ออกกฎหมายเกินแม่บทหมายความว่าอย่างไร

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ออกกฎหมายเกินแม่บทหมายความว่าอย่างไร


        บรรดากฎหมายที่ประกาศใช้บังคับนั้น อาจแบ่งออกได้สองระดับ คือ กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติหรือเทียบได้กับพระราชบัญญัติ (เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพระราชกำหนด เป็นต้น) และกฎหมายลำดับรอง

        กฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ มีชื่อเรียกในระหว่างผู้ร่างกฎหมายว่า “กฎหมายแม่บท” (Parent Law) หรือบางแห่งก็เรียกว่า Primary Law แปลเป็นไทยคงจะได้ว่า กฎหมายปฐมภูมิ ส่วนกฎหมายลำดับรอง (Subordinate Legislation) เราเรียกติดปากว่า “กฎหมายลูกบท” กฎหมายลูกบทอาจมีชื่อเรียกต่างๆ กันได้ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ ข้อบังคับ

        ที่เรียกกันอย่างนี้ก็คือ กฎหมายลูกบทจะตราขึ้นหรือออกมาได้นั้นต้องมีกฎหมายแม่บทให้อำนาจเสียก่อน เช่น พระราชบัญญัติฉบับหนึ่งกำหนดว่าการออกใบอนุญาตและการเก็บค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

        เหตุที่ต้องมีกฎหมายลูกบทเนื่องจากว่า บางครั้งกฎหมายมีรายละเอียดมาก การเขียนทุกอย่างไว้ในพระราชบัญญัติแม่บทนั้นย่อมทำไม่ได้หรือไม่เหมาะ เช่น จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตในพระราชบัญญัติ ก็คงจะยืดยาด และฝ่ายนิติบัญญัติผู้พิจารณาย่อมต้องเสียเวลามาก หรือเขียนได้แต่ก็จะแข็งตัวไม่สามารถปรับใช้กับสถานการณ์ได้

        ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังต่อไปนี้ก็จะเป็นตัวอย่างของการออกกฎหมายลูกบทเกินอำนาจแม่บท

        การออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียม มีว่า มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจที่จะออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ รัฐมนตรีย่อมออกกฎกระทรวงโดยอาจเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมแตกต่างกันสำหรับการดำเนินการให้แก่กิจการต่าง ๆ ได้ เช่น การดำเนินกิจการบางลักษณะอาจได้รับการลดหย่อนค่าธรรมเนียมให้เสียต่ำกว่าที่เรียกเก็บทั่วไป แต่การที่จะออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่บุคคลบางประเภทโดยไม่เก็บเสียเลยนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อกฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งเท่านั้น เมื่อพระราชบัญญัติชื่อบุคคลฯ มิได้บัญญัติให้อำนาจแก่รัฐมนตรีไว้ จึงไม่อาจออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่บุคคลบางประเภทตามที่ประสงค์ได้ เพราะจะเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายแม่บท (เรื่องเสร็จที่ ๓๔๐/๒๕๓๕- คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๖) และเรื่องเสร็จที่ ๑๐/๒๕๐๘- คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๖) และเรื่องเสร็จที่ ๒๔๖/๒๕๒๗-คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๑) วินิจฉัยอย่างเดียวกัน)


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย