แนวพระราชดำริเกี่ยวกับพลังงานทดแทน

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2007
ที่มา: 
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลชีวมวลจากน้ำมันปาล์ม (โดยสังเขป)ปี 2529 ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จ.กระบี่

          ปี 2531 ทรงมีพระราชกระแสให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก ขนาดกำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

          ปี 2534 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มระบบ “ทอดภายใต้สุญญากาศ”

          3 ก.ย. 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้กองงานส่วนพระองค์เริ่มงานทดลองใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดีเซล ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

          10 พ.ย. 2543 รับสั่งแก่นายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) ว่าทรงมีพระราชประสงค์จะให้รัฐบาลริเริ่มโครงการแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันดีเซลชีวภาพในประเทศไทย

          12 พ.ย. 2543 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (นายอาทิตย์ อุไรรัตน์) รับจะสนองพระราชดำริ

          ม.ค. 2544 พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวนเงินประมาณ 8 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดกำลังผลิต 2 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จ.กระบี่ และงบประมาณ 3 ล้านบาท และเครื่องยนต์ขนาด 8 แรงม้า 3 เครื่อง รถไถเดินตามขนาด 11 แรงม้า 2 คัน และขนาด 8 แรงม้า 2 คัน เพื่อใช้ในโครงการทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดีเซล ในเครื่องจักรกลการเกษตร

          11 เม.ย. 2544 มีพระบรมราชโองการให้องคมนตรี (นายอำพล เสนาณรงค์) เป็นผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

          18 เม.ย. 2544 นายกรัฐมนตรี (พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) แถลงแก่คณะรัฐมนตรีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้รัฐบาลดำเนินการวิจัยนำน้ำมันปาล์มมาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง

          10 พ.ค. 2544 ในวันพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มี 4 หน่วยงาน นำผลงานเกี่ยวกับการวิจัยใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล ไปจัดนิทรรศการในพระตำหนักสวนจิตรลดา ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ บริษัท ยูนิวานิช จำกัด

          2 มิ.ย. 2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ไปวางศิลาฤกษ์เขื่อนคลองท่าด่าน ที่ อ.เมือง จ.นครนายก เสด็จ ฯ ถึงสนามจอดเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเวลาประมาณ 16.30 น. แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรบริเวณโดยรอบโครงการบนเขาลอย ซึ่งมีความสูงประมาณ 100 เมตร แล้วเสด็จ ฯ ลงมาบริเวณพลับพลาพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้วเสด็จ ฯ ไปยังอาคารรับรองจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. จึงเสด็จ ฯ กลับพระนคร ตลอดเวลาเสด็จพระราชดำเนิน ทั้งสองพระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งสีขาว ใช้เครื่องยนต์ 4 สูบ ขนาด 2,000 ซีซี เป็นรถยนต์ที่สร้างในประเทศสเปน ด้านหลังรถพระที่นั่งมีป้ายภาษาไทยเขียนว่า “รถยนต์คันนี้ใช้น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 100 %”

สารบัญ

[ซ่อนสารบัญ]

[แก้ไข] การพัฒนาพลังงานทดแทน แก็สโซฮอล์ ดีโซฮอล์ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

          "....น้ำมันสมัยใหม่แพงไม่รู้ทำไมมันแพง แต่ก็ยังไงเป็นสมัยนี้อะไร ๆ ก็แพงขึ้นทุกทีจะให้น้ำมันถูกลงมาก็ลำบาก นอกจากหาวิธีที่จะทำน้ำมันราคาถูกซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน ถูกกว่านิดหน่อยคือแทนที่จะใช้น้ำมันที่มีออกเทน 95 ก็ใช้ออกเทน 91 แล้วก็เติมแอลกอฮอล์เข้าไปนิดหนึ่ง ก็เป็นออกเทน 95 อาจเป็นได้ว่ารถจะวิ่งไม่เร็วก็ดีเหมือนกัน รถไม่วิ่งเร็วเกินไป รถจะได้ไม่ชนมากเกินไป ก็จะช่วยประหยัดทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ให้พอเพียง...."

          "....พูดแบบคนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องการคลังการเศรษฐกิจ แต่ว่าลองนึกดูถ้าสมมติว่า ใช้ของที่ทำในเมืองไทย ทำในประเทศได้เองแล้วก็ทำได้ดีมาก อ้อยที่ปลูกที่ต่าง ๆ เขาบ่นว่ามีมากเกินไปขายไม่ได้ ราคาตก เราก็ไปซื้อในราคาที่ดีพอสมควร มาทำแอลกอฮอล์แล้วผู้ที่ปลูกอ้อยก็ได้เงิน ผู้ที่ทำแอลกอฮอล์ก็ได้เงิน...." ส่วนหนึ่งของพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓

ภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างไม่ลดละติดต่อกันอย่างยาวนานจากราคาบาเรลละ ๓๕ เหรียญสหรัฐ เมื่อกลางปี ๒๕๔๗ เป็นบาเรลละ ๖๗ - ๗๐ เหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๔๘ มีสาเหตุพื้นฐานจากกรณีที่แหล่งน้ำมันดิบในโลกมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่อุปสงค์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอุปสงค์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและอินเดีย

          ๒. พระเศวตวรัตนกรี นิพิศสิริพงคนัทย์ เอกาทัศน์มงคลสุลักษณ์ ศุภนัขเนตราทิโควรรณ พิษณุพันธุ์ อัครคชาธาร อัฏฐกุลสารดามพหัสดิน ปรมินทรมหาราชพาหน สยามประชาชนสวัสดิคุล เดชอดุลยเลิศฟ้า

          เป็นช้างพลายเผือก ตกที่บ้านนายแก้ว ปัญญาคง ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พันตำรวจเอก นิรันดร ชัยนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ สมโภชขึ้นระวางที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ปัจจุบันล้มแล้ว

          สภาวการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากในระยะ ๒ ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมาก พระวิริยะอุตสาหะในการวิจัยค้นหาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกในยามคับขันโดยใช้วัสดุเกษตรกรรมภายในประเทศ แม้ว่าในระยะเริ่มต้นจะมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงและภาคเอกชนจะไม่สนใจลงทุน ก็ไม่ทรงท้อแท้พระราชหฤทัย ผลจากการที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นประมาณ ๑ เท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง ๑ ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้นจากเฉลี่ยเพียงวันละ ๐.๒ ล้านลิตรในเดือนมกราคม ๒๕๔๘ เป็น ๒.๕ ล้านลิตรในเดือน กันยายน ๒๕๔๘ หรือเพิ่มขึ้นกว่า ๑๒ เท่า และสถานีบริการแก๊สโซฮอล์ก็เพิ่มขึ้นจากเพียง ๑ สถานีในปี ๒๕๔๔ เป็น ๔,๐๐๐ สถานี ในเดือน กันยายน ๒๕๔๘

การส่งเสริมการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมันพืช

          ในช่วงปี พ.ศ. 2543–2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ได้มีกระแสเรื่องการนำน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว มาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาอย่างแพร่หลาย และขยายตัวอย่างรวดเร็วในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเพียงการใช้ในท้องถิ่นเท่านั้น ขณะที่พืชผลของปาล์มและมะพร้าวมีราคาตกต่ำ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือแทรกแซงราคาเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนั้นการนำน้ำมันจากพืชมาใช้เป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และยังช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ด้วย และเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเสนอ เรื่องการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล เป็นแนวทางของการสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิง

 

[แก้ไข] น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์

          โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยการศึกษาแนวทางการนำน้ำมันพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันปาล์มมาใช้งานแทนน้ำมันดีเซลเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิตวันละ ๑๑๐ ลิตร ที่ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส


          การทดลองใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยทดลองใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ ที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ (R.B.D.palm olein) เป็นน้ำมันที่สกัดจากผลปาล์มตามกรรมวิธีสะอาด ใช้ปรุงอาหารรับประทานได้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้จึงนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลที่มีระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปั้มและหัวฉีดน้ำมันที่ผลิตมาด้วยงานละเอียด จากผลการทดลองพบว่า ไม่มีผลกระทบใด ๆ ในทางลบกับเครื่องยนต์ดีเซล

          น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ร้อยละ ๑๐๐ โดยปริมาตรสามารถใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลโดยไม่ต้องผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ หรืออาจใช้ผสมกับน้ำมันดีเซลในสัดส่วนน้ำมันปาล์มต่อน้ำมันดีเซลน้อยตั้งแต่ร้อยละ ๐.๐๑ ไปจนถึง ๙๙.๙๙ ก็ได้เช่นกัน

          การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทำให้เพิ่มกำลังแรงบิดให้กับเครื่องยนต์ ลดมลพิษในไอเสียของเครื่องยนต์เพิ่มการหล่อลื่น ทำให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานได้นาน ประหยัดเงินตราในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลได้บางส่วน ช่วยเหลือเกษตรกร นอกจากนี้ ยังเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สามารถปลูกทดแทนได้

          จากผลสำเร็จดังกล่าว วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ยื่นจดสิทธิบัตร ณ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์คือ "การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล" สิทธิบัตรเลขที่ 10764

          ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้จัดส่งผลงานในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวไปร่วมแสดงในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติชื่องาน "BRUSSELS EUREKA 2001" ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้ผลงานการคิดค้น ๓ ผลงานของพระองค์ คือ "ทฤษฎีใหม่" "โครงการฝนหลวง" และ " โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม" ได้รับเหรียญทอง ประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณ พร้อมถ้วยรางวัล ในงานดังกล่าว ล้วนเป็นผลงานการคิดค้นแนวใหม่ในการพัฒนาประเทศ นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ประชาชนชาวไทยทั้งมวล

 

 

[แก้ไข] น้ำมันแก็สโซฮอล์

          น้ำมันแก๊สโซฮอล์หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมเอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอลและน้ำมันเบนซิน นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา บราซิล สำหรับประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มทดลองจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ให้แก่ประชานทั่วไปเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 โดยจำหน่ายผ่านทางสถานีบริการน้ำมันสวัสดิการของกรมศุลกากร กรมวิชาการเกษตรและที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่เนื่องจากว่า เอทานอลบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5 มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าราคาน้ำมันทั่วไป จึงไม่คุ้มค่าที่จะนำเอทานอลมาใช้ทดแทนน้ำมัน ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องหยุดการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ในปี พ.ศ. 2530 ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลให้ยกเลิกการเติมสารตะกั่วในน้ำมันเบนซินเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันต้องนำเข้าสารเพิ่มออกเทน (Octane) สารเพิ่มออกเทนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายชนิดหนึ่งคือ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether) โดยนำมาผสมในน้ำมันเบนซินในสัดส่วนระหว่างร้อยละ 5.5–11 ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศทั้งหมดต้องนำเข้าสาร MTBE คิดเป็นมูลค่าสูงถึงปีละ 3,000 ล้านบาท

          งานทดลองผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และมีพระราชดำรัสให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์หรือเอทานอล) จากอ้อย เพราะในอนาคตอาจเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนหรือราคาอ้อยตกต่ำ การนำอ้อยมาแปรรูปเป็นเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเงินทุนวิจัยใช้ในการดำเนินงาน ๙๒๕,๕๐๐ บาท เพื่อใช้ในการจัดสร้างอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในขั้นต้น

          วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารโครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเริ่มผลิตเอทานอลจากอ้อย แต่ต้นทุนการผลิตยังสูงอยู่มาก

          ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงได้มีการปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท สุราทิพย์ จำกัด มีการปรับปรุงหอกลั่นเอทานอลให้สามารถกลั่นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ ร้อยละ ๙๕ ได้ในอัตรา ๕ ลิตร ต่อชั่วโมง วัสดุที่ใช้หมักคือ กากน้ำตาล ซึ่ง บริษัท สุราทิพย์จำกัด น้อมเกล้าฯ ถวาย

          ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ร่วมกับบริษัท สุราทิพย์ จำกัด ได้ขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอผสมกับน้ำมันเบนซิน ในอัตราส่วนเอทานอลต่อเบนซินเท่ากับ ๑ : ๔ เชื้อเพลิงผสมที่ได้เรียกว่า น้ำมันแก๊สโซฮอล์

          น้ำมันแก็สโซฮอล์ที่ผลิตได้นั้น ถูกนำไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ทุกคันโครงการฯ ที่ใช้น้ำมันเบนซิน โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ๕๐ ปี ของสำนักพระราชวัง

          วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่บริษัท สุราทิพย์ จำกัด (ปัจจุบันคือ กลุ่มบริษัท 43) น้อมเกล้าฯ ถวายและดำเนินการกลั่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน กำลังการผลิตหอกลั่น ๒๕ ลิตรต่อชั่วโมง คิดเป็นต้นทุนการผลิตแบบธุรกิจทั่วไป ๓๒ บาทต่อลิตร ถ้าคิดต้นทุนการผลิตแบบยกเว้นต้นทุนคงที่ราคา ๑๒ บาทต่อลิตร (ทำการผลิต ๔ ครั้งต่อเดือน) ได้เอทานอลประมาณ ๙๐๐ ลิตร ต่อการกลั่น ๑ ครั้ง ใช้กากน้ำตาลความหวานร้อยละ ๔๙ โดยน้ำหนัก ครั้งละ ๓,๖๔๐ กิโลกรัม น้ำกากส่า (น้ำเสียจากหอกลั่น) ส่วนหนึ่งจะใช้รดกองปุ๋ยหมักที่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา

          วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ การปิโตเลียมแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายสถานีบริการแก๊สโซฮอล์เพื่อให้ความสะดวกกับรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสถานีบริการแก๊สโซฮอล์ดังกล่าว

          ต่อมาวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ โครงการส่วนพระองค์ฯ ร่วมกับการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพของเอทานอล ที่ใช้เติมรถยนต์ โดยโครงการส่วนพระองค์ฯ ส่งเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕ ไปกลั่นซ้ำเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๙.๕ ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแล้วนำกลับมาผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน ๑ : ๙ ได้แก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทนเทียบเท่าน้ำนัมเบนซิน ๙๕ เปิดจำหน่ายแก่ประชาชนที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๔๔

          ในน้ำมันปิโตรเลียมซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอน เผาไหม้อย่างไรก็ไม่หมด จะมีสารที่เผาไหม้ไม่หมด (unburnt ) เหลืออยู่จากการเผาไหม้ อาทิ คาร์บอน มอนนอกไซด์ (carbon monoxide ) ในปริมาณที่สูงซึ่งเป็นมลภาวะ แต่ในเอทานอลแม้ว่าจะมีสัดส่วนเพียงแค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ในแก๊สโซฮอล์ ก็สามารถลดมลภาวะได้มาก เนื่องจากในเอทานอลมีออกซิเจน (oxygen) เป็นส่วนประกอบ ออกซิเจนจะช่วยในการเผาไหม้ให้สมบูรณ์ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ เอทานอลจึงเป็นทั้งสารช่วยในการเผาไหม้และสารเพิ่มค่าออกเทน (octane enhancer ) อีกด้วย


การผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์

          ในการนำเอทานอลมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น จะต้องใช้เอทานอลที่มีส่วนผสมของน้ำน้อยที่สุด เนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาทำให้เครื่องยนต์น็อก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของเครื่องยนต์เกิดสนิม ซึ่งโดยมาตรฐานสากลแล้วควรเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ระดับร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินธรรมดาในอัตราส่วน 1 : 9 จะได้แก๊สโซฮอล์ที่มีค่าออกเทนเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน 95 โดยมีขั้นตอนการผลิตตามสูตรการผสมของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ดังต่อไปนี้

          ก. นำเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ 99.5 โดยปริมาตร จำนวน 200 ลิตร ใส่ลงในถัง

          ข. เติมสารป้องกันการกัดกร่อน (Corrosion Inhibitor) ลงไป จำนวน 30 กรัม

          ค. เติมน้ำมันเบนซิน 91 ลงไปจำนวน 1,800 ลิตร เดินเครื่องสูบหมุนเวียน เพื่อให้น้ำมันและส่วนผสมเข้ากันใช้เวลาประมาณ 30–60 นาที จะได้แก๊สโซฮอล์ จำนวน 2,000 ลิตร

 

[แก้ไข] น้ำมันดีโซฮอล์

          น้ำมันดีโซฮอล์ หมายถึง น้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้จากการผสมน้ำมันดีเซล เอทานอล และสารที่จำเป็น สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลได้

          โครงการดีโซฮอล์ที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยร่วมกับโครงการส่วนพระองค์ฯ ทดลองผสมเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕ กับน้ำมันดีเซล และสารอีมัลซิไฟเออร์ ในอัตราส่วน ๑๔ : ๘๕ : ๑ สามารถนำดีโซฮอล์นี้ไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล เช่น รถกระบะ รถแทรกเตอร์ของโครงการส่วนพระองค์ฯ ผลการทดลองพบว่าสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควรและสามารถลดควันดำได้ปริมาณร้อยละ ๕๐

          อนึ่ง สารอิมัลซิไฟเออร์ คือ สารที่มีคุณสมบัติทำให้แอลกอฮอล์กับน้ำมันดีเซลผสมเข้ากันโดยไม่แยกชั้น ซึ่งประกอบด้วยสาร PEOPS และ SB 407

          ขั้นตอนการผลิตดีโซฮอล์

          ขั้นตอนการผลิตน้ำมันดีโซฮอล์ที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา โดยย่อมีดังนี้

          ๑. นำน้ำมันดีเซล จำนวน ๔๑๙ ลิตร ใส่ลงในถังผสมแล้วเติมสารอิมัลซิไฟเออร์ชนิดที่ ๑ (SB 407) จำนวน ๔.๒ ลิตร เดินเครื่องสูบหมุนเวียนเป็นเวลา ๑๐ นาที

          ๒. นำเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ร้อยละ ๙๕ โดยปริมาตร จำนวน ๖๗ ลิตร ใส่ลงในถังผสมเติมอิมัลซิไฟเออร์ชนิดที่ ๒ (PEOPS) จำนวน ๔.๓ กิโลกรัม เดินเครื่องสูบหมุนเวียน เป็นเวลา ๒ ชั่วโมง

[แก้ไข] พลังงานทดแทน CVP ดีเซล สนองพระราชดำริ

ชุมชนกลุ่มเครือข่ายผู้ก่อการดี ดร.บ้านนอกจับมือโรงเรียน สานการพัฒนาพลังงานทดแทน ผลิตน้ำมันดีเซลชีวภาพใช้เอง สนองพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม

          ด้วยแนวคิดของนายธนเดช ดวงไสว ชาวราชบุรีจบการศึกษาววิชาชีพ ปวส. ช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ที่ปัจจุบันเปิดอู่ซ่อมรถ เทสปั้มหัวฉีดปักหลักถิ่นฐานอาศัยอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เขตชายแดนติดกับอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีในการสนองแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องสิ่งแวดล้อม อันเป็นพระราชปารถนาให้ชาวไทย พัฒนาพลังงานทดแทนประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน และสามารถอยู่อย่างพอเพียง ซึ่งจากประสบการณ์ที่เคยผ่านการอบรมเรื่องน้ำมันไบโอดีเซล ชีวภาพและมุ่งหวังพัฒนาพลังงานทดแทน ต่อยอดโครงการน้ำมันไบโอดีเซลให้มีความทัดเทียมกับน้ำมันของต่างชาติได้ ประกอบกับเคยฝึกงานที่ศูนย์เทสปั้มหัวฉีดของบริษัทเอกชน จึงเริ่มต้นคิดค้นข้อมูลระบบการทำงานของเครื่องยนต์ ทำการวิจัยส่วนดีส่วนเสียในตัวน้ำมันของต่างชาติ และคิดค้นวิจัยน้ำมันพลังงานทดแทน พบว่าน้ำมันพืช และน้ำมันสัตว์มีคุณสมบัติพิเศษ จากน้ำมันในครัวเรือนที่เลิกใช้แล้ว มาศึกษาคิดค้นสูตรของสาร เมทานอล โพแทสเซียมและสารเคลือบ CVP ตามสัดส่วนที่ได้จากการทดลองพลังงานทดแทน CVP ดีเซล พบว่ามีคุณสมบัติไม่ด้อยกว่าน้ำมันต่างชาติ ซึ่งในกระบวนการผลิตก็ไม่มีน้ำมันต่างชาติมาผสมใช้ได้กับเครื่องยนต์ ทั่วไปและระบบคอมมอนเรล ปัจจุบันมีการใช้น้ำมัน CVP ดีเซลกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งเกษตรกรชาวสวน บ่อกุ้งบ่อปลาในเขตบ้านแพ้วและราชบุรี พร้อมมีการรวมกลุ่มชุมชนเครือข่ายผู้ก่อการดี ตามเจตนารมณ์ พลังงานไทย เพื่อลดใช้ พลังงานต่างชาติ ผลิตน้ำมันดีเซลชีวภาพใช้เองพร้อมมีการจดสิทธิบัตรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา จนมีการขยายเครือข่ายไปสู่เยาวชนคนท้องถิ่น ได้มีความตระหนักใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม ตามรอยพ่อหลวง

……………สัมภาษณ์………….นายธนเดช ดวงไสว ผู้คิดค้นพลังงานทดแทนCVPดีเซล

          ในส่วนเยาวชนนักเรียนโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจกลุ่มนี้ที่เป็นเครือข่ายในการต่อยอดการเรียนรู้ โครงการสนองพระราชดำริ ด้านพลังงานทดแทน CVP ดีเซลแห่งอนาคตไปสู่เยาวชนและชุมชนท้องถิ่น นายจำรัส มากแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจกล่าวว่า จากที่ชุมชนได้มีการคิดค้นพัฒนาพลังงานทดแทน โดยทางโรงเรียนได้มีการต่อยอดให้นักเรียนเรียนรู้กับชุมชน กระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ธำรงรักษาความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นคงอยู่กับชุมชน ประกอบกับบริษัทฮอนด้าประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการ โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ สนองพระราชดำริในเรื่องสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด ตามรอยเท้าพ่อ…กับฮอนด้า ทางโรงเรียนจึงได้ส่งผลงานโครงการเข้าประกวด และได้รับการพิจารณาติด 1 ใน 5 ของภาค ตามโครงการประเภทพลังงาน ทางฮอนด้าก็ได้สนับสนุนทุนการศึกษาและมีการต่อยอดโครงการ ทุกวันนี้ทางโรงเรียนได้มีการขยายผลส่วนที่เป็นประโยชน์กับนักเรียน มีการรับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากชุมชน มาผลิตน้ำมันCVP ดีเซล รณรงค์ให้เลิกและลดการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ สาธารณสุขด้านสุขภาพอีกด้วย ตลอดจนมีการทำหลักสูตรท้องถิ่น พลังงานทดแทน สร้างเครือข่ายความรู้ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของชุมชน ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเครือข่ายชมรมคนรักษ์น้ำ…

……………สัมภาษณ์……………..นายจำรัส มากแก้ว ผอ.โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ

          ทางด้าน (ไวท์) อภินันท์ ประสิทธิเวช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจและเพื่อนๆ กลุ่มเครือข่ายผู้ก่อการดีที่มีความเชี่ยวชาญจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ของ ดร.บ้านนอก เรื่องพลังงานทดแทน CVP ดีเซล สามารถบรรยายขั้นตอนการผลิตและสรรพคุณ โครงการพัฒนาพลังงานทดแทน CVP ดีเซล ตามแนวพระราชดำริ สามารถแข่งขันกับน้ำมันต่างชาติได้จริง และต้องการให้ภาครัฐได้ให้ความสนใจ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถคิดค้นสร้างองค์ความรู้สู่ชุมชนและการอนุรักษ์พลังงานของชาติ

…………..สัมภาษณ์…………..นายอภินันท์ ประสิทะเวช นักเรียนโรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ

          จากเสียงสะท้อนของผู้ใช้น้ำมัน พลังงานทดแทน CVP ดีเซลชีวภาพและกลุ่มเครือข่ายผู้ก่อการดีนับเป็นสิ่งสะท้อน วิวัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ที่จะเป็นจุดเล็กของเมล็ดพันธ์คนท้องถิ่น ช่วยหยุดโลกพ้นวิกฤติพลังงาน หากภาครัฐให้การสนับสนุนต่อยอดไปสู่ การแก้วิกฤติชาติตามปรัชญาขอลกลุ่มเครือข่ายผู้ก่อการดีที่ว่า ในหลวงทรงคิดค้น ประชาชนร่วมคิดทำ ท้องถิ่นร่วมสานฝัน ผลิตน้ำมันดีเซลชีวภาพไว้ใช้เอง…

 

[แก้ไข] หาพื้นที่เหมาะสมปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนพลังงาน

          กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนพลังงานจำนวน 2.5 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 2 ปีต่อจากนี้ ภายใต้ โครงการพัฒนาพลังงานทดแทน โดยมอบหมายให้ กรมพัฒนาที่ดิน สำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมัน โดย เน้นไปในพื้นที่ทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านสภาพการใช้ที่ดิน คุณ สมบัติดิน สภาพแวดล้อม และปริมาณน้ำฝน ปรากฏว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพในการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ในภาคใต้จำนวน 1.9 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 509,000 ไร่ และพื้นที่ดินเปรี้ยวภาคกลางที่มีการยกร่องปลูกไม้ผลอีกประมาณ 150,000 ไร่

          การวิเคราะห์พื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพปลูกปาล์มน้ำมันในโครงการนี้จะเป็น พื้นที่นาร้าง ที่ทิ้งร้าง พื้นที่ลุ่ม พื้นที่ปลูกไม้ผลในสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ดินเปรี้ยวจัด และพื้นที่ปลูกยางพาราในดินไม่เหมาะสม โดยพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ จะต้องไม่อยู่ในพื้นที่เขตป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตอุทยานแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม จะไม่ส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืชอื่นโดยเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกข้าว เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ที่อยู่ในกลุ่มดินชุดบางกอกเนื่องจากมีศักยภาพในการปลูกข้าวมากที่สุด

          การดำเนินงานต่อจากนี้กรมฯ จะต้องปรับปรุงพื้นที่ให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น ได้แก่ ยกร่องป้องกันน้ำท่วม ควบคุมระดับน้ำเพื่อป้องกันความรุนแรงของดินกรดในพื้นที่ดินเปรี้ยว ใช้วัสดุปูนปรับปรุงความเป็นกรด-ด่าง ของดิน รวมถึงต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินและตามความต้องการของปาล์มน้ำมัน

สำหรับพื้นที่ทิ้งร้างในประเทศไทยมีมากถึง 7-8 ล้านไร่ กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างไม่เพียงแต่เสียประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากยังขาดที่ดินทำมาหากิน นอกจาก นี้ พื้นที่ที่ถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่ายังขาดการปรับปรุงบำรุงดินทำให้ดินเสื่อมโทรมได้ ที่ผ่านมา

          กรมพัฒนาที่ดิน ได้ทำโครงการส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ทิ้งร้างทั่วประเทศเพื่อพื้นที่สีเขียวลดภาวะโลกร้อน ตลอดจนได้ทำโครงการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทิ้งร้าง โดยดำเนินการนำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมาย 50,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 20,000 ไร่ ดังนั้น เมื่อกระทรวงเกษตรฯ มีโครงการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทิ้งร้างจึงเป็นเรื่องที่ดีที่จะสามารถให้เกษตรกรหรือเจ้าของที่ดินได้นำที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้างมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป.

 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต