โจทก์ จำเลยตายทำให้คดีสิ้นสุดลงหรือไม่?

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/01/2008
ที่มา: 
สำนักงานศาลยุติธรรม

โจทก์ จำเลยตายทำให้คดีสิ้นสุดลงหรือไม่?


        มีหลายคนคงสงสัยว่าเมื่อโจทก์หรือจำเลยตายในระหว่างการพิจารณาคดี จะส่งผลให้คดีความสิ้นสุดลงหรือไม่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้มีการฆาตกรรมเกิดขึ้น ซึ่งผู้ตายมีคดีความฟ้องร้องค้างพิจารณาในศาล แต่ความตายจะทำให้คดีดังกล่าวสิ้นสุดลงหรือไม่?


จะเป็นอย่างไรหากโจทก์ จำเลยในคดีแพ่งตาย

        สำหรับคดีแพ่งนั้น ความตายไม่ท าให้คดีที่ค้างพิจารณาอยู่นั้นสิ้นสุดไป เพราะกฎหมายกำหนดให้มี “การรับมรดกความ” ตามหลักแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 42 ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อโจทก์หรือจำเลย ตายในระหว่างคดีค้างพิจารณา ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาคดีไปจนกว่าทายาทของผู้ตายหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือบุคคลอื่นที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้มีคำขอมาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์หรือจำเลยที่ตายไป หรือจากการที่โจทก์หรือจำเลย ฝ่ายที่เหลืออยู่มีคำขอให้ศาลเรียกเข้ามา กำหนดเวลาที่จะเข้ามารับมรดกความแทนที่โจทก์หรือจำเลยที่ตายไปนั้นต้องกระทำภายในระยะเวลาหนึ่งปีหลังจากที่ผู้นั้นตายไป ถ้าไม่มีการขอเข้ามารับมรดกความภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ คดีที่รับมรดกความแทนที่กันได้นั้นต้องเป็นคดีที่เกี่ยวด้วยทรัพย์สินหรือสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตายซึ่งเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทได้ หากคดีนั้นเป็นคดีที่เกี่ยวกับสิทธิเฉพาะตัวของผู้ตาย เช่น สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน ก็ไม่อาจเข้าแทนที่รับมรดกความต่อไปได้และคดีที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวนี้ หากไม่มีการเข้ามาเป็นโจทก์หรือจำเลยแทน ศาลย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ แม้จะยังไม่พ้นหนึ่งปีก็ตามเพราะถือว่าคดีนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาต่อไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2516) อันที่จริงกำหนดเวลาหนึ่งปีที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่บทบังคับตายตัวให้ศาลต้องจำหน่ายคดีเสียทุกกรณีไป การที่ศาลจำหน่ายคดีหรือไม่เป็นดุลยพินิจของศาลแล้วแต่จะพิจารณาเห็นสมควร ตราบใดที่ศาลยังมิได้จำหน่ายคดี การเข้ารับมรดกความแทนที่ก็สามารถกระทำได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2491และ74-75/2536)


คดีอาญาที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง

        ในคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 29 กำหนดหลักไว้ว่า “เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้” ผู้เสียหายในที่นี้ หมายความถึง ผู้เสียหายที่แท้จริงที่ยื่นฟ้องไว้แล้วตายไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2521 และ 578/2534) ส่วนผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป ได้แก่ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา ในกรณีผู้บุพการีและผู้สืบสันดานนั้น กฎหมายถือตามสายโลหิต (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1384/2516 และ 5116/2530) ส่วนสามีหรือภริยานั้น จะต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญบุคคลเหล่านี้จะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปหรือจะไม่รับ

        ดำเนินคดีก็ได้ กฎหมายไม่ได้บังคับ แต่หากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะดำเนินคดีต่อไปก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาลขอดำเนินคดีต่อไปโดยใช้ฟ้องซึ่งผู้ตายได้ฟ้องไว้เดิม ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลเหล่านั้นไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป ถ้าเป็นคดีความผิดอาญาแผ่นดิน คือ ความผิดที่ยอมความกันไม่ได้ เช่น ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนานั้นถือว่าผู้เสียหายฟ้องแทนแผ่นดิน ถ้าผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลงระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นแล้วไม่มี ผู้เข้ามาดำเนินคดีแทนศาล อาจพิพากษายกฟ้อง เพราะไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย ต่างกับกรณีที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องไว้แล้วตายไประหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี ซึ่งศาลสูงสามารถพิจารณาคดีต่อไปได้โดยอาศัยพยานหลักฐานที่นำสืบไว้แล้วในศาลชั้นต้น ส่วนคดีความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ยักยอก ฉ้อโกง หรือ หมิ่นประมาทนั้น ไม่ถือว่าผู้เสียหายฟ้องแทนแผ่นดิน หากผู้เสียหายยื่นฟ้องไว้แล้วตายไปโดยไม่มีผู้เข้ามาดำเนินคดีต่อไป ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปศาลต้องจำหน่ายคดี เว้นแต่ คดีนั้นดำเนินมาถึงขั้นทำคำพิพากษาเสร็จแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 217/2506 ประชุมใหญ่)


ความตายของจำเลยในคดีอาญาเป็นเหตุให้คดีระงับ

        หลักกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 กำหนดว่า “สิทธินำคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิด” เนื่องจากความรับผิดทางอาญาและโทษทางอาญานั้น กฎหมายถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดโดยแท้ เพราะฉะนั้น เมื่อจำเลยตายในระหว่างการดำเนินคดี ไม่ว่าในชั้นสอบสวน หรือชั้นพิจารณาคดีก็ตามย่อมทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไป หากคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลศาลต้องจำหน่ายคดี และแม้ศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ต้องรับโทษแล้วก็ตาม โทษตามคำพิพากษานี้ก็เป็นอันระงับไปด้วยความตายของจำเลย แม้เป็นโทษปรับหรือริบทรัพย์ซึ่งเป็นโทษที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ไม่ตกทอดไปยังทายาท


สรุป

        จากที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้ว่า ความตายของโจทก์หรือจำเลยในระหว่างพิจารณาคดีไม่ได้ทำให้คดีสิ้นสุดลง เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการรับมรดกความ และกำหนดให้มีผู้ดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ ในคดีอาญาเท่านั้นที่กฎหมายกำหนดให้สิทธิทางคดีเป็นอันระงับไปด้วยความตายของจำเลย


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สำนักงานศาลยุติธรรม

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย