์ โบราณประเพณี วิชาการสงคราม และการปกครอง พระองค์ทรงเสด็จไปศึกษาต่อในทวีปยุโรป ทั้งนี้เป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิร์ท (San Hurst) และโรงเรียนวูลิช (Woolich) แล้วเสด็จไปทรงศึกษาวิชาพลเรือนต่อในมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Ox Ford) ประเทศอังกฤษ รวมเวลาที่ทรงศึกษาในต่างประเทศทั้งสิ้น 9 ปี


        เมื่อวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2437 ระหว่างประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบต่อจากพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2453 ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนทร์สูรสันตติวงศ์วิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพวงศ์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บริมศักดิสมญาเทพพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุดสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายการปกครองสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยได้โปรดให้ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมืองชั่วคราว เมื่อพุทธศักราช 2465 ขึ้นสำหรับการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยมีการจัดแบ่งเป็นจังหวัดมณฑลและภาค และยังได้ทรงจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน


        ทรงริเริ่มก่อตั้งกิจการเสือป่าขึ้น เพื่อให้พลเรือนได้มีโอกาสรับการฝึกหัดวิชาทหารไว้สำหรับเป็นหน่วยสนับสนุนกองทัพเมื่อยามที่ประเทศมีภัยสงคราม ซึ่งเป็นต้นเค้าของการฝึกวิชารักษาดินแดนแก่เยาวชนไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทรงตั้งกองลูกเสือขึ้น เพื่อฝึกอบรมให้กุลบุตรของชาติเป็นผู้มีอุดมการณ์ และพร้อมที่จะบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น


        ด้านการศึกษา ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนทั้งชายและหญิงมีความรู้ตามควรแก่อัตภาพ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติการประถมศึกษา พุทธศักราช 2464” ขึ้นบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนจนอายุครบ 14 ปีบริบูรณ์ หรือจนจบหลักสูตรประถมศึกษา โดยไม่ต้องเสียเงินค่าเล่าเรียน


        นอกจากนี้ พระองค์ทรงเป็นนักพระปรีชาสามารถอย่างยิ่งในเชิงอักษรศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์คำประพันธ์ทุกชนิดในทุกด้าน เช่น ปลุกใจเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร โคลงสยามานุสติ เป็นต้น รวมเป็นพระราชนิพนธ์เกินกว่า 200 เรื่อง สมดังที่มหาชนชาวไทยถวายพระนามว่า “พระมหาธีรราชเจ้า”

 

[แก้ไข] รัชกาลที่ 7 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีมะเส็ง หรือตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 76 และเป็นพระองค์สุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ชเนศรมหาราชาธิราช จุฬาลงกรณนาถวโรรส อุดมยศอุกฤษฐศักดิ์ อุภัยปักษนาวิล อสัมภินชาติพิสุทธิ์ มหามกุฎราชพงศบริพัตร บรมขัตติยมหารัชฎาภิสิญจนพรรโษทัย มงคลสมัยสมากร สถาวรวรัจริยคุณ อดุลยราชกุมาร” แต่ในราชสำนักเรียกขานกันว่า ทูลกระหม่อมเอียดน้อย ต่อมาพระราชมารดาทรงขอให้เปลี่ยนเป็น ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย


        เมื่อเยาว์วัยทรงศึกษาวิชาภาษาไทย และราชประเพณีโบราณ ครั้นเจริญวัยทรงศึกษาวิชาการทหารปืนใหญ่แห่งกองทัพอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการในกองทัพบกไทย ต่อมาได้ไปศึกษาวิชาฝ่ายเสนาธิการ ประเทศฝรั่งเศส ทรงอุปสมบทเมื่อพุทธศักราช 2460 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เมื่อพุทธศักราช 2461 ทรงดำรงตำแหน่งในกองทัพบก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 และผู้บังคับการพิเศษทหารปืนใหญ่ที่ 2


        เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์สุดท้องที่ร่วมพระชนกชนนีเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฐานะของพระองค์จึงอยู่ห่างไกลต่อพระราชบัลลังก์นัก แต่แล้วสมเด็จพระเชษฐภาดา 3 พระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ทูลกระหม่อมจักรพงษ์) สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย (ทูลกระหม่อมจุฑาธุช) และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา (ทูลกระหม่อมอัษฎางค์) เสด็จทิวงคตลงในปีพุทธศักราช 2463, 2466 และ 2476 ตามลำดับ ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาจึงทรงอยู่ในฐานะองค์รัชทายาที่จะสืบราชบัลลังก์ขึ้นมาทันที ประกอบกับเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเลย พระองค์จึงต้องทรงเริ่มศึกษางานราชการแผ่นดินหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และต้องทรงปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวหัวมิได้เสด็จประทับอยู่ในพระนคร จึงทรงได้รับการเลื่อนพระเกียรติขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2467


        หลังจากได้ทรงรับสถาปนาเป็นกรมหลวงได้ไม่ถึงเดือน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ดังนั้นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา จึงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบต่อ โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2469 ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฎว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียามหาราชรวิวงศ์ อสัมภินพงศพีระกษัตรบุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถจุฬาลงกรณราชวรางกูร มหามกุฎวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฎานิบุณย์อดุลยกฤษฎาภินิหาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณ์วิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพวตารไพศาลเกียรติคุณ อุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปรียานุรักษ์ มงคลลัคนเนมาหวัยสุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชาวุธ วิชัยยุทธศาสตร์โกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญาณประติภานสุนทร ประวรศาสโนปสุดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฎโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักณมหาบรมราชาภิเษกาภิศิกต์ สรรพทศทิศวิชิตเตดชไชย สกลมไหศวรยมหาสยามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาธิไตรรัตน วิศิษฎศักดิ์อัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปโมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        ในระยะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จอยุ่ในสิริราชสมบัตินั้น ต้องทรงพบกับปัญหาใหญ่ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้ต้องทรงปรับปรุงโครงสร้างและนโยบายในการบริหารปกครองประเทศในหลายประการ เพื่อประคับประคองให้บ้านเมืองผ่านปัญหาวิกฤติเหล่านั้นไปได้ ทรงตั้งอภิรัฐมนตรีสภา ให้เข้ามาช่วยบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันกับพระองค์ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่บ้านเมือง ทั้งยังเป็นการประสานความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ ซึ่งในเวลานั้นตกอยู่ในภาวะแตกแยกให้กลับมามีความแนบแน่นยิ่งขึ้น ทรงปรับปรุงสภาองคมนตรี ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีสมาชิกมากถึง 227 คน ให้กะทัดรัดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทรงจัดระเบียบการบริหารงานบุคคลของชาติใหม่ ให้เป็นระบบและเกิดความเป็นธรรมมากขึ้นด้วยการตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2471 ขึ้นบังคับใช้ ทรงให้ตรา “พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ.2471” เพื่อเป็นการคุ้มครองสวัสดิการของประชาชนชาวไทย โดยมีขอบเขตครอบคลุมการค้าขายที่เป็นสาธารณูปโภคและการเงิน ทรงวางรากฐานและกำหนดแนวทางในการพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยให้จัดระเบียบการปกครองในรูปแบบเทศบาลขึ้น เพื่อให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นรู้จักเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปบริหาร และจัดการงานด้านต่าง ๆ ของชุมชนของตน แต่การมิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน


        การศึกษา ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติทั้งส่วนรวมและส่วนพระองค์ โปรดให้สร้างหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าศึกษาได้อย่างเสรี ทรงตั้งราชบัณฑิตยสภา เพื่อมีหน้าที่บริหารและเผยแพร่วิชาการด้านวรรณคดี โบราณคดี และศิลปกรรม ในด้านวรรณกรรม โปรดตราพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมศิลปกรรมในปีพุทธศักราช 2475 โดยพระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นรางวัลแก่ผู้แต่งยอดเยี่ยม และให้ทุนนักเรียนไปศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ ด้านการศาสนาทรงปลูกฝังเยาวชนให้มีคุณธรรมดีงาม โดยยึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา โปรดให้ราชบัณฑิตยสร้างหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ซึ่งนับว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงสร้างหนังสือสำหรับเด็ก ทรงโปรดให้สร้างหนังสือพระไตรปิฏกฉบับสมบูรณ์ เรียกว่าฉบับสยามรัฐ ชุดหนึ่ง ซึ่งใช้สืบมาจนทุกวันนี้


         การสุขาภิบาลและสาธารณูปโภค โปรดให้ปรับปรุงงานสุขาภิบาลทั่วราชอาณาจักรให้ทัดเทียมอารยประเทศ ขยายการสื่อสารและการคมนาคม โปรดให้สร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกในประเทศไทย ในส่วนกิจการรถไฟ ขยายเส้นทางรถทางทิศตะวันออกจากทางจังหวัดปราจีนบุรี จนกระทั่งถึงต่อเขตแดนเขมร


        เนื่องจากในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัตินั้น เป็นเวลาที่ทุกประเทศทั่วโลก กำลังประสบกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากผลแห่งสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ฐานะการเงินและการคลังของประเทศไทยตกต่ำตามไปด้วย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามต่อสู้แก้ไขกับปัญหาดังกล่าวด้วยการประหยัด และให้ตัดทอนรายจ่ายทุกวิถีทางเท่าที่จะทรงกระทำได้ แต่การแก้ไขปัญหาตามวิธีเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ดีดุจเดิมในระยะเวลาอันสั้นได้ ประกอบกับขณะนั้นมีพวกข้าราชการและนายทหารหนุ่มที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศและมีหัวคิดรุนแรง ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเสียใหม่จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว เพราะเข้าใจว่าเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของบ้านเมืองได้ ดังนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ได้มีคณะบุคคลคณะหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่า “คณะราษฎร์” นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินที่กรุงเทพมหานครด้วยการเข้าควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และข้าราชการตำแหน่งสำคัญ ๆ ไว้เป็นตัวประกัน แล้วมีหนังสือไปกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ กลับพระนครเพื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองที่คณะราษฎร์ได้ร่างขึ้น ซึ่งหลังจากเสด็จฯ กลับพระนครแล้วก็ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับแรก เมือวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 ครั้นต่อมาปรากฏว่าได้เกิดความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกันระหว่างพระองค์กับคณะราษฎร์ เนื่องจากคณะราษฎร์ไม่ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราที่ทรงท้วงติงไป ด้วยทรงเห็นว่าประชาชนมิได้มีสิทธิ์มีเสียงการปกครองอย่างแท้จริง จึงได้ทรงตัดสินพระทัยเสด็จฯ ไปประทับที่ประเทศอังกฤษ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพื่อไปรักษาพระเนตร” จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 จึงได้พระราชทานพระหัตถเลขา ทรงสละราชสมบัติ มายังคณะรัฐบาล

 

[แก้ไข] สวรรคต

        หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไปประทับที่ตำบลเวอจิเนียร์วอเตอร์ ซึ่งเป็นชนบทใกล้กรุงลอนดอน โดยทรงใช้ชีวิตความเป็นอยู่เยี่ยงสามัญชนทั่วไป จนเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 ได้เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยโรคพระหทัยวาย สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา ต่อมาในปีพุทธศักราช 2492 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีจึงได้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับมาประดิษฐานร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่หอพระบรมอัฐิที่ชั้นบนของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง


        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในสิริราชสมบัตินาน 9 ปี โดยไม่ทรงมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเลย

 

[แก้ไข] รัชกาลที่ 8 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู หรือตรงกับวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2468 ณ เมืองไฮเดนเบิร์ก (Heidenberg) ประเทศเยอรมนี ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์โตใน สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาล ตะละภัฎ (ภายหลังทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี) เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น หม่อมเจ้าชายอานันทมหิดล ต่อมาในปีพุทธศักราช 2470 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล


        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงมีพระเชษฐภคินีหนึ่งพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และทรงมีสมเด็จพระอนุชาอีกหนึ่งพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9


        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเข้ารับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี เป็นเวลา 2 ปี และต่อมาทรงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง บ้านเมืองเกิดความสับสน พระองค์จึงได้เสด็จฯ ไปประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีและพระอนุชา เพื่อการศึกษาและเพื่อบำรุงพระพลานามัย


        แต่แล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้น ประทับรักษาพระเนตรอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ทรงประกาศสละราชสมบัติพร้อมกับสละพระราชสิทธิ์ในการแต่งตั้งผู้สืบราชสันตติวงศ์ และเนื่องจากไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาเลย การสืบสันตติวงศ์จึงเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล โดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงได้กราบทูลอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งทรงอยู่ในลำดับที่ 1 แห่งการสืบราชสันตติวงศ์ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา อานันทมหิดล สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และเนื่องจากในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา จึงต้องทรงมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้แก่ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพยอาภา และเจ้าพระยายมราช ทำการบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์จนกว่าจะทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ


        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2481 ซึ่งขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 13 ชันษา พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอและสมเด็จพระอนุชา หลังจากเสด็จฯ นิวัติเมืองไทยครั้งแรกแล้ว ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานการณ์ของโลกอยู่ในขั้นวิกฤติ การคมนาคมติดต่อระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศขัดข้อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมิได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทยอีกเป็นเวลานาน แต่ก็ได้ทรงศึกษาวิชาการอยู่โดยตลอด จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เหตุการณ์ต่าง ๆ เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์และเหลือเวลาอีกประมาณ 3 ปี ก็จะทรงได้รับปริญญาเอก ก็ได้เสด็จนิวัติฯ กลับประเทศไทยอีกครั้ง โดยทางเครื่องบินที่กองทัพอากาศของรัฐบาลอังกฤษจัดถวาย เสด็จฯ ถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2488 ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 21 พรรษา ซึ่งทรงบรรลุพระราชนิติภาวะแล้ว

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ พระราชภารกิจแรกของพระองค์ หลังจากเสด็จฯ นิวัตประเทศไทยครั้งที่ 2 นี้คือการเสด็จออกรับการตรวจพลสวนสนามของฝ่ายพันธมิตรในประเทศไทยพร้อมลอร์ดหลุยส์เม้าแบตเตน แม่ทัพใหญ่ของกองทัพอังกฤษ อันเป็นผลทำให้ภาพลักษณ์และฐานะของประเทศเป็นที่ยอมรับแก่ประเทศทางตะวันตกที่เป็นฝ่ายพันธมิตร


        การปกครองประเทศและการทำนุบำรุงบ้านเมือง พระองค์ได้พระราชทานพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐสภาได้ร่างขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาบางประการจนทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี ทรงลงพระปรมาภิไธยและได้พระราชทาน “รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489” ให้ใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศในวันเสด็จเปิดสภาผู้แทนราษฎร


        ทรงเสด็จออกเยี่ยมเยียนท้องที่ที่ชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกหมายกำหนดการเสด็จฯ เยี่ยมสำเพ็งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 3 พฤษภาคม พุทธศักราช 2489 พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ในการเสด็จฯ เยี่ยมเยียนครั้งนี้ทรงใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง เพราะมีชาวจีนมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทมากมาย ทรงไต่ถามทุกข์สุขและการทำมาหากินของผู้คนที่เฝ้ารับเสด็จฯ ด้วยพระอิริยาบถและพระพักตร์ที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตากรุณาเป็นที่ประทับใจแก่ผู้เฝ้ารับเสด็จฯ อย่างยิ่ง จนเกิดความรู้สึกว่าทั้งชาวไทยและชาวจีนต่างก็เป็นประชากรของประเทศไทย และอยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวกัน นับแต่นั้นมาความร้าวฉานและข้อบาดหมางต่าง ๆ ระหว่างชาวไทยกับชาวจีนก็หมดสิ้นไป ปัญหาซึ่งกำลังจะกลายเป็นความยุ่งยากทางการเมือง และการปกครองเป็นอันยุติลงด้วยพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จฯ ประพาสสำเพ็งในครั้งนี้


        ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยครั้งที่ 2 นั้น เวลาประมาณ 09.00 น. ของวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ได้มีเสียงปืนดังขึ้นในห้องบรรทม มหาดเล็กวิ่งเข้าไปดูพบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลบรรทมอยู่บนพระที่บรรทม ในพระที่นั่งบรมพิมาน และเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว หลังจากเสวยราชสมบัติอยู่เป็นเวลา 12 ปีเท่านั้น

 

[แก้ไข] รัชกาลที่ 9 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

[แก้ไข] พระราชประวัติ

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระนามเดิมว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาล มหิดล ณ อยุธยา (ภายหลังทรงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนอ้าย ปีเถาะ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 ณ โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาซูเซสส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา


        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


        เมื่อพระวรวงศ์เธอ ทรงมีพระชนมายุได้ 5 พรรษา ได้เสด็จเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร ต่อมาหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หม่อมสังวาล มหิดล ณ อยุธยา พระราชมารดาจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทรา พระบรมราชเทวี ได้เสด็จเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี กรุงเทพมหานคร ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หม่อมสังวาล มหิดล ณ อยุธยา พระราชมารดา จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทรา พระบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พาพระโอรสและพระธิดาไปประทับยังนครโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเข้าทรงศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองค์ และศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนเอกอล นูแวล เดอลา ซืออิส โรมองต์ เมืองโลซานน์ จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แขนงวิชาวิศวกรรมศาสตร์


        หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ รัฐบาลไทยได้กราบบังคมทูลอัญเชิญพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอานันทมหิดล พระเชษฐาเสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าชายภูมิพลอดุลยเดช และเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบแล้ว จึงได้เสด็จฯ กลับประเทศไทย และทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงพระยศเป็นที่ร้อยโทสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ครั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จสวรรคตโดยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน รัฐบาลจึงได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย” จากนั้นทรงเสด็จกลับไปสวิสเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาต่อ และเสด็จกลับประเทศไทย พุทธศักราช 2493 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2493 และทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 จากนั้นทรงเสด็จไปสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ และเสด็จกลับ พุทธศักราช 2494 ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยาม มกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

 

[แก้ไข] พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        แม้ว่าบทบาทของพระมหากษัตริย์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 จะลดลงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ยังคงพยายามปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ จะเห็นได้จากการที่พระองค์ไปประทับแรม ณ พระตำหนักตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อที่จะทรงมีโอกาสได้รับทราบถึงทุกข์สุขและสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ซึ่งทำให้พระองค์ทรงพบว่าประชาชนชาวไทยส่วนมากมีปัญหาในเรื่องฐานะความเป็นอยู่ ซึ่งจะต้องแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน ด้านการจัดการและพัฒนาที่ดิน ด้านเกษตรกรรม ด้านการศึกษาวิจัย ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านอาชีพเสริมและอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการตามพระราชประสงค์จึงได้เกิดขึ้นอย่างมากมายกว่า 2,000 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เพื่อความเป็นอยู่ของชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎร์ทั้งสิ้น


        ในด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริพร้อมกับได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนริเริ่มในการจัดสร้างโรงเรียนและวัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อาทิเช่น โรงเรียนตามวัดต่าง ๆ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ โรงเรียนร่มเกล้า โรงเรียนราชประชาสมาสัย กองทุนนวฤกษ์ มูลนิธิอานันทมหิดล ศาลารวมใจ โครงการพระดาบส โครงการสารานุกรมไทย และอื่น ๆ


        ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี ทรงฟื้นฟูสืบทอดประเพณีหลายอย่างเพื่อเป็นขวัญ เช่น พระราชพิธีจรดพระนั่งคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น


         ด้านศาสนา ทรงออกผนวชตามพระราชประเพณี เมื่อพุทธศักราช 2495 ทรงอุปถัมภ์การทำนุบำรุงศาสนาทุกด้าน เช่น การสร้างวัด สร้างพระพุทธรูป ประกอบพิธีทางศาสนา เช่น การทอดกฐิน ผ้าป่า และการบำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ นอกจากนี้ยังทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ทุก ๆ ศาสนาที่ประชาชนนับถือ


        นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 พระองค์ทรงดำรงฐานะเป็นพระประมุขของชาติ ที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญาความสามารถและพระวิริยะอุตสาหะ ในการปฎิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานับปการ เพื่อนำประโยชน์และความเจริญอย่างยั่งยืนมาสู่ประชาชนชาวไทยและความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของประเทศชาติมาโดยตลอด


        ในปีพุทธศักราช 2549 เป็นปีมหามงคลอันประเสริฐที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี พสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างปลื้มปิติโสมนัสเปี่ยมด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ จึงได้ขอพระราชทานจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ขึ้นตามโบราณราชประเพณี ด้วยความกตัญญูกตเวทิตา และนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานชื่อการจัดงานและชื่อพระราชพีธี ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อการจัดงานนี้ว่า “การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ชื่อพระราชพิธีว่า “พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ชื่อการจัดงานและชื่อพระราชพิธีภาษาอังกฤษว่า “The Sixtieth Anniversary Celebrations of His Majesty’s Accession to the Throne”



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  • สิริ เปรมจิตต์ และ จิตต์สะอาด ศรียงค์. (2541). “พระบรมราชจักรีวงศ์”. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์

เสาวภาค และ โรงเรียนเทพปัญญา.

  • ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. (2545). “พระปกเกล้ากษัตริย์นักประชาธิปไตย”. กรุงเทพฯ.
  • วารี อัมไพรวรรณ. (2541). “พระราชประวัติพระมหากษัตริยาธิราช และพระราชินีในราช

จักรีวงศ์” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ภัทรินทร์.

  • สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม. (2549). “สดุดีจอมทัพไทย” (A Tribute to the Highest

Commander of the Royal Thai Armed Forces). กรุงเทพฯ.

  • [http//mahamakuta.inet.co.th]