เมาสุรา-ตรวจเลือด

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/01/2008
ที่มา: 
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การทดสอบการเมาสุราของผู้ขับขี่โดยวิธีการตรวจวัดจากเลือด - คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๑๐ - เรื่องเสร็จที่ ๙๗๗/๒๕๔๗)


เมาสุรา-ตรวจเลือด


        การขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เจ้าพนักงานจราจรมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ และสั่งให้ทดสอบว่าเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นได้

        การทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่นี้ จะกระทำโดยให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด โดยใช้วิธีการตามลำดับ คือ ตรวจวัดลมหายใจ ตรวจวัดจากปัสสาวะ และตรวจวัดจากเลือด โดยมีหลักเกณฑ์ว่าต้องตรวจวัดลมหายใจก่อน ถ้าไม่สามารถทดสอบโดยวิธีตรวจวัดลมหายใจได้ จึงให้ใช้วิธีการตรวจวัดจากปัสสาวะและตรวจวัดจากเลือด (กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒)

        คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๑๐ ให้ความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การเจาะเลือดและการตรวจเลือดเป็นการกระทำต่อร่างกายของบุคคลซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลตามที่มาตรา ๓๑ ของรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ และในหลักทั่วไปของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม การกระทำต่อร่างกายของผู้ป่วยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการช่วยชีวิตของผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น การเจาะเลือดที่กระทำต่อร่างกายของผู้ขับขี่ก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่ด้วย

        อย่างไรก็ตาม มาตรา ๑๔๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ อันเป็นแม่บทของการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ไม่ได้กล่าวถึงการเจาะเลือดไว้ ดังนั้นก็เกินอำนาจที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๒

        เมื่ออ่านความเห็นข้างต้นนี้แล้วก็อย่าเข้าใจไปว่าการตรวจวัดแอลกอฮอล์ของผู้ขับรถกระทำไม่ได้นะครับ ยังทำได้ แต่ต้องทำโดยการตรวจวัดลมหายใจหรือตรวจปัสสาวะเท่านั้น การเจาะเลือดยังทำไม่ได้จนกว่าจะแก้กฎหมายแม่บทเสียก่อน ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๑๑ ก็ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ถ้าต้องการให้มีอำนาจตรวจเลือดเช่นว่านี้แล้ว ก็ต้องแก้ไขมาตรา ๑๔๒ ในส่วนที่เกี่ยวกับการทดสอบผู้ขับขี่โดยกำหนดให้มีการเจาะเลือดไว้อย่างชัดเจน


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การทดสอบการเมาสุราของผู้ขับขี่โดยวิธีการตรวจวัดจากเลือด - คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ ๑๐ - เรื่องเสร็จที่ ๙๗๗/๒๕๔๗)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย