สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/12/2007
ที่มา: 
วิกิพีเดีย ธรรมะไทย ศูนย์พระดอทคอม ลานธรรม หอสมุดสยามสแควร์ พลังจิต
ภาพ:somdajto.jpg


        สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นปูชนียบุคคลที่พระพุทธศาสนิกชนกล่าวขวัญถึงในนามของสมเด็จโต อีกทั้งท่านยังเป็นที่ฤๅชาปรากฏ เกียรติศักดิ์เกียรติคุณเกียรติยศขจรขจายไปหลายทิศหลายแคว เดิมชื่อท่านเขียนว่า “พระพุทธธาจารย์” แต่ได้เปลี่ยนเป็น “พระพุฒาจารย์” ในรัชกาลที่ 4

สารบัญ

[ซ่อนสารบัญ]

[แก้ไข] สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

[แก้ไข] ประวัติ

        ท่านมีนามเดิมว่า “โต” โดยกล่าวกันว่าสมัยเด็กท่านมีรูปร่างบอบบาง ผู้ใหญ่จึงตั้งชื่อให้ตรงกันข้ามเพื่อเป็นการข่มนาม จึงเป็นที่มาของชื่อโต จนเมื่ออายุได้ 13 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรในเมืองพิจิตร และนามฉายาว่า "พฺรหมรังสี" อุบัติขึ้นในรัชกาลที่ 1 หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี ซึ่งเป็นวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ที่บ้านท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนที่มานั้นไม่แน่ชัดว่ากันว่าบิดาของท่านคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งทรงพระยศเป็นเจ้าพระยาจักรี โยมมารดาชื่อนางงุด บุตรของนายผลกับนางลา ชาวนาเมืองกำแพงเพชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นโอรสนอกเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่บางแหล่งก็ว่าเป็นพระราชโอรสในองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มารดาชื่อเกสร (ธิดานายชัย) เดิมเป็นชาวบ้านตำบลท่าอิฐ อำเภอท่าโพธิ์ ต่อมาในสมัยหนึ่งการทำนา ไม่ได้ผลเพระฝนแล้งมาหลายปี จึงย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ บ้านไก่จ้น ท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

[แก้ไข] อุปสมบท

        หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้วปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นพออายุครบอุปสมบทปี พ.ศ. 2350 ได้โปรดเกล้าฯ ให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงโปรดฯ รับไว้ในพระราชูปถัมภ์

        ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณแต่ท่านไม่ยอมรับ ซึ่งต่มาท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆ อีกด้วย

[แก้ไข] สร้างปูชนียสถาน

        ท่านได้สร้างถาวรวัตถุไว้หลายแห่งและหลายอย่างรวมถึงมักจะชอบสร้างของที่แปลกและใหญ่ เพื่อให้สมกับนามของท่านที่ชื่อว่าโต โดยปูชนียวัตถุที่สร้างเป็นอนุสรณ์ถึงตัวท่าน คือ พระนอนใหญ่ที่วัดสะดือ นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างถาวรวัตถุสถานอื่นๆ อีกหลายอย่าง อาทิ สร้างกุฎเล็กๆ ไว้ที่วัดอินทรวิหาร ๒ หลัง ทางด้านทิศใต้ ให้โยมผู้หญิงและโยมผู้ชาย, สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งที่ปากคลองวัดดาวดึงส์, สร้างพระโตนั่งกลางแจ้ง ที่วัดพิตตะเพียน, สร้างพระเจดีย์นอน ที่หลังโบสถ์วัดละครทำ ฯลฯ

[แก้ไข] รับสมณศักดิ์

        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงโปรดปรานท่านเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 ได้พระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกถวายเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ ซึ่งขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี และท่านก็ยอมรับสมณศักดิ์ ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามจารึกตามหิรัญบัตรว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ อนึ่งกิตติคุณ และชื่อเสียงของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้ขจรกระจายไปทั่วทิศานุทิศว่า “เจ้าประคุณสมเด็จ คือ ที่พึ่งของสัตว์โลกผู้ตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ทั้งมวล”

        สมเด็จฯโตได้เป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม และได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพราะท่านรอบรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยและธรรมปฏิบัติ ความเป็นเลิศในการเทศนาได้รับการยกย่องสรรเสริญในสติปัญญาและปฏิญาณโวหารที่ฉลาดหลักแหลม เปี่ยมด้วยจิตเมตตากรุณาแก่ผู้ตกยาก มีอัธยาศัย มักน้อย สันโดษ

        "พระสมเด็จ" ที่สมเด็จฯ โตท่านสร้างขึ้นเพราะปรารภถึงพระมหาเถระในสมัยก่อนมักสร้างพระพิมพ์บรรจุในปูชนียสถาน เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระศาสนาให้ถาวรตลอดกาล ท่านจึงทำตามคตินั้นสร้างพระสมเด็จไว้ 84,000 องค์ เท่ากับพระธรรมขันธ์

        สมเด็จฯ โต ท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงค์วัตรทุกประการ คือฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค ์เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม จนวาระสุดท้าย ท่านมรณภาพเมื่อวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 9 ปีจอ เวลา 2 ยาม รวมสิริอายุได้ 85 ปี

[แก้ไข] คติธรรมคำสอน

ภาพ:To_promrangsi.jpg


เคล็ดลับสู่ความสำเร็จ

        ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต ) กล่าวว่า เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสุดยอดในทางธรรม คือ จะต้องมีสัจจะอันแน่วแน่ และมีขันติธรรมอันมั่นคง จึงจะฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุความสำเร็จได้ อาตมามีกฎอยู่ว่า เช้าตีห้าไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ต้องตื่นทันที ไม่มีการผัดเวลา แล้วเข้าสรงน้ำ ชำระกายให้สะอาด แล้วจึงได้สวดมนต์และปฏิบัติสมถกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง พอหกโมงตรงก็ออกบิณฑบาต เพื่อปฏิบัติตามปฏิปทาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฝึกจิตให้ได้ผลต้องตรงต่อเวลา

        กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็เอาอาหารตั้งไว้ ตักน้ำใส่ตุ่ม เสร็จแล้วฉันอาหารเช้า โดยปกติอาตมาฉันมื้อเดียวเว้นไว้มีกิจนิมนต์ จึงฉันสองมื้อ สี่โมงเช้าถึงเที่ยง ถ้ามีรายการไปเทศน์ ก็ไปเทศน์ตามที่นัดไว้ วันไหนไม่ติดเทศน์ก็จะปิดประตูกุฏิทันที ไม่ให้ใครๆเข้าไป ในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาศึกษาตำรา เวลาบ่ายโมงจึงออกรับแขก บ่ายสามโมงไม่ว่าใครจะมาอาตมาจะให้ออกจากกุฏิไปหมด เพราะถึงเวลาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ฉะนั้น จุดสำคัญจงจำไว้ เราจะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้น ต้องมีสัจจะเพื่อตน โดยไม่เห็นแก่หน้าใคร ถึงเวลาทำสมาธิต้องทำ ไม่มีการผัดผ่อนใดๆ ทั้งสิน

หลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

1.จะต้องมีสัจจะต่อตนเอง

2.จะต้องไม่คล้อยตามอารมณ์ของมนุษย์

3.พยายามตัดงานในด้านสังคมออก และไม่นัดหมายใครในเวลาปฏิบัติกรรมฐาน ดังนั้นเมื่อจะเป็นนักปฏิบัติธรรมจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ของเรา เพื่อฝึกจิตให้เข้มแข็ง

ทางแห่งความหลุดพ้น

        เจ้าประคุณสมเด็จฯ มักจะกล่าวกับสานุศิษย์ทั้งหลายอยู่เสมอว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยปีก็ต้องตายและถูกหามเข้าป่าช้า ดังนั้น จึงควรประพฤติปฏิบัติอยู่ใน ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ท่านเปรียบเทียบว่า มนุษย์อาบน้ำ ชำระกายวันละสองครั้ง เพื่อกำจัดเหงื่อไคลสิ่งโสโครกที่เกาะร่างกาย แต่ไม่เคยคิดจะชำระจิตให้สะอาดแม้เพียงนาที ด้วยเหตุนี้ ทำให้จิตใจของมนุษย์ ยุคปัจจุบันเศร้าหมองเคร่งเครียดและดุดัน ก่อให้เกิดปัญหาความพิการในสังคมความแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน จนกระทั่งเกิดความขัดแย้ง และกลายเป็นสงครามมนุษย์ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน

แต่งใจ

        ขอให้ท่านได้พิจารณาไตร่ตรองให้จงดีเถิดว่า ร่างกายของเรานี้ไฉนจึงต้องชำระทุกวันทั้งเช้าและเย็น จะขาดเสียไม่ได้ทั้งที่หมั่นทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ แต่ยังมีกลิ่นไม่น่าอภิรมย์ออกมา แม้จะพยายามหาของหอมมาทาทับ ก็ปกปิดกลิ่นนั้นไม่ได้ใจของเราล่ะ ซึ่งเป็นใหญ่กว่าร่างกาย เป็นผู้สั่งบัญชางาน ให้กายแท้ๆ มีใครเอาใจใส่ชำระสิ่งสกปรกออกบ้าง ตั้งแต่เล็กจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันสั่งสมสิ่งไม่ดีไว้มากเพียงใด หรือว่ามองไม่เห็นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง ทำความสะอาดหรือ?

กรรมลิขิต

        เราทั้งหลายเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติแล้ว ล้วนแต่มีกรรมผูกพันกันมาทั้งสิ้น ผูกพันในความเป็นมิตรบ้างเป็นศัตรูบ้าง แต่ละชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามกรรมวิบากของตนที่ได้กระทำไว้ ทุกชีวิตล้วนมีกรรมเป็นเครื่องลิขิต

อดีตกรรม ถ้ากรรมดี เสวยอยู่ ปัจจุบันกรรม สร้างกรรมชั่ว ย่อมลบล้าง อดีตกรรม กรรมแห่งอกุศล วิบากตน ปัจจุบัน สร้างกรรมดี ย่อมผดุง

        เรื่องกฎแห่งกรรม ถ้าเป็นชาวพุทธแล้ว เขาถือว่าเป็นกฎแห่งปัจจังตัง ผู้ที่ต้องการรู้ ต้องทำเอง รู้เอง ถึงเอง แล้วจึงจะเข้าใจ

นักบุญ

        การทำบุญก็ดี การทำสิ่งใดก็ดี ถ้าเป็นการทำตนให้ละทิฏฐิมานะ ทำเพื่อให้จิตเบิกบาน ย่อมเสวยบุญนั้นในปรภพ มนุษย์ทุกวันนี้ทำแบบมีกิเลส ดังนั้น บางคนนึกว่าเข้าสร้างโบสถ์เป็นหลังๆ แล้วเขาจะไปสวรรค์หรือเปล่า เขาตายไปอาจจะต้องตกนรก เพราะอะไรเล่า เพราะถ้าเขาสร้างด้วยเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นการทำเพื่อเอาบุญบังหน้าในการเสวยความสุขส่วนตัวก็มี บางคนอาจเรียกได้ว่าหน้าเนื้อใจเสือ คือข้างหน้าเป็นนักบุญ ข้างหลังเป็นนักปล้น

ละความตระหนี่มีสุข

        ดังนั้นบุญที่เขาทำนี้ถือว่า ไม่เป็นสุข หากมาจากการก่อกรรม บุญนั้น จึงมีกระแสคลื่นน้อยกว่าบาปที่เขาทำเอาไว้หากมีใครเข้าใจคำว่า บุญ นี้ดีแล้ว การทำบุญนี้จุดแรกในการทำก็เพื่อไม่ให้เรานี้เป็นคนตระหนี่ รู้จักเสียสละเพื่อความสุขของผู้อื่น ธรรมดาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อมีทุกข์ก็ควรจะทุกข์ด้วย เมื่อมีความสุขก็ควรสุขด้วยกัน

อย่าเอาเปรียบเทวดา

        ในการทำบุญ สิ่งที่จะได้ก็คือ ระหว่างเราผู้เป็นมนุษย์ เรารู้ว่าสิ่งที่เราทำนี้จะเป็นมงคล ทำให้จิตใจเบิกบานดี นี่คือการเสวยผลแห่งบุญในปัจจุบัน ทีนี้การทำบุญเพื่อจะเอาผลตอบแทนนั้น มนุษย์นี้ออกจะเอาเปรียบเทวดา ทำบุญครั้งใด ก็ปรารถนาเอาวิมานหนึ่งหลังสองหลัง การทำบุญแบบนี้เรียกว่า ทำเพราะหวังผลตอบแทนด้วยความโลภ บุญนั้นก็ย่อมจะไม่มีผล ท่านอย่าลืมว่า ในโลกวิญญาณเขามีกระแสทิพย์รับทราบในการทำของมนุษย์แต่ละคนเขามีห้องเก็บบุญและบาปแห่งหนึ่งอันเป็นที่เก็บบุญและบาปของใครต่อใครและของเรื่องราวนั้นๆ กรรมของใครก็จะติดตามความเคลื่อนไหวของตนๆนั้น ไปตลอดระหว่างที่เขายังไม่สิ้นอายุขัย

บุญบริสุทธิ์

        การที่สอนให้ทำบุญโดยไม่ปรารถนานั้น ก็เพื่อให้กระแสบุญนั้นบริสุทธิเป็นขั้นที่นึ่ง จะได้ตามให้ผลทันในปัจจุบันชาติ แต่ถ้าตามไม่ทันในปัจจุบันชาติ ก็ติดตามไปให้เสวยผลในปรภพ คือ เมื่อสิ้นอายุขัยจากโลกมนุษย์ไปแล้ว ฉะนั้น เขาจึงสอนไม่ให้ทำบุญเอาหน้า ทำบุญอย่าหวังผลตอบแทน สิ่งดีที่ท่านทำไปย่อมได้รับสนองดีแน่นอน

สั่งสมบารมี

        โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับนักปฏิบัติธรรมแล้ว การทำบุญทำทานย่อมเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติจิตให้บรรลุธรรมได้เร็วขึ้น เป็นบารมีอย่างหนึ่ง ในบารมีสิบทัศที่ต้องสั่งสม เพื่อให้สำเร็จมรรคผลนิพพาน

เมตตาบารมี

        การทำบุญให้ทานเพียงแต่เรียกว่า ทานบารมี หากบำเพ็ญสมาธิจิตจนได้ญาณบารมี และโดยเฉพาะการบำเพ็ญทุกอย่างนั้น ถ้าท่านให้โดยไม่มีเจตนาแห่งการให้ ให้สักแต่ว่าให้เขา ท่านก็ย่อมได้กุศลเรียกว่าไม่มากและทัศนคติของอาตมาว่าการบำเพ็ญเมตตาบารมีในภาวนาบารมีนั้นได้กุศลกรรมกว่าการให้ทาน

แผ่เมตตาจิต

        ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสัมฤทธิ์ผลนั้น เกิดจากกรรม 3 อย่าง คือ มโนกรรม เป็นใหญ่ แล้วค่อยแสดงออกมาทางวจีกรรม หรือกายกรรมที่เป็นรูป การบำเพ็ญสมาธิจิตเป็นกุศลดีกว่า เพราะว่า การแผ่เมตตา 1 ครั้ง ได้กุศลมากกว่าสร้างโบสถ์ 1 หลัง ขณะจิตที่แผ่เมตตานั้น จะเกิดอารมณ์แจ่มใส สรรพสัตว์ไม่มีโทษภัย ตัวท่านก็ไม่มีโทษภัย ฉะนั้น เขาจึงว่านามธรรมมีความสำคัญกว่า

อานิสงส์การแผ่เมตตา

        ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น ต้องรู้จักคำว่า แผ่เมตตา คือต้องเข้าใจว่า ความวิเวกวังเวงแห่งการคิดนึกของเราแต่ละบุคคลนั้น มีกระแสแห่งธาตุไฟผสมอยู่ในจิตและวิญญาณกระจายออกไป เมื่อจิตของเรามีเจตนาบริสุทธิ์ เมื่อจิตของเราเป็นมิตรกับทุกคน เมื่อนั้นเขาก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา เสมือนหนึ่งเราให้เขากินอาหาร คนที่กินอาหารนั้นย่อมคิดถึงคุณของเรา หรืออีกนัยหนึ่งว่าเราผูกมิตรกับเขาๆก็ย่อมเป็นมิตรกับเรา แม้แต่คนอันธพาล เราแผ่เมตตาจิตให้ทุกๆวัน สักวันหนึ่งเขาก็ต้องเป็นมิตรกับเราจนได้ เมื่อจิตเรามีเจตนาดีต่อดวงวิญญาณทุกๆดวง ดวงวิญญาณทุกๆดวงย่อมรู้กระแสแห่งจิตของเรา เรียกว่ามนุษย์เรานี้มีกระแสธาตุไฟออกจากสังขาร เพราะเป็นพลังแห่งการนั่งสมาธิจิต วิญญาณจะสงบ ธาตุทั้ง 4 นั้น จะเสมอแล้วจะเปล่งเป็นพลังงานออกไป ฉะนั้น ผู้ที่นั่งสมาธิปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ จิตแน่วแน่แล้ว โรคที่เป็นอยู่มันจะหายไป ถ้าสังขารนั้นไม่ใช่จะพังเต็มทีแล้ว คือไม่ถึงวาระสิ้นอายุขัย หรือว่าสังขารนั้นร่วงโรยเกินไปแล้ว ก็จะรักษาให้มันกระชุ่มกระชวยได้หรือจะให้มันสบายหายเป็นปกติดั่งเดิมได้

ประโยชน์จากการฝึกจิต

        ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนมีสมาธิแน่วแน่ เมื่อจิตนิ่งก็รู้ตน เริ่มพิจารณาตน รู้ตนเองได้ ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญญานี้เรียกว่า ปัญญาภายในจากจิตวิญญาณ ซึ่งเราจะใช้ปัญญานี้ได้แน่นอน เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นในชีวิตตลอดระยะเวลาอันยาวนานข้างหน้า นี่คือประโยชน์ของการฝึกจิตแล้ว คุณของสมาธิยังเป็นพลังป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัย เจ็บป่วยได้ กล่าวคือ การบำเพ็ญจิต จนจิตสงบนิ่งแล้ว ระบบต่างๆทางประสาทจะได้รับการพักผ่อน เป็นการปรับธาตุในกายให้เกิดพลังจิตเข้มแข็ง กายเนื้อก็จะแข็งแรงกระชุ่มกระชวยด้วย โลหิตในร่างกายจะหมุนเวียนสะดวกขึ้น ความตึงเครียดตามร่างกายและประสาทต่างๆ จะผ่อนคลายเป็นปกติ โรคต่างๆจะลดน้อยลงโดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง หายป่วยได้ด้วยการฝึกจิตและเดินจงกรม

นิพพาน

        ท่านได้กล่าวความหมายของคำว่านิพพานไว้ดังนี้ “คำว่า นิพพาน นี้ต้องเข้าใจว่ามีหลักแห่งความจริงของคำว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ถ้าในหลักแห่งความจริงของพระสัมมาสัมพุทธโคดมแล้ว คำว่านิพพานในโลกมนุษย์นี้ก็คือ มนุษย์ผู้ใดปฏิบัติตนให้อยู่ในจิตแห่งความว่าง ให้อยู่ในจิตแห่งความนิ่ง ให้อยู่ในจิตแห่งความสิ้นจากสรรพกิเลสที่รอบล้อมอยู่ในตัว เขาเรียกว่า ใจกลางแห่งนิพพานตั้งอยู่เมือง รอบล้อมต่อเนื่องกำแพงอันแสนหนา ผู้ใดหาทางทะลุอยู่ในเมืองมนุษย์ผู้นั้นย่อมถึงนิพพาน นิพพานในโลกมนุษย์นี้เขาเรียกว่าปฏิบัติจิตให้ว่างที่สุดนานเท่านาน ผู้นั้นถึงนิพพานแห่งการเป็นมนุษย์คือ สุญญังนี้แหละเขาเรียกว่าสูญจากอาสวกิเลส สูญจากการป็นทาสอารมณ์แห่งการเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณนี้พุ่งสู่แดนอรหันต์ ไม่ใช่สูญทั้งจิตและวิญญาณ ถ้าสูญทั้งจิตและวิญญาณจะเอาอะไรไปเสวยกรรม สภาพการณ์วิญญาณที่สูญนั้นเขาเรียกว่า วิญญาณธาตุในเบญจขันธ์ วิญญาธาตุนี้เป็นอุปาทาน รูปนี้ประกอบขึ้นด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณธาตุจึงอยู่เป็นกาย แต่วิญญาณอีกอันหนึ่งเขาเรียกว่าวิญญาณซึ่งวนเวียนอยู่ในกฏแห่งวิฏสงสารนั้นแหล่”

        นิพพาน คือว่างจากกิเลส จิตวิญญาณของพระอรหันต์ไม่สูญ ที่วิญญาณสูญนั่นคือวิญญาณในขันธ์ 5 เท่านั้น

        “บุญเราไม่เคยสร้าง...ใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า” “ลูกเอ๋ย ก่อนที่จะเข้าไปขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอจึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินในบุญบารมีที่ไปเที่ยวขอยืมมาจนพ้นตัว...เมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมดไม่มีอะไรเหลือติดตัว...แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้...แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง...จงจำไว้นะ... เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นเมื่อถึงเวลา... ทั้วฟ้าจบดินก็ต้านเจ้าไม่อยู่... จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดิน เมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลยจะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า”

[แก้ไข] คาถาชินบัญชร

        พระคาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ตกทอดมาจากลังกา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ค้นพบในคัมภีร์โบราณ และได้ดัดแปลงแต่งเติมให้ดีขึ้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษ ผู้ใดสวดภาวนา พระคาถานี้เป็นประจำ สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเอง ศัตรูไม่กล้ากล้ำกราย มีเมตตามหานิยม ขจัดภัยตลอดจนคุณไสยต่างๆ เพื่อให้เกิดอานุภาพยิ่งขึ้น ก่อนเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงและตั้งคำอธิษฐานว่า

        ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ

เริ่มบทพระคาถาชินบัญชร

๑.ชะยาสะนาคะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เยปิวิงสุ นะราสะภา

๒.ตัณหังกะราทะโย พุทธา อัฏฐะวีสะติ นายะกา สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก มุนิสสะรา

๓.สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร

๔.หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะทักขิเณ โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะวามะเก

๕.ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเล

๖.เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโย วะ ปะภังกะโร นิสินโน สิริสัมปันโน โสภิโต มุนิปุงคะโว

๗.กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก โส มัยหัง วะทะเนนิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร

๘.ปุณโณ อังคุลิมาโลจะ อุปาลี นันทะสีวะลี เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ตีละกา มะมะ

๙.เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา ชะลันตา สีละเต เชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา

๑๐.ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะ ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง

๑๑.ขันธะโมระปะริตตัญจะ อาฏานาฏิยะสุตตะกัง อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะสัณฐิตา

๑๒.ชินนานา วะระสังยุตตา สัตตะปาการะลังกะตา วาตะปิตตาทิสัญชาตา พาหิรัชฌัตตุปัททะวา

๑๓.อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะชินะเตชะสา วะสะ โต เม สะกิจเจนะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร

๑๔.ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะฮีตะเล สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพเต มะหาปุริสาสะภา

๑๕.อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินะปัญชะเรติ

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

- วิกิพีเดีย

- ธรรมะไทย

- ศูนย์พระดอทคอม

- ลานธรรม

- หอสมุดสยามสแควร์

- พลังจิต