เหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/01/2008
ที่มา: 
www.siamlaw.com คุณ ลีลา LAW


เหตุฉกรรจ์ของการลักทรัพย์


        หลายท่านอาจได้ยินคำพูดที่ว่า มีทรัพย์ก็มีทุกข์ได้ เนื่องเพราะพวกเขากลัวการสูญหายจากฝีมือโจร ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมามีการขายรถยนต์ใหม่จำนวนมากพร้อมกับสถิติการลักรถเพิ่มขึ้นด้วย บางคดีมีการทำลายกระจกหรืองัดแงะเพื่อเอารถไป บางคดีรถไม่เสียหาย แต่โจรถูกลงโทษฐานลักทรัพย์อันมีเหตุฉกรรจ์ซึ่งเป็นบทหนักเหมือนกับการลักทรัพย์โดยทำให้รถเสียหาย มันจึงสร้างความสงสัยแก่หลายคน

        อันที่จริงแล้วเหตุฉกรรจ์ซึ่งทำให้การลักทรัพย์มีโทษหนักขึ้นกว่าการลักทรัพย์ธรรมดา มีกำหนดไว้หลายเหตุในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 เช่น ทำในเวลากลางคืน ทำในเหตุทุกขภัย น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ปลอมตัว มีอาวุธ ทำในเคหสถาน ลักทรัพย์ที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือเป็นของนายจ้างหรือของเกษตรกร เป็นต้น หากผู้ใดมีพฤติกรรมเข้าเหตุดังกล่าว โทษที่ได้รับจักเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนเหตุฉกรรจ์ที่เขาทำไป เช่น เข้าเหตุหนึ่งอนุมาตรา จักมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือ เข้าสองอนุมาตราขึ้นไป ต้องมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท เป็นต้น

        กรณีศึกษาครั้งนี้เป็นคดีลักรถกะบะซึ่งไม่พบร่องรอยการงัดแงะของโจร แต่กลับถูกลงโทษฐานลักทรัพย์อันมีเหตุฉกรรจ์ ดังใน คำพิพากษาฎีกาที่ 3005/2543 แม้รถกะบะจักไม่มีรอยงัดแงะ แต่การที่จำเลยเข้าไปในรถกะบะของผู้เสียหายโดยผ่านทางประตูรถเข้าไปจากการใช้กุญแจผีหรืออุปกรณ์อื่นใด ถือว่าเป็นการผ่านสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์เข้าไปด้วยประการใดๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 กำหนดว่า ผู้ใดลักทรัพย์ โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ คดีนี้จึงเป็นการลักทรัพย์อันมีเหตุฉกรรจ์ได้

        อันที่จริงแล้วการลงโทษผู้กระทำผิดฐานลักทรัพย์เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การป้องกันมิให้เกิดความผิด จึงเป็นหลักเบื้องต้นที่พึงกระทำก่อน นั่นคือ การรู้จักปกป้องทรัพย์สินของตนอย่างรอบคอบ แม้จะมีการประกันภัยไว้แล้วก็ตาม หากมีการสูญหายของทรัพย์สิน มันต้องมีกระบวนการยาวนานและปัญหาจุกจิกกว่าจะได้รับชดใช้เงิน ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ คือ การเสียเวลา ค่าทางจิตใจ และการไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สิน ดังนั้น เราควรคิดว่าการป้องกันเป็นการลงทุนที่มีคุณค่ามากกว่าการรอรับค่าเสียหาย

 

 

--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

www.siamlaw.com คุณ ลีลา LAW
ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย