ในหลวงห่วงโลกร้อน-น้ำ

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
04/12/2007
ที่มา: 
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ คม-ชัด-ลึก

ในหลวงห่วงโลกร้อน-น้ำมีรับสั่งให้หน่วยงานถวายรายงานทุกวัน

          ในหลวงทรงห่วงภาวะโลกร้อน-สถานการณ์น้ำ ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ หลังภาวะโลกร้อนทำอากาศแปรปรวน-ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รับสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถวายรายงานอย่างต่อเนื่อง


          ขณะที่ "อภิรักษ์" สนองพระราชดำรัส เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ชุมชนโดยตรง ด้วย ด้านกรมชลฯ น้อมรับ เร่งบูรณาการแก้ปัญหาตามแนว พระราชดำริ พร้อมเปิดบริการ เอสเอ็มเอสรายงานสถานการณ์น้ำผ่านมือถือทุกระบบฟรี เริ่ม 23 ก.ค.นี้


          หลังจากที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งหาหนทางแก้ไขเพื่อให้โลกไม่ต้องประสบกับภาวะอากาศ ที่แปรปรวนจาก ปัญหาดังกล่าว ในส่วนของประเทศไทยก็มิได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาภาวะโลกร้อนเช่นกัน ล่าสุดด้วยความเป็นห่วงใยต่อพสกนิกรที่อาจได้ รับผลกระทบจากภาวะดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงสนพระราชหฤทัย และทรงห่วงใยต่อสถานการณ์ โลกร้อน รวมถึงสถานการณ์น้ำ เป็นพิเศษ


          เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม นายสามารถ โชคคณาพิทักษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยและ ห่วงใยต่อสถานการณ์ โลกร้อน รวมถึงสถานการณ์น้ำ โดยกรมชลประทานได้กราบบังคมทูลถวายรายงานอย่างต่อเนื่องทุกวัน และช่วงที่วิกฤติมากๆ ก็จะกราบบังคมทูล หลายครั้งต่อวัน นอกจากนี้หน่วยงานองค์กรต่างๆ ทั่วโลก ทราบดีว่าทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องน้ำ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงาน เอกสาร ข้อมูลต่างๆ เป็นจำนวนมากเช่นกัน ส่วนเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ คือ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น การแปรปรวนของ ภาวะอากาศ เป็นต้น


          อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า ในส่วนการดำเนินการของกรมชลฯ ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาตามแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะ แนวพระราชดำริที่พระราชทานภายหลังสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเน้นด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น ทรงให้ตรวจสอบข้อมูลสภาพอากาศให้ละเอียดยิ่งขึ้น โดยปีนี้ได้ปรับการทำงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาบูรณาการข้อมูลร่วมกัน อย่าง ต่อเนื่องแล้ว หรือกรณีการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

 


          นายสามารถ กล่าวถึงแนวพระราชดำริต่างๆ ว่า พระองค์จะทรงย้ำเสมอว่า เป็นแนวหลักการคิดเท่านั้น ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ หลักการทางวิทยาศาสตร์ ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และผลกระทบ ต่อประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นคำสั่งแต่อย่างใด ส่วนกรณีปัญหา ความขัดแย้งของประชาชน ในโครงการต่างๆ ทรงย้ำให้ดำเนินการแก้ปัญหา โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาขัดแย้งเหล่านั้น ให้เสร็จสิ้นก่อน จะเริ่มดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง


          อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า ประมาณวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ กรมชลฯ จะเปิดให้บริการแจ้งข่าว สถานการณ์น้ำผ่านข้อความสั้นๆ ทางโทรศัพท์เคลื่อน หรือ เอสเอ็มเอส ในระบบเอไอเอส ดีแทค และ ทรูมูฟ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข่าวล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ และสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำของ แต่ละพื้นที่อย่างเฉพาะเจาะจง โดยไม่คิดค่าบริการจากประชาชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ โดยให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำของกรมชลฯ เรียบเรียงข้อความ คำศัพท์ชลประทานให้อยู่ในรูปแบบที่สั้นกระชับ ชัดเจน ไม่เกิน 200 ตัวอักษร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจง่าย


          วันเดียวกัน เมื่อเวลา 17.00 น.ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. สาขาเพื่อสวัสดิการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิต นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารสถานีบริการน้ำมัน 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมกันแถลงข่าวลดโลกร้อนและรณรงค์โครงการ "ไม่ขับ ช่วยดับเครื่อง"

 

 

          ทั้งนี้ นายอภิรักษ์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกระแส พระราชดำรัสห่วงใยภาวะโลกร้อน และให้เน้นรณรงค์ความร่วมมือกับชุมชนให้มากที่สุดว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยในภาวะโลกร้อน ที่ผ่านมาพระองค์พระราชทานหลักการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และ กทม.ก็น้อมรับมาปฏิบัติ โดยขอความร่วมมือจากประชาชนทั่วไป แต่นอกเหนือจากนั้น หลังจากที่มีกระแสพระราชดำรัส กทม.จะเน้นลงไปให้ความรู้แก่ชุมชนโดยตรงด้วย เพื่อขยายผลการมีส่วนร่วมของภาค ประชาชนให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหลังจากนี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคประชาชนต่างตระหนักและตื่นตัวมากขึ้นต่อการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน


          นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า การจัดงาน "ไม่ขับ ช่วยดับเครื่อง" นับเป็นครั้งที่ 3 เพื่อรณรงค์ กิจกรรมลดภาวะโลกร้อน ทุกวันที่ 9 ของทุกเดือน โดยครั้งนี้เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการลดใช้พลังงาน ด้วยการดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่เติมน้ำมัน หรือจอดรถ ซึ่งข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า กทม.มีจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลที่จดทะเบียนจำนวน 505 ล้านคัน แบ่งเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซล 1.3 ล้านคัน รถเครื่องยนต์เบนซิน 4.23 ล้านคัน มีสถิติการใช้น้ำมันเบนซิน 5,935 ล้านลิตรต่อปี และน้ำมันดีเซล 18,315 ล้านลิตรต่อปี หากรถยนต์ 1 คัน ดับเครื่องยนต์ 5 นาที จะช่วยประหยัดน้ำมัน ถึง 100 ซีซี หรือ 0.1 ลิตร ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0.13 กิโลกรัม หากรถยนต์ทุกคันดับเครื่องยนต์ 5 นาที สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 715 ตันต่อวัน หรือ 260,975 ตันต่อปี ประหยัดน้ำมัน 5.5 แสนลิตร ประหยัดค่าใช้จ่าย 5,621 ล้านบาทต่อปี (น้ำมันลิตรละ 28 บาท)


          ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า หลังจากรณรงค์ "ไม่ขับ ช่วยดับเครื่อง" โดยนำร่องที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท.สาขาเพื่อสวัสดิการ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ถนนวิภาวดีรังสิตแล้ว จากนั้นจะขยายผลไปยังปั๊มน้ำมันทุกแห่งทั้ง 50 เขตทั่ว กทม. ทั้งนี้ กทม.ตั้งเป้าลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 12 ล้านตันต่อปี จากเดิม 82 ล้านตันต่อปี ให้เหลือ 70 ล้านตันต่อปี


ขอบคุณข้อมูลจาก

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ คม-ชัด-ลึก