วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
31/01/2008
ที่มา: 
เว็บไซต์ศาสนาพุทธ เว็บไซต์ธรรมะไทย ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เว็บไซต์ธรรมะจักร

หลวงปู่ขาว
        หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดป่าถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำพู จ.อุดรธานี


[แก้ไข] ประวัติ
        หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัด หนองบัวลำภู นามเดิมชื่อ ขาว โคระถา เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2431 ที่บ้านชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โยมบิดาชื่อ พั่ว โยมมารดาชื่อ รอด โคระถา มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 7 คน ท่านเป็นคนที่ 4 อาชีพหลักของครอบครัว คือ ทำนาและค้าขาย เมื่อท่านอายุได้ 20 ปี บิดามารดาได้จัดให้มีครอบครัว ภรรยาของท่านชื่อ นางมี และได้มีบุตรด้วยกัน 3 คน ซึ่งต่อมาได้แยกทางกัน ท่านเป็นผู้มีนิสัยเด็ดเดี่ยวเอาจริงเอาจังมาก ประกอบกบความมีศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งสอนให้คนทำจริง ในสิ่งที่ควรทำ เมื่อท่านได้บวชในพระพุทธศาสนา ท่านจึงรู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ

        ชีวิตสมณะของท่าน เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 เมื่อท่านอายุได้ 31 ปี โดยอุปสมบทที่วัดโพธิ์ศรี บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมีท่านพระครูพุฒิศักดิ์เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์บุญจันทร์ เป็นพระกรราวาจาจารย์เมื่ออุปสมบทแลัว ท่านได้จำพรรษาที่วัดโพธิ์ศรี เป็นเวลา 6 พรรษา เนื่องจากท่านได้บังเกิดศรัทธาในปฏิปทาของพระอาจารย์มั่น หลวงปู่จึงได้ญัตติเป็นพระธรรมยุติ เมื่อปี พ.ศ.2468 อายุได้ 37 ปี ณ พันธสีมา วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วได้จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีเป็นเวลา 8 ปี จากนั้นได้เดินธุดงค์ตาม ท่านพระอาจารย์ปู่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ไปปฏิบัติธรรมในสถานที่ต่างๆ ท่านออกเดินทางทุกปี และได้สมบุกสมบันไปแทบทุกภาคของประเทศ นอกจากนี้ ท่านยังได้เคยเดินธุดงค์ร่วมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เป็นเวลารวมกันหลายปีอีกด้วย

        ท่านได้ธุดงค์จาริกไปตามถิ่นต่าง ๆ จนในที่สุดก็มาพำนักจำพรรษาอยู่ที่ วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อ พ.ศ.2501 จวบจนมรณภาพ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมพ.ศ.2526 ในวันพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ปรากฏว่า วัดถ้ำกลองเพล ซึ่งมีอาณาบริเวณหลายพันไร่กลับคับแคบไปถนัดใจ ประชาชนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลกันมาถวายสักการะสรีระร่างของท่านนับเป็นจำนวนแสนคน นับเป็นประวัติการณ์สูงสุดของประเทศทีเดียว

        หลวงปู่มีความเด็ดเดี่ยวในข้อวัตรปฏิบัติมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการเดินจงกรม หลวงปู่ได้เน้นเป็นพิเศษ กล่าวคือ เมื่อฉันเสร็จเริ่มเดินจงกรมเป็นพุทธบูชา พอถึงบ่ายสองโมงเริ่ม เดินจงกรมถวายเป็นธรรมบูชา จนถึงบ่าย 4 โมง และเมื่อทำข้อวัตรเสร็จสิ้นแล้วก็จะเริ่มเดินจงกรมถวายป็นสังฆบูชา จนถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม จึงเข้าที่พักเพื่อบำเพ็ญภาวนาต่อไป หลวงปู่ได้บำเพ็ญเพียรออกธุดงค์ เพื่อเผยแผ่พระธรรม คำสอนตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง จนอายุ 70 ปี จึงจำพรรษา เป็นการถาวรที่วัดป่าถ้ำกลองเพล หลวงปู่เป็นภิกษุ ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีข้อวัตรปฏิบัติงดงาม สมควรจดจำเป็นแบบอย่างสืบไป

 


[แก้ไข] ธรรมโอวาท
        ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมเทศนาของท่าน ที่ได้เทศน์โปรดพระเณรและญาติโยม ณ บ้านย่อชะเนง (บ้านเกิดของท่าน) "คนเกิดมาไม่เหมือนกัน เพราะมีความประพฤติที่ต่างกัน ผู้ที่เขาประพฤติดี รักษาศีลมีการให้ทาน มีการสดับรับฟังพระธรรม เขาจึงมีปัญญาดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี

        การจำแนกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่าง ๆ กัน มันเป็นเพราะกรรม ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ ก็ต้องได้รับผลกรรมทั้งกรรมดีกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทน เหตุนี้ เราจึงควรทำกุศล รักษาศีลให้บริสุทธิ์สมบูรณ์ แล้วทำสมาธิจะมีความสงบสงัด จิตรวมลงได้ง่าย เพราะมันเย็น มันราบรื่นดี ไม่มีลุ่มไม่มีดอน จงพากันทำไปใน อิริยาบถทั้งสี่ นั่ง นอน ยืน เดิน อะไรก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริต อันใดมันสะดวกสบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้องฝืดเคือง อันนั้นควรเอาเป็นอารมณ์ของใจ

[แก้ไข] อนุสรณ์สถานที่ถือว่าสำคัญที่สุดของ หลวงปู่ขาว
        อนุสรณ์สถานที่ถือว่าสำคัญที่สุดของ หลวงปู่ขาว ก็คือ วัดถ้ำกลองเพล อันเป็นสถานที่ท่านพำนักจำพรรษามาตั้งแต่ พ.ศ.2501 จนกระทั่งมรณภาพ เมื่อ พ.ศ.2526 ท่านดูแลบริเวณวัดซึ่งมีเนื้อที่กว่าพันไร่ ให้เป็นป่าร่มรื่นบนลากสันเขา มีโขดหินขนาดใหญ่มากมาย เป็นเพิงผาธรรมชาติที่งดงาม ด้านหลังเป็นอ่างเก็บน้ำ ชื่อ อ่างอาราม ซึ่งเป็นโครงการชลประทานพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ


        พุทโธ พุทโธ หมายความว่า ให้ใจยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตออกไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะอารมณ์ภายนอกมันชอบไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทางกาย หากทุกสิ่งทุกอย่างมันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจะไม่รวมลง นี่แหละ เรียกว่า มาร คือ ไม่มีสติ อย่าให้จิตไปจดจ่ออย่างนั้น ให้มาอยู่กับผู้รู้ ให้น้อมเอา พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ จะอยู่ในอิริยาบถใด ก็ให้มีความเพียร

        ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงชั่วช้างพับหู งูแลบสิ้น ชั่วไก่ดินน้ำ นี่ อานิสงส์อักโข ให้ตั้งใจทำไป การที่จิตรวมลงไปบางครั้ง มี 3 ขั้นสมาธิ คือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หากรวมลง ขณิกสมาธิ เราบริกรรมไป พุทโธ หรืออะไรก็ตาจิตสงบไปสบายไปสักหน่อย มันก็ถอนขี้นมา ก็คิดไปอารมณ์เก่าของมันนี่

        ส่วนหากรวมลงไปเป็น อุปจารสมาธิ ก็นานหน่อยกว่าจะถอนขึ้นไปสู่อารมณ์อีกให้ภาวนาไป อย่าหยุดอย่าหย่อน ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องไปนึกคาดหวังอะไร อย่าให้มีความอยาก เพราะมันเป็นตัณหา ตัวขวางกั้นไม่ให้จิตรวม ไม่ต้องไปกำกับว่า อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ การอยากให้จิตรวมลง เหล่านี้แหละเ ป็นนิวรณ์ตัวร้าย

        ให้ปฏิบัติความเพียรไม่หยุดหย่อน เอาเนื้อและเลือด ตลอดจนชีวิตถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ เราจะเอาชีวิตจิตใจ ถวายบูชาพระรัตนตรัย ตลอดจนวันตาย นี่ก็เป็นมัชฌิมาปฏิปทา แล้วจิตจะรวมลงอย่างไร เมื่อไร ก็จะเป็นไปเองเมื่อใจเป็นกลาง ปล่อยวาง สงบถูกส่วน"


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เว็บไซต์ศาสนาพุทธ

เว็บไซต์ธรรมะไทย

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก

เว็บไซต์ธรรมะจักร


ประเภทของหน้า: พระสงฆ์