วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
03/12/2007
ที่มา: 
เว็บไซต์ธรรมะไทย

 วัดมเหยงคณ์

        วัดมเหยงคณ์ เดิมเป็นพระอารามหลวง และกลายเป็นวัดร้างไปภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ วัดนี้ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ ๕ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่นอกเขตเมืองมาทางทิศตะวันออก ถ้าเดินมาจากถนนสายเอเชีย แยกเข้าสู่ถนนโรจนะเพื่อมุ่งเข้าเกาะเมือง พอมาถึงเจดีย์วัดสามปลื้มเลี้ยวขวาอ้อมวงเวียนมาตามถนนระยะทางประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ก็จะถึงทางเข้าวัดมเหยงคณ์ ท่านจะมองเห็นผนังอุโบสถก่อด้วยอิฐสีแดงตระหง่านแต่ไกล

[แก้ไข] ประวัติ

        ประวัติความเป็นมาของวัดมเหยงคณ์น่าสนใจ เพราะเป็นเครื่องชี้ถึงความเจริญด้านจิตใจ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อสร้าง ทะนุบำรุงพระอารามแห่งนี้สืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ปัจจุบันนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนใดมเหยงคณ์เป็นโบราณวัตถุ โบราณสถานของชาติ ตั้งแต่วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พงศาวดารเหนือได้จดไว้ว่า พระเจ้าธรรมราชา กษัตริย์องค์ที่ ๘ ของอโยธยา มีมเหสี ชื่อ พระนางกัลยาณี และพระนางเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์พระเจ้าธรรมราชา (พ.ศ. ๑๘๔๔ - ๑๘๕๓) เป็นพระราชบุตรเขยองค์แรกของพระเจ้าสุวรรณราชา พระองค์ทรงสร้างวัดกุฏีดาว ส่วนพระนางกัลยาณี พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ถ้าเชื่อพงศาวดารเหนือ ก็แสดงว่าวัดมเหยงคณ์สร้างในสมัยอยุธยา ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาอย่างน้อย ๔๐ ปี

        ถ้าจะดูตามแนวภาษาศาสตร์ความหมายของชื่อ มเหยงคณ์ มาจากศัพท์บาลีว่า มหิยังคณ์ แปลว่า ภูเขา หรือ เนินดิน พิจารณาภูมิประเทศของวัดมเหยงคณ์ก็เห็นว่าเข้าเค้า เพราะวัดมเหยงตณ์ โดยเฉพาะส่วนพุทธาวาสตั้งอยู่บนเนินสูง นอกจากนั้น ชื่อ มเหยงคณ์ ยังเป็นชื่อสถานที่และพระธาตุสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ศรีลังกา เรียกว่า มหิยังคณ์เจดีย์ ด้วย ประเด็นที่สาม เจดีย์ประธานของวัดมเหยงคณ์ ก็สร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังมีช้างล้อมรอบองค์เจดีย์ ๘๐ เชือก เจดีย์แบบนี้น่าจะได้มาจากเจดีย์ชัยของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราชในลังกาทวีป ช้างที่ล้อมรอบเจดีย์ คงเนื่องมาจากช้างฤณฑลราชพาหนะของพระเจ้าทุษฐาคามินีมหาราช ผู้ที่ชนะสงคราม และได้บำรุงศาสนาพุทธให้เจริญรุ่งเรืองในลังกา ปัจจุบัน ในประเทศไทย มีชื่อวัด มเหยงคณ์ รวม ๔ วัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาคือ ตำบลหันตรา ๑ , อำเภอนครหลวง ๑ , ที่จังหวัดสุพรรณบุรีอีก ๑ แห่ง, และจังหวัดนครศรีธรรมราชอีก ๑ ล้วนแต่เป็นวัดสำคัญทั้ง ๔ แห่ง

[แก้ไข] การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์

        ถ้าเริ่มนับ พ.ศ. ๑๘๕๓ เป็นปีสร้างวัดมเหยงคณ์มาถึงปีที่เจ้าสามพระยาได้สร้างเพิ่มเติมจากรากฐานเดิมคือ พ.ศ. ๑๙๘๑ จากนั้นมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. ๒๒๕๒ มีกษัตริย์พระนาม พระภูมิมหาราช (พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ได้เป็นผู้สั่งการให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่ช่วงหลังนี้ระยะเวลาห่างกันถึง ๒๗๑ ปี มีข้อความในพงศาวดารตอนหนึ่งว่า ปีฉลู เอกศก (พ.ศ. ๒๒๕๒) มีพระราชบริหารในช่วงปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ เสด็จพระราชดำเนินมาให้ช่างกระทำการวัดนั้นเนือง ๆ บางทีก็เสด็จอยู่ที่พระตำหนักริมวัดมเหยงคณ์ เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง ว่าราชการอยู่ในที่นี้ ๓ ปีเศษ วัดนั้นจึงสำเร็จบริบูรณ์ ๘ใน พ.ศ. ๒๒๕๕ ไดโปรดให้มีงานฉลองใหญ่ ดังปรากฏในพงศาวดารว่าปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ. ๒๒๕๕) นั้นให้ฉลองวัดมเหยงคณ์ ทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญ พระราชกุศลเป็นอันมากทรงพระราชทานเครื่องบริขารและวัตถุทานต่าง ๆ แด่พระสงฆ์ ๑,๐๐๐ ตามพระราชประเพณีแต่ก่อนมีงานมหรสพสมโภช ๗ วัน เสร็จบริบูรณ์การฉลองนั้น ๙ น่าสังเกตว่ามีกษัตริย์ถึง ๓ ช่วงที่ช่วยกันรับทดอก่อสร้างและปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์มา โดยเฉพาะสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดนี้นับว่าตั้งอยู่นอกชานเมือง พระมหากษัตริย์ถึงขนาดเสด็จมาประทับแรมว่าราชการอยู่เป็นแรมเดือนแรมปี จะต้องมีสาเหตุหรือทรงเห็นความสำคัญบางประการของวัดมเหยงคณ์ จึงได้ทรงเอาเป็นธุระตรวจควบคุมงานด้วยพระองค์เองโดยตลอดถึงปานนั้น วัดนี้คงรุ่งเรืองมาตลอด จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. ๒๓๑๐

[แก้ไข] สิ่งสำคัญ

[แก้ไข] บริเวณโคกโพธิ์

        เป็นเนินดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพุทธาวาส ลักษณะเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาว ๕๘ เมตร กว้าง ๕๐ เมตร อาจเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ คงจะได้สร้างเจดีย์เล็ก ๆ หรือสิ่งก่อสร้างอื่น เพราะสังเกตเห็นเป็นมูลดินเตี้ย ๆ คล้ายเจดีย์อยู่หลายแห่ง ได้พบรากฐานอิฐและกระเบื้องอยู่มาก (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ ลานธรรมจักษุ)

[แก้ไข] เจดีย์ด้านตะวันออกของพระวิหาร ๒ องค์

        เป็นเจดีย์แบบลังกา ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๑๐ เมตร ฐานของเจดีย์รับปากระฆังเป็นรูปแปดเหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘.๐๐ เมตร ขอบขององค์ระฆังทำเป็นลวดคาด ๕ ชั้น บัลลังก์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสคงเหลือเพียงปล้องไฉนเท่านั้น ส่วนยอดชำรุด

[แก้ไข] วิหารสองหลัง

        ตั้งอยู้ทิศตะวันออกเฉียงเหนือและเฉียงใต้ของพุทธาวาส คงเหลือเพียงรากฐานเห็นเป็นมูลดิน กว้าง ๖.๔๐ เมตร ยาว ๑๒.๘๐ เมตร มีแนวกำแพงแก้วล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๒๑.๖๐ เมตร ยาว ๒๗.๘๐ เมตร

[แก้ไข] พระอุโบสถ

        ตัวพระอุโบสถ กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๓๖.๘๐ มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ประตูเข้าทางทิศตะวันออก ๓ ช่อง ทิศตะวันตก ๒ ช่อง หน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๑.๑๐ เมตร x ๒.๔๐ เมตรมี ๖ ช่อง (อยู่ทางด้านเหนือและด้านใต้ละ ๓ ช่อง) ภายในพระอุโบสถมีแท่นฐานชุกชี ๒ แท่น พระพุทธรูปประธานเป็นหินทราย หักล้มลงเป็นท่อน ๆ ตัวพระอุโบสถนี้ มีกำแพงแก้ว ๒ ชั้น มุมของแต่ละขั้นย่อเหลี่ยม ตรงมุมกำแพงแก้วชั้นนอกมีเจดีย์เล็ก ๆ ทรงลังกาประกอลกำแพงแก้วชั้นนอก กว้าง ๓๘ เมตร ยาว ๗๒ เมตร ใบเสมาเป็นหินสีเขียว หนา ๒๐ ซม. กว้าง ๑.๐๐ เมตร สูง ๒.๐๐ เมตร

[แก้ไข] เจดีย์ด้านตะวันตกของวิหาร

        ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง ๑๒ เมตร ทักษิณย่อไม้สูง ๒.๘๐ เมตร องค์เจดีย์ส่วนที่รับปากระฆังเป็นแปดเหลี่ยม มีบัวคว่ำหงายสลับหน้ากระดานขึ้นไป ๕ ชั้น เฉพาะชั้นที่ ๕ มีลายเครือไม้และแข้งสิงห์ประกอบที่มุมปากระฆังเป็นขอบลวดคาด ๓ ชั้น ชั้นที่ ๓ ทำเป็นกลีบบัวประดับ มีบันไดขึ้นด้านตะวันออก องค์ระฆังเป็นทรงลังกา นับเป็นเจดีย์ยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา เข้าใจว่าคงสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

[แก้ไข] เจดีย์รายทรงลังกา

        ตั้งบนฐานสี่เหลี่มจตุรัสในเขตพุทธาวาส ๕ องค์ นอกเขตพุทธาวาสด้านตะวันตก ๓ องค์ ทุกองค์มีฐานกว้างประมาณ ๑๐ เมตร ยังเห็นรูปทรงได้ชัด ชำรุดบ้างเล็กน้อย

[แก้ไข] เจดีย์ช้างล้อม

        ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวด้านละ ๓๒ เมตร มีช้างเห็นได้ทั้งตัวประดับโดยรอบ ช้างแต่ละเชือกสูง ๑.๐๕ เมตร ประดับห่างกันเชือกละ ๘๐ ซม. องค์เจดีย์เป็นแบบลังกาเหมือนเจดีย์ช้างล้อมทางสุโขทัย มีบันไดขึ้นนมัสการทั้งสี่ด้าน องค์เจดีย์ตั้งแต่ส่วนกลางขององค์ระฆังหักพังลงมานานแล้ว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เว็บไซต์ วัดมเหยงคณ์

เว็บไซต์ธรรมะไทย


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก

เว็บไซต์ธรรมะไทย