วิกฤตวัยรุ่น ปัญหาหรือปรากฎการณ์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2008
ที่มา: 
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : นักวิชาการอิสระด้านสื่อและเด็ก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

วิกฤตวัยรุ่น ปัญหาหรือปรากฎการณ์

ภาพ:วัยรุ่น.jpg

 "โจ๋ไทยเหลวแหลก มั่วเซ็กส์บนรถเมล์"

"สธ.ชี้วัยรุ่นหญิง 1 ใน 4 มีคู่นอนปีละ 2 คน"

"เด็กติดเกม-เซ็กส์ออนไลน์ พบ 10 ขวบจิตใจก้าวร้าว"

"อาชีวะตะลุมบอนตาย 1 เจ็บเพียบ"

"สลดวัยรุ่นไทยติดเชื้อเอดส์พุ่ง 40 %"

        กระแสข่าวเชิงลบเกี่ยวกับเยาวชนที่ปรากฎตามสื่อต่างๆในห้วงปีที่ผ่านมา ทั้งที่เกิดจาก ตัวเหตุการณ์และที่เกิดจากข้อมูลงานวิจัย สร้างความหวั่นวิตกแก่พ่อแม่ผู้ปกครองและสังคมทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ตามมาด้วยเวทีสัมนาวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาและหาทางออกโดยหน่วยงานการศึกษาบ้าง องค์กรพัฒนาบ้าง รวมถึงความพยายามจะออกมาตรการควบคุมพฤติกรรมวัยรุ่น อย่างกฎกระทรวง 9 ข้อที่บังคับใช้ไปทางโรงเรียน เป็นต้น แต่ดูเหมือนปัญหาวัยรุ่นได้กลายเป็นปมเชือกที่พันกันยุ่งเหยิงซับซ้อน เกินกว่าความรู้และความเห็นของแต่ละฝ่ายไปเสียแล้ว พูดอีกทีคือ ปัญหาวัยรุ่นไม่ได้อยู่ที่การตั้งคำถามว่า "เกิดอะไรขึ้น" (WHAT) หรือ "จะแก้ปัญหาอย่างไร" (HOW) เท่านั้น หากแต่ต้องมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัญหาวัยรุ่นกับปัญหาเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา สื่อ บริโภคนิยม โลกาภิวัตน์ ไปจนถึงประเด็นค่านิยมและโลกทัศน์สังคมไทยที่ปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมที่ถาโถมมา อย่างที่นักวิชาการเรียกมันว่า Cultural Lag หรือความล้าหลังทางวัฒนธรรม / แรงเฉื่อยทางวัฒนธรรม ในขณะที่ตัวปัญหาเองก็ได้กลายจากปรากฎการณ์ไปสู่ความเป็น"วัฒนธรรมไร้พรมแดน" ที่กำลังเกิดขึ้นเหมือนๆกันไปทั่วโลกแล้วต่างหาก

        เด็กแห่งปัญหา ? เหตุแห่งปัญหา ? ลำพังทฤษฎีจิตวิทยาวัยรุ่นจึงไม่เพียงพอที่จะอธิบายพฤติกรรมวุ่นๆ ของวัยรุ่นสมัยนี้ ซึ่งเอาเข้าจริง ก็มีพื้นฐานเดียวกันกับวัยรุ่นสมัยคุณพ่อคุณแม่คุณปู่คุณย่า เมื่อ 30-40 ปีก่อนเหมือนกัน ไม่ว่าจะถูกชักจูงง่าย บุ่มบ่าม หมกมุ่นเรื่องเพศ ติดเพื่อน กังวลเรื่องตัวตนและอัตลักษณ์ ฯลฯ หรืออย่างที่นักการศึกษาประมวลไว้เป็นพัฒนาการ 5 ด้านคือ ด้านสติปัญญา จิตใจ อารมณ์ สังคม และจริยธรรม ซึ่งอาจอธิบายได้อีกอย่างหนึ่งว่า พฤติกรรมที่ผู้ใหญ่สมัยนี้เห็นว่าเป็น"ปัญหา"นั้น สังเคราะห์ แล้วมีอยู่เพียง

ท่าทีและความสัมพันธ์ทางเพศ รวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน คนอื่นๆ
การพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสม
การการเรียนรู้ชีวิตและพัฒนาการที่ดี
การใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า
การบริโภคอย่างสร้างสรรค์และรู้เท่าทัน
        ในแง่โครงสร้างของปัญหา วัยรุ่นทุกยุคทุกสมัยจึงหนีไม่พ้นต้องเดินทางผ่านจุดสะดุดที่เป็นปุ่มปมช่วงหนึ่งของชีวิตทั้งนั้น ซึ่งจากทัศนะของ พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้ดำเนินโครงการ "สุขภาวะทางเพศของเด็กไทย " และ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ นักการศึกษาที่ทำ"โครงการวิจัยเด็กไทยในระยะยาว" หรือ Child Watch ต่างแสดงความเห็นพ้องกันว่า จากการสัมภาษณ์เยาวชนจำนวนมาก และการเฝ้าติดตามพฤติกรรมเยาวชน ทั้งในสถานศึกษาและนอกระบบ รวมถึงการจัดกระบวนการอย่างมีส่วนร่วมในหมู่เยาวชน พบว่า เยาวชนต้องการที่ปรึกษาหรือผู้ที่แสดงความเข้าอกเข้าใจ ยินดีรับฟังปัญหาและให้คำแนะนำแก่เขาโดยไม่ด่าว่า ไม่ตัดสินหรือมุ่งแต่จะเห็นเขาเป็น"ปัญหา" โดยเยาวชนส่วนใหญ่รู้ดีว่าพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การเสพยาและสิ่งมึนเมา การแต่งตัว การคบเพื่อน ฯ เพื่อจะเป็นเด็กแนว , ฮิป หรือการแสดงพฤติกรรมแปลกๆวุ่นๆในแนว โดน นั้น อะไรดีไม่ดีหรืออะไรเป็นเรื่องถูกผิด อันที่จริงปมปัญหาใหญ่ส่วนหนึ่งอยู่ที่สังคมเพื่อนฝูงของวัยรุ่น และความต้องการการยอมรับ การแสวงหาตัวตนและอัตลักษณ์ตามวัยของพวกเขา ซึ่งก็คือปัญหาเชิงวัฒนธรรมอันซับซ้อนที่มีปัจจัยภายนอกตัววัยรุ่นอยู่ด้วย ดังนั้น มันอาจง่ายเกินไปที่จะใช้ชุดความคิดและชุดการอธิบายที่ว่า วัยรุ่นมีปัญหาเพราะครอบครัวไม่อบอุ่น วัยรุ่นไม่รักษาค่านิยมไทย ไม่รักนวลสงวนตัว เสพสื่อลามก และเบาปัญญา ฯ ชุดความคิดแบบนี้ นอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหา ยังซ้ำเติมความรู้สึกของวัยรุ่นว่าผู้ใหญ่ไม่มีวันเข้าใจเขา

        งานศึกษาปัญหาวัยรุ่นหลายชิ้นบ่งชี้ว่า มีแง่มุมด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม"วุ่นๆ"ของวัยรุ่น อาทิ นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ อธิบายถึงการเจริญเติบโตของสมองว่า เมื่อถึงช่วงอายุ 12 ปี สมองส่วน Limbic System ซึ่งกำหนดพฤติกรรมและอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ หรือที่เรียกง่ายๆว่า"สมองส่วนอยาก" จะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศ ทำให้เกิดความต้องการทางเพศ และมีผลต่อกลไกของสมองอีกส่วนที่คลุมอยู่บนสมองส่วนอยาก ที่เรียกว่า Cerebral Cortex หรือ"สมองส่วนคิด" เช่นกันกับนิตยสารไทม์ ซึ่งลงบทความงานวิจัยที่ค้นพบว่าพัฒนาการของสมอง อันเกี่ยวพันกับพฤติกรรมของวัยรุ่นนั้น อยู่ตรงส่วนหน้าของสมองที่เรียกว่า Pre-frontal cortex ทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้เหตุผลและวิจารณญาณ เป็นสมองส่วนที่พัฒนาเป็นลำดับสุดท้ายของวัยรุ่น และจะพัฒนาเต็มที่ต่อเมื่ออายุถึง 25 ปี ดังนั้น พฤติกรรมที่เกิดจากการที่สมองส่วนนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่ อันได้แก่ การวางแผน การวิเคราะห์ปัญหา การยับยั้งชั่งใจ ฯ จึงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

        อย่างไรก็ดี เราอาจสรุปอย่างง่ายๆได้ว่า ปัญหาวัยรุ่นที่สังคมส่วนใหญ่มองว่ากำลัง "วิกฤต" นี้ แม้มีเหตุปัจจัยเพียงไม่กี่อย่าง แต่ก็เป็นเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนและใหญ่โตระดับโครงสร้างทางสังคม ซึ่งไม่สามารถแก้ไขแต่เพียงตัวปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่มองเห็นเท่านั้น เหตุปัจจัยที่ว่านี้ได้แก่ ปัญหาด้านชีววิทยา / จิตวิทยาวัยรุ่น ปัญหาการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ระบบการศึกษา อิทธิพลจากสื่อและโฆษณา ปัญหาบริโภคนิยมและโลกานุวัตน์ ซึ่งประการหลังนี้เองที่ซับซ้อนและยากจะต้านทาน ในยุคสมัยแห่งเสรีประชาธิปไตย ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและข่าวสารร้อนๆที่ท่วมทับชาวโลก ผ่านทางเทคโนโลยีความเร็วสูง และแน่นอนเป็นช่องทางการไหลบ่าทางค่านิยมและวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทยในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น เครือญาติและชุมชนหดหายไป สถาบันทางสังคมและจริยธรรม เช่น วัด ประเพณีฯอ่อนแอลง การศึกษายุคใหม่และค่านิยมด้านเงินตรา ทำให้คนในสังคมขาดความสุข จิตใจเสื่อมโทรมพูดได้ว่า "เรา" มิใช่แต่เพียงเยาวชน ต่างขาดภูมิคุ้มกันอันได้แก่ ปัญญา ความรู้ ความข้มแข็งทางจิตวิญญาณ ในการที่จะรับมือกับวัฒนธรรมแห่งกิเลสรุ่มร้อนของโลกยุคใหม่ ที่ลุกลามทำร้ายผู้อ่อนแอไปทั่วทั้งโลกในเวลานี้

        โรคไร้พรมแดน ในโลกไร้พรมแดน มีข้อมูลจำนวนมากที่ยืนยันว่าวัยรุ่นคือ"เหยื่อ"ของวัฒนธรรมกิเลส อันเป็นปัญหาของพ่อแม่และสังคมอื่นๆ ไม่แต่เพียงสังคมไทย น่าสังเกตว่าปัญหาวิกฤตด้านพฤติกรรมวัยรุ่น ส่ออาการรุนแรงในสังคมซีกตะวันออก จนผู้รู้บางท่านวิเคราะห์ว่า เพราะวิถีเอเชียและค่านิยมแบบเอเชียอันเป็นพื้นฐานของสังคมเครือญาติ ความพอเพียง การขัดเกลาตัวเอง ได้ถูกสั่นคลอนลงด้วยค่านิยมขั้วตรงข้ามที่ไหลบ่ามาจากซีกโลกตะวันตก กลายเป็นความขัดแย้งที่มีแต่หนทาง"เลือกรับ-ปรับเปลี่ยน" แต่ไม่สามารถขจัดออกไปโดยสิ้นเชิงได้ เพราะวัฒนธรรมตะวันตกเป็นกระแสธารที่เชี่ยวกรากมากับอุตสาหกรรม การผลิตขนาดใหญ่และเทคโนโลยีขั้นสูง

        เมื่อเร็วๆนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานผลสำรวจ ของสมาคมกุมารแพทย์อเมริกัน พบว่า เด็กอเมริกันใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมงดูโทรทัศน์ที่มีรายการด้านเพศถึง 2 ใน 3 ตั้งแต่เรื่องตลก ส่อเสียด ไปจนถึงฉากเปลือยและร่วมเพศ โดย 10% มีแนวโน้มจะทดลองหรือเลียนแบบเช่นกันกับของไทย ที่รายงานจาก "โครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย" โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ได้ชมภาพความรุนแรงจากโทรทัศน์ เช่น ตีกัน ฆ่ากัน วันละ 501 ครั้ง เด็กประถมทั้งหญิง-ชาย ชมรายการการ์ตูนที่เน้นไปในเรื่องแบ่งเพศเป็นอันดับหนึ่ง ชมละครเป็นอันดับสอง ชมเกมโชว์อันดับสาม ส่วนระดับวัยรุ่นชมละครเป็นอันดับหนึ่ง เกมโชว์อันดับสอง และฟังเพลงเป็นอันดับสาม นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กจะทดลองสูบบุหรี่เมื่ออายุประมาณ 10 ปี และทดลองดื่มแอลกอฮอล์เมื่อายุ 16 ปี โดยวัยรุ่นชาย 11-19 ปี ดื่มแอลกอฮอล์ 1.06 ล้านคน และวัยรุ่นหญิง 15 - 19 ปี ดื่มเพิ่มขึ้นจากปี 2541 ถึง 5 เท่าตัวในปัจจุบัน ในจำนวนนี้เด็กที่สูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับโอกาสติดยาหรือผงขาว และการมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ในรายงานยังได้พบสถิติเด็กติดเชื้อ HIV เมื่ออายุ 11 ปี สอดคล้องกับรายงานของกระทรวงสาธารณสุขที่บอกว่า สถิติแพร่ระบาดและติดเชื้อเอดส์ในหมู่วัยรุ่นสูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด

        หันไปดูงานวิจัยของญี่ปุ่น ก็พบว่าโลกแห่งไซเบอร์หรืออินเตอร์เน็ต ที่วัยรุ่นนิยมเข้าไปใช้พื้นที่แห่งเสรีภาพนี้ในการแสวงหาเพื่อน เล่นเกมออนไลน์และเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่างๆนั้น ในบรรดาเว็บไซต์ที่มีอยู่นับเป็นล้านๆเว็บทั่วโลก เป็นเว็บโป๊เสียเกือบ 1 ใน 3 และบอกด้วยว่าเว็บโป๊ทั้งหมดนี้มีมูลค่าทางธุรกิจถึงปีละ 4,000 ล้านดอลล่าห์สหรัฐฯ โดยเด็กๆ 1 ใน 5 ทั่วโลกที่ใช้อินเตอร์เน็ต จะได้รับจดหมายอีเมล์ที่ส่อไปในด้านล่อลวงทางเพศ งานวิจัยนี้เสนอทางออกเพื่อป้องกันเยาวชนเข้าสู่เว็บที่ไม่เหมาะสม โดยแนะนำให้พ่อแม่หาวิธีให้เด็กใช้ชื่ออีเมล์เดียวกันกับของพ่อแม่หรือครอบครัว รวมถึงการเข้าไปค้นคว้ารายชื่อเว็บที่เด็กเข้าเป็นประจำได้ที่เว็บท่าของบริษัทไมโครซอฟ ในขณะที่กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขไทย ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต โดยมุ่งไปที่ครอบครัวและเด็กให้เข้าสู่กระบวนการอบรมพร้อมกัน เช่น ค่ายครอบครัวจนถึงขณะนี้ แนวทางแก้ปัญหาจากหน่วยงานรัฐในลักษณะตั้งรับและถูกปัญหา กระทำเป็นครั้งๆไปแบบไฟไหม้ฟาง โดยไม่ได้คิดการณ์ใหญ่อย่างเป็นระบบและระดมความร่วมมือให้เป็น "วาระแห่งชาติ" ดูเหมือนว่าสิ่งที่ได้กระทำลงไปดังกล่าว จะยังไม่สามารถคลายความวิตกต่อปัญหาวิกฤตวัยรุ่นลงไปได้ ซึ่งแม้แต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวงของเรา ยังตรัสแสดงความห่วงใยต่อปัญหาเยาวชนในกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา แน่นอนว่า โรคไร้พรมแดนเหล่านี้จะยังคงถูกปลุกปั่นให้ทวีความร้อนแรงขึ้น ด้วยผลตอบแทนด้านเงินตราและวัฒนธรรมครอบงำ ผ่านกลไกของสื่อสารมวลชน การตลาด การโฆษณาและธุรกิจการค้าที่รู้ว่าผู้บริโภคที่อ่อนแอที่สุดของตัวคือ"เยาวชน" (สัมพันธ์กับเรื่องพัฒนาการสมอง) และตราบใดที่หน่วยสังคมที่ใกล้ชิดเยาวชนที่สุดอย่าง ครอบครัว โรงเรียน ยังไม่สามารถคิดถึงทางออกอะไรได้มากไปกว่าการใช้มาตรการควบคุม บังคับหักหาญเอากับมนุษย์ที่ด้อยกว่าทั้งทางร่างกาย จิตใจและวุฒิภาวะที่เรียกกันว่าวัยรุ่น เมื่อนั้น สัจธรรมที่ว่า "ที่ใดมีการควบคุม ที่ใดมีการใช้อำนาจ ที่นั่นจะมีการต่อต้าน" ก็จะยังคงเป็นจริงเสมอ

        ครอบครัว-โรงเรียน-สื่อ ไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน ? รองลงมาจากครอบครัวแล้ว โรงเรียนก็เป็นจำเลยนิรันดรในปัญหาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเมื่อโรงเรียนมีฐานะเป็นหน่วยสังคม ที่ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนของชาติอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ที่มีกฎหมายการศึกษาภาคบังคับเป็นต้นมา แม้จนเมื่อกระแสปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่เกิดขึ้นภายหลังปี 2540 เรื่อยมา ครอบครัวและสังคมทั่วไป ก็ยังคงคาดหวังว่า อนาคตการขัดเกลาลูกหลานให้เป็นคนเก่ง-ดี-มีความสุข ที่ฝากไว้แก่โรงเรียน จะยิ่งได้ผลดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริง โรงเรียนได้กลายเป็นอุตสาหกรรมการผลิตแบบหนึ่ง ซึ่งมีมาตรฐานตายตัวอย่างหนึ่ง ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้เฉพาะ หรือเจาะลึกปัญหาของเยาวชนคนใดคนหนึ่งได้ แต่เมื่อสังคมคาดหวังว่า โรงเรียนคือผู้มีบทบาทหลักในกระบวนการกล่อมเกลาเยาวชน โรงเรียนและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องก็ลุกขึ้นกำหนด"กฎกระทรวง 9 ข้อ" เพื่อใช้บังคับควบคุมความประพฤติของเยาวชน ซึ่งเน้นไปในด้านการแต่งกายและกติกามารยาทในที่สาธารณะ รวมถึงการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษา โดยไม่ลืมต่อท้ายคำว่า"ที่เหมาะสม" ในโรงเรียน หลายแห่งเริ่มจับตาเข้มงวดกับเยาวชนในโรงเรียน โดยแบ่งเยาวชนด้วยวิธีคิดแคบๆแต่เพียง "เด็กดี"หรือเด็กปรกติ คือยังไม่พบปัญหา "เด็กกลุ่มเสี่ยง"หมายถึงครูต้องเริ่มดูแลใกล้ชิดเพื่อป้องกัน กับ"เด็กมีปัญหา" หมายถึงเยาวชนที่ใช้ชีวิตอย่างมีปัญหา เช่น เรื่องเพศ ยาเสพติด ท้อง เป็นต้น และล่าสุด สภาสตรีแห่งชาติก็ออกมาเผยแพร่แผ่นพับแนะนำวิธีการที่วัยกระเตาะจะ"รักนวลสงวนตัว" ด้วยกฎเหล็ก 6 ประการสำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 7 - 12 ขวบ เช่น ห้ามไปไหนมาไหนกับเพื่อนต่างเพศหรือเพศเดียวกันที่มีพฤติกรรมเป็นชายสองต่อสอง เพียงเท่านี้ เราอาจเห็นถึงอาการเกาไม่ถูกที่คันแบบเดิมๆ ที่เริ่มต้นจากการคิดโดยลำพังผู้ใหญ่และผู้มีอำนาจ แต่หาได้เกิดจากการมีส่วนร่วมคิดร่วมกำหนดจากตัวเยาวชนเองไม่ หรือเราจะลองฟังเสียงจากเยาวชนในเวทีประชุมวิชาการว่าด้วย"เพศศึกษาเพื่อเยาวชน" ครั้งที่ 1 ที่จัดโดยองค์การแพธ (PATH) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานด้านเอดส์ เพศศึกษา และสุขภาพทางเพศของเยาวชน เมื่อปลายปีที่ผ่านมาดูบ้าง ข้อเสนอจากเยาวชนจำนวนมากที่เข้าร่วมเวที มีปฏิกิริยาต่อกฎกระทรวง 9 ข้ออย่างดุ เด็ดเผ็ดมัน โดยเรียกร้องให้ผู้ใหญ่และเยาวชนร่วมมือกันอย่างเสมอภาค และสร้างทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการควบคุม 9 ข้อเช่นกัน คือ

ทำโรงเรียนให้น่าอยู่ และสร้างการเรียนรู้ในสถานที่ที่เด็กชอบหนีไปเที่ยว
สร้างทางเลือกในกิจกรรมที่เร้าใจเยาวชน จัดการเรียนรู้ให้เยาวชนเห็นผลกระทบที่เป็นรูปธรรม ทั้งดีและร้ายของการพนัน การเสพยา พฤติกรรมเพศที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งสร้างวินัยให้เยาวชนเข้าใจขอบเขตที่เหมาะสม ที่ไม่เป็นผลร้ายแก่ตัวเองและผู้อื่น
ส่งเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบทางเพศแก่เยาวชน รวมทั้งสร้างจิตสำนึกให้ผู้ใหญ่ไม่ละเมิดและซื้อบริการทางเพศจากเยาวชน
ขอให้ผู้ใหญ่ทั้งในโรงเรียน ในบ้านและในสังคม เป็นแบบอย่างในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เยาวชนเป็น
การลงโทษต้องควบคู่ไปกับการสร้างการเรียนรู้ และเยาวชนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ถูกควบคุม
ส่งเสริมเยาวชนให้เคารพสิทธิทางเพศ และมีการแสดงออกที่เหมาะสมกับกาลเทศะ รวมทั้งส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีความพร้อมทั้งทางความคิดและความรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา
จัดการเรียนรู้แบบ ค-ว-ย ให้เยาวชนรู้จักคิด-วิเคราะห์-แยกแยะ เช่น รู้จักประเมินผลกระทบการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยา เป็นต้น
เมื่อให้การศึกษาแบบ ค-ว-ย แล้ว ต้องเชื่อมั่นว่าเยาวชนมีศักยภาพ และเคารพสิทธิให้เยาวชนใช้ชีวิตตามศักยภาพโดยไม่ใช้วิธีควบคุมบังคับ
ส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกของเยาวชน และเลิกสร้างภาพเยาวชนเป็นผู้ร้ายเพื่อขายข่าว
        ถึงตรงนี้ เราคงได้เห็นจำเลยรายใหม่ที่เรียกว่า"สื่อ" ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนข่าวสาร อย่างสำคัญและทรงอิทธิพลยิ่งในยุคปัจจุบัน ความจริงก็เป็นเช่นนั้น เพราะในขณะที่เด็กๆของเราใช้เวลาเรียนหนังสืออยู่ในโรงเรียน ปีหนึ่ง 900-1,000 ชั่วโมง เด็กๆ ของเรากลับใช้เวลาดูโทรทัศน์ปีละ 1,000 - 1,200 ชั่วโมง โดยพ่อแม่แทบไม่รู้เลยว่า ลูกหลานของตัวซึมซับเอาสาร และค่านิยมชนิดใดจากดารา สินค้า และรายการที่เสพเข้าไป เราคงจะตกใจมากยิ่งขึ้นถ้าได้รู้ว่า รายได้จากโฆษณาสินค้าในโทรทัศน์ทุกช่องรวมกันนั้น มีมูลค่ามหาศาลเกินกว่ารายได้ประชาชาติของประเทศเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้โทรทัศน์ทุกช่องและรายการวิทยุทั้งหลาย จึงลักลอบเพิ่มเวลาโฆษณาสินค้า หลีกเลี่ยงข้อกำหนดทางกฎหมาย จนเรียกได้ว่าเป็นการยัดเยียดโฆษณาทุกๆ ช่วง 5-10 นาที

