อายุความสัญญากู้

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com โดย คุณ ลีลา LAW

อายุความสัญญากู้


         คำถามยอดนิยมของเหล่าเจ้าหนี้ คือ จะฟ้องเรียกหนี้ตามสัญญากู้ได้เมื่อไร นานเท่าใด ส่วนลูกหนี้มักอยากทราบว่า จะพ้นจากหนี้สินในเวลาใด นอกเหนือจากการชำระหนี้คืนแก่เจ้าหนี้

         กรณีศึกษาเกี่ยวกับสัญญากู้ซึ่งมีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้มายาวนานและหลายคดี จุดหมายเดียวกัน คือ ต้องการทราบความชัดเจนทางกฎหมาย คำตอบอยู่ใน

         คำพิพากษาฎีกาที่ 2660/2545 สัญญากู้ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2523 ตกลงกันเพียงว่า ผู้กู้จะชำระหนี้เมื่อผู้ให้กู้เรียกร้อง โดยมิได้มีข้อตกลงเรื่องการชำระหนี้หรือเวลาไว้ชัดเจน จึงเป็นสัญญามิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ที่แน่นอน ผู้ให้กู้มีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ทันทีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรค 1 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าเวลาอันพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือ จะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ ท่านว่า เจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน และยังถือเป็นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ โดยเวลาจักเริ่มนับแต่วันถัดไปจากวันทำสัญญากู้ นั่นคือ วันที่ 13 มิถุนายน 2523 ตามวิธีนับของ มาตรา 193/3 วรรค 2 กำหนดว่า ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ หรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำงานกันตามประเพณี และ มาตรา 193/12 กำหนดจุดเริ่มต้นของอายุความ คือ อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ส่วนอายุความเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินมิได้กำหนดเฉพาะไว้ จึงต้องถือตามอายุความทั่วไป คือ มีอายุความคดี 10 ปี

         หลักการเรียกชำระหนี้ วิธีนับเวลา และอายุความ สำหรับการกู้ยืมเงินนั้น ศาลฎีกาได้ตีความอย่างชัดเจนแล้ว ท่านพึงจำด้วยว่า การกู้ยืมเงินเกิน 50 บาทขึ้นไป เจ้าหนี้ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมและมีลายมือชื่อผู้กู้อย่างครบถ้วนด้วย จึงมีสิทธิทวงหนี้ผ่านกระบวนศาล ยุติธรรมได้ ส่วนลูกหนี้พึงระลึกว่า ยามลำบาก ท่านพึ่งพาเงินกู้ จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำด้วย สังคมสงบได้เมื่อทุกท่านต่างเคารพกฎหมาย

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com โดย คุณ ลีลา LAW
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย