วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/12/2007
ที่มา: 
สถาบันการแพทย์แผนไทย วัดโพธิ์
ภาพ:688265-low.jpg


        "ฤาษี" หรือฤษี ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายถึงนักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ

 

สารบัญ

[ซ่อนสารบัญ]

[แก้ไข] ประวัติและความเป็นมาของ “ฤาษีดัดตน”

        ในตำนานหรือนิทานโบราณ มักจะเรียกผู้ที่เป็นนักพรตหรือนักบวชที่อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร ว่า "ฤาษี" ซึ่งเมืองไทยในอดีตน่าจะมีนักบวชประเภทนี้ที่แสวงหาความสงบสันโดษอยู่ตามป่าเขา เมื่อได้บำเพ็ญเพียรสมาธินานๆ อาจมีอาการเมื่อยขบ จึงได้ทดลองขยับเขยื้อนร่างกาย มีการยืดงอและเกร็งตัว ดัดตน ทำให้เกิดเป็นท่าดัดต่างๆ ซึ่งทำให้อาการเจ็บป่วย เมื่อยขบหายไปได้ จึงได้ข้อสรุปประสบการณ์บอกเล่าสืบต่อกันมา หรืออาจเกิดจากการคิดค้นโดยบุคคลทั่วๆ ไป เพราะในสังคมไทยกว่า 2,000 ปี เรามีศาสนาพุทธเป็นที่ยึดเหนี่ยว ในการปฏิบัติตน ดังนั้น นักบวช นักพรต อาจเป็นชาวพุทธที่นิยมนั่งสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน หรืออาจเป็นอุบาสกอุบาสิกาและแม้แต่พระสงฆ์

        สำหรับการปั้นเป็นรูปฤาษีนั้น ไม่มีหลักฐานว่าพระมหากษัตริย์ไทยลอกแบบมาจากที่ใด แต่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าคนไทยเคารพนับถือฤาษีเป็นครูบาอาจารย์ การปั้นเป็นรูปฤาษีและระบุชื่อฤาษีเป็นผู้คิดค้นท่าเหล่านั้น อาจเป็นกลวิธีให้เกิดความขลัง เพราะผู้ฝึกต้องมาฝึกท่าทาง ต่าง ๆ กับรูปปั้นฤาษีเปรียบเสมือนได้ฝึกกับครู เพราะฤาษีเป็นครูของศิลปะวิทยาการต่าง ๆ

        จากที่ผ่านมามีผู้ศึกษาบางคนพยายามเชื่อมโยงว่าคนไทยเลียนแบบท่าฤาษีดัดตนจากท่าโยคะของอินเดีย แล้วพยายามนำท่าไปเทียบเคียงกัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วพบว่าไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะท่าดัดตน ของไทยไม่ใช่ท่าผาดโผนหรือฝืนร่างกายจนเกินไป ส่วนใหญ่เป็นท่าดัดตามอิริยาบถของคนไทย มีความสุภาพและคนทั่วไปสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในจำนวนท่า ฤาษีดัดตน 80 ท่า มีท่าแบบจีน 1 ท่า ท่าแบบแขก 1 ท่า ท่าดัดคู้ 2 ท่า แสดงถึงการแลกเปลี่ยน ความรู้กัน และมีการระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น ของต่างชาติ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการปั้นเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง เพราะมนุษย์ต่างแสวงหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือตนเอง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีอายุยืนยาว เช่น อินเดีย มีการบริหารร่างกายที่เรียกว่า โยคะ จีนมีการ รำมวยจีนที่เรียกว่า ไทเก๊ก ไทยมีการบริหารร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตน เป็นต้น

[แก้ไข] ท่าฤาษีดัดตน

        ท่าฤาษีดัดตนตามแบบดั้งเดิมมีประมาณ 127 ท่า แต่ในปัจจุบันนี้มีหลายสถาบันที่นำองค์ความรู้นี้มาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย เช่น สถาบันการแพทย์แผนไทย โรงเรียนแพทย์แผนไทยวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถาบันจะมีรูปแบบ และ สไตล์ที่ต่างกัน

        ในปัจจุบันท่าฤาษีดัดตนเป็นการนำท่าต่างๆ จากต้นฉบับที่มีการบันทึกไว้ที่วัดโพธิ์มาคัดเลือกท่าที่ปลอดภัยเหมาะสม มาเป็นท่าการออกกำลังกาย โดยเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ ควบคู่กับ การหายใจ เข้า- ออก อย่างช้าๆ และมีสติ

[แก้ไข] การคัดเลือกท่าพื้นฐาน

ภาพ:Image2.jpg


        สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้ดำเนินการคัดเลือกท่าฤาษีดัดตนพื้นฐาน 15 ท่า จากท่าฤาษีดัดตนที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมด 127 ท่า โดยมีแนวคิดและหลักการคัดเลือก ดังนี้

1. เป็นท่าที่เป็นตัวแทนของอิริยาบถต่าง ๆ และสามารถบริหารร่างกายได้ครอบคลุมทุกส่วน ตั้งแต่คอ ไหล่ แขน อก ท้อง เอว เข่าไปจนถึงเท้า

2. เป็นท่าพื้นฐานทั่วไป สำหรับการเริ่มต้นฝึกปฏิบัติให้เกิดความเคยชินและช่วยให้เห็นความสำคัญของการจัดโครงสร้างร่างกายของตนเองให้สมดุล

3. เป็นท่าที่เลือกมาจากท่าฤาษีดัดตนซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิมแล้วปรับประยุกต์ใช้ในท่าต่าง ๆ เช่น นั่ง นอน หรือยืน มีการสรุปความเคลื่อนไหวต่อเนื่องหรือนำท่าเดิมหลายท่ามาเคลื่อนไหวต่อเนื่องกัน

4. การคัดเลือกท่าต่างๆ จะใช้แนวคิดเกี่ยวกับความสมดุลของโครงสร้างร่างกายและการบริหารร่างกายตามแนวต่าง ๆ เช่น แนวดิ่ง แนวราบ แนวเฉียง โดยเพิ่มเติมการตรวจร่างกายอย่างง่าย ๆ เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างร่างกายของตนเองที่ไม่สมดุล โดยอาศัยแนวคิดด้านดุลยภาพของ รศ . พญ . ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ มาใช้ในการคัดเลือกท่าที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถฝึกหัดได้โดยไม่ทำให้โครงสร้างที่เสียสมดุลอยู่เดิมมีความเสียหายมากขึ้น

5. ในการคัดเลือกท่าฤาษีดัดตน ได้เพิ่มท่าบริหารกล้ามเนื้อบนใบหน้า ซึ่งคิดค้นโดยร . ศ . นพ . กรุงไกร เจนพาณิชย์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ และเคยศึกษาการนวดไทยจากอาจารย์ณรงค์สักข์ บุญรัตนหิรัญ หมอนวดราชสำนัก ก่อนที่จะเสียชีวิตสามารถคิดค้นท่านวดกล้ามเนื้อบนใบหน้า 7 ท่าขึ้นมา

6. การคัดเลือกท่าต่าง ๆ ไม่เน้นการรักษาเฉพาะโรค แต่เป็นการเตรียมพร้อมการปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายอย่างง่ายด้วยตัวเอง

7. ท่าที่คัดเลือกไว้นี้ แม้จะมีการวิเคราะห์โดยใช้ความรู้ทางแพทย์แผนปัจจุบันทั้งในแง่ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลแล้วก็ตาม สถาบันการแพทย์แผนไทย ก็ยังมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้เกิดการวิจัยควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้มีการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง

[แก้ไข] การฝึกลมหายใจ

        การฝึกท่าฤาษีดัดตนนั้นในตำรามิได้มีการระบุชัดเจนเกี่ยวกับการหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม ในศาสนาพุทธมีการนั่งสมาธิ โดยการฝึกการบริหารลมหายใจเช่นกัน ดังนั้นท่าฤาษีดัดตนจึงน่าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดลมหายใจและการกลั้นลมหายใจ ดังนั้นก่อนที่จะบริหารร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตน ควรเริ่มต้นนั่งสมาธิและการฝึกการหายใจให้ถูกต้อง

  • หายใจเข้า – สูดลมหายใจเข้าช้า ๆ ค่อย ๆ เบ่งช่องท้องให้ท้องป่องออก อกขยาย ซี่โครง สองข้างจะขยายออกปอดขยายใหญ่มากขึ้น ยกไหล่ขึ้น จะเป็นการหายใจเข้าให้ลึกที่สุด กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ ในช่วงนี้ผนังช่องท้องจะยุบเล็กน้อยหน้าอกจะยืดเต็มที่
  • หายใจออก – ค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ โดยยุบท้อง หุบซี่โครงสองข้างเข้ามา แล้วลดไหล่ลง จะทำให้หายใจออกได้มากที่สุด

กายบริหารแบบไทย ท่าฤาษีดัดตน เป็นการบริหารร่างกายของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเน้นการฝึกลมหายใจและใช้สมาธิร่วมด้วย จึงเป็นทั้งการบริหารร่างกายและบริหารจิต รวมทั้งช่วยในการบำบัดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง

 

[แก้ไข] ประโยชน์ของการฝึกท่าฤาษีดัดตน

        การบริหารร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตน นอกจากใช้เป็นท่าในการบริหารร่างกายแล้ว ทำให้ ร่างกายตื่นตัว แข็งแรง และเป็นการพักผ่อน ท่าต่าง ๆ ที่ใช้ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย นับว่ามีประโยชน์เป็นอันมาก ได้แก่

1. ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของแขนขาหรือข้อต่างๆ เป็นไปอย่าง คล่องแคล่ว มีการเน้นการนวด โดยบางท่าจะมีการกดหรือบีบนวดร่วมไปด้วย

2. ทำให้โลหิตหมุนเวียน เลือดลมเดินได้สะดวก นับเป็นการออกกำลังกาย สามารถทำได้ในทุกอิริยาบถของคนไทย

3. เป็นการต่อต้านโรคภัย บำรุงรักษาสุขภาพให้มีอายุยืนยาว

4. มีการใช้สมาธิร่วมด้วยจะช่วยยกระดับจิตใจให้พ้นอารมณ์ขุ่นมัว หงุดหงิด ความง่วง ความท้อแท้ ความเครียด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจหากมีการฝึกการหายใจให้ถูกต้อง

        จากการที่สถาบันการแพทย์แผนไทยได้เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ถึงปัจจุบันยังไม่พบข้อเสีย หรืออันตรายจากการใช้ท่าฤาษีดัดตน และโดยลักษณะการเคลื่อนไหว เป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้า และไม่ได้ตัด หรือฝืนท่าทางอย่างมากมาย ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยกับผู้ที่จะใช้ออกกำลังกายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ

[แก้ไข] การนำท่าฤาษีดัดตน ไปใช้ประโยชน์

1. ด้านการเรียนการสอน

1.1 หลักสูตรด้านการแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข 11 หลักสูตร
1.2 หน่วยงานรัฐ/เอกชน ที่ขออนุมัติหลักสูตรผ่านสำนักงานส่งเสริมธุรกิจบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หระทรวงสาธารณสุข
1.3 หน่วยงานรัฐ/เอกชน ที่ทำความร่วมมือด้านการแพทย์แผนไทยกับกรมพัฒนาการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
1.4 หน่วยงานภาครัฐเอกชน ที่ขออนุมัติใช้หลักสูตรด้านการแพทย์แผนไทยของกระทรวงสาธารณสุข
1.5 หลักสูตรการเรียนการสอนของ โรงเรียนนวดแผนโบราณ(วัดโพธิ์)
1.6 หลักสูตรการเรียนการสอนของ โรงเรียนพิศิษฐ์เวชกรรม
1.7 หลักสูตรด้านการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร
1.8 สื่อการสอน : เอกสาร/หนังสือ คู่มือ/ตำรา/ VCD “ ฤาษีดัดตน : กายบริหารแบบไทย ”

2. ด้านการให้คำแนะนำแก้อาการเจ็บป่วย สำหรับประชาชนที่มารับบริการด้านการแพทย์แผนไทยตามสถานบริการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

 

[แก้ไข] ความเป็นมาของรูปปั้นฤาษีดัดตน ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)

ภาพ:Image.jpg


        พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) เมื่อ พ.ศ.2331 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้รวบรวมตำรายาและปั้นท่าฤาษีดัดตนไว้เป็นทาน รูปท่าฤาษีดัดตนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้นไม่ทราบจำนวนแน่ชัด เดิมปั้นด้วยดินจึงชำรุดเสื่อมสภาพได้ง่าย

        ต่อมาในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 237๙ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 1 พระนามเดิมพระองค์เจ้าชายดวงจักร) เป็นผู้ทรงกำกับช่างหล่อ รูปฤาษีดัดตนท่าต่างๆ รวม 80 ท่า โดยหล่อด้วย สังกะสีผสมดีบุกเรียกว่า “ชิน” ปั้นแล้วตั้งไว้ตามศาลาลาย และจารึกบรรยายสรรพคุณไว้ เป็นโคลงสี่สุภาพแต่งโดยกวีมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้แต่องค์พระมหากษัตริย์ ก็ได้ทรงโคลงเองถึง 6 บทด้วยกันนอกจากนี้ยังมี พระเจ้าน้องยาเธอ พระลูกยาเธอ ขุนนาง พระภิกษุ ตลอดจนสามัญชน รวม 35 ท่าน ร่วมกันนิพนธ์ รวมทั้งสิ้น 80 บท แล้วจารึกไว้ดังคำโคลงบานแผนกกล่าวว่า “จึ่งสมเด็จนฤบาล ธก็บรรหารเสาวพจน์ ให้ลิขิตบทโคลงทรงลงจารึกเศลาตราติดผนังกำกับ สำหรับรูปหล่อหลาย แล้วให้พนายจิตกรรม์สฤษฏิรังสรรค์เสาวเลข รจเรขชฎิล ดัดกายินถ้วนองค์ลงในสมุดดุจหล่อส่อท่าตราแผนไว้ ธก็ให้เลขกามาตย์ จำลองศาสตรเส้นรง แสดงโคลงทรงสืบสร้างเป็นตำหรับฉบับอ้างคู่หล้าแหล่งเฉลิม”จะเห็นว่าหลังปั้นและแต่งโคลงเสร็จ ได้มีการวาดภาพลงสมุดไทย และมีโคลงกำกับไว้ ผู้วาดภาพ คือ ขุนรจนา ขุนอาลักษณ์ วิสุทธิอักษรเป็นคนตรวจทานเขียนโคลงลงในสมุดไทย ดังคำโคลง

 

ข้าพระช่างวาดซ้าย สมญา ยศฤา
เสนอชื่อรจนา มาศรู้
ชำนาญรจนาขวา ตำแหน่ง หมื่นเอย
ฉลุลักษณนักสิทธ์ผู้ ดัดถ้าทั้งมวญ
ขุนข้าอาลักษณนี้ นามกร
คือวิสุทธิอักษร ที่ตั้ง
ทานเทียบระเบียบกลกลอน โคลงราช นี้พ่อ
จารึกอักขรทั้ง เล่มสิ้นเสร็จแสดง


        การคัดลอกเสร็จ เมื่อแรม 11 ค่ำ เดือน 7 ปี จอ จ.ศ.1200 นับเป็นความรอบคอบอย่างยิ่งที่ได้มีการวาดภาพและเขียนโคลงลงในสมุดไทยไว้ด้วยเพราะโคลงที่จารึกไว้ตามผนังศาลารายรอบวัดศูนย์เสียไปเป็นอย่างมากเหลือบอกไว้เพียงเฉพาะชื่อบทนั้นๆ เท่านั้น อีกทั้งมีการเคลื่อนย้ายรูปปั้นทำให้คำโคลงแยกจากรูปปั้นทำให้เกิดความสับสนสำหรับคนรุ่นหลังที่ต้องการศึกษา อีกทั้งคนไทยบางคนได้ทำลายมรดกของชาติด้วยการขโมยเอาไปขายอีกด้วยได้มีผู้โขมยไปขายหลายครั้งที่จับได้มีหลักฐานคือ นายสุก ทหารรักษาวัง ขโมยไปถึง 16 ตน เหตุการณ์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 วันที่ 14 กรกฎาคม 2438 การสูญหายเช่นนี้ทำให้เราไม่เห็นรูปปั้นดังเดิมและการปั้นขึ้นมาใหม่อาจทำให้ท่าดัดตนไม่สอดคล้องกับคำโคลงได้ซึ่งจะเห็นได้ว่าได้มีการดัดลอกรวบรวมภาพและโคลงฤาษีดัดตนกันต่อๆมา จากตำราหลายเล่มพบว่าภาพและโคลงไม่สอดคล้องและเพี้ยนไปบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจากตำราศิลาจารึกวัดโพธิ์ ก็มีอยู่หลายภาพที่ไม่มีคำโคลงอธิบายหรือไม่สามารถนำโคลงมาจับคู่ได้ ทั้งนี้อาจเป็นท่าคิดค้นขึ้นมาใหม่ก็ได้ และบางตำรายังพบโคลงใหม่เพิ่มเติมจากโคลงเดิมอีกด้วย

 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

- สถาบันการแพทย์แผนไทย

- วัดโพธิ์

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต