เสาธงมอญ - ตำนาน ความเชื่อ สร้างถวายพระพุทธเจ้า

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ตำนานเสาธงชัยมอญ


พระมหาจรูญ ญาณจารี
แปลเรียบเรียงจากใบลานมอญ

ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี เสด็จประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน ในกาลครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ผู้ยินดีในสัมมาจาคะสละเทวัตถุสร้างเสาและธงบูชาพระพุทธเจ้า “อานิสงส์ชนิดไหนจักมีแก่เขาในอนาคตกาลเล่า”  พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามพระเจ้าปเสทิโกศลว่า ดูกรมหาบพิตร  เหตุไรมหาบพิตรจึงตรัสเช่นนั้นเล่า เพราะว่าอุบาสกอุบาสิกาคนใดคนหนึ่งก็ตาม หากได้ตั้งเจตนาสร้างเสาและธง ผลานิสงส์ก็จะมีแก่เขาอย่างมหาศาล

พระพุทธองค์ได้ตรัสต่ออีกว่า  ดูกรมหาบพิตร ในชมพูทวีปนี้พระวิปัสสีพุทธเจ้าได้ทรงปรินิพพานผ่านมาแล้วประมาณ 100 ปีเศษและมีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงปกครองเมืองชื่อ กาลวดี  ในกาลครั้งนั้น มีชายยากจนคนหนึ่ง ชื่อ กตุมพิกะ ภรรยาของเขา ชื่อ ภาวดี ครองชีวิตอยู่ด้วยกัน วันหนึ่งเขาได้เข้าไปยังป่าแห่งหนึ่งได้พบต้นไม้ต้นหนึ่งซึ่งมีลำต้นตรงดี มาก เขาคิดว่า “ต้นไม้นี้ถ้าเอามาทำเสาธงจะเยี่ยมมาก” จึงได้ทำเครื่องหมายสังเกตไว้ที่ต้นไม้นั้น แล้วกลับไปยังบ้านของตน ภายหลัง วันหนึ่งเขาได้เทียมเกวียนด้วยวัวแล้วเข้าไปยังป่าตัดต้นไม้ที่ตนทำเครื่อง หมายไว้นั้น ตัดแล้วแบกขึ้นเกวียนนำกลับมาไปเก็บไว้ภายในหมู่บ้าน เขาได้ถากไม้สำหรับทำเสานั้นยังไม่ทันเรียบร้อยดี  โรคชนิดหนึ่งของเขาเกิดกำเริบขึ้น  ในเวลาประมาณเที่ยงคืนเขาได้ถึงแก่ความตาย ด้วยเหตุที่เขามีศรัทธาเลื่อมใสในกุศลธรรมจึงได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สถิตอยู่ในประสาททองสูงประมาณ 12 โยชน์ มีนางอัปสรรค์ประมาณ 1,000 หนึ่งเป็นบริวารห้อมล้อม ฯ

ต่อมามีชายหนุ่มอื่นอีกคนหนึ่งได้พบไม้ที่ชายคนแรกถากไว้นั้นคิดว่า  “ไม้สำหรับทำเสาธงนี้ยังถากไม่เรียบร้อยดี เราจะถากให้เรียบร้อยเอง” จึงได้ทำการถางเสาต้นนั้นจนเสร็จ แล้วเขาก็ได้ถึงแก่กรรม พอละขันธ์แล้วก็ไปบังเกิดในปรโลกบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สถิตอยู่ปราสาททองสูง 12 โยชน์ มีนางอัปสรรค์พันหนึ่งเป็นบริวารห้อมล้อมเช่นกัน ส่วนผู้คนทั้งหลายที่ช่วยเขาถากต้นไม้นั้นก็ได้ไปเกิดในสวรรค์เช่นเดียวกัน

ต่อมามีชายหนุ่มอื่นอีกคนหนึ่ง ได้เห็นเสาต้นนั้นเข้า ซึ่งได้ถาก ไส และขัด เรียบร้อยแล้ว เกิดความศรัทธาจึงได้ซื้อทองมาปิดที่เสาธงนั้น เสร็จแล้วก็ได้ยกเสาธงตั้งขึ้น  รัศมีของเสาธงซึ่งเกิดจากทองเหมือนกับดุ้นฟืนที่ติดไฟแดง ๆ ประดับอยู่ที่เสาธงนั้น  พ่อค้าประมาณ 500 คน มาพบเสาธงนั้นก็ได้ช่วยทำส่วนประกอบของธง บางคนก็ทำเกล็ดธงสำหรับ ประดับธง บางคนก็ทำกรอบโครงธงที่ไขว่ไปมาเป็นตาหมากรุก บางคนก็ทำไม้ขั้นสำหรับติดเกล็ดธง บางคนก็เย็บ บางคนก็ผูกเชือก ทุกคนพร้อมใจทำด้วยความเต็มใจ เสร็จแล้วก็ได้ฉลองความสำเร็จของเสาธงอย่างยิ่งใหญ่  พ่อค้าทั้ง 500 คนนั้นได้ประกอบอาชีพค้าขายตลอดชีวิต และถึงแก่กรรมในที่สุด ทำลายอัตตภาพแล้วไปเกิดในสวรรค์ มีนางอัปสรสวรรค์หมื่นหนึ่งเป็นบริวาร สถิตอยู่ในปราสาททองสูง 30 โยชน์เกิดเป็นพี่น้องกัน ได้เสวยทิพยสมบัติอย่างรื่นรมย์ยิ่งนัก  ต่อมาก็เคลื่อนจากสวรรค์ดาวดึงส์มาบังเกิดในเมืองพาราณสีเป็นพี่น้องกันอีก  ทุกคนได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองพาราณสีในแต่ละหัวเมือง มีนางสนมห้าหมื่นคนเป็นบริวารรื่นรมย์อยู่ในปราสาทพร้อมทั้งเสียงดนตรี บรรเลงขับกล่อมและนางฟ้อนทั้งหลาย ทุกพระองค์ต่างก็มียานพาหนะช้าง ม้า ประมาณ 84,000 ตัว สระบ่อน้ำและอุทยาน 80,000 ที่ ได้เสวยสมบัติในเมืองพาราณสีนั้น รุ่งเรืองไปทรัพย์สิ่งของ แก้ว แหวน เงิน ทอง อย่างสุขกายสบายใจแล้วก็ตายไปเกิดในเมืองสวรรค์  เคลื่อนจากสวรรค์ก็มาเกิดเสวยสุขสมบัติในเมืองมนุษย์ จากเมืองมนุษย์ก็กลับไปยังเมืองสวรรค์อีก ท่องเทียวไปมาระหว่างเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์ จนกระทั่งถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ พวกเขาได้สร้างเสาธงถวาย ครั้นเคลื่อนจากสวรรค์ได้ไปเกิดในตระกูลเศรษฐีเป็นพี่น้องกันอีก

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เหล่ามหาชนต่างก็พากันสมาทานศีล 5 ศีลอุโบสถ บำเพ็ญกุศลธรรมกัน และด้วยความระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และสงฆเจ้า พวกเขาต่างก็แต่งตัวประดับองค์ ถือดอกไม้ ธูปเทียน แล้วพากันไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า

กล่าวถึงเหล่าเศรษฐีพี่น้อง เห็นมหาชนพากันเดินไปจึงถามว่า “พวกท่านจะไปไหนกัน” เหล่ามหาชนจึงตอบว่า “พวกเราจะไปฟังธรรม”  เศรษฐีพีน้องเหล่านั้นได้ยินเช่นนั้นก็เกิดปีติปลาบปลื้มใจ จึงพูดว่า หากเป็นเช่นนั้น พวกเราก็จะไปฟังธรรมเหมือนกัน จึงได้พากันไปยังที่ประทับของพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ในพระ  วิหารเชตวัน ได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ซึ่งได้แสดงอานิสงส์ของการถวายธงว่า “ดูกรอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย  บุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ว่าจะเป็น คนทุกข์ยากก็ตาม คนเข็ญใจก็ตาม พระราชาก็ตาม พระมเหสีก็ตาม พระสงฆ์ก็ตาม บัณฑิตก็ตาม คนพาลก็ตาม หากได้สร้างเสาธงถวายพระพุทธเจ้าแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่ต้องไปอบายภูมิ 4  จะได้ไปเกิดในเมืองใหญ่ 14 เมือง ได้รับความสุขสบาย และจะเกิดในสองตระกูลคือ ตระกูลกษัตริย์กับตระกูลพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ที่มีทรัพย์สมบัติมาก จะไม่ไปเกิดยังตระกูลที่เลวอย่างแน่นอน” ต่อจากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ ตรัสพระคาถา  ใจความของพระคาถานั้นดังนี้

อุบาสกอุบาสิกาที่ได้ตั้งเจตนาสร้างเสาธงถวายพระพุทธเจ้า จะได้รับอานิสงส์ดังนี้คือ เป็นผู้มีกำลัง    แข็งแรง มีเดชมาก มียสสมบัติ  มีทรัพย์สมบัติ  มีช้างม้าวัวควาย  มีข้าทาสชายหญิง เงินทอง ข้าวเปลือก  ข้าวสาร จตุรงคเสนา 4 เหล่าคือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า ได้เป็นเทวดาเหนือกว่าเทวดา  หากเป็นพระราชาก็จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ได้ครอบครองเกาะใหญ่ทั้ง 4 และเกาะน้อยพันเกาะ มีเมืองขึ้นนับเป็นอสังไขย”  

อนึ่งอานิสงส์ที่จะเกิดแก่ผู้ถวายเสาธงดังนี้

ถ้าธงสะบัดไปทางทิศตะวันออก ผู้นั้นจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์

สะบัดไปในระหว่าง ๆ นั้น ๆ ผู้นั้นจะมีบริวารมาก

สะบัดไปทางทิศอาคเนย์ ผู้นั้นจะได้เป็นมหาเศรษฐี

สะบัดไปทางทิศใต้ ผู้นั้นจะได้เป็นท้าวจาตุมมหาราช

สะบัดไปทางทิศหรดี ผู้นั้นจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในประเทศราช

สะบัดไปทางทิศตะวันตก ผู้นั้นจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

สะบัดไปทางทิศพายัพ  ผู้นั้นจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก

สะบัดไปทางทิศเหนือ ผู้นั้นจะได้เป็นมหาพรหม

สะบัดไปทางทิศอิสาน ผู้นั้นจะได้เป็นพระอินทร์

สะบัดไปทางทิศเบื้องล่าง ผู้นั้นจะได้เป็นพระยานาคราช

สะบัดไปทางทิศเบื้องบนในอากาศ ผู้นั้นจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

และในศาสนาของพระอริยเมตไตรผู้เป็นจอมโลกทั้ง 3 โน้น  หากผู้นั้นได้ทันเห็นพระองค์แล้วตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ได้เป็นพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวก ก็จะสมความปรารถนาทุกประการ

ในที่สุดแห่งการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า มหาชนที่ได้ฟังธรรมของพระองค์ก็ได้บรรลุพระโสดาบัน และมรรค 8  เป็นพระอนาคามี และพระอรหันต์ สิ้นทุกคน……..

แปลจากใบลานภาษามอญวัดคงคาราม ราชบุรี  จารเมื่อ พ.ศ. 2374

หมายเหตุ   เสาและธงที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่าง ๆ ของมอญนั้น หมายถึงเป็นธงชัยของพระอรหันต์ที่ประกาศให้สังคมโลกให้รับรู้ถึงสัจจธรรมและ ความมีชัยต่อสรรพทุกข์ทั้งปวงในทางพุทธศาสนา   ซึ่งคำศัพท์ในภาษามอญใช้คำว่า  ตางแจ็ะโหน่  ตาง ภาษามอญหมายถึง หลัก หรือ เสา   แจ็ะโหน่ หมายถึง ชนะ หรือ มีชัย  เมื่อเพ่งตามรูปศัพท์และตำนานเกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้วจะเห็นได้ว่า ผื่นผ้าที่โบกไสวอยู่บนยอดเสานั้น เป็นสัญลักษณ์แห่งความมีชัย หรือที่เรามักได้ยินว่า ธงชัยพระอรหันต์นั่นเอง

ข้อเคลือบแคลง 

ประเพณี “แห่หงส์ธงตะขาบ”  ที่ชาวรามัญบางพื้นที่จัดทำขึ้นในเทศกาลสงกรานต์  ผู้เขียนยังแคลงใจ ด้วยเหตุอันใดที่ทำให้ตัวธงซึ่งแต่เดิมจากหลักฐานในพระสุตตันตปิฎกเล่ม 24 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 1 ข้อ 24  หน้า 71-74  ก็เป็นเพียงผ้าห่มของอุบาสกชาวเมืองหงสดีคนหนึ่ง ที่ถวายเพื่อเป็นการบูชาพระปทุมุตรพุทธเจ้า และจากหลักฐานในคัมภีร์ใบลานภาษามอญวัดคงคาราม จ. ราชบุรี ซึ่งปรากฏว่าจารไว้เมื่อ พ.ศ. 2374  ประมาณ 170 ปีมาแล้ว ก็อธิบายลักษณะธงว่า มีวงกรอบแบบตาหมากรุก ใช้ไม้ติดด้านขวางเป็นขั้น ๆ  และก็ติดเกล็ดธงไว้บนกรอบ นำมาเย็บติดกัน ผูกเชือกเข้าด้วยกัน เป็นอันเสร็จขั้นตอนของการทำธง และจากหลักฐานที่อื่นก็ไม่ปรากฏว่า มีธงที่เป็นรูป “ตะขาบ” ธงที่ปรากฏในเอกสารมอญเท่าที่ ในชั้นเดิมผู้เขียนเคยพบก็มีเพียงธงผื่นผ้ายาวที่แขวนบนเสาสูง ซึ่งยอดเสามักจะเป็นช้าง ๓ เศียร หรือสัญลักษณ์อย่างอื่น  ยอดเสาที่เป็นรูปหงส์เพิ่งมาเห็นเอาก็ในชั้นหลัง ๆ นี้แล้ว   ส่วน "ตะขาบ”  มีปรากฏอยู่ในเอกสารมอญก็แต่ในตำนานการเกิดขึ้นแห่งเจดีย์ชะเวดากอง ซึ่งมิได้เกี่ยวกับธงที่ขึ้นอยู่บนเสาหงส์แต่ประการใด แต่ด้วยสาเหตุใดก็สุดคะเนที่ทำให้ตะขาบในปัจจุบันมีอิทธิฤทธิ์ต่ายขึ้นไป อยู่บนเสาหงส์ได้