เมื่อประชาชนมีปัญหาด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม จะทำอย่างไร

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/01/2008
ที่มา: 
นางนัทฐ์หทัย ไตรฐิ่น ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

เมื่อประชาชนมีปัญหาด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม จะทำอย่างไร


        ในปัจจุบันประชาชนต้องประสบกับปัญหาด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเหตุรำคาญจากเสียงดัง กลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง หรือปัญหาจากการประกอบกิจการต่างๆ เช่น กิจการร้านจำหน่ายอาหารและแผงลอยจำหน่ายอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตลาดที่ไม่สะอาด ผู้ประกอบการจำหน่ายอาหารที่เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ หรือกิจการที่มีกระบวนการผลิตหรือกรรมวิธีการผลิตที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรคซึ่งจะมีผลกระทบต่อ สุขภาพอนามัยของประชาชนที่อยู่ในบริเวณข้างเคียง เช่น ในกระบวนการผลิตก่อให้เกิดเสียงดัง จนอาจทำให้หูเสื่อม หรือเสียงดังรบกวนจนนอนไม่หลับ หรือมีกลิ่นเหม็น หรือมีฝุ่นละอองมากจนทำให้ไม่อาจดำรงชีวิตได้โดยปกติสุข การควบคุมปัญหาด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ รัฐได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรการไว้ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้มีเจ้าพนักงานเพื่อทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้แก่ เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข และผู้ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น

        เมื่อประชาชนประสบปัญหาด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น กรณีโรงงานขนถ่ายแป้งมันสำปะหลัง ในระหว่างการขนถ่ายแป้งได้ก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายมากจนประชาชนที่อยู่บริเวณข้างเคียงรู้สึกหายใจไม่สะดวก ผงฝุ่นอาจเข้าตา และทำให้บ้านเรือนสกปรก หรือกรณีในเขตเทศบาลเมืองแห่งหนึ่ง มีการเลี้ยงสุนัขไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมากและสุนัขส่งเสียงดัง จนทำให้ประชาชนที่อยู่บ้านติดกันรู้สึกนอนไม่หลับจากเสียงสุนัข ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้แก่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรีของเทศบาล นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นในพื้นที่ที่เกิดนั้นได้ ซึ่งเจ้าพนักงานดังกล่าวมีหน้าที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชาชนจริงหรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุเกิดขึ้นดังกล่าวหรือเหตุที่เกิดขึ้นนั้นไม่กระทบต่อสุขภาพ เจ้าพนักงานก็จะแจ้งให้ผู้ร้องทราบ แต่ถ้ามีเหตุเกิดขึ้นจริงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เจ้าพนักงานจะแนะนำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขก่อน ถ้าผู้ประกอบการหรือผู้ก่อเหตุไม่ปฏิบัติตาม เจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขรวมทั้งกำหนดเวลาในการปรับปรุงแก้ไขด้วย ถ้าผู้ประกอบการหรือผู้ก่อเหตุไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอัน สมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการหรือผู้ก่อเหตุได้เลย ถ้าผู้ประกอบการหรือผู้ก่อเหตุไม่ยอมให้ปรับเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็จะแจ้งความต่อพนักงานตำรวจเพื่อดำเนินคดีทางศาลต่อไป

        ดังนั้นจะเห็นว่าประชาชนที่ประสบปัญหาด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรืออาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงสามารถที่จะไปแจ้งเรื่องต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในเขตพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ได้ เพื่อให้เจ้าพนักงานดำเนินการ ตรวจตราแนะนำ หรือออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข และยังสามารถออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต หรือออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี

         “การไปแจ้งต่อผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายกำหนด จะทำให้ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์”


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

นางนัทฐ์หทัย ไตรฐิ่น ศูนย์บริหารกฎหมายสาธารณสุข

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย