วิเคราะห์ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2008
ที่มา: 
ผศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ Dr. Jur. (summa cum laude, Goettingen – Germany), อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ www.lawonline.co.th

วิเคราะห์ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
        การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยนั้น แม้ในเบื้องแรกจะนำมาซึ่งความรู้สึกยินดี โดยทั่วไปที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิอย่างล้นหลาม และมีบุคคลที่สังคมเห็นว่ามี “คุณภาพ” ได้รับเลือกตั้งหลายคน แต่เมื่อปรากฎว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยไม่ปฎิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ จึงประกาศไม่รับรองผลการเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนนอันอยุ่ในเกณฑ์ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจำนวน 78 คน โดยรับรองผลการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 122 คน และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในจังหวัดที่มีปัญหา 35 จังหวัด การดำเนินการ โดย กกต. ดังกล่าว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ก่อให้ประเด็นปัญหาในทางกฎหมายติดตามมาหลายประเด็นทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจของ กกต. เอง และการเริ่มต้นทำงานของวุฒิสภาชุดใหม่ บทความนี้มุ่งแสดงทัศนะทางกฎหมายเฉพาะประเด็นที่สำคัญ เพื่อความเข้าใจร่วมกันอันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยแยกพิจารณาเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

[แก้ไข] 1. อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการที่จะไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่
        อำนาจของ กกต. ในการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ และในการประกาศผลการเลือกตั้งนั้นได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 145 (4) และ (5) และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 10 (7) และ (8) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง กกต. สามารถกระทำได้เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ประเด็นที่จะต้องพิจารณาก็คือ อำนาจของ กกต. ในการสั่งให้เลือกตั้งใหม่นั้นมีอยู่โดยไม่มีข้อจำกัดหรือไม่

        หากพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแล้ว จะพบว่ากฎหมายกำหนดวิธีการคัดค้านการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเอาไว้ในมาตรา 94 - 96 ซึ่งเป็นกระบวนการคัดค้านการเลือกตั้งภายหลังจากที่ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กล่าวคือ หาก กกต. เห็นว่าสมาชิกวุฒิสภาท่านใดได้รับการเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต กกต. อาจกำหนดให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือเลือกตั้งใหม่ได้ และหาก กกต. มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งถูกคัดค้านก็ย่อมสิ้นสุดลง อำนาจในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงของ กกต. ในกรณีนี้มีอยู่ค่อนข้างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 147

        สำหรับการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งนั้น อำนาจที่ กกต. มีอยู่ชัดเจนที่สุด คือ อำนาจตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นกรณีที่ผลการนับคะแนนไม่ตรงกับรายงานการใช้สิทธิเลืกตั้งของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่คะแนนที่ไม่ตรงกับรายงานนั้นจะไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป กฎหมายห้ามมิให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

        นอกจากนี้มาตรา 77 และ 78 ประกอบกับมาตรา 90 วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าได้วกการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภายังกำหนดเป็นหน้าที่ว่าเมื่อได้ผลการนับคะแนนของการเลือกตั้งแล้ว ให้ กกต. ประกาศว่าบุคคลใดเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา และให้รีบดำเนินการแจ้งผลไปยังรัฐสภา เพื่อทราบและเพื่อจะได้นำผลการเลือกตั้งนี้นลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ดีอาจมีประเด็นสงสัยได้ว่า การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 145 (5) ให้อำนาจ กกต. ในการสั่งให้เลือกตั้งใหม่โดยไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องเป็นการสั่งก่อนหรือหลังการประกาศผลการเลือกตั้งเท่านั้นน่าจะมีความหมายในทางที่วา กกต. เป็นผู้มีอำนาจโดยสิทธิขาดที่จะประกาศรับรองผลหรือไม่รับรองผลการเลือกตั้งไม่ถูกจำกัดโดยเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ไม่มีกฎหมายใดมาลบล้างได้

        การตีความรัฐธรรมนูญไปในลักษณะตัดสิทธิหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลเช่นนี้เป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังอย่างยิ่ง แม้ว่าการกระทำที่กระทบสิทธิโดยการไม่รับรองผลการเลือกตั้งของผู้ที่น่าสงสัยว่าโกงการเลือกตั้งจะสอดคล้องกับมติมหาชนก็ตาม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 145 (5) เป็นบทบัญญัติวางกรอบอำนาจกว้าง ๆ ของ กกต. เท่านั้น และการที่มีบทบัญญัติมาตราดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ ก็เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ต้องการให้รัฐสภาออกกฎหมายยกเลิกตัดทอนอำนาจเช่นนี้ได้โดยง่าย แต่หาได้หมายความไปไกลถึงขนาดที่ว่า กกต. จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีขั้นตอนหรือกระบวนการที่ประกาศให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเลยไม่ บทบัญญัติมาตรา 10 (7) แห่งพระราชยัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งก็กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนให้ กกต. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีพิจารณาสำหรับการเลือกตั้งให้เมาเพราะเหตุที่การเลือกตั่งไม่เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรมแต่ กกต. มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเอาไว้ การที่กฎหมายกำหนดให้ กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งนั้น ก็เพราะในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ออกมาแสดงเจตจำนง “แต่งตั้ง” บุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นองค์กรเจ้าหหน้าที่ของรัฐโดยการลงคะแนนเสียง กกต. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องแสดงผลของเจตจำนงนี้ให้เห็นประจักษ์ เว้นแต่เห็นได้ชัดเจนว่าผลของการเลือกตั้งไม่ใช่เจตจำนงอันแท้จริงของประชาชน เช่น กรณีที่ผลการนับคะแนนไม่ตรงกับรายงานการใช้สิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือปรากฎอย่างชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยว่ากระบวนการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งการลงให้เลือกตั้งใหม่ในกรณีเช่นนี้ กกต. ต้องทำโดยเร็วหากไม่ต้องด้วยกรณีเช่นนี้แล้ว กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งเพื่อให้บุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐไปก่อน หากปรากฎว่าบุคคลนั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริตจะโดยวิธีการใดก็ตาม กกต. ก็ทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะเพิกถอนสมาชิกภาพของบุคคลนั้นโดยการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อมที่จะต้องเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้สมัครรับเลือกตั้งในคราวแรกลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วย โดยระบบดังกล่าวนี้จะทำให้การเกิดขึ้นของวุฒิสภาเป็นไปได้โดยรวดเร็ว เพราะหากฟังคำกล่าวหาหรือข้อคัดค้านการเลือกตั้งทุกรณีก่อนประกาศผลการเลือกตั้งแล้วคงจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในลักษณะที่เป็นการเลือกตั้งซ้ำหลายครั้ง นอกจากนี้การประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อนยังถือเป็นการเคารพเจตจำนงของผู้เลือกตั้งในระดับหนึ่งในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่าบุคคลที่ได้รับเลือกตั้งทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่ ในขณะเดียวกัน กกต. เองก็มีเวลาในการพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะเพิกถอนสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยมิชอบอีกด้วย โดยเหตุดังกล่าว และโดยอาศัยพื้นฐานทางกฎหมาย อันเป็นกติกาที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ จึงเห็นว่าแม้อำนาจของ กกต. ในการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งมีอยู่ แต่มิใช่มีอยู่ แต่มิใช่มีอยู่อย่างกว้างขวาง อำนาจดังกล่าวถูกจำกัดโดยหลักเกณฑ์ที่ต้องประกาศล่วงหน้า ซึ่งต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญด้วย

[แก้ไข] 2. อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการห้ามมิให้บุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่
        อย่างไรก็ตาม กกต. ได้ตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 145 (5) และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 10 (7) ไปในทางที่ให้ตนมีอำนาจในการไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนที่จะประกาศผลการเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า กกต. จะมีอำนาจตัดสิทธิบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับการรับรองผลการเลือกตั้งมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่โดยอาศัยเหตุที่ว่าบุคคลนั้นทุจริตการเลือกตั้งได้หรือไม่

        คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภานั้นได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และ 126 ทั้งนี้โดยมาตรา 87 แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา บัญญัติตอกย้ำหลักการดังกล่าวให้เห็นอย่างชัดเจนอีกทางหนึ่ง การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอันจะมีผลให้บุคคลนั้นไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ จะต้องเกิดจากคำพิพากษาของศาลเท่านั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มอบอำนาจให้ กกต. ในการที่จะไปตัดสิทธิบุคคลในการลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ประการใดทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะมีบทบัญญัติบางมาตราให้อำนาจ กกต. ในการออกประกาศกำหนดเรื่องระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 10 (7) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งการให้อำนาจดังกล่าวก็เป็นการให้อำนาจเฉพาะการกำหนดขั้นตอน กระบวนการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้การเลือกตั้งสำเร็จลุล่วงไปโดยเรียบร้อยเท่านั้น มิได้หมายความเลยไปถึงขนาดว่า กกต. จะเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลได้แต่อย่างใดไม่ หาก กกต. เห็นว่าบุคคลนั้นทุจริตการเลือกตั้งจริง กกต. ก็เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่สามารถจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ฟ้องร้องผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว ส่วนการสมัครรับเลือกตั้งย่อมเป็นสิทธิทางการเมืองที่บุคคลมีอยู่โดยสมบูรณ์ หาก กกต. มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลที่ กกต. มีหลักฐานว่าทุจริตการเลือกตั้งคำสั่งนั้นย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ หาก กกต. ออกระเบียบกำหนดการตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว ระเบียบที่ว่านี้ก็ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะเป็นคำสั่งและระเบียบที่นอกจากจะสั่งหรือกำหนดขึ้นโดยไม่มีหลักฐานทางกฎหมายรองรับแล้ว ยังละเมิดสิทธิทางการเมืองของบุคคลอีกด้วย ทั้งนี้ไม่ว่า กกต. จะมีมูลเหตุชักจูงใจที่ประเสริฐเพียงใดก็ตาม

[แก้ไข] 3. การเริ่มต้นของวุฒิสภาชุดใหม่
        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา 315 วรรค 5 (1) กำหนดว่าในกรณีที่สมาชิกภาพของวุฒิสภาชุดปัจจุบันสิ้นสุดลงเมื่อครบสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ให้ดำเนินการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันก่อนวันครบสี่ปี ในกรณีเช่นนี้ให้อายุของวุฒิสภาและสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้ง เริ่มนับตั้งแต่วันที่สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันสิ้นสุดลง สมาชิกภาพของวุฒิสภาชุดปัจจุบันสิ้นสุดลงในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2543 และ กกต. ได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2543 (ก่อนครบกำหนดสี่ปีภายในหกสิบวัน) หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ย่อมถือได้ว่า สมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งและอายุของวุฒิสภาใหม่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2543

        อย่างไรก็ตามเนื่องจาก กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกเพียงบางส่วน คือ 122 คน จากจำนวนวุฒิสมาชิกที่พึงมี 200 คน จึงเกิดปัญหาตามมาว่า สมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกที่ได้รับการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เริ่มต้นไปก่อนแล้วในวันที่ 22 มีนาคม ส่วนสมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งใหม่จะเริ่มต้นในภายหลังหรือไม่ และหากกรณีเป็นเช่นนี้อายุของวุฒิสภาจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม หรือไม่?

        รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน บัญญัติไว้ในมาตรา 121 ว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวนสองร้อยคน ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และยังมิได้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่

        จำนวนวุฒิสมาชิก 200 คน ที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 121 นั้น เป็นสิ่งที่เรียกกันในทางกฎหมายว่า “องค์ประกอบ” ซึ่งเป็นเงื่อนไขแห่งการเกิดขึ้นของ “องค์กรกลุ่ม” การที่ กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งไม่ครบ 200 คน ย่อมถือไม่ได้ว่า “วุฒิสภา” ได้เกิดมีขึ้นแล้วบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเคร่งครัดไม่เปิดช่องให้ตีความเป็นอย่างอื่นต่อเมื่อง “วุฒิสภา” ได้เกิดขึ้นแล้ว แม้ในภายหลังตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจะว่างลง เช่น สมาชิกวุฒิสภาบางส่วนถูกเพิกถอนสมาชิกภาพ บางคนถึงแก่กรรม ก็ไม่มีผล ทำลายความเป็นวุฒิสภาแต่อย่างใด หากพิจารณาตามหลักประชาธิปไตยแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดผู้แทนของประชาชนที่เป็นวุฒิสมาชิกไว้ 200 คน เมือ่ประชาชนยังส่งผู้แทนของตนมาไม่ครบย่อมจะถือว่ามีวุฒิสภายังไม่ได้ เมือวุฒิสภายังไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุที่ยังมีจำนวนสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งไม่ครบ 200 คน สมาชิกภาพแห่งความเป็นสมาชิกวุฒิสภาย่อมจะเกิดมีขึ้นไม่ได้อยู่เองตามเหตุผลของเรื่อง นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถ้อยคำมาตรา 315 วรรค 5 (1) แล้วอายุของวุฒิสภาและสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาจะเริ่ในับตั้งแต่วันที่สมาชิกภาพของอายุของสภาชุดเดิมสิ้นสุดลงได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการดำเนินการเลือกตั้งแล้วเสร็จการที่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งเพียงบางส่วนย่อยจะถือว่าการดำเนินการเลือกตั้งได้กระทำเสร็จสิ้นลงแล้วไม่ได้ การดำเนินการเลือกตั้งใน 35 จังหวัด เพื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 78 คน ที่จะได้จัดขึ้นนั้น ไม่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อมเพราะไม่ได้เป็นการเลือกตั้งวุฒิสภาชิกแทนตำแหน่งที่ว่างลง แต่เป็นการตั้งที่สืบเนื่องจากการเลือกกตั้งครั้งเดิมที่ยังไม่เสร็จสิ้นลง โดยเหตุผลเช่นนี้ มาตรา 315 วรรค 5 (1) จึงไม่อาจใช้บังคับกับการเริ่มต้นอายุวุฒิสภาและสมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกได้ อายุของวุฒิสภาและสมาชิกภาพของวุฒิสมาชิกจะเริ่มต้นรับเมื่อมีสมาชิกครบ 200 คน ในระหว่างนี้วุฒิสภาชุดเดิมย่อมทำหน้าที่วุฒิสภาต่อไป

        กกต. เป็นองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นกลไกสำคัญในอันที่จะทำให้การปฏิรูปการเมืองบรรลุผล เท่าที่ผ่านมา กกต. ได้แสดงให้สาธารณชนเห็นถึงความตั้งใจจริงในการทำงานซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยในประเทศที่ประชาธิปไตยยังไม่หยั่งลากลึกลงเช่นประเทศไทยนี้ ความตั้งใจในการทำงานของ กกต. ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญและชมเชย อย่างไรก็ตาม กกต. เป็นองค์กรหนึ่งของรัฐ แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็ไม่ได้หมายความว่า กกต. มีอำนาจเต็มที่ ที่จะกระทำในสิ่งที่กระแสของมหาชนเรียกร้องโดยมิคำนึงถึงกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ ที่ได้บัญญัติเป็นกฎหมายเท่าที่ควรจะเป็น ในประเทศที่เป็น ” นิติรัฐ” ปกครองโดยอาศัยหลัก ”นิติธรรม” การกระทำขององค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย ต้องอธิบายและให้เหตุผลได้ การปฏิรูปการเมืองแม้นับเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสังคมไทย แต่จะต้องกระทำอย่างโปร่งใส และมั่นคงบนรากฐานทางกฎหมาย การขจัดคนชั่วออกจากสังคมการเมืองก็เช่นกัน การกระทำในสิ่งที่ “ ถูกต้อง ” อาจไม่เป็นที่ “ พึงพอใจ ” ของมหาชนชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่ถ้าการกระทำดังกล่าวมีเหตุผลอธิบายได้มหาชนก็จะเข้าใจได้ในไม่ช้า ในทางตรงกันข้ามเพราะในการกระทำในสิ่งที่มหาชนพึงพอใจ โดยมิได้ตรวจสอบบรรทัดฐานทางกฎหมายให้ถี่ถ้วนเพียงพอ ปัญหาทางกฎหมายก็จะเกิดขึ้นตามมามิรู้จักหยุดหย่อน น่าสงสัยยิ่งว่าการกระทำในลักษณะเช่นนี้ จะส่งผลดีในภาพรวมต่อการปฏิรูปการเมืองจริงหรือ


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
ผศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ Dr. Jur. (summa cum laude, Goettingen – Germany), อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย