โทษภัยของการดูทีวีมากจนเกินไป

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
29/01/2008
ที่มา: 
ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ พัฒนศึกษา คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความเรื่อง "โทษภัยของการดูทีวีมากจนเกินไป"

โทษภัยของการดูทีวีมากจนเกินไป


        แม้โลกจะก้าวไปสู่สังคมสารสนเทศหรืออินเตอร์เน็ตแล้วก็ตาม แต่โทรทัศน์หรือทีวียังคงเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมมากสำหรับคนทุกเพศทุกวัย และด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมที่กระจายไปคู่กับทีวี ยิ่งทำให้ "วัฒนธรรมทีวี" กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชาวโลกไปโดยปริยาย

        อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นห่วงสำหรับคนยุคใหม่ก็คือ ปัจจุบันเด็กทั่วโลกต่างเกิด เติบโต และตกอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมทีวีที่ถือเป็นสิ่งแวดล้อมและสื่อการเรียนรู้ของเด็ก นั่นคือเด็กส่วนใหญ่จะใช้เวลากับการดูโทรโดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ประมาณ 3-5 ชั่วโมงต่อวัน และอิทธิพลจากการดูทีวีนี้เองได้นำไปสู่ผลกระทบต่อเด็กทั้งด้านบวกและลบ ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยของบางประเทศ ได้ชี้ให้เห็นความเสี่ยงและปัญหาอันเกิดจากผลกระทบของสื่อทีวีในหลายๆ เรื่อง อาทิ

- เรื่องเพศ ประเด็น "เปลือยโป๊ โชว์เซ็กส์" ดูเป็นเนื้อหาที่เด็กต้องเสี่ยงเจออยู่บ่อยครั้ง งานวิจัยจำนวนมากได้ชี้ให้เห็นว่า อิทธิพลของทีวีมีผลต่อการบ่มเพาะค่านิยมและพฤติกรรมทางเพศ ข้อมูลจากการศึกษาในสหรัฐชี้ว่า วัยรุ่นที่มีความถี่ในการรับสื่อเรื่องเพศสูงในระดับเปอร์เซ็นต์ไทส์ที่ 90 มีโอกาสมีเพศสัมพันธ์สูงกว่ากลุ่มที่มีความถี่ในการรับสื่อเรื่องเพศต่ำในระดับเปอร์เซ็นต์ไทส์ที่ 10 ถึงสองเท่าตัว

        ขณะที่ในปี 1997 งานของ Kaiser Family Foundation ได้วิเคราะห์เนื้อหารายการพบว่า ในขณะที่ 2 ใน 3 ของภาพยนตร์และรายการบันเทิงเหล่านี้ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ แต่มีเพียงร้อยละ 10 ของเนื้อหานี้เท่านั้น ที่มีนัยเกี่ยวกับการมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย หรือผลร้ายของการมีเซ็กซ์แบบไม่รับผิดชอบ

        นอกจากนี้การรับสื่อที่ยั่วยุทางเพศบ่อยๆ ยังจะส่งผลให้วัยรุ่นพัฒนาความเชื่อและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมผิดๆ เกี่ยวกับการแสดงออกทางเพศ เช่น เชื่อว่าเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องที่ทุกคนในสังคมหมกมุ่น หรือเชื่อเกินความเป็นจริงเกี่ยวกับอัตราความถี่ของการมีเซ็กส์ของคนในสังคม ตลอดจนความเชื่อว่าเซ็กส์ไม่มีความสัมพันธ์ต่อสถานภาพการแต่งงาน

- เรื่องความรุนแรง หรือ "โหด มันส์ เหี้ยม" ดูจะเป็นความบันเทิงประจำวันที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ในสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยถึงกว่า 600 ชิ้นในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในสื่อประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ที่เข้าถึงเด็กได้มากที่สุดว่า มีความสัมพันธ์สูงต่อการมีทัศนคติที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่นหรือต่อต้านสังคม การเพิกเฉยหรือยอมรับการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา และการเครียดหรือหวาดวิตกต่อการถูกทำร้าย

        ข้อมูลจากสถิติในสหรัฐอเมริกายังพบว่าร้อยละ 86 ของอาชญากรทางเพศมีการเสพสื่อลามก (หนังโป๊/หนังสือโป๊) เป็นประจำ ยิ่งไปกว่านั้น จากการศึกษาประวัติของอาชญากรข่มขืนต่อเนื่อง (serial rapist) พบว่าเกือบทั้งหมดมีประวัติการเสพสื่อลามกมาตั้งแต่เล็ก

        ในปี 1983 รัฐเนวาดา และอลาสก้า มีสถิติจำนวนผู้ซื้อสื่อลามกเช่นหนังโป๊หรือหนังสือโป๊ไปดูมากที่สุดในสหรัฐ และทั้งสองรัฐนี้ก็มีสถิติการข่มขืนมากที่สุดในประเทศด้วย มีการประมาณการณ์ว่า ตลอดช่วงชีวิตของเด็กอเมริกันทั่วๆ ไปคนหนึ่ง เขาจะได้เป็นพยานของความรุนแรงในโทรทัศน์มากมาย กล่าวคือ ฆาตกรรมจำนวน 8,000 ครั้ง และความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ อีก 100,000 ครั้ง

- เรื่องสุขภาพ ทั้ง "อ้วน-ผอม" เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่สอดแทรกมากับโฆษณา การดูโทรทัศน์มากเกินไปยังนำไปสู่การบริโภคเกินความจำเป็น ในสหรัฐพบว่า โดยเฉลี่ยเด็กอเมริกันจะดูโฆษณามากกว่า 20,000 ชิ้นต่อปี โดยร้อยละ 60 เป็นโฆษณาอาหารเสริม ลูกอม หรืออาหารที่ไม่ได้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

        ส่วนในรายงานจากผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน ซึ่งศึกษาพฤติกรรมเด็ก 15,000 คนในประเทศตะวันตกต่างๆ โดยเน้นที่ประเทศเยอรมนี ระบุว่า การดูโทรทัศน์มากเกินไปเป็นสาเหตุให้คนเยอรมันเสียชีวิตถึงปีละ 20,000 คน จากโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ระดับคอเลสเตอรอลสูงและโรคเบาหวาน ซึ่งนับวันเด็กกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยเหตุดังกล่าวสูงขึ้นด้วย

- เสี่ยงต่อสมองฝ่อ ความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดประการหนึ่งคือผลกระทบของทีวีที่มีต่อ "พัฒนาการทางสมองของเด็ก" ซึ่งดูจะเป็นความเสี่ยงที่มักถูกมองข้าม ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมองและพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะกับเด็กเล็กได้ชี้ว่า การดูโทรทัศน์จะมีผลต่อการเจริญเติบโตพัฒนาการของสมอง โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ เด็กที่ดูโทรทัศน์มากๆ จะขาดการเล่นที่มีส่วนสําคัญต่อพัฒนาการของเด็ก

        การดูโทรทัศน์ยังทําให้เด็กไม่ทำอย่างอื่นที่ควรจะทําในช่วงเวลานั้นๆ ในขณะที่เด็กที่ไม่ได้ติดโทรทัศน์จะใช้เวลาเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว และพัฒนาทักษะทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม เด็กที่ติดโทรทัศน์มากเกินไปกลับจะเป็นเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวน ขี้โมโห ค่อนข้างเครียดง่าย ที่สำคัญการดูโทรทัศน์มากเกินไป หรือดูอย่างไม่เหมาะสมย่อมส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ของเด็กได้เช่นกัน


        งานวิจัยด้านพัฒนาการของเด็กพบว่า ในช่วงที่เด็กอายุ 1-3 ขวบถ้ามีการดูทีวีมากเกินไปจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับสมาธิในการเรียนเมื่ออายุ 7 ขวบ และเด็กที่ดูทีวีตั้งแต่ 10 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์จะมีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ผลด้านการอ่านของเด็ก


        ในส่วนของประเทศไทยเรา ดูเหมือนเด็กๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่มาจากทีวีไม่ต่างจากนานาประเทศ ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อปี 2546 ระบุว่าเด็กดูโทรทัศน์มากถึงวันละ 3-5 ชั่วโมง และคนส่วนใหญ่เห็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดูโทรทัศน์ ได้แก่ มีการกระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบในเรื่องเซ็กส์และความรุนแรง ชีวิตถูกบ่มเพาะด้วยความฟุ่มเฟือย โดยโฆษณาทีวีจะเป็นตัวกระตุ้นการใช้จ่าย

บนความเสี่ยง ที่ต้องช่วยกันดูแลเด็กๆ

        แม้ความรู้เกี่ยวกับอิทธิพลและผลกระทบของทีวีที่มีต่อเด็กๆ ได้ชี้ให้เห็นความเสี่ยงและ "ภัยเงียบ" ของทีวีที่มาในหลายลักษณะ แต่กระนั้นท่ามกลางความเสี่ยงที่เด็กต้องเผชิญ การปิดทีวีในยุคที่เด็กถูกโอบล้อมด้วยวัฒนธรรมทีวีคงมิใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญแม้ทีวีจะอาจเป็นสื่อที่ซ่อนภัยร้าย แต่ในอีกทางหนึ่งหากปฏิวัติวัฒนธรรมทีวีเสียใหม่ให้สร้างสรรค์ ก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ต่อการเรียนรู้เด็กได้ไม่น้อยเช่นกัน

        งานวิจัยมากมายทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศได้ทำการวิจัย โดยผลการศึกษาสรุปว่า ทีวี/โทรทัศน์น่าจะถือได้ว่าเป็นสื่อช่วยการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้ชมได้ เพราะขณะที่ชมรายการทีวีอยู่นั้น สมองของผู้ชมจะทำงานอย่างว่องไวไม่ต่างจากเวลาที่อ่านหนังสือ ฉะนั้นรายการต่าง ๆ ในทีวีผู้ชมเป็นคนเลือกที่จะเปิดรับเนื้อหาให้เข้าสู่สมอง โดยผ่านทางประสาทตาของผู้ชม ถ้าผู้ชมมีวิจารณญาณในการเลือกรับว่ารายการใดให้ประโยชน์เกิดการพัฒนาความคิด หรือได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ หรือความเป็นไปในสังคม และรายการทีวีก็จะเป็นสื่อสำคัญที่เด็กสามารถเลือกชมได้อย่างสนุกสนานและมีสาระไปพร้อมกัน

        ดังที่งานวิจัยหลายชิ้นจึงมีข้อเสนอคล้ายๆ กันว่าพ่อแม่ควรจํากัดเวลาการดูทีวีของลูกให้มีแค่ 1 - 2 ชั่วโมงต่อวัน และควรกําหนดรายการทีวีที่ลูกจะดูด้วย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบทางลบของการดูทีวีลงได้มาก และด้วยความเข้าใจดังกล่าว จึงจะเห็นได้ว่าในนานาประเทศเขาต่างก็ให้ความสำคัญที่จะปกป้องเด็กๆ จากทีวีด้วยมาตรการหลายรูปแบบ ทั้งในแง่การมีนโยบายเกี่ยวกับการดูแลกำกับสื่อโทรทัศน์หรือทีวีสำหรับเด็กๆ อย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วยการสื่อสารแห่งชาติ ค.ศ. 1996 ได้ระบุเอาไว้ว่าหลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลครบสองปีแล้ว ให้มีการผลิตเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า V-chip เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการควบคุมว่า จะตัดรายการโทรทัศน์ใดจากการเข้าถึงของเด็กๆ

        นอกจากนี้ทั้งในสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนนาดา ต่างก็มีระบบ Rating มาใช้กำหนดมาตรฐานเนื้อหารายการโทรทัศน์สำหรับเด็กด้วย และยังมีมาตรการอื่นๆ ในการดูแลเรื่องเหล่านี้อีกมากมาย ซึ่งอย่างน้อยที่สุด นอกจากจะเป็นการป้องกันภัยเงียบเหล่านี้แล้ว ยังเท่ากับไม่เป็นการปิดกั้นโอกาสต่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือการเรียนรู้ดีๆ ที่มากับรายการดีๆ สำหรับเด็กด้วยเช่นกัน         ในบ้านเราเอง ปัจจุบันนับว่ามีกระแสความเคลื่อนไหวที่ดีที่หลายฝ่ายหันมาใส่ใจเรื่องสื่อทีวีเพื่อเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ ที่จะทำให้สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อการศึกษาที่ดี สร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน การผลักดันให้มี "นโยบายสื่อเพื่อเด็ก" ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการจัดผังเวลาให้กับรายการเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก หรือการส่งเสริมและรณรงค์ครอบครัว ชุมชน หรือผู้ชมมีการจัดตั้งองค์กรที่สามารถเข้ามาดูแลรายการโทรทัศน์ มีสิทธิ์มีเสียงที่จะเสนอ หรือประเมินคุณภาพรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อเพื่อเด็กในมิติวัฒนธรรม ซึ่งความเคลื่อนไหวและการรวมพลังกันของทุกฝ่ายที่กล่าว ก็อาจเป็นวิธีที่สำคัญจะทำให้ลูกหลานได้บริโภคสื่อดีๆ ได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงกับสิ่งไม่พึงประสงค์ที่มาพร้อมกับรายการทีวีที่เด็กดู

        อย่างไรก็ตาม พลังดังกล่าวจะมีมากหรือเข้มแข็งเพียงใด ก็คงต้องหันกลับมาถามพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ทุกคนในวันนี้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การสร้างวัฒนธรรมทีวียุคใหม่ที่ไม่ครอบงำเด็กอย่างที่ผ่านมา หากแต่เป็นวัฒนธรรมการสื่อสาร ศึกษาและเรียนรู้ (ทันทีวี/ทันสื่อ) เพื่ออนาคตเด็กและอนาคตสังคมไทย


--------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ พัฒนศึกษา คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทความเรื่อง "โทษภัยของการดูทีวีมากจนเกินไป"

ประเภทของหน้า: บทความกฎหมาย