        ดังนั้น ปัญหาเยาวชนที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทุกสังคม จึงเป็นปัญหาที่ฟันธงชี้ต้นสายปลายเหตุแบบไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อนกันไม่ได้ หากแต่เป็นปัญหาที่มัน"เป็นเช่นนั้น" คือต้องติดตามดูแลแก้ไขตลอดชั่วชีวิตของสังคม เพราะเราก็จะมีเยาวชน รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ส่งต่อพฤติกรรมวุ่นๆของวัยรุ่นอย่างไม่สิ้นสุด โดยมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่การสร้าง"ภูมิคุ้มกัน"แก่ลูกหลานในครอบครัว พร้อมๆไปกับการลงทุนทั้งทางทรัพยากร เงิน และความรู้ จากภาครัฐและเอกชน อย่างต่อเนื่องยาวนาน ก็คงพอจะช่วยให้วัยรุ่นแต่ละรุ่น สามารถก้าวข้าม"จุดสะดุด"ในช่วงหนึ่งของชีวิต ไปสู่พัฒนาการตามปรกติและเป็นพลเมืองดีของสังคมต่อไปได้ เปิดทางเลือก คิดทางบวก ร่วมด้วยช่วยกัน น่ายินดีที่ปัจจุบัน มีองค์กรพัฒนาเอกชน รวมถึงโครงการวิจัยจำนวนมาก หันมาเพ่งเล็งถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆในการแก้ปัญหาเยาวชน และสร้างกิจกรรมการเรียนให้เยาวชนได้พัฒนาตนเอง อาทิ ชุดงานวิจัยเกี่ยวกับครอบครัวและเยาวชน หลากหลายประเด็น ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งสามารถเข้าไปหาข้อมูลได้ที่ www.trf.or.th หรือกิจกรรมด้านส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนในโครงการต่างๆของ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นอกจากนี้ยังมีมูลนิธิของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง ให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาเยาวชน เช่น มูลนิธิซิเมนต์ไทยของเครือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย มูลนิธิรักษ์บ้านเกิดของกลุ่มบริษัทยูคอม มูลนิธิห่วงใยเยาวชนของมหาวิทยาลัยหอการค้า เป็นต้น และหากลองเข้าไปในโฮมเพจขององค์กรเอกชน ที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในไทย จะพบว่ามีเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเพื่อวัยรุ่นโดยตรงจำนวนมาก ทั้งในเชิงให้คำปรึกษาเรื่องเพศศึกษา เพื่อนการใช้ถุงยางอนามัย ความรู้เรื่องเอดส์ ร่างกาย การตั้งครรภ์ การตอบปัญหาความทุกข์และปัญหาด้านจิตวิทยา ข่าวสารกิจกรรมเชิงบวกที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชน ฯลฯ

        ในจำนวนนี้ ยังได้พบเว็บไซต์ของกลุ่มเยาวชนมหาวิทยาลัยที่รวมตัวกันหลายสถาบัน ชื่อ www.deksiam.com ที่มีการเชื่อมโยงกลุ่มเยาวชนที่ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์จากทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งมีรายชื่อนับ 1,000 กลุ่มอยู่ในหน้า"ชุมชนเยาวชน" ใครที่ได้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้ อาจไม่อยากเชื่ออีกเลยว่าเยาวชนคือตัวปัญหา หรือจะลองเข้าไปที่ www.jitjai.com ของสมาคมสุขภาพจิตแห่งประเทศไทย www.icamtalk.comของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมี Hotline คลายเครียดให้วัยรุ่นด้วยที่ 02 - 3548300 www.clinicrak.com ของกลุ่มหมอเวชศาสตร์ครอบครัว www.wow-cool.com ของมหาวิทยาลัยหอการค้าwww.teenpath.net ขององค์การแพธ ซึ่งจัดโครงการเพศศึกษาสัญจรไปยังโรงเรียนด้วย

        ทั้งหมดของเว็บไซต์เหล่านี้มีการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนปรึกษาปัญหา ตั้งกระทู้หรือแสดงความเห็นต่อสถานการณ์และข่าวสารเกี่ยวกับวัยรุ่น อันจะยืนยันความเข้าใจให้เราได้ว่า"วัยรุ่นต้องการที่ปรึกษา" และนี่อาจเป็นกุญแจไขปัญหาที่อยู่ตรงปลายจมูกเรานี้เอง หมายความว่า หากพ่อแม่ พี่น้อง ครู เพื่อน หรือผู้ใกล้ชิดวัยรุ่น สามารถให้คำปรึกษา รับฟัง หรือให้คำแนะนำแก่วัยรุ่นในห้วงเวลาแห่งความมืดมนต์ของเขา หรือชักชวนเขาไปสู่กิจกรรมสร้างสรรค์ เขาก็อาจก้าวข้ามปัญหาวุ่นๆไปได้โดยง่ายดายหรืออย่างเป็นธรรมชาติ และเราอาจไม่เชื่อเลยว่า เพียงแค่คำพูด"โดนใจ"ไม่กี่คำ วัยรุ่นบางคนก็กลับสู่ทิศทางที่ดีงามได้

        ทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหาเยาวชน จึงเริ่มต้นจากการเปิดใจและคิดทางบวก คือ เชื่อในศักยภาพและธรรมชาติด้านดีของเยาวชน แทนที่การชี้นิ้วจี้จุดไปที่ปัญหาของเขา เราเพียงแต่ทำความเข้าใจและเสนอทางเลือกใหม่ๆให้เขาได้ทำกิจกรรม ปลดปล่อยพละกำลังตามวัยและทำประโยชน์เพื่อคนอื่น อันจะทำให้เขาเลิกหมกมุ่นกับตัวเอง รดน้ำพรวนดินส่งเสริมในส่วนที่เป็นศักยภาพและความต้องการของเขาให้งอกงาม รวมถึงการสร้างและขยาย"พื้นที่ดีๆ"ในสังคมให้มากขึ้น อาทิ แหล่งเรียนรู้ประเภทต่างๆเช่น พิพิธภัณฑ์ทันสมัย มหรสพสร้างสรรค์ สวนสาธารณะ แหล่งนัดพบของวัยรุ่น ตลอดจนการจัดสรรค์พื้นที่เฉพาะ ที่จะให้วัยรุ่นได้ระบายพลังและการแสดงออก เช่นที่ประเทศญี่ปุ่น มีการปิดถนนฮาราจูกุในทุกวันอาทิตย์ ให้เด็กฮิปเด็กแนวทั้งหลายได้ระเบิดความมัน ประชันดนตรี แฟชั่นและรถซิ่งกันในอาณาบริเวณนั้นอย่างเต็มที่ เป็นต้น ซึ่งน่าจะแตกต่างจากการทำอุทยานการเรียนรู้ หรือ T.K.Park (Thai knowledge park) ที่ริเริ่มโดยกระทรวงศึกษา จัดตั้งขึ้นที่ชั้น 6 เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า กรุงเทพฯ ที่ยังมีลักษณะคิดทางเดียวจากบนลงล่าง และการมุ่งให้การเรียนรู้ด้านวิทยาการ

        แนวคิดการแก้ปัญหาเยาวชนแบบเน้นด้านบวก หรือ Positive Youth Development นี้มีที่มาจากความพยายามในช่วง 30 ปี ที่อเมริกาเผชิญปัญหาอาชญากรรมและปัญหาวัยรุ่นค่อนข้างสูง จนเกิดการจัดสรรงบประมาณแก่การทำโครงการวิจัยและการพัฒนาเยาวชนขนาดใหญ่ หลากหลาย เพื่อค้นหาปัจจัย บทเรียน และเงื่อนไขการเกิดเยาวชนที่พึงปรารถนา ผลการดำเนินการนี้ก่อให้เกิดแนวคิด Positive Youth Development ได้ผลสรุปว่า เยาวชนที่พึงประสงค์คือ มีทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น การเลือกคบเพื่อน มีความสามารถในการควบคุมตนเอง มีวินัย พึ่งตนเอง แก้ปัญหาและคิดวิเคราะห์ได้ เห็นคุณค่าและเกิดฉันทะต่อการเรียนรู้ มีวุฒิภาวะในการลดพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลร้ายต่อสุขภาวะน่าสนใจว่ากลยุทธ์เชิงบวกในแนวคิดนี้ ให้ความสำคัญกับการทำให้วัยรุ่นได้รับโอกาสและการยอมรับจากบุคคล ชุมชน และส่งเสริมความผูกพันต่อผู้ใหญ่ เพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง กับการทำให้วัยรุ่นได้เข้าถึงบริการและระบบสนับสนุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอจากเยาวชนไทยในเวทีสัมนาที่กล่าวถึงข้างต้น จาก"ปัญหา" สู่ "อนาคต" ความจริง เรามีเยาวชนที่รวมกลุ่มกันทำประโยชน์เพื่อสังคมอยู่จำนวนมากมหาศาลกว่าสังคมใด ซึ่งเวลานี้มีองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งกำลังรวบรวมจัดทำ"แผนที่"กลุ่มกิจกรรมเยาวชนทั่วประเทศ เพื่อใช้เผยแพร่สู่สังคมวงกว้าง โดยมีจุดประสงค์จะจุดประกายความหวังและพลังใจแก่สังคม เป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ว่า เยาวชนมีศักยภาพด้านบวกและเป็นทรัพยากรสำคัญของบ้านเมือง โดยเชื่อว่า การนำเสนอข้อมูลเหล่านี้เป็น"ข่าวดี" จะช่วยให้เยาวชนทั่วไปได้มองเห็นแบบอย่าง ทางเลือก และเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเชิงบวกบ้าง

        ตลอดจนเพื่อให้เยาวชนกลุ่มที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ได้เชื่อมโยงเครือข่ายขึ้นเป็นขบวนเยาวชนที่เข้มแข็ง สร้างค่านิยมใหม่ในการเป็น"คนรุ่นใหม่ใส่ใจสังคม" ที่เป็นแล้ว"เท่ห์" โดยแผนที่นี้มีกลุ่มเยาวชนเองเป็นผู้เก็บข้อมูลและจัดทำ ซึ่งจะติดตามความคืบหน้าได้จากสถาบันต้นกล้า ของวิทยาลัยการจัดการทางสังคม (วจส.)

        ยังมีโครงการริเริ่มเพื่อเยาวชนอีกหลากหลายมากมายที่อ้างอิงไม่หมดในที่นี้ ทั้งที่ผู้ใหญ่ทำเพื่อเด็ก กับที่เด็กโตทำให้เด็กเล็ก หรือเด็กๆทำกันเอง ซึ่งอาจเข้าไปค้นหาข้อมูลเบื้องต้นได้จาก www.deksiam.com ตามที่กล่าวไปแล้ว จะเห็นได้ว่ามีกิจกรรมมหาศาลที่สามารถนำมาปรับใช้หรือสนับสนุนให้เกิดกลุ่มเช่นนี้ขึ้นในโรงเรียน สถานศึกษา หรือแม้แต่ในสถานพินิจ หรืออาจจัดกิจกรรมทัศนศึกษาไปดูงานหรือเยี่ยมชมกลุ่มกิจกรรมเยาวชนเหล่านี้ อาทิ กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาชะเมา(ระยอง) ซึ่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากปตท.ในปีที่ผ่านมา กลุ่มละครกั๊บไฟ(เชียงใหม่) ขบวนการตาสับปะรด(กรุงเทพ) กลุ่มยายกับตา(เพชรบุรี) กลุ่มทีนเอจโมเดิร์น(กรุงเทพ) กลุ่มเด็กทานตะวัน(อุบลราชธานี) กลุ่มกระจกเงา(เชียงราย) เครือข่าย Youth net ฯลฯ ซึ่งหากภาครัฐหรือภาคเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนมีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ ก็อาจเพียงแต่สนับสนุนด้านงบประมาณหรือนำเอาเยาวชนคนดีเรื่องดีเหล่านี้ออกมาเผยแพร่สู่สังคม ซึ่งนับเป็นการลงทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผลในด้านบวกที่จะเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ที่เราต่างปรารถนาที่จะเปลี่ยน"ปัญหา"ให้เป็น"อนาคต" ถ้าเช่นนั้น เราคงต้องมาสร้างความรู้และความเข้าใจใหม่ร่วมกันว่า คนอายุมากกว่าที่อาบน้ำร้อนมาก่อนนั้น ยังไม่เคยถูกแวดล้อมด้วยปัญหาสังคมแบบใหม่อย่างที่คนอายุน้อยกว่าในปัจจุบันกำลังเผชิญ ซึ่งก็อาจไม่ได้หมายความว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงหรือพฤติกรรมที่ไม่เคยเห็นคือความเลวร้ายเสมอไป ถ้าเราจะหันหน้าพูดคุยกันมากขึ้น ละวางอำนาจของผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน โดยเริ่มต้นที่ครอบครัวและเครือญาติ คนอายุมากกว่าก็อาจจะได้เรียนรู้จากคนอายุน้อยกว่า

        ที่สำคัญคือ ควรเปลี่ยนการสื่อสารแบบ You Message ที่มีลักษณะ 1) สั่ง คือบังคับให้กระทำ 2) สอน คือมองเด็กว่าโง่กว่า และ 3) บ่น คือพูดสาระน้อยด้วยถ้อยคำจำนวนมาก ดังนั้น You Message อันเป็นการพูดแบบต้องทำอย่างนั้นห้ามทำอย่างนี้ จึงมักให้ผลในทางตรงกันข้าม เพราะไปกระตุ้นสมองส่วนอยากของเด็กเสียแล้ว ดังเช่นเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่เข้าร่วมเวทีวิชาการ"เพศศึกษาเพื่อเยาวชน" ที่บอกว่า "จริงๆแล้ว ผู้ใหญ่และเด็กไม่มีใครรู้มากกว่ากัน บางทีผู้ใหญ่ก็รู้อะไรมาผิดๆ และสั่งสอนเด็กจากความเคยชินผิดๆ " "ดีใจที่เยาวชนได้มารวมพลังกันส่งเสียงบอกผู้ใหญ่ว่าวัยรุ่นคือใคร ต้องการอะไร เยาวชนมีสิทธิที่จะคิด พูด และแสดงความคิดเห็น… อยากให้ผู้ใหญ่ย้อนมองตัวเองบ้าง ไม่ใจแคบโทษแต่เด็ก ไว้ใจเด็กและฟังเด็กบ้าง" "รู้สึกดีมากที่ได้ยินว่า เด็กไม่ใช่ปัญหา แต่เด็กกำลังเผชิญปัญหา และผู้ใหญ่มีหน้าที่ต้องดูแลชีวิตเด็กวัยรุ่นให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น"


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : นักวิชาการอิสระด้านสื่อและเด็ก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย