วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2007
ที่มา: 
กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

        ดิฉันขอขอบพระคุณท่านอธิบดี และกรมอนามัย ที่ให้ความสนใจกับวิชาชีพทันตแพทย์ และให้เกียรติดิฉันมาบรรยายเรื่อง "ในหลวงกับงานทันตกรรม" ดิฉันได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2512 นับเป็นเวลารวม 35 ปีแล้ว จึงได้รับทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านทรงมีต่อวิชาชีพทันตแพทย์ และงานทันตกรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีโครงการตามพระราชดำริ ที่เป็นงานทันตกรรม อยู่หลายโครงการ

        เมื่อปี พ.ศ.2513 ภายหลังจากที่ทำพระทนต์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงรับสั่งถามว่า "เวลาที่พระองค์ท่านมีปัญหา เกี่ยวกับฟัน มีทันตแพทย์มาช่วยกันดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีหมอช่วยดูแลรักษาหรือเปล่า" เมื่อได้ทรงทราบจากทันตแพทย์ ผู้ถวายการรักษาว่า ไม่มี แม้แต่จังหวัดบางจังหวัด เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีทันตแพทย์ประจำ อำเภอแทบทุกอำเภอในขณะนั้น ไม่มีทันตแพทย์เลย เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบ จึงรับสั่งว่า "โรคฟัน เป็นโรคของทุกคน การที่จะให้ราษฎรผู้ยากไร้ และอยู่ห่างไกลความเจริญ ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนา เข้ามารับการรักษาในเมือง คงเป็นไปไม่ได้ น่าที่ทันตแพทย์ จะเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว ซึ่ง พระราชดำรัสในครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้น งานทันตกรรมเคลื่อนที่ หรืองานทันตกรรมชนบท เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรถทำฟันเคลื่อนที่ พร้อมอุปกรณ์ครบ 1 คัน พนักงานขับรถ และผู้ช่วย และขอทันตแพทย์อาสาสมัคร จากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ครั้งละ 2 คน ออกไป ให้บริการทำฟัน และดูแลสุขภาพในช่องปาก ให้กับราษฎรที่ยากจน ตามตำบล และอำเภอต่างๆ ที่อยู่ห่างไกล โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเจิมรถทันตกรรมเคลื่อนที่คันแรก เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2513 ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน และได้ออกบริการประชาชนที่อำเภอทับสะแก ใกล้เขตแดนพม่าเป็นครั้งแรก ทันตแพทย์อาสาจะผลัดเปลี่ยนกันทุกอาทิตย์ การให้บริการทำตลอดปี ยกเว้นฤดูฝน โดยย้ายไปตามอำเภอต่างๆ อำเภอละ 1 วัน ในระยะแรก การให้บริการ เป็นการถอนฟัน และให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพช่องปาก เป็นส่วนใหญ่ เพราะราษฎรไม่เคยได้รับ การดูแลเรื่องฟันมาเลยในชีวิต

        บัดนี้ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ให้บริการแก่ราษฎรผู้ยากไร้ และด้อยโอกาสมาเป็นเวลานานถึง 35 ปี ได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ในอดีต สามารถให้การรักษาได้วันละประมาณ 50-70 คน และทำการถอนฟันเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันนี้ สามารถให้บริการได้ถึง 1,200-1,500 คนต่อวัน การบริการสามารถให้บริการได้ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ นับตั้งแต่การตรวจรักษาโรคในช่องปาก ถ้าพบโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งในช่องปาก ปากแหว่งเพดานโหว่ ฯลฯ ก็จะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือที่คณะทันตแพทย์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระราชนุเคราะห์ นอกจากนั้น ยังให้ความรู้ทางทันตสุขภาพ บริการถอนฟัน ทั้งยากและง่าย รวมทั้งการผ่าตัด ที่สามารถทำในหน่วยเคลื่อนที่ได้ บริการรักษาโรคเหงือก การอุดฟันทั้งยากและง่าย นอกจากนั้น ในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา สามารถให้บริการรักษาคลองรากฟัน ซึ่งโดยปกติไม่สามารถให้การรักษา ในหน่วยเคลื่อนที่ได้ แต่จากการศึกษาวิจัย สามารถให้การรักษาให้เสร็จสิ้น ภายในวันเดียวได้ รวมทั้งการบริการด้านการใส่ฟัน ทั้งฟันเทียมบางส่วนถอดได้ ฐานพลาสติก หรือการใส่ฟันทั้งปาก ก็สามารถทำในหน่วยเคลื่อนที่ได้ ทำให้ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากได้รับบริการ คณาจารย์ประจำหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้พัฒนาเทคนิคในการใส่ฟันเทียม ให้ได้คุณภาพ แต่สามารถลดขั้นตอนลง ทำให้สามารถทำในหน่วยเคลื่อนที่ได้

        เนื่องจากมีราษฎรมารับบริการวันละจำนวนมาก เก้าอี้ทำฟันจึงต้องมีจำนวนถึง 45 ชุด และทันตแพทย์อาสาสมัคร ที่ให้บริการจึงมีจำนวนถึง 50-60 คน ปัจจุบัน หน่วยทันตกรรมพระราชทานหน่วยนี้ จึงนับเป็นหน่วยทำฟันเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทันตแพทย์ชาวต่างประเทศให้ความสนใจ มาสมัครเป็นอาสาสมัครในหน่วยนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นค่าใช้จ่ายทุกประการ

        ปัจจุบัน มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ต้องการใส่ฟันเทียม แต่ยังไม่ได้รับการดูแล ทั้งนี้เพราะทันตบุคลากรมีน้อย การใส่ฟันต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะ จากการได้มีโอกาสเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงเล่าว่า วันหนึ่งเสด็จเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดขอนแก่น มีราษฎรคนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ร่างกายซูบผอม ไม่สบาย พระองค์ท่านรับสั่งถาม "เป็นอะไร ไม่สบายหรือ?" ราษฎรผู้นั้นทูลตอบว่า "ไม่สบาย ฟันไม่มี กินอะไรไม่ได้" พระองค์ท่านจึงบอกว่า "ไปใส่ฟันซะ แล้วจะเคี้ยวอะไรได้ ร่างกายจะได้แข็งแรง"

        ในปีต่อมา เมื่อพระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎร ที่จังหวัดขอนแก่นอีกครั้งราษฎรผู้นั้นได้มาเฝ้า และทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "ไปใส่ฟันมาแล้ว ตามที่ในหลวงแนะนำ ตอนนี้กินอะไรได้ สบายแล้ว" เมื่อได้ฟัง ทำให้คิดว่า เรื่องการใส่ฟันเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยเหตุนี้ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน จึงสนองพระราชดำรัส ทำให้มีการใส่ฟันให้กับราษฎรที่ยากไร้ และด้อยโอกาสในหน่วยเคลื่อนที่นั้น ดิฉันรู้สึกดีใจเป็นอันมาก เมื่อทราบว่า กรมอนามัย และกระทรวงสาธารณสุข จะจัดทำโครงการฟื้นฟูสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ และใส่ฟันเทียมจำนวน 80,000 ราย เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา ในปี 2550 นี้

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา ให้อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้เฝ้ากราบพระบาทเสมอ เมื่อมีโอกาส พระองค์ท่านจะทรงเน้นเสมอในเรื่อง 2 เรื่อง

        สถานที่ปฏิบัติงาน ควรเป็นที่ห่างไกลความเจริญ ที่ไม่มีทันตแพทย์ หรือมีทันตแพทย์ไม่เพียงพอ และควรให้โอกาสผู้ที่ยากไร้ และด้อยโอกาสก่อน ทั้งนี้ ท่านคงทรงหมายถึง ความเสมอภาค คนจน คนรวย ควรได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน และทรงรับสั่งฝากว่า เวลาจะออกหน่วยฯ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสาธารณสุขจังหวัด ได้ทราบ เพื่อแจ้งให้ราษฎรที่มีปัญหาได้ทราบ จะได้เข้ามารับการรักษา ซึ่งหมายถึง การคุ้มทุน มีทันตแพทย์ไปให้บริการครั้งละหลายคน แต่มีราษฎรมารับการรักษา เพียงไม่กี่คน ทำให้เสียทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย รวมทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง มารับทราบว่า ราษฎรของเขามีปัญหา มีความต้องการ เมื่อเห็นเป็นสิ่งที่ดี จะได้ปฏิบัติตาม หน่วยทันตกรรมพระราชทาน เหมือนเป็น pilot project ให้

        เมื่อออกหน่วยฯ อย่าได้ไปรบกวนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาต้อนรับ เลี้ยงดู เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติมากอยู่แล้ว ให้อาสาสมัครหารับประทานเอง ฉะนั้น เวลาออกหน่วย จึงขอเป็นอาหารกล่องเป็นส่วนใหญ่ การออกหน่วยฯ ขณะนี้เน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะราษฎรมีจำนวนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ การออกปฏิบัติงาน ทันตแพทย์ส่วนหนึ่งต้องออกปฏิบัติงาน ตั้งแต่ ตี 5 เพื่อไปจัดเตรียมเครื่องมือ เพื่อทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะเริ่มปฏิบัติงาน ประมาณ 8.30 น. จนถึงประมาณ 5-6 โมงเย็น การปฏิบัติงาน เครื่องมือต้องมีเป็นจำนวนมาก เรื่องความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เครื่องมือทุกชิ้นต้องปราศจากเชื้อ ฉะนั้นในเรื่องนี้ต้องมีทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่ควบคุมเป็นพิเศษ ก่อนกลับเข้าที่พักแทบทุกวัน อาสาสมัครจะได้มีโอกาสทัศนศึกษา หรือกราบนมัสการพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย

โครงการทันตกรรมพระราชทานที่กล่าวมาแล้ว เป็นเพียงโครงการในพระราชดำริโครงการหนึ่ง ยังมีโครงการในพระราชดำริอีก 3 โครงการ คือ

  • โครงการตามเสด็จ เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ จะมีทันตแพทย์ตามเสด็จ ถ้าพบราษฎรมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน หรือสุขภาพในช่องปากจะได้ให้บริการได้ทันที

 

  • โครงการทันตกรรมทางเรือ ได้พระราชทานเรือเวชพาหน์ ให้สภากาชาดออกให้บริการทางการแพทย์ และทางทันตกรรม ดูแลราษฎรที่อาศัยอยู่ตามสองฝั่งคลอง เนื่องจากการคมนาคมทางบกไม่สะดวก

 

  • โครงการทันตกรรมหน้าวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ทักษิณราชนิเวศน์ หรือภูพานราชนิเวศน์ จะมีรถทำฟันเคลื่อนที่ของกองทัพบก ให้บริการแก่ราษฎร บริเวณเน้าวังที่ประทับแทบทุกวัน

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ให้คณะทันตแพทย์ จุฬาฯ เป็นคณะแรก เมื่อ พ.ศ.2513 ต่อมาได้พระราชทานหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ให้คณะทันตแพทย์อีก 6 คณะ

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดถวาย จำนวน 50 ล้าน จัดตั้งเป็นกองทุนทันตกรรม พระราชทานเฉลิมพระเกียรติฯ ให้คณะทันตแพทย์ทั้ง 8 สถาบัน เป็นค่าใช้จ่ายในการให้บริการ และใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ทางทันตแพทย์ เพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพในช่องปากดี ในการบริหารกองทุน จะมีคณบดีทุกคณะ เป็นกรรมการ ซึ่งจะมีการประชุมกันเป็นประจำ เพื่ออนุมัติโครงการต่างๆ

        ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนพรรษา 72 พรรณา ได้จัดทำหนังสือเรื่อง "ในหลวง กับงานทันตกรรม" ถวาย เนื่องในวโรกาสอันสำคัญนี้

ในวาระมหามงคลครบ 100 ปี สมเด็จย่า หน่วยทันตกรรมพระราชทานของทุกคณะ ได้ให้บริการใส่ฟันผู้สูงอายุ และจัดทำหนังสือ "เพื่อรอยยิ้มใสในวัยสูงอายุ" เพื่อเผยแพร่แก่หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป

เมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา ในวาระมหามงคลที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา กองทุนทันตกรรมพระราชทานฯ คณะทันตแพทย์ทั้ง 8 คณะ และกรมอนามัยได้จัดประชุมวิชาการ และจัดทำหนังสือ "ช่วยลูกรักให้ฟันดี" ถวายแต่พระองค์ท่าน

เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 48 พรรษา และโดยที่พระองค์ท่านทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ เกี่ยวกับเด็กเล็ก ทางกองทุนร่วมด้วย คณะทันตแพทย์ทั้ง 8 คณะ จัดทำหนังสือเรื่อง "ลูกรักฟันดี" ถวายแก่พระองค์ท่าน เพื่อทรงประทานให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อใช้ประโยชน์

        ทุกครั้งที่ทันตแพทย์อาสาสมัคร มีโอกาสเฝ้ากราบพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านจะ ทรงพระเมตตา พระราชทานคำสอน คำแนะนำ และความห่วงใยเสมอมา ดิฉันใคร่ขออัญเชิญคำแนะนำ คำสั่งสอนเหล่านั้น มาเล่าให้ฟังบางเรื่อง เนื่องจากมีเวลาจำกัด

ทรงสอนเรื่อง การรักษาแบบองค์รวม ก่อนที่เราท่านทั้งหลายที่อยู่ด้านการแพทย์ จะเข้าใจ คือ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสอนว่า เวลาออกหน่วยฯ อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว ให้ดูเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สังเกต ขาเจ็บ ตาบวม เจ็บคอ ฯลฯ เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน ถ้ารักษาได้ก็ควรให้การรักษา ถ้ารักษาไม่ได้ ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา ราษฎรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ และต้องซักถามทุกข์สุข เรืองการทำมาหากิน ถนนหนทาง น้ำท่า เพราะถ้าน้ำไม่มี จะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร ถนนไม่ดี จะให้มาพบหมอปีละ 2 ครั้งได้อย่างไร ปัจจุบันนี้ เราเน้นเรื่องการรักษาแบบ Holistic cate คือ ไม่รักษาเฉพาะกายอย่างเดียว ต้องดูถึง จิต สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อท และจิตวิญญาณด้วย

ทรงพระราชทาคำแนะนำว่า การศึกษา และการวิจัย เป็นเรื่องสำคัญ ทันตแพทย์ควรมีหลากหลาย ไม่ใช่สนใจรักษาแต่อย่างเดียว แต่ต้องสนใจงานวิจัย รวมทั้งงานประดิษฐ?คิดค้นวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานภาพยนตร์ส่วนพระองค์ ให้ฉายเพื่อหารายได้ มาสมทบกับงบประมาณแผ่นดิน สร้างตึกในคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และพระราชทานนามว่า "ตึกทันตรักษ์วิจัย" และเสด็จวางศิลาฤกษ์ และเปิดตึกด้วยพระองค์เองพร้อมกัน มีรับสั่งว่า การวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อทันตแพทย์ กรมอนามัยต้องการทำการวิจัยในการทดลอง เติมฟลูออไรด์ในนม พระองค์ท่านทรงพระราชทาน พระราชานุญาตให้ใช้โรงนม สวนจิตรลดา เป็นแหล่งทดลอง

        ทางด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่กัว ได้ พระราชทานทุน "มูลนิธิอานันทมหิดล ให้แผนกทันตแพทย์" เมื่อ พ.ศ.2535 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทำพระทนต์ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณบดี และคณะกรรมการในองค์กรผู้บริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์ แห่งประเทศไทย ได้มีโอกาสเฝ้ากราบพระบาทด้วยในวันนั้น เมื่อพระองค์ท่านได้ทรงทราบว่า แผนกทันตแพทย์ยังไม่เคยได้รับพระราชทานทุน "มูลนิธิอานันทมหิดล" เหมือนแผนกอื่นๆ พระสงค์ท่านทรงรับสั่งว่า "ทันตแพทย์มีความสำคัญ มีประโยชน์ต่อสังคม ควรได้รับทุน และทรงกำชับว่า เวลาคัดเลือก อย่าเลือกแต่คนเก่งอย่างเดียว คัดเลือกคนดีด้วย" บัดนี้ ทันตแพทย์ได้รับพระราชทานทุนไปเรียนต่อ ในระดับปริญญาเอก รวม 14 คน นักเรียนทุนทุกคน ก่อนที่จะไปต้องเข้าเฝ้า เพื่อกราบทูลลา เวลาจบการศึกษาต้องเข้าเฝ้า เพื่อกราบทูลถวายรายงาน ผลการศึกษาทุกคน มีเรื่องเล่าให้ท่านอธิบดี และกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เกี่ยวกับนักเรียนทุนอานันทมหิดล วันหนึ่ง ได้พานักเรียนทุนอานันมหิดลเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนฯ เพื่อถวายรายงานผลการศึกษา พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า "ไปเรียนอะไรมา กลับมาจะทำอะไร" นักเรียนทุนผู้นั้นทูลตอบว่า "ไปเรียนทางด้าน Material Science อยากจะได้ทำวัสดุอุดฟัน Composite ขึ้นใช้เองในประเทศไทย เพราะเป็นที่นิยมกันมาก แต่มีราคาแพง ถ้าทำได้ จะถูกกว่าต่างประเทศเป็นอันมาก" สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงรับสั่งว่า "ดีแล้ว ทำขึ้นใช้เอง ถ้าทดลองแล้ว ไม่รู้จะทดลองกับใคร มาทดลองกับฉันก็ได้" จะเห็นว่า พระองค์ท่านทรงสนพระทัย ทรงยอมทุกอย่าง ทรงอยากเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อคนไทยรู้จักที่จะพึ่งพาตนเอง บัดนี้ นักเรียนทุนผู้นั้น ได้คิดค้นวัสดุอุดฟันขึ้นใช้เอง มีคุณสมบัติทัดเทียมต่างประเทศ มีราคาถูก จึงอยากเรียนฝากให้กระทรวงสาธารณสุข ให้การสนับสนุนในการใช้วัสดุนี้ด้วย

        รางวัลสิ่งประดิษฐ์ การออกหน่วยทันตกรรมพระราชทานในสมัยแรกๆ จะให้บริการเฉพาะถอนฟัน และให้ความรู้เท่านั้น ต่อมาภายหลังมีผู้นำเครื่องกรอฟันสนามของ WHO มาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน จึงได้กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งว่า "เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่คิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ขึ้นเองให้เหมาะกับสภาพบ้านเมืองของเรา" ในที่สุด ทันตแพทย์ในหน่วยฯได้ร่วมกันประดิษฐ์ คิดค้น ศึกษา วิจัย ทดลอง จนสามารถคิดค้น เก้าอี้ทำฟัน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้การออกหน่วยแทบทุกชนิดขึ้นใช้เอง มีน้ำหนักเบา ขนย้ายได้สะดวก มีราคาถูก เหมาะกับสภาพบ้านเมืองไทย และเมื่อทำใช้สำเร็จ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ พระองค์ท่านรับสั่งว่า "ทำได้เช่นนี้ ควรนำไปประกวดสิ่งประดิษฐ์ ที่สภาวิจัยแห่งชาติ ถ้าได้รับรางวัล จะได้ไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีสภาพบ้านเมืองคล้ายกับเรา" เมื่อนำไปประกวด ตามที่พระองค์ท่านทรงแนะนำ และได้รับรางวัลสิ่งประดิศ์ จึงได้นำรางวัล และเกียรติบัตรเฝ้าพระบาท ทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นรางวัล พระองค์ท่านทรงเก็บไว้ แต่เกียรติบัตรพระราชทานคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระทัยที่ทันตแพทย์รู้จักที่พึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า และเพื่อการส่งออก

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่ง เล่าถึงคนแก่ที่ขอนแก่น ที่ทรงแนะนำให้ไปใส่ฟัน และพระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการใส่ฟัน เพื่อทดแทนฟันที่หายไปว่า "เวลาไม่มีฟัน ทำให้กินอะไรไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง" เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ พระราชทานรถใส่ฟันเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นรถใส่ฟันเคลื่อนที่คันแรก ในประเทศไทย ให้หน่วยทันตกรรฒฯ ไปใช้ บัดนี้ รถทำฟันเคลื่อนที่คันนี้ ได้ให้บริการการใส่ฟันแก่ราษฎรผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส ได้มีฟันไว้ใช้บดเคี้ยวอาหาร เพื่อร่างกายแข็งแรงมาหลายครั้งแล้ว

เมื่อครั้งที่วิชาชีพทันตแพทย์มีอายุครบ 50 ปี คณะกรรมการได้จัดสร้าง พระประจำวิชาชีพทันตแพทย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานส่วนพระทนต์ แบบหล่อพระทนต์ ผงจิตรลดา และพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. มาประดิษฐาน และเป็นมวลสาร ในองค์พระพุทธชินสีห์ ภปร. ที่จัดสร้างขึ้น และสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จมาทรงเททองด้วยพระองค์เอง และสมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์

        ภาพนี้ เป็นภาพหลอดยาสีฟัน หรือหลอดยาสีพระทนต์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ดิฉันนำมาเล่า เพื่อให้เห็นถึงพระราชจริยวัตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประหยัด วันหนึ่ง หลังจากทำพระทนต์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีรับสั่ง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการประหยัด ดิฉันได้กราบบังคลทูล ถึงนิสิตนักศึกษา เดี๋ยวนี้ไม่ประหยัด ชอบใช้ของ Brand name ไม่มีเงินซื้อก็เช่ามาใช้ ไม่เหมือนสมเด็จพระเทพฯ ที่ท่านทรงถือกระเป๋าราคาถูก ใช้ของถูกๆ ไม่ต้องมียี่ห้อ และทูลว่า เคยเห็นหลอดยาสีพระทนต์ ของสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงใช้จนหมด หลอดแบนราบ พระองค์ท่านทรงรับสั่งว่า ของพระองค์ท่านก็มี และทรงเล่าว่า "วันหนึ่ง มหาดเล็กห้องสรง นึกว่า ยาสีฟันหมดแล้ว นำไปทิ้ง และนำหลอดใหม่มาถวาย ท่านทรงเรียกให้เอามาคืน และยังทรงใช้ต่อได้อีก 5 วัน" ดิฉันจึงขอพระราชทานมาให้ลูกศิษฐ์ และคณาจารย์ และทันตแพทย์ได้ดูเป็นตัวอย่าง แห่งความประหยัด

คุณวิลาส มณีวัต ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ พระอารมณ์ขันของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดิฉันมีเรื่องพระอารมณ์ขันที่รับทราบ มาหลายเรื่อง แต่ขออัญเชิญมาเล่าเฉพาะเรื่อง ที่เกี่ยวกับทันตแพทย์โดยตรง สัก 2 เรื่อง

วันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทรงเยี่ยมราษฎร และเสด็จทอดพระเนตรโรงงานเครื่องปั้นดินเผา พระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นกบ เอามือกุมคาง เหมือนปวดฟัน จึงให้มหาดเล็กซื้อมา และเมื่อถึงที่ประทับ พระองค์ท่านได้มีวิทยุถึงทันตแพทย์ที่ตามเสด็จว่า "จะส่งคนไข้ไปให้รักษา" ทันตแพทย์ผู้นั้นก็รอ ด้วยใจระทึกว่า คนไข้จะเป็นใคร คงมีความสำคัญมาก ถึงขนาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฝากฝังด้วยพระองค์เอง ในที่สุดก็ได้รับทราบว่า เป็นกบที่กำลังปวดฟันอยู่

        พระอารมณ์ขันอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อครั้งที่ทันตแพทย์อาสาสมัครในหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ได้เฝ้ากราบพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล หลังจากออกปฏิบัติงานที่ ตำบลป่าเต็ง ที่อำเภอหัวหิน ดิฉันได้กราบบังคมทูลว่า วันนี้ขณะออกหน่วยฯ มีเด็กชายอายุ 10 ขวบมาถอนฟัน พอนั่งเก้าอี้ทำฟัน เขาพูดว่า หมออย่าทำเจ็บนะ ผมเป็นลูกกำนันนะ พระองค์ท่านทรงรับสั่งถามว่า "แล้วทำเขาเจ็บหรือเปล่า" ต่อมาท่านก็ทรงมีรับสั่งเรื่องอื่นๆ ไปอีกนาน จนในที่สุดท่านทรงมีรับสั่งว่า "นานแล้ว คุณหมอผู้ถวายการรักษาได้มารักษาคลองรากฟัน ทำแล้วท่านยังทรงปวดอยู่ แต่หมอท่านนั้นก็ยืนยันว่า เอาพระประสาทออกหมดแล้ว ไม่น่าจะทรงปวด" ในที่สุดก็แยงไปแยงมา ดึงประสาทเส้นหนึ่งขึ้นมา พระองค์ท่านทรงทำพระหัตถ์ประกอบ และทรงรับสั่งต่อว่า "ความจริงเราเจ็บมากนะ แต่เราไม่กล้าร้อง ไม่กล้าพูด เพราะเราไม่ใช่ลูกกำนัน" ทำให้ทันตแพทย์ที่เฝ้าทุกคนต้องหัวเราะ และรับทราบถึงพระอารมณ์ขันของพระองค์ท่าน

        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ ผู้บริสุทธิ์ ปราศจากอคติ เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา มากล้นด้วยความห่วงใยต่อวิชาชีพ ประชาชน และประเทศชาติ สมควรที่เราทั้งหลาย จะน้อมนำพระราชจริยวัตรอันงดงาม มาปฏิบัติตามรอยพระยุคลบาท เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ ในที่สุด

ดิฉันขอจบการบรรยายแค่เพียงเท่านี้ ขอบพระคุณค่ะ

 


ข้อมูลจาก

- กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข