หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิด...

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
อภิชาติ แจ้งยุบล สำนักงานกฎหมายติลลีกี แอนด์ กิบบินส์ March 20, 2001 www.lawonline.co.th

หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิด...


(A Government Agency shall be liable to the aggrieved party for the consequence of such tort as committed by its official in the performance of duty)
        พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (Tortious Liability of Officials Act B.E. 2539) มีผลใช้บังคับโดยมีวัตถุประสงค์ และเหตุผลของการที่เจ้าหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของหน่วยงานของรัฐ หาได้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัวไม่ การปล่อยให้ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ และเกิดความเสียหายแก่เอกชนเป็นไปตามหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ จึงเป็นการไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดในการกระทำต่าง ๆ เป็นการเฉพาะตัวเสมอไป เมื่อการที่ทำไปทำให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเพียงใด ก็จะมีการฟ้องไล่เบี้ยเอาจากเจ้าหน้าที่เต็มจำนวนนั้น ทั้งที่บางกรณีเกิดขึ้นโดยความไม่ตั้งใจ หรือความผิดพลาดเล็กน้อยในการปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนั้น ยังมีการนำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมในระบบกฏหมายแพ่งมาใช้บังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้อื่นด้วย ซึ่งระบบนั้นมุ่งหมายแต่จะได้เงินครบ โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมที่จะมีต่อแต่ละคน กรณีเป็นการก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม แก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนกำลัง ขวัญในการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้วย จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาในการบริหารเพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าตัดสินใจดำเนินงานเท่าที่ควร เพราะเกรงความรับผิดชอบที่จะเกิดแก่ตน อนึ่งการให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่เพื่อควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ยังมีวิธีการในการบริหารงานบุคคล และการดำเนินการทางวินัยกำกับดูแลอีกส่วนหนึ่ง อันเป็นหลักประกันมิให้เจ้าหน้าที่ทำการใด ๆ โดยไม่รอบคอบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงสมควรให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่เฉพาะ เมื่อเป็นการจงใจกระทำเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น และให้แบ่งแยกความรับผิดของแต่ละคนมิให้นำหลักลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ

        เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องนำหลักทั่วไปว่าด้วยการกระทำละเมิด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 มาใช้บังคับ ส่วนหน่วยงานของรัฐ ไม่อาจนำหลักเรื่องนายจ้างลูกจ้างมาใช้บังคับได้ แต่โดยที่หน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงต้องนำหลักว่าด้วยความรับผิดของนิติบุคคลในกรณีผู้แทนของนิติบุคคล หรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลกระทำตามหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นขึ้นมาใช้บังคับคดี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย

        พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 5 “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

        ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใด ให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง”

        กรณีหน่วยงานของรัฐต้องรับผิด ในความเสียหายของผู้เสียหายหรือผู้ถูกกระทำละเมิดนั้น ต้องปรากฏว่าความเสียหายของผู้เสียหาย เกิดจากผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่

        ฎีกา 179/2495 มีผู้ลักลอบเอาโฉนดที่ดินซึ่งเจ้าของแจ้งหาย และขอใบแทนไปแล้วมาหลอกจำนองไว้กับโจทก์ ปรากฏว่าใบโฉนดฉบับหลวงได้จดแจ้งการออกใบแทนโฉนดพร้อมทั้งวัน เดือน ปี ไว้ ด้วยหมึกสีแดงเห็นได้อย่างสะดุดตา แต่เจ้าพนักงานที่ดินกระทำโดยประมาทละเลยต่อการตรวจดูตามสมควร จึงได้มีการจำนองต่อกันเป็นที่เสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นเจ้าพนักงานที่ดินต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น และกรมที่ดินต้องรับผิด

        ฎีกา 3015/2530 จำเลยที่ 1 กรมตำรวจ จำเลยที่ 2 พนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจในฐานะพนักงานสอบสวนยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์มาเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องเก็บรักษารถยนต์พิพาทพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ในที่ปลอดภัย ทั้งต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควร มิให้รถยนต์พิพาทและอุปกรณ์ต้องสูญหายหรือเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ริมถนนนอกเขตสถานีตำรวจ และไม่จัดให้มีผู้ดูแลรักษารถยนต์เลย เมื่ออุปกรณ์ของรถยนต์พิพาทหายไป จึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 แม้จะมีระเบียบกรมตำรวจระบุให้ผู้บังคับกอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นผู้เก็บรักษาของกลาง ก็ไม่มีข้อความใดระบุว่าผู้บังคับกองหรือหัวหน้าสถานีตำรวจจะต้องรับผิดชอบในเรื่องเก็บรักษาของกลางแต่เพียงผู้เดียว ทั้งยังเป็นระเบียบภายในกรมตำรวจด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในเรื่องความรับผิดของจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการในสังกัด จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 เมื่อจำเลยที่ 2 กระทำการตามหน้าที่ และทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 กรมตำรวจ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 พนักงานสอบสวน ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดแก่โจทก์ด้วย

[แก้ไข] เจ้าหน้าที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่
        ฎีกา 3251/2525 น. และ พ. เป็นตำรวจสถานีเดียวกัน พ. กับพวกได้รับคำสั่งให้ไปจับคนร้ายในเวลากลางคืน พ. ทราบเหตุได้เข้าร่วมจับด้วย แต่ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้สำคัญผิดว่า น. ซึ่งแต่งกายนอกเครื่องแบบ และถืออาวุธปืนเป็นคนร้าย พ. ยิง น. ตาย พ. ถูกฟ้องและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว การกระทำละเมิดของ พ. เป็นไปในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นตำรวจ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์บุตร น. กรมตำรวจจำเลยเป็นเจ้าสังกัดของ พ. ผู้กระทำละเมิดในขณะปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าเสียหายแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76

        ฎีกา 5047/2539 สิบตำรวจตรี ร. ตำแหน่งเจ้าหน้าที่จราจร สังกัดกรมตำรวจ จำเลยเห็นผู้ตายจอดรถยนต์บนทางเท้า จึงไปขอตรวจดูใบอนุญาตขับรถยนต์ เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ เมื่อสิบตำรวจตรี ร. แย่งอาวุธปืนจากผู้ตายและทำร้ายผู้ตาย ย่อมเป็นการกระทำละเมิดเนื่องจากการปฏิบัติการตามหน้าที่ หลังจากทำร้ายผู้ตายแล้ว เกิดการโต้เถียงกับผู้ตายร้อยตำรวจโท ส. รองสารวัตรจราจรมาพบได้เข้าไปไกล่เกลี่ย เมื่อพวกของผู้ตายมาถึงได้มีการต่อว่าร้อยตำรวจโท ส. เรื่องสิบตำรวจตรี ร. ทำร้ายผู้ตายและได้พูดหมิ่นสิบตำรวจตรี ร. เป็นเหตุให้สิบตำรวจตรี ร. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นผลต่อเนื่องมาจากการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76

        การที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายนั้น ต้องปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ มีหลักการคือ ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ต้องได้กระทำละเมิด ต้องได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง หมายความว่า ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐเป็นจำเลยได้เลย ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่อาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้

[แก้ไข] ข้อยกเว้นกรณีหน่วยงานของรัฐไม่ต้องรับผิด
        กรณีที่การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ไม่อาจฟ้องให้หน่วยงานของรัฐรับผิดได้ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มาตรา 6

[แก้ไข] วิธีการให้รัฐจ่ายค่าสินไหมทดแทน
        กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้เสียหายใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาคำขอชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ หรือผู้เสียหายได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีฟ้องคดีหน่วยงานของรัฐ ซึ่งล่าช้าและเสียเวลา

        เมื่อมีการยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการต่อไปโดยไม่ชักช้า หลังจากนั้นคณะกรรมการจะทำการบันทึกการสอบสวน รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน พยานแวดล้อมอื่น ๆ เมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งและแจ้งให้ผู้เสียหายทราบแล้ว หากผู้เสียหายไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ การพิจารณาคำขอของผู้เสียหาย ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ยื่นคำขอ หากมีปัญหาอุปสรรคใด ๆ ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดมีอำนาจขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 180 วัน การขยายนี้ต้องไม่เกิน 360 วัน นับแต่ผู้เสียหายยื่นคำขอ การขอให้หน่วยงานของรัฐใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งไม่ผ่านกระบวนการยื่นฟ้องต่อศาล เป็นการที่ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะหากยื่นต่อศาลปกครอง จะต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราร้อยละ 2.5 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ของค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง ดังนั้นผู้เสียหายควรจะใช้วิธียื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐ อันเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาล

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.lawonline.co.th
อภิชาติ แจ้งยุบล สำนักงานกฎหมายติลลีกี แอนด์ กิบบินส์ March 20, 2001

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย