อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกับศาลรัฐธรรมนูญเสมือนหนึ่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
กลุ่มงานคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกับศาลรัฐธรรมนูญเสมือนหนึ่งเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ


เกริ่นนำ

        โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ได้ประมาณการไว้ว่า มีพืชประมาณ 4,000 ชนิดในโลกนี้ใกล้จะสูญพันธ์ (Endangered) และอัมมาร สยามวาลาอ้างข้อมูลจาก MIDAS ว่าประเทศไทยมีพืชชั้นสูงอยู่ทั้งหมดประมาณ 10,000 กว่าชนิด ในจำนวนนี้มีประมาณ 2,000 ชนิดเป็นพืชที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่อยู่ในระดับสูงบริเวณรอบๆ ยอดดอย

        ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการว่า โลกได้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพวันละ 100 ชนิด และศัตรูที่สำคัญที่สุดคือ "มนุษย์" นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นวัตกรรมต่างๆ เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาธรรมชาติ จนในที่สุดเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพและทรงอิทธิพลยิ่งชนิดหนึ่ง ด้วยกระแสพาณิชย์นิยมผนวกกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีนี้มากขึ้น และเกิดแสวงหากำไรโดยระบบผูกขาดทางการค้า ความต้องการแสวงหาสารพันธุกรรมที่หลากชนิดหลายสายพันธุ์เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว เพื่อผลิตอาหารและยาตามความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต่างๆ ตามแต่ลักษณะและคุณภาพที่มนุษย์ต้องการในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมการเข้าถึงทรัพยากร เช่น กฎหมายว่าด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ป่า, อุทยานแห่งชาติ การสงวนและคุ้มครองพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ต่างๆ แต่ในทางปฏิบัติเป็นที่ยอมรับว่าไม่สามารถป้องกันการลักลอบนำเอาทรัพยากรพันธุกรรมออกไปได้ สถานการณ์เช่นนี้จึงกลายเป็นข้ออ้างเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการนำเอาอนุสัญญาฯ อนุวัตรเข้ามาใช้ภายในประเทศ ให้ประเทศไทยได้มีนโยบายและกฎหมายโดยอัตโนมัติ แต่เหตุผลดังกล่าวไม่เพียงพอที่ฝ่ายประชาชน นักวิชาการ องค์การเอกชนพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตและขายยาแผนโบราณและกระทรวงสาธารณสุขจะวางใจการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ดังกล่าว จึงกลายเป็นข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์การเมืองสีเขียวภายในประเทศไทย โดยในภาคราชการมีทั้งฝ่ายสนับสนุนได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และฝ่ายกังวลใจ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข มานับตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2541 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกันในปัญหาข้อกฎหมาย ที่เกี่ยวกับการตีความคำว่า "บทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ" ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 224 วรรคสอง

        ดังนั้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการถือปฏิบัติ เลขานุการคณะรัฐมนตรีจัดประชุมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และได้ลงมติให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย โดยให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการพิจารณายกร่าง กำหนดประเด็นพร้อมความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งย่อมแสดงนัยยะว่า มีความพยายามที่จะให้สัตยาบันโดยเลี่ยงรัฐสภา ไม่ต้องการให้สาธารณชนและผู้แทนปวงชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ กว่าที่บทความฉบับนี้จะตีพิมพ์ ตุลาการรัฐธรรมนูญคงได้พิจารณาตัดสินไปแล้ว ไม่ว่าการตัดสินใจของตุลาการจะเป็นอย่างไร เรายังคงยืนยันเรื่องการให้สัตยาบัน เพื่อเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมควรผ่านการพิจารณาของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ต้นเรื่องสามารถร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ไปดำเนินการให้สัตยาบันได้โดยเพียงลำพัง กระนั้นหรือ อำนาจการบริหารทรัพยากรของประเทศประชาชนมิได้มีสิทธิในการตรวจสอบเลยหรือบทความนี้จึงถือเป็นควันหลง ทั้งไม่ได้มีเจตนาปฏิเสธหรือโต้แย้งผลการตัดสินใจของคณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ต้องการจุดประกายทางปัญญาเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรชีวภาพ และบรรทัดฐานกฎหมายระหว่างประเทศในอนาคต ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 224 (ฉบับเดิม มาตรา 181) ได้ระบุว่า

"พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา"

        จากความที่ระบุในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นที่มาของ การที่คณะรัฐมนตรีนำเรื่องการเข้าเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างหน่วยราชการ เนื่องจาก กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า สามารถให้สัตยาบันได้โดยเห็นว่า ประเทศไทยมีกฎหมายพร้อมแล้วสามารถไปให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ได้ และเรื่องนี้ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอำนาจแห่งรัฐไทย ในขณะที่ความเห็นขัดแย้งอีกฝ่ายหนึ่ง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า การให้สัตยาบันต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากอนุสัญญาฯ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจนิติบัญญัติของรัฐไทย กล่าวคือต้องตามมาตรา 224 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และอนุสัญญาฯ เป็นกฎหมายเบ็ดเสร็จเมื่อเข้าเป็นภาคีแล้ว ประเทศสมาชิกจะต้องผูกพันและดำเนินการอนุวัตรการตามอนุสัญญาฯ ทุกประการ หากกฎระเบียบใด กฎหมายภายใดใดขัดต่ออนุสัญญาฯ จักต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกับอนุสัญญาทุกประการ โดยปราศจากข้อสงวนใดใด (มาตรา 37) และปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแม่บทและกฎหมายรอง ที่จะกำหนดทิศทางการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะจุลชีพที่ไม่ใช่เชื้อโรค, กฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น, กฎหมายการแบ่งปันผลประโยชน์ กฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ฯลฯ เพื่อรองรับอนุสัญญาฯ


เบื้องหลังความพยายามผูกพันประเทศไทย

        นับแต่ประเทศไทยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้ลงนามเห็นชอบในหลักการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในการประชุมสุดยอดสิ่งแวดล้อมโลก (Earth Summit) ปี พ.ศ. 2535 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ก็เกิดความพยายามเร่งรัดให้ประเทศไทยผูกพันตนเอง ด้วยการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ได้มีการตอบโต้กันทางความคิด โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมอย่างบริสุทธิ์ใจ ในขณะที่อีกฝ่ายขอเตรียมความพร้อมเพื่ออนุวัตการได้อย่างเท่าเทียม โดยวิเคราะห์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพว่า เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มิได้พัฒนาขึ้นเพียงเพื่ออนุรักษ์ แต่กลับกล่าวถึงโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพจากประเทศภาคีสมาชิกอื่น รวมทั้งการระบุว่า ให้ภาคีต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีซึ่งรวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ ถ้าตีความตามเนื้อผ้าคือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่มีคุณค่าในระบบทรัพย์สินทางปัญญาแต่อย่างใด หากมีการแลกเปลี่ยนความรู้ตามระบบทรัพย์สินทางปัญญา มีแต่ไทยต้องควักเม็ดเงินจ่ายแลกให้กับองค์ความรู้ใหม่เท่านั้น และนับแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบันที่ระยะเวลาได้ทอดยาวเนิ่นนาน บัดนี้ยังไม่มีพิธีสารใดเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์เท่าเทียม, การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือความปลอดภัยทางชีวภาพ ฯลฯ เว้นเสียแต่ว่าเราจะมีระบบกฎหมายที่คุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น นอกจากนั้นการเข้าเป็นภาคีสมาชิกจะมีผลดังนี้

        - ประเทศไทยจำต้องถูกบีบบังคับภายใต้อนุสัญญา ด้วยอนุสัญญาฯ มีศักดิ์และสิทธิทางกฎหมายที่เหนือกว่าประเทศสมาชิกมีแต่จะต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ไม่มีข้อสงวนใดๆ ตามมาตรา 37

        - โดยคำปรารภอนุสัญญาฯ ให้ตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นซึ่งเป็นจุดเด่นของอนุสัญญาฯ ที่ประเทศด้อยพัฒนาคาดหวังว่าจะได้รับความตระหนักถึงคุณค่า แต่จนปัจจุบันอนุสัญญาฯ ยังไม่มีพิธีสารคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและการแบ่งปันผลประโยชน์

        - การสนับสนุนทรัพยากรการเงิน ตามมาตรา 20 อาจไม่เป็นตามความคาดหวังของประเทศไทย เพราะการได้รับทุนสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นการบริจาคตามความสมัครใจ ทั้งกลไกการเงินขึ้นอยู่กับสมัชชาภาคีที่จะวางลำดับความสำคัญ (มาตรา 21 และมาตรา 39) โดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกภายใต้ธนาคารโลกก่อนจนกว่าจะมีการตัดสินใจใหม่

        - การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเทศไทยอาจไม่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเท่าที่ควรด้วยโครงสร้าง และกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพของไทยไม่สามารถรองรับได้ และถูกจำกัดโดยกฎหมายสิทธิบัตร

        - ประเทศไทยสามารถดำเนินการพัฒนา ระบบการจัดการด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ ทั้งในด้านนโยบาย กฎหมาย และองค์กรได้เองโดยไม่ต้องมีการเร่งรัดหรือนำกฎหมายสากลมาครอบใช้

        - อนุสัญญาฯ ไม่อนุญาตให้มีข้อสงวนสิทธิใดๆ (มาตรา 37) นอกจากนี้การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแทนการตราพระราชบัญญัติ จะไม่มีศักดิ์และสิทธิเพียงพอที่จะให้ความคุ้มครอง หรือเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากผู้มาใช้ทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย นับแต่นั้นมา การนำเสนอความเห็นแลกเปลี่ยนไปมาระหว่าง 2 ฝ่าย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งทางหนังสือราชการ และการติดต่อตรงกับระดับผู้บริหาร โดยมีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ประสานประเด็นความขัดแย้งให้เหลือน้อยที่สุด ก่อนเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ดังนี้

        - คณะรัฐมนตรีมีมติ (15 กรกฎาคม 2540) เห็นชอบในหลักการเข้าเป็นภาคีโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เสนอและการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้จะต้องมีกฎหมายบังคับ เพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญา และให้นำข้อเสนอเข้าสภา

        - กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอขอให้แก้ไขมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 เป็น "เนื่องจากกฎหมายภายในของประเทศไทยที่มีอยู่แล้ว ในขณะนี้เพียงพอต่อการอนุวัตการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติอนุวัติการอีก และไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้ให้แสดงไว้ชัดเจนในแถลงการณ์แนบท้ายสัตยาบันสาร declaration upon ratification ว่าการเป็นภาคีอนุสัญญาไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจอธิปไตย และขอบเขตอำนาจรัฐ และการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ จะเป็นไปตามกฎหมายภายใน" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้แก้ไขได้ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเสนอ

        - กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี โดยขอให้กระทรวงการต่างประเทศให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว โดยไม่ต้องทำแถลงการณ์แนบท้ายสัตยาบันสาร เพราะทราบดีว่าอนุสัญญาห้ามมีข้อสงวน การมีมติในข้อสองแสดงให้เห็นว่าผู้เสนอไม่รู้จริงเกี่ยวกับอนุสัญญา

        - สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติว่า การเข้าเป็นภาคีต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน โดยมีความเห็นว่า ตามบทบัญญัติ Article 15 ของอนุสัญญาดังกล่าว จะทำให้เนื้อหากฎหมายไทยเปลี่ยนแปลงไป มีผลระดับเดียวกับการต้องมีกฎหมายบังคับ เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจของรัฐในทางนิติบัญญัติ

        - สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เสนอความเห็นของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ มีผลกระทบต่อ "เขตอำนาจรัฐ" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญาฯ ด้วย

        - เลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาหารือ เพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้เป็นการภายใน ระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2541 ที่สุดเห็นควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความคำว่า "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ตามความหมายของมาตรา 224 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฯ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป จากความเคลื่อนไหวผลักดันการเร่งรัดเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยเลี่ยงสภา และซ้ำให้ทำแถลงการณ์แนบท้ายสัตยาบันสาร ได้ย้ำถึงพฤติกรรมเลี่ยงรัฐธรรมนูญและอำพรางฝ่ายนิติบัญญัติฝ่ายการเมืองว่า สามารถทำแถลงการณ์แนบท้ายได้ ทั้งที่อนุสัญญาฯ ห้ามมีข้อสงวนใดใด (มาตรา 37)


อำนาจอธิปไตย คืออะไร

        ประเด็นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง "อำนาจอธิบไตย" จึงนับเป็นการโยนเผือกร้อนให้ศาลรัฐธรรมนูญถึง 2 ชั้น คือ

        1) ชั้นแรก ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 224 โดยเฉพาะวรรค 2 "หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ" ว่าต้องตามกรณีของอนุสัญญาฯ หรือไม่ ? ซึ่งการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีผลต่อการดำเนินการในชั้นที่สองทันที หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าไม่ต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 224 ก็เปรียบเสมือนหนึ่งส่งประเทศไทยให้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา เหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินใจแทนรัฐบาลให้สัตยาบันนั่นเอง เพราะผลที่ได้เท่ากันคือให้สัตยาบันได้โดยกระทรวงการต่างประเทศจะดำเนินการให้สัตยาบันทันที

        2) ชั้นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญย่อมตกเป็นผู้ใช้อำนาจให้ไปดำเนินการให้สัตยาบันสารแทนรัฐสภา หากเกิดความผิดพลาดในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็คงต้องตกเป็นจำเลยในการวิพากษ์วิจารณ์ความเสียหาย ที่จะเกิดขึ้นแก่ประเทศไทยไปชั่วนิรันดร์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญคงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

        แต่ในการนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญคงไม่จำเป็นต้องพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้ง ด้วย "เขตอำนาจรัฐ" มิใช่หมายถึงดินแดนหรือเขตแดงของประเทศ แต่หมายถึงการใช้อำนาจรัฐผ่านกฎหมายด้วย ซึ่งในการนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยได้วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้มีการตอบโต้จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังนี้

        1. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงสาธารณสุข เห็นควรว่า การให้สัตยาบันดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา เนื่องจาก

        - มีผลกระทบต่อ "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ในทางนิติบัญญัติ กล่าวคือ ประเทศไทยได้มีกฎหมายคุ้มครองการเข้าถึงทรัพยากร อาทิ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ว่า จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาต ซึ่งในระบบการอนุญาตนั้น เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการที่จะอนุญาต หรือไม่อนุญาตได้ตามที่ตนเห็นสมควร แต่ตามบทบัญญัติ Article 15 ของอนุสัญญาดังกล่าวจะทำให้เนื้อหาของกฎหมายไทยเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ จะต้องอนุญาตการขอเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมในทุกกรณี หากการเข้าถึงไม่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ยั่งยืน และต่อไปประเทศไทยจะออกกฎหมายให้ขัดต่ออนุสัญญานี้ไม่ได้ด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของกฎหมายไทยนั้น มีผลระดับเดียวกับการต้องมีกฎหมายบังคับเพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญา โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจของรัฐในการนิติบัญญัติ

        อนึ่ง "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ไม่ได้หมายถึง พื้นที่อาณาเขตรัฐเพียงอย่างเดียว แต่มีความหมายเกี่ยวกับอำนาจของรัฐอย่างแท้จริง การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว ที่จะกระทบกระเทือนคือ อำนาจอธิปไตยของรัฐที่ถูกจำกัด จึงควรให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อน การมีกฎหมายภายในประเทศครบ หรือไม่ครบไม่เกี่ยวกับการเสนอให้รัฐสภา ให้ความเห็นชอบ แต่ต่อไปเมื่อเป็นภาคีแล้ว การออกกฎหมายต้องเป็นไปตามอนุสัญญา รัฐบาลไม่สามารถออกกฎหมายห้ามการเข้าถึงพันธุกรรมได้

        - อนุสัญญานี้มีกำหนดใน Article 37 รัฐภาคีไม่อาจตั้งข้อสงวน (reservation) ใดๆ ในการเข้าเป็นภาคี กล่าวคือ รัฐภาคีต้องยอมรับปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ทั้งหมด จะยกเว้นข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเมื่อต้องยอมรับปฏิบัติตามเงื่อนไขของ Article 15 จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

        - การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว จำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติ เพื่อให้การเป็นไปตามอนุสัญญา ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 224 วรรค 2 ในกรณีนี้รัฐจำเป็นต้องออกพระราชบัญญัติอย่างน้อย 3 ฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช และพระราชบัญญัติป่าชุมชน ดังนั้นการให้สัตยาบันดังกล่าวจึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน


        2. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่าไม่ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภา เนื่องจากกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้ เพียงพอกับการอนุวัตการอนุสัญญานี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมอีก และไม่ใช่เรื่องเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศ หรือเขตอำนาจรัฐ รัฐบาลสามารถมอบให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการต่อไปได้ ความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ดูเหมือนนักกฎหมายก็แบ่งเป็นสองค่ายเช่นกัน


        3 เพื่อคุ้มครองและป้องกันการเสียเปรียบ จึงเห็นสมควรให้ประกาศใช้กลไกกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช กฎหมายป่าชุมชนเสียก่อนที่จะลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดังกล่าว


วิเคราะห์อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

        1. ปรัชญา เจตนารมย์ วัตถุประสงค์ และสาระสำคัญ

        วัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฯ

        1. การอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ

        2. การใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

        3. การแบ่งปันผลประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึง

สิทธิอธิปไตย
การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี
การสนับสนุนทุนอย่างเหมาะสม
        ระบุ : มาตรา 1 - 4, ม. 15


        2. ความร่วมมือในการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

        - ระบุความร่วมมือ โดยเฉพาะบริเวณที่นอกเหนือขอบเขต อำนาจความรับผิดชอบของชาตินั้น

        - วางแผนมาตรการระดับชาติ

        - จำแนก ระบุการติดตามตรวจสอบ ชี้ให้เห็นภัยคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ

        - การอนุรักษ์ในถิ่นที่อยู่อาศัย

        - การอนุรักษ์นอกถิ่นที่อยู่อาศัย

        - การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

        - การวิจัยและพัฒนาฝึกอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึก

        - การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

        ระบุ : ม.5-14


        3. การเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม

        แต่ละภาคีจักต้องพยายามในการสร้างเงื่อนไขเพื่อเอื้ออำนวยแก่ภาคีอื่นๆ ในการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรม โดยการเข้าถึงจะต้องอยู่ภายใต้พื้นฐาน "การตกลงร่วมกัน" และ "การบอกกล่าวล่วงหน้า" ทรัพยากรซึ่งถูกจัดหาให้โดยภาคี(ทั้งภาคีที่จัดหาให้ และหรือภาคีเจ้าของแหล่งกำเนิด) ต้องดำเนินการวิจัยทรัพยากรพันธุกรรม ในประเทศแหล่งกำเนิดพันธุกรรมนั้น และควรแบ่งปันผลประโยชน์แก่ภาคีซึ่งให้ทรัพยากรเหล่านั้น

        ระบุ : ม.15


        4. การเข้าถึงและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภาคีจักต้องอำนวยความสะดวก แก่การเข้าถึงและถ่ายทอดเทคโนโลยี 2 ประเภท คือ

        - เทคโนโลยีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

        - เทคโนโลยีในการใช้ทรัพยาพันธุกรรม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ภายใต้เงื่อนไขที่ยุติธรรม และสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

        ระบุ : ม.16


        5.การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความร่วมมือทางด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์

        สนับสนุนให้ภาคีเอื้ออำนวยการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล และผลการวิจัย ให้ความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับความรู้เฉพาะ เช่นภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการส่งข้อมูลข่าวสารกลับคืนสู่ประเทศเดิมด้วย

        ระบุ : ม.17-18


        6. เทคโนโลยีชีวภาพ กำหนดให้ภาคีต่างๆ จัดให้ภาคีประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งให้สารพันธุกรรมให้เข้าร่วมในกิจกรรมการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ และได้รับความสำคัญก่อน ในการเข้าถึงผลประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพยากรพันธุกรรม

        โดยอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรมและเท่าเทียม อีกทั้งต้องพิจารณาถึงความต้องการ และความจำเป็นในการถ่ายทอดสิ่งมีชีวิต ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอย่างปลอดภัย

        ระบุ : ม.19


        7. ทรัพยากรการเงิน

        - ภาคีต้องหาทุนสนับสนุน เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาใช้จ่าย โดยคำนึงถึงลำดับความสำคัญและการขจัดความยากจน

        - จัดตั้งกลไกเพื่อจัดหาเงิน วางนโยบาย กฎเกณฑ์และมาตรการ

        - กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ภายใต้ธนาคารโลกจะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้าง เพื่อเป็นกลไกการเงินเฉพาะกาลก่อน

        ระบุ : ม.20-21,ม.39


        8. การสงวนสิทธิ์

        ระบุ : ม.37


        9. การเพิกถอนสิทธิ์

        ระบุ : ม.38 กฎหมายภายในประเทศไทยและข้อคิดเห็น


        1. การอนุรักษ์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมายไทยได้ให้การคุ้มครององค์ประกอบความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น พื้นที่ ชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ น้ำ อากาศ แร่ธาตุ ฯลฯ โดยมุ่งที่ "คน" เป็นเป้าหมายหลัก แต่การให้ความสำคัญแก่ทรัพยากรชีวภาพองค์รวมเป็นหลัก ไม่ปรากฎในกรอบระดับนโยบาย ซึ่งให้น้ำหนักกับการพัฒนารายได้มวลรวมของชาติเป็นสำคัญ


        2. อนุสัญญาฯ เป็นกฎหมายระดับนานาชาติสำเร็จรูป การปรากฎตัวของอนุสัญญาเป็นผลดีที่จะทำให้ระดับนโยบายของไทยเข้าใจ และตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ในขณะเดียวกันก็สามารถนำกรอบกฎหมายสากล เป็นกรอบกฎหมายไทยอย่างเบ็ดเสร็จสำเร็จรูป


        3. ปัจจุบันกฎหมายไทย ให้ความคุ้มครององค์ประกอบความหลากหลายทางชีวภาพ 2 กรณี คือ

        ก.) การคุ้มครองพื้นที่ หรือแหล่งที่อยู่อาศัย มีกฎหมายคุ้มครอง 4 ฉบับ ดังนี้ คือ

        - พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490

        (ห้ามให้บุคคลใดทำการประมง...ในที่รักษาพืชพันธุ์ : ม.9)

        - พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2540

        (ในเขตอุทยานฯ ห้ามให้เข้าไปดำเนินกิจการใดใดให้เป็นอันตราย หรือเสื่อมสลายซึ่งไม้ สัตว์ ดอกไม้ ใบไม้ ผลไม้หรือ ทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือเข้าไปดำเนินกิจกรรมใดๆ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ : ม.16)

        - พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507

        (ในเขตป่าสงวนแห่งชาติห้ามให้บุคคลใด...ทำไม้ เก็บของป่า: ม.14)

        - พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535         (ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนแห่งชาติหรือสัตว์คุ้มครอง หรือมิใช่... : ม.36)

        - พ.ร.บ.บำรุงพันธุ์สัตว์ พ.ศ……….         คุ้มครองภายในพื้นที่และคุ้มครองพันธุ์สัตว์บางประเภท

        ข.) การคุ้มครองชนิดพันธุ์ สายพันธุ์โดยเฉพาะ มีกฎหมายคุ้มครอง 4 ฉบับ ดังนี้

        - พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แก้ไขเพิ่มเติมถึง พ.ศ.2532

        (ผู้ใดเก็บหาของป่าหวงห้ามหรือทำอันตรายใดๆแก่ของป่าหวงห้ามในป่า ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ : ม.11, ม.29)

        - พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535

        (ห้ามให้ผู้ใดล่า ส่งออก สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือสัตว์ป่าชนิดที่รัฐมนตรีประกาศ : ม.16-23 )

        - พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518,2535

        (ห้ามให้ผู้ใดรวบรวมขาย นำ หรือส่งออก ซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า พืชอนุรักษ์ และซากของพืชอนุรักษ์ พืชสงวน : ม.12,ม.29, ม.31)

        - พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509

        คุ้มครองเฉพาะพืชยาสูบ และการรวบรวมการส่งออกจะต้องได้รับอนุญาต

        พ.ร.บ.เชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2525

        คุ้มครองเฉพาะจุลินทรีย์ที่ก่อโรคโดยห้ามบุคคลกระทำการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก นำผ่านหรือครอบครองเชื้อโรคและพิษที่ได้รับการคุ้มครองตามวาระนี้ กฎหมายทั้งหมดมิได้คุ้มครองเข้มงวดเด็ดขาด มีข้อยกเว้นและสามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่ได้หรือยกเว้นการศึกษาวิจัย

        นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบความหลากหลาย เช่น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 พ.ร.บ. เหมืองแร่ ฯลฯ


        "สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม" กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำนโยบายมาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ…. อันเป็นความรับผิดชอบของภาคีสมาชิก ประเทศไทยพยายามที่จะรองรับพันธะกรณี ในลักษณะการจัดการเพื่อการใช้ประโยชน์ มากกว่าที่จะเป็นการควบคู่กันไประหว่างการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ โดยอาจสังเกตร่างระเบียบฯ ที่ร่างใหม่ล่าสุดมีการเพิ่มเรื่อง "ความปลอดภัยทางชีวภาพ" (ข้อ 9.9) แต่ข้อจำกัดคือร่างระเบียบฯ ไม่ได้กำหนดมาตรการที่ชัดเจนใดๆ และไม่สามารถบังคับใช้หน่วยงานอื่นๆ เพราะมีศักดิ์และสิทธิต่ำกว่าพระราชบัญญัติ ในขณะเดียวกันไม่สามารถบังคับเอกชนได้ด้วย มีเพียงการประสานและขอความร่วมมือได้เท่านั้น

        แม้อนุสัญญาฯ จะกำหนดหลักการที่ดูเหมือนจะเป็นธรรม ได้แก่

        1.การแจ้งล่วงหน้า อาจทำต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐหรืออาจกระทำต่อปัจเจกชน หรือสถาบันที่เป็นเจ้าของหรือภาคีประเทศนายหน้าจัดหาสารพันธุกรรมก็ได้ โดยเฉพาะการติดต่อผ่านเอกชนจะเป็นไปโดยเสรี อนุสัญญาฯ ไม่มีผลอย่างไร ร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ไม่สามารถควบคุมกำกับหน่วยงานราชการอื่น ซึ่งส่วนใหญ่คือ เกษตรกรและสหกรณ์ หรือเอกชนหรือสถาบัน ฯลฯ ได้ ดังนั้น หลักการแจ้งล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความยินยอมแก่บุคคล ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการเข้าถึง และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ คือ ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนหมอยา กลุ่มเกษตรกรฯ ซึ่งขณะนี้กฎหมายไทยและระดับนโยบายกำลังกระจายอำนาจให้ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 46 ได้แก่ พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ….. พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ…. และพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ….

        2.การตกลงร่วมกัน เป็นการตกลงแบบทวิภาคี 2 ฝ่าย โดยภาคีที่จัดหาให้และ หรือภาคีเจ้าของแหล่งกำเนิดกับประเทศที่ต้องการสารพันธุกรรม ยังเป็นความคลุมเครือในสิทธิของการแบ่งปันผลประโยชน์ และการได้ประโยชน์จากการดำเนินการวิจัยทรัพยากรพันธุกรรมในประเทศภาคี ที่เป็นแหล่งกำเนิดทรัพยากร และประเทศภาคีที่จัดหาสารพันธุกรรมให้ การแจ้งล่วงหน้าในการเข้าถึงและทำความตกลงทั้ง 2 ฝ่ายต้องมีข้อมูลที่ทัดเทียม และสามารถต่อรองล่วงหน้าได้ แต่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ค่อยรู้ข้อมูลของตน จึงมักเสียเปรียบทำนองรู้เขาแต่ไม่รู้เรา หรือไม่รู้เขา และไม่รู้เรา การต่อรองผลประโยชน์ที่ยุติธรรมได้ยาก

        1) การเข้าถึง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหมายความว่าภูมิปัญญาพื้นบ้านจะไม่มีคุณค่าใดๆ นอกจากค่าแรงเก็บตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ

        2) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการเจรจาต่อรอง และศักยภาพในการดูดซับเทคโนโลยีของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ในขณะนี้ผู้เหนือกว่ามีพระราชบัญญัติสิทธิบัตรเป็นเครื่องมือ แต่ชุมชนพื้นเมืองไม่มีกฎหมายใดๆ ให้การคุ้มครองต่อรอง

        3) หลักการในอนุสัญญาฯ ไม่มีผลใช้บังคับกับภาคธุรกิจเอกชน การเข้าถึงและถ่ายทอดเทคโนโลยีจึงเป็นไปตามการเจรจาต่อรอง หรือกลไกตลาด โดยไม่คำนึงถึงมาตรา 16 ของอนุสัญญาก็ได้ ซึ่งตรงกับการตีความของสหรัฐ

        4) การรับรองสิทธิอธิปไตยของรัฐเหนือทรัพยากรชีวภาพ (ม.3) กรณีธนาคารพันธุกรรม (Gene Bank) ยังเป็นความขัดแย้งซึ่งยังไม่มีคำตอบว่า ระหว่างประเทศเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรม ซึ่งบริจาคสารพันธุกรรมให้กับประเทศที่ตั้งธนาคารพันธุกรรม ใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสารพันธุกรรมเหล่านั้น

        5) ผู้จัดหาสารพันธุกรรม กับผู้เป็นเจ้าของพืชพื้นบ้านถิ่นกำเนิดพันธุกรรม ยังมีสิทธิเท่ากันตามอนุสัญญาฯ อีกด้วย มาตรา 17-18 นี้ ถือเป็นจารีตประเพณีของกฎหมายสิ่งแวดล้อมในอดีตที่ผ่านมา ความได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นอยู่กับศักยภาพในการดูดซับ และต่อยอดเทคโนโลยีตลอดถึงการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ผู้ไล่ล่าสารพันธุกรรมย่อมทำตนเป็นศูนย์ข้อมูล และมีอำนาจที่จะคัดสรรข้อมูลส่วนใดที่ควรให้คืนแก่เจ้าของ และไม่มีหลักประกันว่าผู้แชร์ข้อมูลจะได้ข้อมูลของผู้อื่น

        ในการเข้าถึงผลประโยชน์กำหนดให้ภาคีผู้ให้สารพันธุกรรม ได้รับความสำคัญก่อน ทำให้ต้องมาตีความว่า ภาคีผู้ให้สารพันธุกรรม กับประเทศเข้าของสารพันธุกรรมจะมีสิทธิเท่าเทียมกันหรือไม่? และในการเข้าไปค้นหาสารพันธุกรรม มักมีนายหน้าขายสารพันธุกรรมรับจ้างสำรวจข้อมูล และตัวอย่างมักถูกแบ่งเป็น 3 ขั้น ผู้เป็นเจ้าของสารพันธูกรรมถิ่นกำเนิดจึงต้องสูญเสียให้ผู้อื่น เป็นผู้จัดหาสารพันธุกรรมถึง 2 คน อย่างน้อยก็เพิ่มคู่แข่ง ในการแสวงหาผลประโยชน์ในอนาคต อีกทั้งเปิดโอกาสให้เปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมจากพ่อแม่เดิมเป็นพันธุ์ใหม่ แล้วให้ประเทศอื่นจดเป็นเจ้าของได้อย่างสมบูรณ์

        การเข้าเป็นภาคีสมาชิก ประเทศไทยต้องจัดหาทุนสมทบให้ด้วยหรือไม่ และความช่วยเหลือทางการเงิน ต้องเป็นไปตามลำดับการพิจารณาความจำเป็น ตลอดจนชนิดของเงินอุดหนุนจะเป็นการยืม การให้เปล่า หรือกองทุนหมุนเวียนการอนุมัติเงินและกลไกเป็นครั้งๆ ตามแต่การเขียนโครงการ การประเมินผลโครงการ จะเป็นลักษณะใดยังไม่มีพิธีสารชัดเจนออกมา หรือถ้ามีออกมาแน่ใจเพียงใด ว่าจะสามารถต่อรองให้มีผลในการเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิก การสนับสนุนการเงินคงเป็นไปในทำนองเงินกู้เสียมากกว่า ก็จะกลายเป็นอัฐยายซื้อขนมยาย กู้เขามาเพื่อจ้างเขามาสำรวจอีกด้วย แล้วใครได้ประโยชน์ ประเทศกำลังพัฒนาเป็นหนี้ แต่ธนาคารโลกได้ประโยชน์ ใช่หรือไม่

        อนุสัญญาไม่อนุญาตให้มีการสงวนสิทธิ์หรือยกเว้นใดๆ

        การเพิกถอนสิทธิจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อภาคีเข้าร่วมในอนุสัญญาฯ แล้ว 2 ปี และการเพิกถอนจะมีผลต่อเมื่อ 1 ปีหลังจากวันที่ผู้รับมอบได้รับเรื่องการเพิกถอน รวมสรุปเมื่อตัดสินใจเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ วันใด แล้วต้องการถอนตัวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี

        ดังนั้น หากมีความผิดพลาดเสียหายเกิดขึ้นแก่ประเทศไทย และประเทศไทยมีนโยบายถอนตัวจากอนุสัญญาฯ ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี จึงสามารถถอนตัวได้และในระยะเวลา 3 ปี หากเป็นโครงการวิจัยใด ก็สามารถเก็บข้อมูลวิจัยได้ครบรอบการวิจัยพอดี การประกาศถอนตัวเมื่อรู้สึกพลาดในทันที จึงไม่อาจเกิดผลในการปกป้องหรือแก้ไข หรือหยุดข้อผิดพลาดได้เลย ก็คงต้องเป็นเรื่องเลยตามเลย ทำไมต้องรอ 3 ปี ก็เพราะมั่นใจได้ว่าโครงการจะสิ้นสุดลงได้ แล้วก็มิต้องง้ออะไรอีก เพราะยิ่งเร่งตักตวงหนักขึ้นจนครบสัญญา

        การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเสมือนการเข้าหรือไม่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ทั้งๆ ที่ประเด็นการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ หรือไม่? ไม่ควรจะเป็นความรับผิดหรือรับชอบของตุลาการรัฐธรรมนูญ หน่วยงานที่เร่งรัดการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จึงทำตัวเสมือนผู้ยื่นดาบให้ตุลาการรัฐธรรมนูญประหาร และรับผิดชอบต่อประเด็นนี้อย่างชัดเจนชั่วนิรันดร์ ทั้งๆ ที่มิใช่หน้าที่รับผิดชอบของศาลรัฐธรรมนูญ โดยผู้อยู่เบื้องหลังย่อมลอยนวล และอยู่เหนือความขัดแย้งใดใดต่อผลแห่งอนาคตที่จะเกิดขึ้น


--------------------------------------------------------------------------------


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กลุ่มงานคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย