วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/01/2008
ที่มา: 
คุณ ลีลา LAW


เมื่อเช็คเด้ง


        สังคมพัฒนาต่อเนื่องมาตลอดจากการซื้อขายด้วยเงินสดเท่านั้น ปัจจุบันนี้มีการใช้เช็คหรือบัตรเครดิตซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากความสะดวกในการใช้สอยแล้ว ยังมีข้อพิพาทติดมาด้วย ถ้าเจ้าของบัตรหรือผู้สั่งจ่ายเช็คเกิดปัญหาทางการเงิน แล้วจำใจงดจ่ายคืนหนี้ไม่ว่าโดยสุจริตใจหรือไม่ก็ตาม เมื่อเกิดกรณีพิพาทกับเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน หลายท่านคงต้องการทราบว่าควรจัดการกับกรณีดังกล่าวในเบื้องต้นอย่างไรเพื่อเป็นการรักษาเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ จึงขอนำกรณีตัวอย่างพึงระวังไว้ซึ่งพิพาทถึงศาลฎีกามาให้เป็นตัวอย่างดังนี้

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๘/๒๕๔๖ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดตั้งแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค คือ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๓ เมื่อเป็นความผิดอันยอมความได้ซึ่งมีกำหนดใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ ว่า ต้องร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๓ โดยมิได้ร้องทุกข์แจ้งความไว้ก่อน จึงขาดอายุความ อันมีสาเหตุมาจากครั้งแรกนั้นโจทก์ฟ้องศาลภายในอายุความ แต่เป็นการฟ้องผิดศาล จึงถูกสั่งจำหน่ายคดีไป โจทก์นำคดีมาฟ้องใหม่อีกครั้งในวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นการพ้นอายุความ ๓ เดือนแล้ว อันเป็นอายุความคดีอาญาโดยเฉพาะ มิได้มีบทบัญญัติ เรื่องอายุความสะดุดหยุดลงหรือเลิกนับอายุความร้องทุกข์อันจะนำ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๖) กรณีข้างต้นทำให้เห็นความสำคัญของระยะเวลาเพื่อปกป้องความเสียหายจากการใช้เช็คได้ เมื่อเช็คในมือถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วตามหลักกฎหมายผู้เสียหายต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน ๓ เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด นั่นคือ ผู้สั่งจ่ายเช็ค โดยแจ้งที่สถานที่เกิดเหตุ ซึ่งคือ ที่ตั้งของธนาคารซึ่งปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น แม้ท่านไม่แจ้งความกับตำรวจ ก็อาจฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ภายในอายุความดังกล่าวเช่นกัน ส่วนหลังจากแจ้งความภายในเวลาข้างต้นแล้ว ฝ่ายอัยการหรือเจ้าของเช็คจะฟ้องคดีต่อศาลเมื่อพ้นสามเดือนก็ได้ อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ต้องทราบไว้คือ เช็คที่นำมาร้องทุกข์นั้นต้องมีมูลหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย เช่น หนี้กู้เงินซึ่งต้องมีสัญญากู้ยืมประกอบด้วย หนี้ซื้อขายบ้านก็ต้องมีสัญญาซื้อขาย เป็นต้น ส่วนมูลหนี้ผิดกฎหมายต่างๆซึ่งมีการชำระหนี้ด้วยเช็คแล้วถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน เช่น ค่าใช้บริการโสเภณี ซื้อขายยาเสพย์ติด การจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ล้วนมิอาจใช้สิทธิแจ้งความร้องทุกข์ได้เลย แม้แต่ฟ้องคดีเรียกหนี้คืนทางศาลก็ทำไม่ได้ด้วยเหตุมูลหนี้ผิดกฎหมาย

        ดังนั้น ก่อนใช้เช็คดำเนินธุรกรรมต่อกัน จึงพึงระวังถึงมูลหนี้ตามเช็คให้ถูกต้องตามกฎหมาย และความน่าเชื่อถือของลูกหนี้ เนื่องจากบางครั้งไม่คุ้มค่าต่อการเสียค่าทนาย ค่าฟ้องคดี และการเสียเวลาในการดำเนินคดีทางศาลสำหรับเช็คแต่ละใบ บางคราวยังไม่อาจได้รับคืนหนี้ด้วยความประมาทเลินเล่อของเจ้าของเช็คหรือทนายความก็ได้ หากท่านรอบคอบในการใช้เช็คอย่างเพียงพอ ย่อมสร้างประโยชน์ใช้สอยมากกว่าปัญหาที่แอบแฝงอยู่


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คุณ ลีลา LAW

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย