เกาหลีใต้กับความสำเร็จของ e-Government

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วชิระ ปากดีสี นิติกร ๓ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


เกาหลีใต้กับความสำเร็จของ e-Government


        หากพูดถึงคำว่า e-Government อาจมีหลายคนที่รู้ดีหรืออาจรู้บ้าง แต่จะมีซักกี่คนที่รู้ความหมายที่แท้จริงและรู้ว่า e-Government นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนแบบหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว e-Government หรือที่เรียกว่า รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ คือ วิธีการบริหารจัดการภาครัฐสมัยใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐปรับปรุงการ บริการให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่เป็นสิ่งจำเป็นของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge-based Society) และเป็นหนึ่งในสามยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับเร่งด่วนก่อนและถือเป็นประเด็นหลักของแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙

        จากรายงานผลการสำรวจ e-Government ของโลก (The UN Global E-Government Readiness Report 2004) พบว่าประเทศเกาหลีใต้ได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับที่ ๕ จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมในการเป็น e-Government (รองจากสหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร และสวีเดนตามลำดับ) และอยู่ในอันดับที่ ๘ จากการจัดอันดับดัชนีของการใช้งาน e-Government (รองจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนนาดา สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ แมกซิโก และนิวซีแลนด์ตามลำดับ)

        การบริหารโครงการ IT ที่ประสบความสำเร็จนี้เป็นผลเนื่องมาจากการสนับสนุนของรัฐบาล การแบ่งงานรับผิดชอบที่ชัดเจนสำหรับแผนการของ e-Government และเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่มีโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมที่ดีเยี่ยม ในระหว่างปี ๑๙๙๘ และปี ๒๐๐๑ รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณให้กับเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศถึงเท่าตัวคือจาก ๕๔๔ ล้านเหรียญ ไปเป็น ๑,๑๐๐ ล้านเหรียญ โดยเงินจำนวนดังกล่าวคิดเป็น ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด

[แก้ไข] รูปแบบใหม่ของการบริหารงานรัฐ
        e-Government มุ่งที่จะให้บริการในระบบออนไลน์ และเพื่อให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลได้จัดงานบริการให้แก่ประชาชนด้วยความสะดวกและง่าย รัฐบาลให้บริหารที่มีประสิทธิภาพโดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้กระบวนการทำงานของพนักงานของรัฐต้องเปลี่ยนไป ในสังคมแห่งการเรียนรู้ของศตวรรษที่ ๒๑ นี้ e-Government เป็นการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติ ซึ่งต่อไป e-Government คงไม่ใช่เพียงแต่ตัวเลือกเท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำ พิมพ์เขียวของ e-Government

        รัฐบาลเกาหลีใต้ได้มุ่งเน้นไปที่สามเป้าหมายหลักเพื่อสร้าง e-Government คือ

[แก้ไข] ๑. ขยายขอบเขตการบริการของรัฐ
        ในการเพิ่มขอบเขตการบริการของรัฐเพื่อความพึงพอใจสูงสุดในแง่ของคุณภาพการบริการ รัฐบาลต้องจัดให้บริการนั้นๆแก่ประชาชน ไม่ว่าคนใด ที่ใด ด้วยการ “คลิ๊ก” เพียงครั้งเดียว และเพื่อที่จะให้เป้าหมายเชิงกลยุทธ์นี้สำเร็จ รัฐได้จัดบริการแบบประชนเป็นศูนย์กลาง โดยการสร้างหน้าเว็บไซต์แบบ “Single Window e-Government” ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถยื่นคำร้องของรับบริการและเข้าถึงข้อมูลการบริการผ่านระบบที่ง่ายต่อการใช้งาน และประชาชนยังมีทางเลือกกับการรับเอกสารที่ฝ่ายราชการออกให้ในรูปแบบของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และภายในหน้าเว็บไซต์เดียวกันนั้นเอง รัฐหรือหน่วยงานอื่นก็จะเข้าใช้ข้อมูลร่วมโดยผ่านระบบเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลงได้ เช่น ระเบียบในการยื่นเอกสาร ซึ่งอาจจะต้องยื่นเอกสารชนิดเดียวกันหลายครั้งกับหน่วยงานรัฐหนึ่งๆ

[แก้ไข] ๒. สร้างระบบการบริหารราชการฐานการตลาดที่ส่งเสริมภาคธุรกิจ
        เพื่อให้เกิดการบริหารที่ส่งเสริมภาคธุรกิจ ต้องมีการขยายการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในขณะเดียวกัน ความปลอดภัยของระบบอินเตอร์เน็ตก็ต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อการนี้ ต้องมีการรวบรวมระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐและระบบการบริการต่างๆทางอินเตอร์เน็ตเข้าไว้ในหน้าเว็บเพจเดียวกันด้วย ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้การดำเนินงานของรัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ให้แก่คู่สัญญาหรือภาคธุรกิจ

[แก้ไข] ๓. มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเสรีมากขึ้น
        การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคราชการ การบริการแบบทันที (real-time) และการติดต่อสื่อสารกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจะทำให้จะทำให้ภาคราชการเป็นหน่วยงานที่มีความโปร่งใส และเสรีมากขึ้น เพื่อการนี้ จะต้องรวมโครงข่ายระหว่างหน่วยงานด้านการเงินของรัฐ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ งานฝ่ายบุคคลากร และกระบวนการทำงานหลักภายในเข้าด้วยกัน ต้องมีการสนับสนุนให้มีการทำงานแบบสำนักงานไร้กระดาษ (paperless office) โดยการประยุกต์ใช้การรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Approval) และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และการขยายฐานการใช้งานอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ให้มากขึ้น

[แก้ไข] ก่อนที่จะมาเป็น e-Government
[แก้ไข] การเก็บและบันทึกข้อมูลของราชการให้เป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
        เมื่อประมาณกลางปี ๑๙๘๐ รัฐบาลเกาหลีใต้ได้เริ่มวางโครงสร้างของ e-Government โดยโครงการระบบข้อมูลพื้นฐานของชาติ (National Basic Information System project) โดยแผนงานช่วงที่ ๑ และที่ ๒ ของโครงการ (ปี ๑๙๘๗ – ๑๙๙๖) มีการรวบรวมฐานข้อมูลที่จัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับการเงิน การจดทะเบียนพาหนะ และข้อมูลที่สำคัญในการบริหารประเทศ เมื่อระบบโครงข่ายของรัฐสมบูรณ์ ประชาชนสามารถร้องขอเอกสารราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน เอกสารแสดงการจดทะเบียนยานพาหนะ รวมทั้งเอกสารที่มีการรับรองจากหน่วยงานส่วนภูมิภาค ด้วยเหตุนี้เองทำให้เอกสารที่ต้องยื่นในการขอรับบริการลดจำนวนลงมากและระยะเวลาในการให้บริการของผ่ายราชการก็น้อยลงเช่นกัน เมื่อกลางปี ๑๙๙๐ ได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ คือ ระบบโครงข่ายสื่อสารความเร็วสูงทั่วประเทศ โดยได้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ด้วยเหตุนี้เองทำให้ประเทศเกาหลีเป็นประเทศที่มีอัตราใช้ช่องสัญญาณความเร็วสูง (broadband) มากที่สุดในบรรดาชาติสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization Economic Cooperation and Development) และเป็นประเทศหนึ่งของโลกที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมที่ก้าวหน้ามาก

[แก้ไข] การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับการบริการราชการแผ่นดิน
        กลางปี ๑๙๙๐ ได้มีการประกาศกรอบแผนงานว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ๑๙๙๕ (Framework Act on Informatization Promotion (1995)) ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการผลักดันและขยายการใช้เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศในทั่วทุกส่วนของการบริหารราชการ ได้มีการเพิ่มการให้บริการในส่วนของกระบวนการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ การยื่นขอสิทธิบัตร งานกำลังสำรอง และงานส่วนอื่นๆของราชการผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดย

ใช้แผนงานที่ครอบคลุมและเป็นระบบ คือ Master Plan for Informatization Promotion (1996) และ Cyber Korea 21 (1999)
สร้างระบบเครือข่ายข้อมูลความเร็วสูง และเพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่ายสำหรับผู้ใช้ช่องสัญญาณความเร็วสูง (broadband) เชื่อมโยง ๑๔๔ อำเภอทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพของเครือข่าย ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Line, หรือเทคโนโลยีในการส่งข้อมูลในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ด้วยความเร็วสูง) และคุณภาพของ CATV (คุณภาพของการแพร่สัญญาณภาพทางโทรทัศน์)
สร้างเว็บไซต์ให้แก่หน่วยงานราชการ โดยให้ข้อมูลบริการ นโยบายการส่งเสริมการบริการที่มีแก่ประชาชน และการบริการของรัฐบาลผ่านระบบออนไลน์
ริเริ่มและประยุกต์ใช้ระบบการรับรองเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Approval System) ภายในหน่วยงานของทุกส่วนราชการ
สร้างระบบโครงข่ายข้อมูลของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ระบบโครงข่ายข้อมูลการบริหารภาษี ระบบโครงข่ายศุลกากรและสรรพสามิต ระบบโครงข่ายการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ระบบฐานข้อมูลความรู้ (เก็บจากองค์ความรู้ ๖ ศาสตร์ใหญ่)
ประกาศใช้กฎหมายที่ผลักดันการขยายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ คือ กรอบแผนงานว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ๑๙๙๕ (Framework Act on Informatization Promotion (1995)) พระราชบัญญัติพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Act) พระราชบัญญัติลายมืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature Act) พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการเพื่อสร้างระบบราชการอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Promotion Act on Administration Processes for Establishment of an e-Government) และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
[แก้ไข] การใช้ข้อมูลร่วมร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและการให้บริการที่หลากหลายของ e-Government
        เมื่อต้นปี ๒๐๐๑ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมชุดหนึ่งเรียกว่า The Special Committee for E-Government (SCEG) เพื่อเป็นหน่วยงานส่งเสริมความร่วมมือภายในระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน e-Government เป็นแนวคิดของการบริการ มุ่งที่จะแก้ปัญหาของภาคราชการเพื่อให้บริการที่สะดวกและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นแก่ประชาชน เอื้ออำนวยต่อบรรยากาศการค้า เพิ่มความสามารถในการผลิต มีความโปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย SCEG มีหน้าที่ที่พิเศษคือการเป็นผู้นำและผู้ชำนาญการในการสร้างระบบ e-Government คือ การร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลในระหว่างหน่วยงานรัฐและการสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ e-Government ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

[แก้ไข] อำนาจและหน้าที่ของ SCEG
        SCGE จะต้องดำเนินโครงการหลักของ e-Government ๑๑ โครงการให้ตรงกับความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจให้เสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๐๐๒ โดยจะต้องสร้างแผนงานที่ครอบคลุมเพื่อการสร้างระบบ e-Government ที่มีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีกลยุทธ์ในการดำเนินให้สำเร็จได้ดังนี้คือ

        ๑. ประชุมและติดตามงานทุกอาทิตย์

        ๒. ออกแบบวิธีการที่เป็นมาตรฐานในการติดต่อระหว่างโครงการต่างๆของ e-Government ที่มีความแตกต่างกันและปรับใช้งานทั่วทุกหน่วยงานของรัฐ

        ๓. เสนอกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอันเป็นการสนับสนุน e-Government โครงการต่างๆ ก่อนที่การบริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจะเริ่มดำเนินการ

[แก้ไข] ลักษณะโครงสร้างของ SCEG
        SCEG จัดตั้งขึ้นในหน่วยงานบริหารระดับสูงของสำนักประธานาธิบดี (Office of the President) คือ Presidential Commission on Government Innovation ดังนั้น SCEG จึงองค์กรที่ขึ้นตรงและรับผิดชอบต่อประธานาธิบดี ประกอบไปด้วยตัวคณะกรรมการที่มาจากพลเรือนและหัวหน้าส่วนราชการ โดยโครงการหลักของ e-Government ๑๑ โครงการนั้นได้แก่

         (๑)การเชื่อมโยงข้อมูล ๕ งานหลักของราชการคือ ทะเบียนราษฎร อสังหาริมทรัพย์ ทะเบียนพาหนะ ทะเบียนธุรกิจ และภาษีให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน

         (๒) สร้างระบบการให้บริการที่เรียกว่า “ราชการเพื่อประชาชน” (Government for Citizen system (G4C))

         (๓)ระบบการเสียภาษี (Home Tax Service System)

         (๔) ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการ (Government e-Procurement System)

         (๕) ระบบข้อมูลการเงินแห่งชาติ (National Finance Information System (NAFIS))

         (๖) ระบบข้อมูลการศึกษาแห่งชาติ (National Education Information System)

         (๗) ดำเนิน “โครงการระบบเครือข่ายข้อมูลราชการส่วนท้องถิ่นเพื่อการบริการ ๒๑ รายการ” (Local Government Information Network System Project for 21 service areas)

         (๘) ระบบงานบุคคลกร (Personnel Policy Support System (PPSS))

         (๙) ขยายอัตราการใช้และการรวบรวมเอกสารแบบ การรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Approval) และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ในระหว่างหน่วยงานรัฐ

         (๑๐) เพิ่มการใช้ระบบลายมือ [๕] และการตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature and the e-Seal System)

         (๑๑) สร้างโครงข่ายรวมคอมพิวเตอร์ทั่วทุกส่วนราชการ (Government-wide intergraded computer network)

 


[แก้ไข] โครงการหลักของ e-Government ๑๑ โครงการ
[แก้ไข] ราชการเพื่อประชาชน (Government for Citizen (G4C) system): (www.egov.go.kr)
        โครงการนี้รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการการบริการรัฐที่มีประสิทธิภาพและความเปลี่ยนแปลงในการบริหารระดับชาติ หน่วยงานจำนวนมากเป็นหน่วยงานที่ให้บริการแก่ประชาชน และประชาชนก็ควรจะรู้สึกดีกับการติดต่อราชการกับหน่วยงานเหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตามการที่จะรู้ว่าจะต้องติดต่อกับหน่วยงานรัฐใดบ้างเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะเรื่องที่จะต้องเกี่ยวกับหน่วยงานจำนวนมาก นอกจากนี้หน่วยงานของรัฐในแต่ละหน่วยก็ยังมีระบบงานที่แตกต่างกัน ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเท่าที่ควร ซึ่งทั้งหมดนั้นก็คือ “ความไม่สะดวกของประชาชน” การทำงานของ G4C ผ่านกลยุทธ์ ๔ ประการ คือ กลยุทธ์เชิงเทคนิค (เป็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น การตรวจสอบโดยองค์กรสาธารณะ หรือ PKI (Public Key Infrastructure ) หรือเทคโนโลยีการเข้าสู่รหัสของข้อมูล (SSL [๗], PKI) เพื่อปกป้องข้อมูลในระบบเชื่อมโยงข้อมูล เป็นต้น) กลยุทธ์เชิงการบริหาร (มีการจัดกลุ่มงาน (Task Force Team) ซึ่งได้มีการแยกงานความรับผิดชอบให้ชัดเจน) กลยุทธ์เชิงการประชาสัมพันธ์ และกลยุทธ์เชิงความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต

        ข้อมูลที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร อสังหาริมทรัพย์ ทะเบียนพาหนะ ธุรกิจ ภาษีบุคคลธรรมดา เป็นเรื่องที่สำคัญมากในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป G4C ได้รวมข้อมูลดังกล่าวเข้าเป็นระบบฐานข้อมูลเดียวกัน และรวมการบริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ตอื่นๆของหน่วยงานอื่นไว้ในหน้าเว็บไซต์เพียงหน้าเดียว (Single Window e-Government) เป็นผลให้การรับบริการจาก G4C ทำให้เอกสารที่ต้องยื่นและขั้นตอนการปฏิบัติราชการลดลงเป็นจำนวนมาก การมีส่วนร่วมของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนสามารถยื่นคำร้องขอรับบริการผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรืออาจค้นหาได้จากคู่มือผ่านระบบออนไลน์ ค่าธรรมเนียมในการบริการรายการหนึ่งๆ จะถูกคำนวณและดำเนินการผ่านระบบการเชื่อมโยมข้อมูลและจะต้องตรวจสอบการส่งเอกสาร ความคืบหน้าของการดำเนินการตามคำร้องสามารถตรวจสอบได้ผ่านระบบออนไลน์ และเอกสารราชการที่ออกให้สามารถส่งให้ประชาชนได้ผ่าน e-mail

        ตัวอย่างเช่น สมมุติว่าประชาชนต้องการที่จะขอสำเนาทะเบียนบ้าน ประชาชนต้องไปที่ที่ว่าการอำเภอและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนยื่นคำร้องขอคัดถ่ายและรับเอกสารได้ภายหลังจากชำระค่าธรรมเนียมแล้ว หรือหากไม่มีเวลาไปรับด้วยตนเองก็ตามมอบหมายให้ผู้อื่นไปรับแทนพร้อมด้วยใบมอบอำนาจ แต่ปัจจุบันนี้ ด้วยบริการ G4C ประชาชนสามารถเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ กรอกและยืนยันด้วยระบบตรวจสอบที่มีอยู่ในระบบอินเตอร์เน็ต กรอกคำร้องที่ต้องการและชำระเงินผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและรับเอกสารได้จาก e-mail หรือจากเดิมหากประชาชนต้องการรับบริการหลายชนิด ต้องเตรียมเอกสารแต่ละรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ และเมื่อติดต่อกับหน่วยงานใดแล้วหน่วยงานนั้นก็จะเก็บเอกสารสำหรับรายการนั้นๆไว้ แต่ปัจจุบันด้วย G4C เอกสารประมาณ ๒๐ ชนิดไม่ต้องยื่นในการขอรับบริการ เช่น ทะเบียนที่อยู่อาศัย ทะเบียนครอบครัว ใบกำกับภาษี โฉนด สมุดคู่มือทะเบียนรถ หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจ เป็นต้น

[แก้ไข] ระบบเชื่อมโยงข้อมูลประกันสังคม (Social Insurance Information Sharing System (SIIS)) (www.4insure.or.kr)
        SIIS เป็นระบบที่เชื่อมโยง ๔ ระบบเข้าด้วยกัน คือ ประกันสุขภาพ บำเหน็จบำนาญ ประกันว่างงาน และประกันชดเชยความเสียหายจากอุบัติเหตุอุตสาหกรรม ผู้ถือกรมทัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกรมทัณฑ์ชนิดใด สามารถเปลี่ยน ยกเลิกกรมทัณฑ์ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือในกรณีที่เปลี่ยนงานที่ต้องการข้อมูลของประกันสังคม ข้อมูลการใช้ตรวจสอบได้จากคู่มือของเว็บท่านี้เอง การชำระเงินก็ทำผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเช่นกัน

[แก้ไข] ระบบการเสียภาษี (Home Tax Service System) (HTS) (www.hometax.go.kr)
        ด้วยบริการ HTS ผู้เสียภาษีสามารถดำเนินงานด้านภาษีได้ด้วยต้นเองจากที่บ้านหรือที่ทำงานโดยไม่ต้องไปที่สำนักงานสรรพากร เช่น การยื่นแบบภาษี รับแจ้งภาระภาษี ขอหนังสือรับรอง หรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับภาษี ซึ่งจะทำให้การบริการมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น การให้บริการ

การยื่นแบบแสดงภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีสรรพสามิต ภาษีสุรา แสตมป์ และภาษีขนส่ง ได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
ผู้เสียภาษีอาจรับแจ้งภาระภาษีผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้แทนการแจ้งแบบธรรมดาของการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีประเภทอื่นๆ และการชำระภาษีอาจทำได้โดยโอนเงินผ่านระบบ e-Payment
ยื่นคำร้องและตรวจสอบขั้นตอน ประชาชนอาจรับเอกสารรับรองทางอินเตอร์เน็ตได้ เช่น ใบรับรองการประกอบธุรกิจ ใบกำกับภาษี เป็นต้น ส่วนการบริการที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการสามารถตรวจสอบความคืบหน้าได้ทางระบบอินเตอร์เน็ตเช่นกัน
ข้อมูลการยื่นภาษี ภาระภาษี การขอคืนภาษี อาจส่งให้แก่ผู้เสียภาษีได้ทาง e-mail หรือทาง SMS ผ่านไปยังโทรศัพท์มือถือ
ตัวอย่าง เช่น เดิมหากผู้ประกอบการใดไม่ชำระหรือชำระไม่ถูกต้องซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหน้าที่จะติดต่อผู้ประกอบการโดยโทรศัพท์แจ้งให้ทราบถึงการเสียภาษี ผู้ประกอบการต้องมาที่ที่ทำการและยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหน้าที่จะออกใบแจ้งหนี้ภาษีและผู้ประกอบการจะรับใบแจ้งหนี้ภาษีเองหรือทางไปรษณีย์ก็ได้ และนำใบแจ้งหนี้ภาษีนั้นไปชำระเงินที่ธนาคารและเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐาน

        ปัจจุบัน สำนักงานสรรพากรเกาหลีจะแจ้งผู้ประกอบการซึ่งไม่ยื่นแบบแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มโดย e-mail หรือ SMS อัตโนมัติ ผู้ประกอบการสามารถยื่นแบบได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบภาษีที่ต้องชำระได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและชำระภาษีได้ผ่านระบบ e-Payment โดยไม่ต้องไปที่สำนักงานสรรพากรฯเลย

[แก้ไข] ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการ (Government e-Procurement System) (GePS) (www.g2b.go.kr)
        ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐในเกาหลีใต้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ Public Procurement Service (PPS) ซึ่งหน่วยงานนี้เองได้เป็นผู้พัฒนาและบริหารระบบ GePS พื้นฐานของ GePS มาจากการใช้ระบบการประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) และเทคโนโลยี EDI

        GePS ได้รับการออกแบบให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดทำผ่านระบบออนไลน์ เป็นช่องทางที่ทำให้หน่วยงานราชการและผู้รับจ้างเข้าถึงได้ เป็นแหล่งรวมข้อมูลของหน่วยงานของรัฐมากกว่า ๒๕,๐๐๐ แห่งที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยผ่านระบบ GePS รวมทั้งจำนวนโครงการ คุณสมบัติเฉพาะ หลักเกณฑ์การเลือกผู้รับจ้าง ฯลฯ รวมทั้งยังมีข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ๓๙๐,๐๐๐ รายการ ผู้รับจ้างที่สามารถเข้าร่วมการประกวดราคาได้ทุกโครงการ โดยกำหนดให้ผู้รับจ้างต้องลงทะเบียนก่อนโดยการลงทะเบียนนี้ทำเพียงครั้งเดียว ซึ่งปัจจุบันมีผู้รับจ้างที่ลงทะเบียนไว้ประมาณ ๘๗,๐๐๐ ราย

        หน่วยงานราชการไม่ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยตนเอง เพียงแต่เข้ามาที่ GePS และดำเนินการการจัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ การร้องขอซื้อ ประกาศประกวดราคา การเปิดซองประกวดราคา การทำสัญญา และการชำระเงินตามสัญญา ผู้รับจ้างสามารถลงทะเบียน ยื่นซองและหนังสือค้ำประกัน และคำร้องขอให้ชำระหนี้ นอกจากนี้ผู้ว่าจ้างยังอาจหาข้อมูลของหน่วยงานราชการจากระบบ GePS นี้ได้ด้วย และเพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานรัฐผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างเป็นไปได้ด้วยดี GePS ได้เชื่อมต่อกับระบบภายนอก ๕๓ ระบบ เช่น สมาคมผู้ก่อสร้าง เพื่อใช้ข้อมูลการประเมินผู้รับจ้าง เช่น ฐานะการเงิน เชื่อมต่อเข้ากับธนาคารพาณิชย์สำหรับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น การใช้ระบบ GePS นำมาซึ่งประโยชน์หลายประการ เช่น

        ๑. สามารถประหยัดงบประมาณได้ประมาณ ๒.๗ ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ

        ๒. เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ของคนกับคน

        ๓. ลดระยะเวลาในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

        ๕. มีการแข่งขันกันสูงขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าสู้ราคา ทำให้มีผู้รับจ้างยื่นซองประมูลงานมากขึ้น

[แก้ไข] ระบบข้อมูลการเงินแห่งชาติ (National Finance Information System (NAFIS)) (www.nafis.go.kr)
        NAFIS เป็นระบบที่ให้ข้อมูลและรวมงานการคลังของหน่วยงานราชการต่างๆ เข้าสู่ระบบโครงข่ายและจัดการข้อมูลแบบทันที (real-time) โครงการนี้ทำให้ระบบการเงินการคลังของรัฐมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐมีความรับผิดชอบมากขึ้น

        ระบบการเงินการคลังของหน่วยงานของรัฐหน่วยต่างๆ จะเชื่อมโยงและบูรณาการการวางแผนงบประมาณ การจัดสรรงบประมาณ การตัดบัญชี การเงินการคลังของภาครัฐจะได้รับการตรวจสอบและบริหารอย่างสม่ำเสมอ มีการใช้เทคโนโลยี EBPP (Electronic Bill Presentment & Payments) ซึ่งทำให้การเก็บเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับต่างๆ จากประชาชน สามารถทำได้ผ่านระบบ ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (e-Bill) การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) และการรับชำระอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ข้าราชการส่วนกลางที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการบัญชีจะได้รับรหัสเพื่อเข้าสู่ระบบและเข้าเมนูได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นเพื่อทำหน้าที่ของตนเอง สำหรับประชาชนที่ขอรับบริการใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์กับสถาบันการเงินใดแล้วและมีการรับบริการจากราชการหรือมีค่าปรับที่ต้องชำระ จะมีการส่งใบแจ้งหนี้ดังกล่าวให้กับประชาชนผู้นั้นโดยอัตโนมัติ ภายหลังจากที่ตรวจสอบจำนวนค่าธรรมเนียมที่ปรากฏในใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์นั้นแล้ว ก็สามารถชำระเงินผ่านบริการธนาคารอินเตอร์เน็ตได้

[แก้ไข] ระบบข้อมูลสารการศึกษาแห่งชาติ (National Education Information System) (www.neis.go.kr)
        NEIS เป็นการรวมโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากกว่า ๑๐,๐๐๐ แห่ง สำนักงานการศึกษาจังหวัด ๑๖ แห่งพร้อมหน่วยย่อย และกระทรวงการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Ministry of Education & Human Resources Development) นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้บริหารสถานศึกษาสามารถเข้าถึงข้อมูลการศึกษาที่มีการเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ ระบบการบริหารการศึกษาจะมีประสิทธิภาพและมีการใช้เอกสารกระดาษน้อยลงในขณะที่มีการให้บริการทางการศึกษาได้ดีขึ้น

        บริการที่มีอยู่ในระบบ NEIS จะรวมการออกใบรับรองต่างๆ การยื่นข้อร้องเรียน การเสนอแผน การสอบถามและการหาข้อมูล และยังมีผลการศึกษาบริการแก่ผู้ปกครองอีกด้วย และยังรวมถึงงานการบริหารการศึกษาต่างๆ เช่น การบริหารงานโรงเรียน ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาและข้าราชการจะต้องทำงานร่วมกัน การประกันสังคมสำหรับนักเรียน การจัดการทรัพยากรมนุษย์ การจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

[แก้ไข] โครงการระบบเครือข่ายข้อมูลราชการส่วนท้องถิ่น (Local Government Information Network System Project) (www.ebang.go.kr)
        ระบบเครือข่ายข้อมูลราชการส่วนท้องถิ่นเป็นระบบข้อมูลสารสนเทศของการบริการราชการที่ครอบคลุม ซึ่งทำให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของราชการคือ ทะเบียนบ้าน ทะเบียนพาหนะ สำมะโนครัว ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๓๒ แห่งที่ออกให้แก่ประชาชน ซึ่งตั้งแต่เริ่มข้าสู่โครงการนี้ทำให้การบริหารมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใสมากขึ้น

        เอกสารใบรับรอง ๓๘ ชนิด เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนที่อยู่อาศัย ทะเบียนพาหนะ เป็นต้น สามารถออกให้ได้ไม่ว่าที่ใดหรือเวลาใดจากจุดให้บริการ ๒๓๒ แห่งของสำนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจากเครื่องออกเอกสารอัตโนมัติ ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเชื่อมโยงเข้าทุกหน่วยงาน ซึ่งสามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จได้ (one-stop service) หรืออาจดำเนินการได้ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน

        กรณีที่ประชาชนเปลี่ยนที่อยู่และแจ้งข้อมูลนี้ให้ทราบเพียงครั้งเดียว ข้อมูลนี้จะได้รับการปรับปรุงในทะเบียนอื่นๆ ด้วย เช่น ทะเบียนพาหนะ ข้อมูลประกันสังคม และข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ที่รัฐเก็บไว้ เป็นการตัดขั้นตอนและภาระการดำเนินการของประชาชนลงได้มาก

[แก้ไข] ระบบงานบุคคลกร (Personnel Policy Support System (PPSS)) (www.csc.go.kr)
        PPSS เป็นระบบการบริหารจัดการบุคคลกรที่ได้รับการพัฒนาสำหรับการจ้าง การส่งเสริม การจ่ายค่าทดแทนต่างๆ การฝึกอบรม การจัดสรรสวัสดิการสังคมสำหรับข้าราชการ ซึ่งทำให้การบริการงานบุคลากรมีประสิทธิภาพและมีความโปรงใสมากขึ้น

        ตำแหน่งที่ว่างในหน่วยงานต่างๆ จะมีการประกาศในเว็บไซต์ ประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลของงานและสามารถยื่นใบสมัครงานผ่านระบบออนไลน์ และยังมีบริการข้อมูลเชิงสถิติของหน่วยงานรัฐต่างๆ ด้วย ข้อมูลเหล่านี้ได้รับการวิเคราะห์และส่งให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในงานบุคลากรของฝ่ายราชการในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดิน

        ข้าราชการสามารถใช้ PPSS ในการหาข้อมูลส่วนบุคคลของตน การยื่นขอลาพักร้อน หรือขอรับคำปรึกษาในการทำงานได้ เป็นต้น

[แก้ไข] การรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Approval) และเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ในระหว่างหน่วยงานรัฐ
        ระบบนี้สร้างขึ้นมาเป็นพื้นฐานของการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติราชการในเรื่องของการส่งและการรับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะมีข้อมูลผู้ส่งและผู้รับในแต่ละเอกสารและระบบตรวจสอบที่มาของเอกสาร โดยผ่านการใช้ระบบลายมืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบและยืนยันถึงความมีอยู่ของผู้ส่งเอกสารทุกครั้ง เอกสารที่มีการรับรองแล้วก็จะส่งไปตามหน่วยงานต่างๆ ที่ปรากฏในรายชื่อหน่วยงาน

[แก้ไข] ระบบลายมือและการตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature and e-Seal System)
        ระบบนี้เป็นระบบที่ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลโดยการใช้ระบบรักษาความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลร่วมของภาคราชการและสร้างความไว้วางใจกับระบบการบริหารราชการอิเล็กทรอนิกส์ด้วย การสร้างและการขยายการใช้งานของระบบการตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Authentication System) เป็นกุญแจสำคัญของการขยายการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมด

        ได้มีการออกลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีการรับรองแล้วให้ประชาชน ๑๐ ล้านคน เป็นผลให้มีการขยายการเข้าถึงการบริการออนไลน์ของรัฐแก่ภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง เช่น การประมูล การยื่นแบบเสียภาษี หรือบริการออนไลน์อื่นๆ ซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกันกับการออกรหัสในการตรวจสอบผู้ใช้ที่ธนาคารออกให้แก่ลูกค้าตนเพื่อใช้บริการธนาคารผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนั้นเอง

[แก้ไข] สร้างโครงข่ายรวมคอมพิวเตอร์ทั่วทุกส่วนราชการ (Government-wide integraded computer network)
        โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการหลักของรัฐบาลซึ่งเป็นระบบที่เชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ในแต่ละส่วนราชการโดยมีวัตถุประสงค์ในการบริการจัดการฐานข้อมูลของภาคราชการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสำเร็จได้ก็โดยการบูรณาการทุกระบบให้กับการทุมงบประมาณให้แก่ทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือ


        เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าการที่เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จข้างต้นได้เนื่องจากการมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีมีประสิทธิภาพอันเป็นผลมาจากการมีนโยบายในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ชัดเจน มีการทุ่มเทงบประมาณและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีการประชาสัมพันธ์และการฝึกอบรมผู้ใช้งาน และมีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งว่าการปฏิรูประบบการให้บริการของภาคราชการดังกล่าวมิได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างขององค์กรหรือวิธีปฏิบัติราชการที่มีอยู่เดิมมากนัก แต่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์กับการให้บริการของทางราชการ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย

        ความสำเร็จของโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงการทำงานของรัฐบาลที่เกิดผลดีต่อประชาชนและภาคธุรกิจ การบริหารงานราชการที่มีประสิทธิภาพนี้ทำให้ความสามารถในการผลิตของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ลดภาระที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชนและข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของชาติเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาวและจากโครงการนี้ คือตำตอบของคำถามที่ว่า “จะทำให้การบริการของรัฐดีขึ้นได้อย่างไร”

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวชิระ ปากดีสี นิติกร ๓ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย