สิทธิตัดน้ำไฟของผู้ให้เช่า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2008
ที่มา: 
คุณ ลีลา LAW

สิทธิตัดน้ำไฟของผู้ให้เช่า
        หลายท่านซึ่งมีที่ดินหรือบ้านมากกว่าหนึ่งหลัง แม้แต่ห้องเช่าในศูนย์การค้าต่างๆ มักจะนำมาหาประโยชน์โดยการให้เช่า สิ่งที่พบบ่อยมาก คือ เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุด ผู้เช่ามักไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่าและงดจ่ายค่าเช่า บางครั้งยังท้าทายให้ฟ้องคดีหวังจะซื้อเวลาใช้ประโยชน์ต่อไปนานที่สุด ผู้ให้เช่าบางท่านเลือกจะตัดสาธารณูปโภคในสถานที่เช่าก่อน แทนการฟ้องคดีขับไล่ทันที จึงโดนผู้เช่าฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานทำละเมิด ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิตัดน้ำตัดไฟหรือไม่ เพียงใด

        คดีพิพาทประเภทนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ในที่สุดจึงมีคำตอบคลายความข้องใจใน คำพิพากษาฎีกาที่ 3921/2535 ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่าทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ ผู้เช่าไม่มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าอีกต่อไป การไม่จ่ายไฟ น้ำประปา และใส่กุญแจ เพื่อมิให้ผู้เช่าเข้าไปใช้สถานที่เช่า เป็นการกระทำภายหลังสัญญาเช่าได้สิ้นสุดลง กรณีนี้ได้มีกำหนดเวลาให้ผู้เช่าพอสมควรแล้ว จึงไม่ถือเป็นการทำละเมิด ผู้เช่าไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ขาดรายได้จากกิจการของผู้เช่า

        เมื่อศาลได้พิพากษาคดีดังกล่าว ทำให้ผู้ให้เช่าทราบขอบเขตที่กระทำได้ภายใต้หลักกรรมสิทธิ์และต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้เช่าเกินเหตุด้วย บางกรณีอาจเคยได้ยินว่า ผู้ให้เช่ามักใส่กุญแจเพื่อมิให้เข้าไปในสถานที่เช่า แม้จะทำได้ตามข้อวินิจฉัยข้างต้น แต่ต้องคำนึงด้วยว่า ผู้ให้เช่ากระทำครบตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ เช่น มีการบอกเลิกสัญญาเช่าอย่างถูกต้อง การให้เวลาพอสมควรในการขนย้าย เป็นต้น อีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังอย่างมาก คือ ถ้าไม่มีผู้เช่าอยู่ในสถานที่เช่า แล้วใส่กุญแจ เมื่อเขามาเอาสิ่งของภายหลัง ต้องคืนให้ กรณีนี้จึงไม่ถือเป็นละเมิด ดังนั้น เพื่อมิให้ผู้เช่าโต้เถียงหรือถ่วงเวลา ผู้ให้เช่าควรกำหนดชัดเจนในสัญญาเช่าว่า เมื่อผู้เช่าผิดสัญญาเช่าข้อใดก็ตาม ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่าได้ทันที มันจักสร้างความชัดเจนในการรับรองสิทธิผู้ให้เช่ามากยิ่งขึ้น

        ข้อเตือนใจผู้ให้เช่าที่ต้องจดจำด้วย คือ ห้ามการฉุดลากผู้เช่าออกไปจากสถานที่เช่าเด็ดขาด เพราะอาจเป็นความผิดและรับโทษอาญาได้ ดังนั้น ผู้ให้เช่าจำต้องมีสติเพื่อจัดการปัญหานี้ มันคงไม่คุ้มค่าในการได้สถานที่เช่าคืนพร้อมคดีอาญาติดตัวด้วยแน่

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คุณ ลีลา LAW

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย