สิ่งที่จำเป็นย่อมชอบด้วยกฎหมาย Quod est necesssarium est licitum

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
21/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

สิ่งที่จำเป็นย่อมชอบด้วยกฎหมาย Quod est necesssarium est licitum
        ตามธรรมดากฎหมายจะไม่ลงโทษผู้ทำความผิดโดยเหตุที่ตนถูกบังคับ เมื่อตนไม่มีทางเลือกอื่นใดที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ความจำเป็นดังกล่าวจึงทำให้เกิดอำนาจให้กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย


        ท่านลอร์ดเบคอนกล่าวว่า “ความจำเป็น” มีได้ ๓ ประการ คือ

        ๑. ความจำเป็นเพื่อให้รักษาชีวิตอยู่ได้

        ๒. ความจำเป็นต้องปฏิบัติ

        ๓. ความจำเป็นโดยสภาพหรือโดยกิริยาอาการของบุคคลที่ ๓

        อย่างไรก็ตาม การจำแนกประเภทแห่งความจำเป็นดังกล่าวอาจไม่ตรงกับข้อความคิดในสุภาษิตเท่าที่ควร แต่สามารถอธิบายให้เข้าใจสุภาษิตกฎหมายดังกล่าวได้


        ๑. การที่บุคคลจะต้องพยายามรักษาชีวิตของตนเอง โดยถือว่าอำนาจของบุคคลเกิดจากความจำเป็นเด็ดขาด และไม่มีเงื่อนไข เช่น กรณีติดอยู่บนแพกลางทะเลไม่มีอาหารให้รับประทาน คนหนึ่งหิวจวนจะสิ้นใจ จึงหาทางฆ่าอีกคนหนึ่งเพื่อที่จะเอาเนื้อมารับประทานเป็นอาหาร ดังนี้ ต้องถือว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่า และแม้จะมีเหตุผลควรเชื่อว่าบุคคลทั้งสองไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากปราศจากกระทำเช่นว่านี้ ก็ไม่เป็นข้ออ้างให้เกิดอำนาจที่จะกระทำเช่นนั้นได้ตามกฎหมาย หากแต่ท่านลอร์ดเบคอนเห็นว่าถ้าบุคคลใดหิวโหยอยู่และอาจสิ้นใจด้วยความหิวโหยนั้นได้หยิบฉวยอาหารผู้อื่นกินเพื่อประทั่งชีวิต ดังนี้ ไม่ควรถือว่าเป็นการลักทรัพย์มีโทษ แต่ท่านแซลมอนด์กล่าวว่าไม่มีกฎหมายใดที่จะบัญญัติสนับสนุนความเห็นเช่นนี้


        อย่างไรก็ดี กรณีที่บุคคลใดถูกทำร้ายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเขาไม่มีทางจะหลีกหนีไปได้ ชีวิตของเขาเข้าใกล้อันตรายในบัดนั้น เขาจึงฆ่าผู้ร้ายเพื่อป้องกันชีวิตของตนย่อมไม่มีโทษ แต่ก่อนที่เขาจะลงมือควรจะได้ล่าถอยออกไปไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้ แต่หากเป็นกรณีที่บุคคลสองคนวิวาทต่อสู้กันแล้ว หากมีการทำร้ายให้อีกคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจะอ้างเหตุว่ากระทำโดยป้องกันมิได้ จนกว่าจะได้ล่าถอยไปแล้วโดยสุจริตใจ


        ๒. ความจำเป็นต้องปฏิบัติ การที่บุคคลมีหน้าที่ตามกฎหมายและได้กระทำตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้แล้วจะไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย เช่น เจ้าพนักงานเรือนจำนำนักโทษคุมขังไว้ตามคำสั่งของศาล หรือเพชฌฆาตนำนักโทษไปประหารตามคำพิพากษาของศาล หรือตำรวจจับกุมบุคคลที่กระทำความผิดย่อไม่มีความผิดตามกฎหมาย เป็นต้น


        ๓. ความจำเป็นโดยสภาพหรือโดยกริยาอาการของบุคคลที่ ๓ โดยปกติแล้วย่อมไม่สามารถเป็นข้ออ้างตามกฎหมายได้ เว้นแต่ จะเป็นสิ่งซึ่งตามสภาพต้องทำไปอย่างแน่แท้ และมิได้เกิดจากเจตนาหรือความสมัครใจในการกระทำการดังกล่าว เช่น นายแดงจับมือนายดำซึ่งถือปืนอยู่กดนกให้ลั่นไกยิงไปถูกนายเขียวตายโดยนายดำไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงอย่างไรแล้ว นายแดงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ส่วนนายดำแก้ตัวได้ตามกฎหมาย


        ข้อสังเกต ความจำเป็นโดยกริยาอาการของบุคคลที่ ๓ นั้น ตามหลักเรื่องความจำเป็นในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๗ ต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาในการกระทำและเป็นผู้ลงมือกระทำเองโดยอยู่ในสภาวะถูกบังคับซึ่งหากตนไม่กระทำตามอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น นายแดงยกปืนขึ้นจ่อศีรษะนายดำบังคับให้นายดำใช้ไม้ตีนายเขียวโดยขู่ว่าหากนายดำไม่ใช้ไม้ตีนายเขียวแล้วตนจะยิงนายดำ นายดำเกิดความกลัวจึงใช้ไม้ตีนายเขียวได้รับบาดเจ็บ กรณีเช่นนี้ถือเป็นการกระทำโดยจำเป็นตามมาตรา ๖๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากนายดำเจตนาตีนายเขียว และตนเป็นผู้ตีนายเขียวเอง ดังนี้ หากเป็นกรณีที่นายแดงจับมือนายดำแล้วลั่นไกยิงนายเขียว เช่นนี้น่าจะถือว่านายแดงเป็นผู้ยิงนายเขียวเสียเองโดยที่ไม่มีการกระทำของนายดำเกิดขึ้น กล่าวคือ นายดำมิได้คิดและตกลงใจที่จะยิงนายเขียวตั้งแต่ต้น และการลั่นไกลปืนเกิดจากการกระทำของนายแดงเอง จึงถือว่าไม่มีการกระทำของนายดำเกิดขึ้นเลยกรณีจึงไม่ต้องพิจารณาเหตุแห่งความจำเป็นตามกฎหมายแต่อย่างใด


        กรณีความผิดที่กระทำด้วยความยำเกรงบังคับให้กระทำนั้นไม่เป็นข้อแก้ตัวตามกฎหมาย แต่มีข้อยกเว้นซึ่งตามกฎหมายอังกฤษยกเว้นให้อย่างเดียว คือ ระหว่างสามีภรรยา โดยภรรยาถูกสามีบังคับต่อหน้าให้กระทำความผิดอาญา หากได้กระทำความผิดตามที่ถูกบังคับแล้วย่อมสามารถยกขึ้นแก้ตัวได้ตามกฎหมาย


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย