สรุปผลการพิจารณามาตรการ 301 พิเศษ ของสหรัฐฯ ประจำปี 2550

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2008
ที่มา: 
กรมทรัพย์สินทางปัญญา

สรุปผลการพิจารณามาตรการ 301 พิเศษ ของสหรัฐฯ ประจำปี 2550
        1. ในปี 2550 นี้ สหรัฐฯ จัดประเทศไทยให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List – PWL) ซึ่งสหรัฐฯ ถือว่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูง โดยอ้างว่าไทยยังไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ อย่างเพียงพอ ดังนี้

        1.1 ความพยายามในการปราบปรามการละเมิดในปีที่ผ่านมา ยังไม่ส่งผลมากเพียงพอ โดยอัตราการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังคงมีอยู่ในระดับสูง

        1.2 พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548 ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะปราบปรามการละเมิดผลิตภัณฑ์ซีดีได้

        1.3 การละเมิดหนังสือ การขโมยสัญญาณรายการโทรทัศน์และสัญญาณเคเบิล รวมทั้งการละเมิดซอฟท์แวร์ทั้งด้านการบันเทิงและธุรกิจยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

        1.4 การผลิตและจำหน่ายสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น เครื่องแต่งกายและรองเท้า ยังคงมีอยู่ทั่วไป

        1.5 บทกำหนดโทษการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไม่เพียงพอ ทำให้ปัญหาการละเมิดยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

        1.6 การประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิในยาที่มีสิทธิบัตรหลายรายการ ของรัฐบาลไทยเมื่อปลายปี 2549 – ต้นปี 2550 ซึ่งแม้ว่าจะสามารถทำได้ตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก แต่ขาดความโปร่งใส และการดำเนินการที่เหมาะสม

        1.7 การคุ้มครองข้อมูลการขึ้นทะเบียนยาที่ไม่เข้มแข็ง ทำให้มีการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างไม่เป็นธรรม

        2. นอกจากการจัดสถานะของประเทศไทยแล้ว สหรัฐฯ จัดให้ประเทศคู่ค้าสำคัญอยู่ในบัญชีต่างๆ ดังนี้

        2. 1 ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List - PWL) รวม 12 ประเทศ ได้แก่ จีน รัสเซีย อาร์เจนตินา ชิลี อียิปต์ อินเดีย อิสราเอล เลบานอน ไทย ตุรกี ยูเครน และเวเนซุเอลา

        2.2 ประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List –WL) ซึ่งเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่พอสมควร รวม 30 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส เบลีส โบลีเวีย บราซิล แคนาดา เอกวาดอร์ ฮังการี อินโดนีเซีย อิตาลี จาไมกา คูเวต ลิทัวเนีย มาเลเซีย เม็กซิโก ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ โรมาเนีย ซาอุดิอาระเบีย ไต้หวัน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน และ เวียดนาม โดยมี 6 ประเทศ ที่สหรัฐฯ ได้เจรจา FTA จบแล้ว ได้แก่ โคลัมเบีย คอสตาริกา โดมินิกัน กัวเตมาลา เกาหลีใต้ และเปรู

        2.3 ประเทศที่ต้องถูกติดตาม (Monitoring List) ซึ่งเป็นประเทศที่อาจมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน มี 1 ประเทศ คือ ปารากวัย

        3. ในปี 2550 นี้ มี2 ประเทศ คือ ชิลีและ ไทย ที่ถูกปรับสถานะให้รุนแรงขึ้นจากประเทศประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) เป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) และ มี 3 ประเทศ ได้แก่ เบลีซ, บราซิล และ อินโดนีเซีย ได้รับการปรับสถานะให้ดีขึ้น จากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) และ ประเทศ ที่สหรัฐฯ ปลดออกจากบัญชี 301 พิเศษ ได้แก่ บาฮามาส, บัลแกเรีย, โครเอเชีย, สหภาพยุโรป และ แลตเวีย

____________________________________________

 

กรมทรัพย์สินทางปัญญา

กลุ่มงานเขตการค้าเสรีและองค์การการค้าโลก

1 พฤษภาคม 2550

[แก้ไข]
การจัดสถานะประเทศไทยตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2550
____________________________________

 

1. ภูมิหลัง


        1.1 ภายใต้มาตรการ 301 พิเศษ (Special 301) ของสหรัฐฯ สำนักงานผู้แทนทางการค้าของสหรัฐฯ (US Trade Representative : USTR) มีกำหนดทบทวนรายชื่อประเทศคู่ค้า ที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพเป็นประจำทุกปี โดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนจนถึงเดือนเมษายน ก่อนที่จะพิจารณาประกาศรายชื่อว่าประเทศใดมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไร โดยแบ่งเป็น

        - ประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุด (Priority Foreign Country - PFC) และ

        - ประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาก ซึ่งกลุ่มนี้จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List – PWL) และประเทศที่ถูกจับตามอง (Watch List – WL) นอกจากนี้ อาจมีรายชื่อบางประเทศที่อาจมีการละเมิดอยู่แต่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน สหรัฐฯ จะจัดให้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกติดตาม (Monitoring List)

        1.2 ในส่วนของประเทศไทย สหรัฐฯ เคยจัดให้ไทยอยู่ในระดับ PFC ในปี 2534- 2536 ซึ่งไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไข จนในปี 2537 สหรัฐฯ ได้ปรับลดให้ไทยอยู่ในระดับ PWL และตั้งแต่ปี 2538 – 2549 สหรัฐฯได้จัดให้ไทยอยู่ในระดับ WL มาโดยตลอด


2. สถานะล่าสุด


        2.1 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับแจ้งจากผู้แทนสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยว่า ในการทบทวนบัญชีรายชื่อประเทศคู่ค้าที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพภายใต้ มาตรการ 301 พิเศษ ประจำปี 2550 มีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะเลื่อนสถานะของประเทศไทยจาก WL (ประเทศที่ต้องจับตามอง) เป็น PWL (ประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ) โดยอ้างว่าไทยไม่ได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ อย่างเพียงพอ ทั้งในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลยา การให้ Data Exclusivity ในข้อมูลยาตามมาตรฐานของสหรัฐฯ การไม่เชื่อมโยงระบบสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยาสามัญเพื่อป้องกันมิให้มีการจำหน่ายยาสามัญออกสู่ตลาดก่อนยาสิทธิบัตรหมดอายุ การที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้สิทธิบัตรยา 3 รายการ อย่างไม่โปร่งใสและไม่มีการหารือกับเจ้าของสิทธิก่อน รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้สามารถอุทธรณ์การบังคับใช้สิทธิต่อศาล

        2.2 นอกจากนี้ ยังมีการละเมิดลิขสิทธิ์เคเบิลทีวีอย่างแพร่หลาย โดยไม่มีระบบการ ให้อนุญาตประกอบกิจการที่เชื่อมโยงกับเรื่องลิขสิทธิ์ ทั้งมีความล่าช้าในการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถปราบปรามผู้ละเมิดได้ นอกจากนี้ กฎหมายซีดีของไทยไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่งานลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ได้อย่างเพียงพอ ทำให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซีดี/ดีวีดีอยู่มาก การที่ศาลตัดสินลงโทษไม่รุนแรงเพียงพอต่อผู้กระทำความผิด รวมทั้ง มีการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือในอัตราสูงทำให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมสหรัฐฯ


3. ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


        3.1 สหรัฐฯ จะใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นเพื่อกดดันให้ประเทศไทยปรับปรุงแก้ไขให้มีการบังคับใช้กฎหมาย ลดปัญหาอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ และปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดยิ่งขึ้น รวมทั้ง อาจขอความมั่นใจเกี่ยวกับนโยบายการบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรของไทย

        3.2 ถึงแม้การจัดลำดับ PWL จะไม่เชื่อมโยงกับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) โดยตรง แต่สหรัฐฯ อาจทบทวนการให้ GSP กับไทยในอนาคต เนื่องจากเงื่อนไขที่สหรัฐฯ ใช้ประกอบการพิจารณาการให้ GSP นอกจากการเปิดตลาดการค้าและบริการแล้ว ยังต้องให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯอย่างเพียงพอด้วย การทบทวนดังกล่าวอาจกระทบต่อการวางแผนการนำเข้าของผู้ประกอบการสหรัฐฯ ซึ่งจะเกิดความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้นได้

        ทั้งนี้ ไทยได้รับการต่ออายุ GSP ล่าสุด เป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2550 ถึง 31 ธันวาคม 2551 รวม สินค้าประมาณ 4,600 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับสินค้าซึ่งอาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ ยางเรเดียล และโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเรต ซึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาว่าจะตัด GSP ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 นี้

        3.3 การเลื่อนอันดับไทยไปอยู่ที่ PWL อาจทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตานักลงทุนต่างชาติไม่ดีเท่าที่ควร อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจในการได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน เช่น สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การคุ้มครองข้อมูลทางการค้า เป็นต้น


4. ข้อคิดเห็น


        4.1 มาตรการ 301 พิเศษ เป็นมาตรการฝ่ายเดียวที่ประเมินโดยหน่วยงานของสหรัฐฯ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อประเทศคู่ค้า ในส่วนของประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งมีนโยบายพัฒนาและปรับปรุงระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ในด้านการบังคับใช้กฎหมายกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเจ้าของสิทธิในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงประชาชนและประเทศเป็นสำคัญด้วย มาตรการบางอย่างที่รัฐบาลนำมาใช้ได้พิจารณาถึงความจำเป็นอย่างรอบคอบแล้ว โดยยึดมั่นกฎหมายภายในประเทศและเคารพต่อกฎกติการะหว่างประเทศอย่าง เข้มงวด นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้อง และพยายามร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังอีกด้วย

        4.2 ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้จัดส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการปราบปรามการละเมิด และการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา และได้จัดทำเอกสารชี้แจงตามประเด็นข้อกล่าวหาที่ปรากฏในรายงาน National Trade Estimate : NTE ให้แก่ USTR แล้วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการทำข้อมูลในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นเหล่านั้นยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม


5. แนวทางดำเนินงานต่อไป


        5.1 รัฐบาลอาจส่งสัญญาณให้สหรัฐฯ ทราบว่ารัฐบาลไทยผิดหวังต่อการตัดสินใจของสหรัฐฯ อย่างยิ่ง การจัดอันดับประเทศไทยไว้ที่ PWL อาจทำให้ประชาชนไทยมีความรู้สึกในทางลบต่อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในสถานการณ์ขณะนี้

        5.2 กระทรวงพาณิชย์จะรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อแจ้งต่อสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อยืนยันความชอบธรรมของไทย รวมทั้ง จะได้มีการหารือหน่วยงานของสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันโดยเร็ว

        5.3 ประเทศไทยโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และ USTR จะได้หารือเกี่ยวกับ IP plan of actions ในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต่อไป

___________________________________

 

 


กรมทรัพย์สินทางปัญญา

กลุ่มงานเขตการค้าเสรีและองค์การการค้าโลก

1 พฤษภาคม 2550

 


กฎหมายการค้าของสหรัฐ ฯ มาตรา 301 พิเศษ


        1. มาตรา 301 พิเศษ เป็นมาตรการฝ่ายเดียว (unilateral measure) ภายใต้กฎหมายการค้าของสหรัฐ ฯ ที่กำหนดให้มีการประเมินและจัดสถานะของประเทศคู่ค้าที่ไม่ได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ฯ อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มประเทศ ได้แก่

        1.1 กลุ่มประเทศที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อสินค้าและ/หรือบริการของสหรัฐ ฯ และไม่มีความตั้งใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา (Priority Foreign Country – PFC) กรณีนี้ USTR จะต้องตัดสินภายใน 30 วัน ว่าจะดำเนินการสอบสวนก่อนตัดสินใจว่าจะต้องใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าหรือไม่

        1.2 กลุ่มประเทศที่ไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอและสมควรถูกจับตามอง แบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ ตามความรุนแรงของปัญหา

        - Watch List – WL : กลุ่มประเทศที่สหรัฐ ฯ เห็นว่ายังให้การคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่เพียงพอ ซึ่งสหรัฐ ฯ จะเข้ามาหารือกับประเทศนั้น ๆ เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นมีการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและปราบปรามการละเมิดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

        - Priority Watch List – PWL : กลุ่มประเทศที่สหรัฐ ฯ เห็นว่ายังไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเพียงพอ และมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูงจนเกิดผลกระทบต่อการเข้าสู่ตลาดของสินค้าที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ฯ

        ในกรณีนี้สหรัฐ ฯ จะเข้ามาหารือกับประเทศดังกล่าวมากขึ้น เพื่อกำหนด IP Plan of Actions ที่ชัดเจนและกดดันให้ประเทศเหล่านั้น ปรับปรุงแก้ไขให้มีการบังคับใช้กฎหมาย และลดปัญหาอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าที่มีทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ ฯ ทั้งนี้ อาจรวมถึงเชื่อมโยงกับการให้หรือต่ออายุ GSP รวมทั้งหากเห็นว่ามีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของ WTO ก็อาจพิจารณานำเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO ต่อไป

        2. สหรัฐ ฯ จัดสถานะดังกล่าวโดยประเมินจากรายงาน National Trade Estimate – NTE ซึ่งรวบรวมข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของสหรัฐ ฯ เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง สมาคมยา หอการค้าสหรัฐ ฯ ที่มีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศคู่ค้าอย่างเพียงพอ

        3. ในส่วนของประเทศไทย สหรัฐ ฯ เคยจัดให้ไทยอยู่ในระดับ PFC ตั้งแต่ปี 2534-2536 ซึ่งไทยได้มีการปรับปรุงแก้ไข จนในปี 2537 สหรัฐ ฯ ได้ปรับลดให้ไทยอยู่ในระดับ PWL และตั้งแต่ปี 2538-2549 สหรัฐ ฯ ได้จัดให้ไทยอยู่ในระดับ WL มาโดยตลอด

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย