อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
22/01/2008
ที่มา: 
www.dtl-law.com

อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ


        อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการตามกฎหมายต่างๆ มี ดังนี้

        - อำนวยความยุติธรรม

        - รักษาผลประโยชน์ของรัฐ

        - คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

        - หน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้


        พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน พ.ศ. 2525ได้นิยามว่าคำว่า อัยการ ไว้ 2 นัย คือ "ชื่อกรมหนึ่งซึ่งมีหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน" และ "เจ้าหน้าที่ในกรมนั้นผู้ทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน"

[แก้ไข] ภารกิจของอัยการ
        ภารกิจของอัยการอาจแบ่งเป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้

        1. งานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา

        เมื่อมีเหตุและละเมิดกระบิลเมือง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการสืบสวน จับกุมสอบสวน แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนต่ออัยการ อัยการเป็นจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานการสอบสวนพียงพอที่จะพิสูจน์ให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยหรือไม่ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา หากเห็นว่าเพียงพออัยการก็จะสั่งฟ้องหากเห็นว่าไม่เพียงพอก็จะสั่งไม่ฟ้อง หรือหากเห็นว่าการสอบสวนยังไม่สิ้นกระแสความก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดให้จนกว่าจะเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เมื่อสั่งฟ้องแล้วก็จะติดตามดำเนินคดีในศาล และเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วหากเห็นว่าคำพิพากษาไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมก็จะอุทธรณ์ฎีกาต่อไปจนถึงที่สุด

        ดังนั้น อัยการจึงเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจการใช้ดุลพินิจทั้งของพนักงานสอบสวนและศาลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม

        นอกเหนือจากหน้าที่ในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว อัยการยังมีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายหรือพยานเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งอัยการจะเข้าไปมีส่วนในการอำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ในชั้นสอบสวน โดยจะเข้าสอบปากคำผู้ต้องหา สอบปากคำพยาน ผู้เสียหายและการให้พยานเด็กทำการชี้ตัวผู้ต้องหาด้วย ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองให้เยาวชนผู้นั้นได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่วัย

        หน้าที่อีกประการหนึ่งคือการเป็นหลักประกันความเป็นธรรมในสังคมเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรมคือในกรณีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เช่นกรณีที่คนร้ายถึงแก่ความตายเนื่องจากยิงต่อสู้กับเจ้าพนักงาน ดังที่เรียกกันเป็นภาษาพูดว่า "คดีวิสามัญฆาตกรรม" หรือมีคนตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าเป็นปฏิบัติราชการตามหน้าที่กฎหมายกำหนดให้อัยการเข้าไปร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าการตายนั้นต้องไม่เกิดจากการกระทำเกินขอบเขตแห่งกฎหมายของเจ้าหน้าที่นั้น ๆ


        2. งานด้านคดีอาญาระหว่างประเทศ

         (ก) คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในกรณีมีผู้ก่ออาชญากรรมขึ้นในต่างประเทศแล้วหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดเกิดนั้นอาจขอให้ไทยส่งตัวบุคคลผู้กระทำความผิดกลับคืนไปให้ประเทศนั้น ๆ ดำเนินคดีได้ตามหลักเกณฑ์แห่งสนธิสัญญาที่ได้ทำไว้ต่อกัน หรือแม้แต่ประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยแต่มีสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตต่อกันก็สามารถขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยอาศัยหลักถ้อยที่ถ้อยปฏิบัติต่อกันผ่านวิถีทางการทูต กล่าวคือ ประทั้งสองจะถือเป็นหลักการว่าหากประเทศไทยให้ความร่วมมือในการดำเนินการเพื่อส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเทศผู้ร้องขอนั้นก็ต้องให้ความร่วมมือเช่นกัน หากประเทศไทยร้องขอ และผู้มีหน้าที่โดยตรงในการนี้ก็คืออัยการ

        ในทางกลับกัน กรณีที่บุคลกระทำความผิดในไทยแล้วหลบหนีไปต่างประเทศ เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องแล้วก็จะดำเนินการเพื่อขอให้รัฐบาลแห่งประเทศนั้น ๆ ส่งตัวข้ามแดนมา อัยการแห่งประเทศนั้น ๆ ก็จะนคดีขึ้นสู่ศาลในทำนองเดียวกัน โดยอัยการไทยจะร่วมประงานปละปรึกษาหารือกับอัยการเจ้าของคดีในประเทศนั้นอย่างใกล้ชิด เพื่อรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานทั้งปวงให้ตามที่อัยการในประเทศนั้นต้องการและเห็นว่าเพียงพอสำหรับการดำเนินคดีในศาล

         (ข) การร่วมมือกับต่างประเทศในการสอบสวนและอื่น ๆ

        นอกจากการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันแล้วนานาประเทศยังมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญากรณีอื่น ๆ เพื่อปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ เช่น ช่วยสอบปากคำพยานและช่วยรวบรวมพยานหลักฐานให้แก่กัน ช่วยดำเนินการค้น ยึด และสืบหาตัวบุคคลให้แก่กัน

        พ.ร.บ ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางทั้งการให้ความช่วยเหลือหรือขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติอัยการจะทำหน้าที่ประสานงานโดยตรงกับผู้ประสานงาน กลางของต่างประเทศ


        3. งานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

        ในการบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอาจประสบปัญหากฎหมายอันเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติงาน หรืออาจนำไปสู่การเป็นคดีความได้ อัยการจึงทำหน้าที่ทนายแผ่นดินด้วยการรับปรึกษาหารือปัญหากฎหมายเหล่านั้น เพื่อให้การบริหารราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ลุล่วงไปด้วยดี และแม้จะเกิดเป้นคดีความขึ้นในทางแพ่งไม่ว่าฝ่ายราชการจะเป็นโจทก์หรือจำเลย อัยการก็จะรับดำเนินการว่าต่างแก้ต่างให้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

        อนึ่ง ในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งใช้เงินกู้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในการจัดซื้อจัดจ้าง ในกรณีนี้อัยการจะทำหน้าที่ตรวจร่างสัญญาก่อนที่จะนำไปลงนามผูกพันกันเพื่อดูแลให้สัญญามีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งฝ่ายราชการและเอกชน โดยตข้อสำคัญจะต้องไม่ทำให้รัฐเสียเปรียบ


        4. งานด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

        การทำหน้าที่ทนายแผ่นดินหาได้จำกัดเพียงการเป็นที่ปรึกษากฎหมายและการดำเนินคดีแทนรัฐเท่านั้นแต่อัยการยังรับดำเนินการทางศาลให้แก่ประชาชนที่สามารถดำเนินการเองได้อีกด้วย เช่นจะฟ้องบุพการีของตนเองเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู กฎหมายห้ามมิให้ฟ้อง แต่อัยการอาจดำเนินการแทนให้ได้ซึ่งเรียกว่า "คดีอุทลุม" หรือในกรณีที่ประสงค์จะดำเนินคดีแพ่งแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อัยการก็รับดำเนินการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งรับดำเนินการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งรับให้คำปรึกษาหารือด้านกฎหมาย ตลอดจนช่วยทำนิติกรรมสัญญาปละประนอมข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

        นอกจากนี้อัยการยังออกไปอบรมกฎหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแก่ประชาชน และจัดอบรมอนุญาโตตุลาการหมู่บ้านเพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีความเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ประชาชนในท้องถิ่นด้วย


        5. งานตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง

        ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดมีทรัพย์สินเพิ่มมาขึ้นผิดปกติ หรือเมื่อถูกกล่าวว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ


        6. งานพิเศษ

        นอกเหนือจากหน้าที่ราชการดังกล่าวแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดังตระหนักในภารกิจที่จะต้องเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบททั่วประเทศและในวาระมงคลพิเศษสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนพรรษา 6 รอบ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้เฉลิมพระเกียรติยศ โดยจัดตั้งห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชนเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นในสำนักงานอัยการทั่วประเทศ เช่นที่อำเภอเบตง อำเภอแม่สอด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นสถานที่ค้นคว้าหาความรู้ในวิชากฎหมายของนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน รวมทั้งข้าราชการในท้องถิ่นชนบท


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.dtl-law.com

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย