แม่น้ำกระบุรี

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2007
ที่มา: 
วิกิพีเดีย

จาก คลังปัญญาไทย, สารานุกรมฟรี

Jump to: navigation, search

ภาพ:16093-100_3.jpg


        แม่น้ำกระบุรี หรืออีกชื่อหนึ่งของคนในท้องถิ่นว่า แม่น้ำปากจั่น เป็นพรมแดนธรรมชาติของประเทศไทยและสหภาพพม่ามีความยาวตลอดสายประมาณ70 กิโลเมตร มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลผ่านพื้นที่อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น และอำเภอเมือง จังหวัดระนอง

 

สารบัญ

[ซ่อนสารบัญ]

[แก้ไข] แม่น้ำกระบุรี

        แม่น้ำกระบุรี เกิดจากแม่น้ำสายเล็ก ๆ 2 สาย คือ คลองหันกะเดียงกับคลองกระนัย ไหลมารวมกันในเขตอำเภอกระบุรี กลายเป็นแม่น้ำกระบุรี โดยที่แม่น้ำสองสายนั้นเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรีและมีแม่น้ำปากจั่นไหลมารวมกันกับแม่น้ำกระบุรี แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งมีความยาวประมาณ 135 กิโลเมตร

        แม่น้ำสายนี้มีลักษณะพิเศษทางภูมิประเทศที่เป็นเอกลักษณ์ เรียกว่า ชวากทะเล หมายถึงบริเวณปากแม่น้ำมีระยะห่างระหว่างฝั่งทั้งสองค่อยๆขยายกว้างออกไปจนเป็นอ่าว อันเกิดจากแผ่นดินมีการยุบตัวลง มีอิทธิพลน้ำเค็มจากทะเลเข้าไปได้ สองฝั่งแม่น้ำจึงมีสภาพนิเวศแบบป่าชายเลนไปตลอดจนถึงเขตอำเภอละอุ่นบริเวณปากคลองละอุ่นจึงเริ่มเป็นบริเวณที่แม่น้ำมีความกว้างเป็นปรกติ ประชาชนทั้งสองฝั่งแต่เดิมเป็นคนพื้นเมืองปักษ์ใต้ หมู่บ้านที่อยู่ตรงข้ามกับอำเภอกระบุรี(เมืองตระ ในอดีต)คือหมู่บ้านมาราง หมู่บ้านตลิ่งชัน ขึ้นกับเมืองมะลิวัลย์ ซึ่งแต่เดิมเป็นดินแดนของราชอาณาจักรสยาม ได้เสียให้แก่อังกฤษไปในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมกับเมืองมะริด ทวายและตะนาวศรี

 

ภาพ:16101-111.jpg

 

[แก้ไข] อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี

        กรมป่าไม้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองอุทยานแห่งชาติไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองลำเลียง-ละอุ่น ป่าละอุ่น-ป่าราชกูด ป่าคลองเส็ตกวด ป่าเขาหินช้าง และป่าเขาสามแหลม เพื่อเตรียมการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2542 ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี มีขนาดเนื้อที่ประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร หรือ 100,000 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 61 ตารางกิโลเมตร หรือ 40,000 ไร่ พื้นที่บก 99 ตารางกิโลเมตร หรือ 60,000 ไร่

[แก้ไข] ลักษณะภูมิประเทศ

        ลักษณะชายฝั่งของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีเป็นลักษณะชายฝั่งจมตัว เป็นผลให้ชายหาดตลอดแนวฝั่งแคบ มีลำน้ำหลายสาย ขนาดใหญ่เล็กจำนวนมากจากที่สูงในแผ่นดินไหลออกสู่แม่น้ำกระบุรีประกอบด้วย คลองบางหมี คลองขี้นาค คลองลำเลียง คลองบางสองรา คลองบางใหญ่เหนือ คลองบางใหญ่ คลองละอุ่น คลองจิก คลองหลุมถ่าน คลองเสร็จตะกวด และคลองหินช้าง ซึ่งแม่น้ำลำคลองเหล่านี้ได้พัดพาตะกอนดินมาทับถมตามปากแม่น้ำและชายฝั่งทำให้ลักษณะชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำ ลำคลองถูกปกคลุมไปด้วยป่าชายเลน สำหรับบริเวณที่เป็นเทือกเขาสูงริมฝั่งมีลักษณะเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วย เขาง่าม เขาเส็ดตะกวด เขาหินช้าง เขาเมืองสูง เขาจอมแหลม เขาสามแหลม เขาหลุมถ่าน และเขาน้ำร้อน มียอดเขาเมืองสูงเป็นยอดเขาสูงสุด โดยสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 609 เมตร

 

ภาพ:16103-100_3.jpg

 

        ลักษณะทางธรณีเป็นหินชั้น หินแปร และหินอัคนี โดยบริเวณเกาะเสียด เกาะยาว เกาะขวาง เกาะโชน เกาะปลิง และบริเวณที่ราบริมน้ำ ซึ่งตั้งแต่ตอนเหนือใกล้บ้านบางกุ้งถึงตอนใต้ของเขาเส็ดตะกวด เป็นหินชั้นและหินแปรที่มีอายุราวในยุคควาเทอร์นารี ประมาณ 2 ล้านปีมาแล้ว ที่เกิดจากแหล่งตะกอนน้ำพา เป็นกรวด ทราย ทรายแป้ง ดิน แหล่งตะกอนชายหาด ตะกอนรูปพัดเป็นกรวดและทราย ส่วนของแผ่นดินที่ถัดเข้ามาทางทิศตะวันออกช่วงเหนือคลองละอุ่นถึงตอนเหนือสุดของพื้นที่ เป็นหินออร์โธควอร์ตไซต์ หินทรายแป้ง และหินดินดาน มีซากไบรโอซัวและแบรคิโอพอดปะปนอยู่ ในหน่วยมัทรี มีอายุราวในยุคคาร์บอรนิเฟอรัส ประมาณ 345 - 280 ล้านปีมาแล้ว

        ช่วงใต้คลองจิกลงไปทางตอนใต้ส่วนใหญ่เป็นหินเกรย์แวก หินทรายปนกรวด หินดินดานปนกรวด และหินโคลนชั้นหนามากถึงชั้นหนา มีหินเทอร์บิไดต์สลับอยู่บ้าง ในหินหน่วยกระบุรี ชุดตะนาวศรี ยุคไซลูเรียน-ดีโวเนียน ประมาณ 425 - 405 ล้านปีมาแล้ว บริเวณที่เป็นหินอัคนีมีน้อยมากอยู่ระหว่างเขาสามแหลมและเขาหินช้าง เป็นหินไบโอไทต์ แกรนิต เนื้อปานกลางถึงละเอียด ยุคไทรแอสซิก ประมาณ 230 ล้านปีมาแล้ว

[แก้ไข] ลักษณะภูมิอากาศ

        ลักษณะภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรีมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 13.7 องศาเซลเซียส สูงสุด 34 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 4,276 มิลลิเมตร/ปี ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

 


ขอบขอบคุณข้อมูลจาก

- โรงเรียนสุราษฎร์ธานี

- Thai Forest Booking

- วิกิพีเดีย

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต