วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
05/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

รำผีมอญ จังหวัดสมุทรสาคร

 

โดยองค์ บรรจุน    

การรำผี นอกจากเป็นการเซ่นสรวงบูชาผีประจำตระกูลแล้ว ยังเป็นการรักษาโรคด้วย หากเทียบกับการรักษาโรคในปัจจุบันอาจเรียกได้ว่า การรำผีเป็นการแพทย์ทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ในบรรดาการรักษาโรคที่หลากหลายวิธีของมอญ เช่น การรักษาด้วยสมุนไพร การรักษาด้วยคาถาอาคม การรักษาโรคด้วยการนวด(กดจุด) และการรักษาด้วยพิธีกรรม เช่น การทิ้งข้าว การเสียกบาล และพิธีกรรมที่ใหญ่ที่สุดได้แก่ ”การรำผี”

  • มูลเหตุในการนับถือผี

การนับถือผีของชาวมอญ ในจังหวัดสมุทรสาคร ก็เช่นเดียวกับชาวมอญในชุมชนอื่นๆ รวมทั้งชาวมอญในเมืองมอญ(ประเทศพม่าในปัจจุบัน) กล่าวคือมีการนับถือผีมาแต่โบราณกาล จนกระทั่งชาวมอญได้ยอมรับนับถือศาสนาพุทธแล้ว จึงมีการนับถือผีควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพุทธ ส่วนต้นกำเนิดในการถือผีนั้นไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน นอกจากตำนานที่บอกเล่าสืบกันมาว่า

“สมัยพุทธกาลนั้น เศรษฐีผู้หนึ่งมีภรรยา 2 คน ต่อมาภรรยาน้อยมีลูก 2 คน ภรรยาหลวงอิจฉาภรรยาน้อย จึงฆ่าลูกภรรยาน้อยตาย  และภรรยาหลวงกับภรรยาน้อยคู่นี้เมื่อตายไปก็พยาบาทจองเวรฆ่าลูกของอีกฝ่ายสลับกันไปทุกชาติ ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นผี อีกฝ่ายเกิดเป็นมนุษย์ ต่างมีลูกด้วยกันทั้งคู่ ฝ่ายผีไล่ตามกินลูกมนุษย์ มนุษย์จึงหนีไปพึ่งพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร พระองค์ทราบความเป็นมาโดยตลอดด้วยพระอภิญญาณ จึงโปรดแสดงพระธรรมเทศนาแก่นางผีตนนั้น ให้เห็นกรรมดีกรรมชั่ว ผลร้ายของการอาฆาตพยาบาทจองเวรซึ่งกันและกัน จนนางผีและมนุษย์คิดได้ เลิกจองเวรกัน

ต่อมานางผีได้ไปอยู่กับมนุษย์ ช่วยเหลือนางมนุษย์และชาวเมืองทั้งหลาย บังเกิดผลดีมีโภคทรัพย์สมบูรณ์มั่งคั่ง จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมาของชาวมอญในการนับถือผีบ้านผีเรือน”

สิ่งที่สนับสนุนตำนานดังกล่าวก็คงจะได้แก่ เนื้อหาในการรำผีนั้นช่วงหนึ่งเป็นการกล่าวถึงผีบ้านผีเรือน ที่มีภรรยา 2 คน ด้วยฐานะที่ต่างกัน อีกตำนานหนึ่งที่กล่าวถึงตำนานการนับถือผี ได้แก่

“ในสมัยพุทธกาล ยังมีครอบครัวหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีวิตแล้ว ยังเหลือมารดาและบุตรชายคนหนึ่ง บุตรของนางเป็นคนขยันหมั่นเพียรช่วยเหลือกิจการงานทุกอย่างทั้งที่นาและที่บ้าน วันหนึ่ง มารดาได้ไปสู่ขอหญิงสาวคนหนึ่งมาเป็นภรรยา แต่หญิงคนนั้นเป็นหมันไม่สามารถจะมีบุตรสืบตระกูลได้ มารดาจึงได้ปรารภกับลูกชายว่า จะนำหญิงสาวคนอื่นมาเป็นภรรยาของเขาอีก หญิงหมันได้ยินคำสนทนาของสองแม่ลูกเช่นนั้น จึงคิดว่า ถ้าแม่สามีไปสู่ขอหญิงสาวคนอื่นมาให้แก่สามีนางจริง ภรรยาใหม่จักเบียดเบียนเราและใช้เราอย่างทาส เราจะจัดการหาหญิงสาวมาเป็นภรรยาของเขาด้วยตัวเราเองดีกว่า จึงได้ไปยังตระกูลหนึ่งชี้แจงเรื่องราวให้ทราบ และได้สู่ขอหญิงสาวคนหนึ่งมาไห้สามี เพื่อหวังให้สามีและภรรยาใหม่มีบุตรสืบตระกูลต่อไป

ต่อมาภรรยาใหม่ตั้งครรภ์ หญิงหมันจึงเอายาผสมอาหารให้เธอกินเพื่อให้ทารกในครรภ์แท้ง เมื่อเธอตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ก็ได้ทำเช่นเดียวกัน พอครั้งที่ 3 ครรภ์แก่มาก หญิงหมันจึง ได้เอายาผสมให้กิน ครรภ์ไม่อาจแท้ง ทารกนอนขวางท้อง เธอได้รับทุกขเวทนาอย่างหนัก จนกระทั่งได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ก่อนสิ้นชีวิตได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า “เราถูกหญิงหมันทำลายทารกถึง 3 ครั้ง เมื่อตายไปแล้ว ขอให้ไปเกิดเป็นยักษิณีเพื่อจะได้เคี้ยวกินทารกของมันบ้าง” เมื่อเธอตายแล้ว ได้ไปเกิดเป็นแมวในเรือนของหญิงหมันนั้น

ฝ่ายหญิงหมันถูกสามีจับได้ว่าเป็นคนทำความชั่วดังกล่าว จึงถูกฆ่าให้ตายตกตามกันไป และได้ไปเกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเช่นกัน เมื่อแม่ไก่ตกฟองไข่ แม่แมวก็มากินฟองไข่หมด แม่ไก่ตกฟองครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 แม่แมวก็มากินจนหมดทุกครั้ง แม่ไก่เจ็บแค้นใจ จึงตั้งความปรารถนาว่า แม่แมวกินฟองไข่ของเราถึง 3 ครั้งแล้ว เมื่อเราตายไปขอให้ได้เกิดเป็นแม่เสือเหลืองเถิด เพื่อจะกินลูกของมัน เมื่อแม่ไก่ตายไปก็ได้เกิดเป็นแม่เสือเหลืองสม ความตั้งใจ ฝ่ายแม่แมวได้ตายไปเกิดเป็นแม่เนื้อ พอแม่เนื้อตกลูก แม่เสือเหลืองก็มากินลูกของแม่เนื้อถึง 3 ครั้ง แม่เนื้อตายไปเกิดเป็นยักษิณี ฝ่ายแม่เสือเหลืองตายไปเกิดเป็นหญิงสาวตระกูลหนึ่งในเมืองสาวัตถี เมื่อหญิงสาวแต่งงานแล้วก็ได้ไปอยู่บ้านของสามี เธอคลอดลูกคนหนึ่ง ยักษิณีก็ได้มาจับลูกของเธอกิน คนที่ 2 ก็ถูกกินอีกเช่นกัน พอตั้งครรภ์ในหนที่ 3 นางได้พูดกับสามีว่าจะกลับไปคลอดลูกที่บ้านเกิด เพราะถ้าคลอดลูกที่นี่จะต้องถูกยักษิณีจับกินอีกแน่ ฝ่ายยักษิณีหลังกลับจากเวรส่งน้ำให้ท้าวเวสสุวัณ จึงรีบกลับมาเพื่อจะจับลูกของเธอกินอีก เมื่อไม่พบจึงถามชาวบ้าน ได้ทราบว่า เธอกลับไปคลอดลูกที่บ้านเกิด จึงได้ผูกเวรอย่างไม่ลดละ พลางคิดว่า ไม่ว่ามันจะไปที่ไหนๆ จะไม่พ้นจากเงื้อมมือของเราไปได้ จึงได้วิ่งตรงไปยังบ้านของเธอในทันที ขณะนั้นเธอกำลังยืนให้ลูกดื่มนมอยู่ พอเห็นนางยักษิณีก็จำได้จึงอุ้มลูกวิ่งมุ่งเข้าไปภายในพระวิหาร

ในขณะนั้น พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางพุทธบริษัท เธอได้วางลูกลงใกล้พระบาทของพระองค์ พร้อมกับทูลว่า หม่อมฉันขอถวายบุตรคนนี้แด่พระพุทธองค์ ขอได้โปรดช่วยชีวิตแก่บุตรของหม่อมฉันด้วยเถิด ยักษิณีไม่อาจวิ่งเข้าไปในพระวิหารได้ เพราะสุมนเทพผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่อนุญาติให้เข้าไป พระพุทธองค์จึงตรัสสั่งให้พระอานนท์ไปเรียกเข้ามา หญิงสาวร้องไห้เพราะกลัว พระพุทธองค์ตรัสปลอบใจเธอว่า “เธออย่าร้องไห้เลย ยักษิณีจงมาเถิด” แล้วตรัสต่อไปอีกว่า “ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่สำนักของพระพุทธเจ้าผู้เช่นกันกับเราด้วยแล้ว เวรของพวกเจ้าจักตั้งอยู่ตลอดชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน ของหมีกับไม้สะคร้อและเวรของกากับนกเค้า เพราะเหตุไรพวกเจ้าถึงได้จองเวรแก่กันและกันเล่า เพราะเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร แต่เวรหาระงับด้วยการจองเวรไม่” ดังนี้เมื่อยักษิณีได้ฟังพระพุทธดำรัสดังกล่าวแล้วก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ไม่คิดจะกินบุตรของเธออีก งดจองเวรตั้งแต่บัดนั้นมา

พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งให้หญิงสาวพายักษิณีไปสู่เรือน ให้บำรุงเลี้ยงด้วยข้าวต้มข้าวสวยอย่างดี เธอได้ปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อยักษิณีได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจึงระลึกถึงอุปการะคุณความดีงามของเธอ คิดหาหนทางตอบแทนคุณ โดยบอกให้ทราบในแต่ละปีว่า “ปีนี้ฝนดีจงปลูกข้าวกล้าในที่ดอน ปีนี้ฝนแล้ง จงปลูกข้าวกล้าในที่ลุ่ม” เป็นต้น ข้าวกล้าของคนอื่นเสียหายเพราะน้ำมากไปบ้างเพราะน้ำน้อยไปบ้าง ส่วนของเธอไม่เสียหาย ได้ผลสมบูรณ์เต็มที่ ชาวบ้านจึงถามถึงสาเหตุว่าทำไมเธอจึงทำนาได้ผลดียิ่ง เธอได้ชี้แจงว่า ยักษิณีบอกให้ทำนาในที่ลุ่มหรือที่ดอนเพราะรู้ว่าจะมีฝนแล้งหรือฝนดี ถ้าพวกท่านนำโภชนะมีข้าวต้มข้าวสวยอย่างดีไปให้แล้ว เขาคงโปรดปรานระลึกถึงอุปการะคุณของพวกท่านและบอกถึงเรื่องฝนฟ้าให้และจะ คุ้มครองแลดูการงานของพวกท่านด้วยเช่นกัน

ตั้งแต่นั้นมา ชาวเมืองทั้งหลายก็ได้พากันทำสักการะ นำข้าวต้ม ข้าวสวย สิ่งของต่างๆไปให้แก่ยักษิณี เมื่อนางได้รับการเคารพนับถือ ได้รับการเอาใจใส่อย่างดีจากชาวเมือง จึงบอกเรื่องฝนให้ชาวเมืองทราบในแต่ละปี ชาวเมืองทำนาได้ผลดียิ่ง ดังนั้น ยักษิณีจึงมีลาภสักการะและมีคนเคารพนับถือมาก”

ตำนานที่กล่าวมาข้างต้นนั้นนอกจากจะเป็นเรื่องเล่าแห่งมูลเหตุในการนับถือผี ของชาวมอญจังหวัดสมุทรสาครและชาวมอญทั่วๆ ไปแล้ว จะสังเกตุได้ว่าการอธิบายความโดยตำนานนั้นก็พยายามผูกเข้ากับเรื่องของพุทธ ศาสนา มีพระพุทธเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องในตำนาน นับว่าเป็นการประสานความเชื่อเรื่องผีที่มีอยู่แต่เดิมเข้ากับพุทธศาสนาให้ อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ผีในทัศนะของคนมอญแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือผีทั่วไป ผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีไม่มีญาติ พระภูมิเจ้าที่ ทั้งผีดีและผีร้าย ผีประจำหมู่บ้าน ชาวมอญเรียกว่า กะล่กกวาน อีกประเภทหนึ่งคือผีบรรพบุรุษ ชาวมอญเรียกว่า กะล่กฮ๊อย  ซึ่งนับว่าเป็นการกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษประการหนึ่ง คนมอญเคารพและเชื่อถือผีบ้านอย่างมาก มีการเซ่นสรวงเป็นประจำ หากบ้านใดละเลยเชื่อว่าจะทำกินไม่ขึ้นและอาจพบเคราะห์ร้ายรวมทั้งภัยพิบัติ

  • ประเภทผีที่คนมอญนับถือ

คนมอญ ทุกตระกูลจะมีผีประจำตระกูล แต่ละตระกูลนับถือสัญลักษณ์ผีประจำตระกูลของตนแตกต่างกันไป เช่น ผีเต่า ผีงู ผีไก่ ผีข้าวเหนียว เป็นต้น นอกจากนี้บางแห่งยังมีผีชนิดอื่นๆอีก เช่น ในจังหวัดราชบุรี มีการนับถือผีม้า ในจังหวัดสมุทรสาครเองก็มีบางบ้านนับถือผีกล้วยหอม แต่ไม่กี่หลังคาเรือนเท่านั้น สืบเนื่องมาจากตำนานนางยักษิณีที่จองเวรจองกรรมกินลูกของหญิงสาวเมืองสาวัต ถีนั้น หลังจากนางยักษิณีเลิกจองเวรแล้ว ให้คุณกับหญิงสาวด้วยการบอกเรื่องฝนที่จะตกในแต่ละปีให้ทราบ จนนางร่ำรวยและเมื่อเพื่อนบ้านทราบต่างพากันตั้งเครื่องเซ่นสักการะด้วยข้าว ต้มข้าวสวย แต่ทว่าการบูชาผีต่อๆมา เมื่อใครมีฐานะดีก็นำอาหารดีๆ ดนตรีพร้อมสรรพมาสักการะบูชา และคนยากจนที่ต้องการสักการะบูชาก็นำอาหารเท่าที่มี แม้ขาดเครื่องดนตรี ก็ใช้การตีมือตีหน้าตัก มาบูชาตามอัตภาพ จึงกลายเป็นธรรมเนียมของแต่ละตระกูลที่แตกต่างกันต่อมาจนปัจจุบัน

ถ้านับถือผีงู ห้ามมิให้ทำร้ายงูทุกชนิด เมื่อพบเห็นคนกำลังตีงู ต้องบอกว่ารีบหนีๆ หรือบอกว่าไปสู่ที่ชอบๆเถิด

ถ้านับถือผีเต่า เดินทางออกจากบ้านไปพบเต่ากลางทาง หากไม่อยากทำบาปด้วยการฆ่าสัตว์ จะต้องออกปากว่าเต่านั้นเน่าและเหม็น ถ้าไม่พูดเช่นนั้น ต้องนำเต่านั้นไปฆ่าเพื่อทำอาหารกิน แต่ก่อนจะกินต้องเซ่นผีเสียก่อน หากไม่ติเตียนว่าเต่านั้นเน่าและเหม็นทั้งไม่เอาไปทำอาหารกิน จะเกิดอาเพศภัยนานาประการต่อคนในตระกูลนั้น

ถ้านับถือผีไก่ เมื่อนำไก่เข้าบ้านเพื่อทำอาหาร ต้องตัดหัวไก่เซ่นผีบ้านก่อนทุกครั้ง จึงจะนำไก่ไปทำอาหารได้ มิฉะนั้นจะเกิดโทษแก่เจ้าของบ้านนานาประการ
ถ้านับถือผีข้าวเหนียว หากมีผู้อยากได้ข้าวเหนียวในบ้านของตน คนในบ้านจะให้หรือขายข้าวเหนียวนั้นไม่ได้ แต่ถ้าขโมยเอาโดยเจ้าของบ้านไม่ทราบก็ไม่เป็นโทษแต่ประการใด (กรณีนี้เจ้าของบ้านรู้เห็นเป็นใจ แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น)

การนับถือผีของ มอญ จะเป็นการสืบทอดจากบรรพบุรุษ เป็นการสืบทอดผ่านลูกชายคนเล็กของตระกูล ซึ่งต่างจากชาวมอญในหลายๆชุมชนที่การนับถือผีจะผ่านลูกชายคนโต ในแต่ละบ้านต้องมีเสาผี (ฮะหย่างกะล่ก) คือเสาเอกของบ้านเป็นสถานที่เก็บของใช้ของผี ได้แก่กระบุงหรือหีบผ้าผี ภายในประกอบด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม และแหวนผี เป็นแหวนทองหัวพลอยแดง ซึ่งลูกหลานในตระกูลต้องเก็บรักษาดูแลให้ดี อย่าให้ของหายผ้าขาดชำรุด หากพบว่าชำรุดสูญหายต้องรีบหามาเปลี่ยนใหม่ มิฉะนั้นเชื่อว่าจะถูกลงโทษจากผีกับคนในตระกูลให้เจ็บไข้ได้ป่วย

ตามปกติในการนับถือผีของชาวมอญนั้นก็จะมีการบวงสรวงบูชา (ฮะเจี่ยะกะล่ก) เป็นประจำอยู่แล้วทุกปี หรือตามแต่โอกาสจะอำนวย โดยจะเป็นการเซ่นสรวงบูชากันเป็นการภายในครอบครัว โดยมากกระทำกันช่วงสงกรานต์เพราะถือเป็นการขึ้นปีใหม่

  • เครื่องเซ่นต่างๆได้แก่

- อาหารคาว (สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คืออาหารที่ปรุงจากสัญลักษณ์ของผีประจำตระกูล ได้แก่ เต่า ไก่ งู ข้าวเหนียว เป็นต้น)
- อาหารหวาน ได้แก่ ขนมต้มแดงต้มขาว กาละแม กระยาสาท เป็นต้น
- ผลไม้ ได้แก่ กล้วย มะพร้าว และผลไม้ตามฤดูกาลตามแต่จะหาได้
- ดอกไม้ธูปเทียน ทองคำเปลว ผ้าสี น้ำอบ

ในขั้นตอนของการเซ่นสรวงนี้ก็ไม่มีพิธีการอะไรซับซ้อน ก่อนหน้านั้นก็ต้องคอยตรวจตราอยู่เสมอๆว่าผ้าผีและแหวนผีทุกชิ้นยังอยู่ครบ และอยู่ในสภาพดี มิฉะนั้นจะเกิดอาเพศดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเมื่อเตรียมอาหารคาวหวานเสร็จ แล้ว เจ้าบ้านก็นำไปวางที่เสาผี หรือเสาเอกของบ้าน วางดอกไม้ ปิดทอง ผูกผ้าสี ปะพรมน้ำอบ จุดธูปเทียน กล่าวเชิญผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นสรวง จนเมื่อธูปมอดหมดจึงไปไหว้ลา ขอศีลขอพรอีกทั้งให้ช่วยปกป้องครอบครัวของตนให้มีความสุขและนำเครื่องเซ่น ดังกล่าวไปแบ่งกันกินเป็นลูกศิษย์ หรือลูกช้าง ถือว่าเป็นยาและเป็นศิริมงคลแก่ลูกหลานครอบครัว

  • ขั้นตอนพิธีรำผีมอญ

การรำผีนั้นมักจะไม่กระทำกันเป็นประจำ นอกจากการเซ่นสรวงบูชาผีเป็นประจำทุกปีแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติขึ้นในบ้าน ก็จะจัดพิธีการรำผีขึ้น จะกระทำก็ต่อเมื่อมีข้อบ่งชี้บางประการเกิดขึ้น มีด้วยกันหลายลักษณะ คือ
1. เป็นการแก้บน   เช่นลูกหลานหรือคนในบ้านหายไป หรือคนในบ้านป่วย เจ้าบ้านจะมีการบนบานศาลกล่าวต่อผี ถ้าผีช่วยได้สำเร็จ จะมีการรำผีถวาย
2. เป็นการขอขมาที่เกิดจากการผิดผี (ฮะแนะ) ขึ้น เช่นมีคนตั้งครรภ์ หรือคู่สามีภรรยาที่เป็นคนละผี (คนละตระกูล) มานอนในบ้าน คนตั้งครรภ์มายืน-นั่งพิงเสาบ้าน ในบ้านหมายถึงบริเวณเรือนใหญ่ที่มีเสาเอก ไม่รวมระเบียง แต่สำหรับคู่สามีภรรยาจะนอนด้วยกันไม่ได้แม้ตรงส่วนระเบียง
3. เป็นการขอขมาผีที่ไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ   เช่น เมื่อเกิดกรณีร้ายแรงขึ้นในบ้าน มีคนเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำมาค้าขายไม่ขึ้น เกิดอุบัติเหตุรุนแรง เจ้าบ้านหรือหัวหน้าครอบครัวจะไปหาหมอดู หรือผู้อำนวยการพิธี (โต้ง) ให้ทำนายความเป็นไป

จากนั้นหมอดูจะเสี่ยงทายด้วยการเสียบกระดูกไก่ในสมุดเสี่ยงทาย ถ้าบังเอิญกระดูกไก่ไปเสียบตรงกับหน้าที่บ่งว่าเหตุอาเพศนั้นๆ เป็นเพราะผีทำ ก็ต้องกระทำพิธีรำผีเพื่อเป็นการขอขมา ให้ผียกโทษให้
ดังได้กล่าวแล้วว่าการนับถือผี เป็นการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ โดยการสืบทอดผีบรรพบุรุษผ่านทางผู้ชาย และต้องเป็นลูกชายคนคนเล็กของตระกูล บุตรหญิงรับไม่ได้ ถ้าบุตรคนเล็กไม่มีก็ให้บุตรคนเหนือขึ้นไป และถ้าในบ้านไม่มีลูกชายเลย เมื่อหัวหน้าครอบครัวตายไป ก็เท่ากับว่าหมดผี ต้องถอนเสาเอกไปถวายวัด บ้านนั้นๆก็จะกลายเป็น“บ้านตลาด” ไม่มีผีและใครๆก็สามารถขึ้นไปได้

เมื่อถึงคราวทำพิธีรำผี บุตรชายนั้นจะเป็นผู้เข้าพิธีและเรียกว่าต้นผี (ตอมกะล่ก) บุตรหญิงถ้ายังอยู่ในบ้านและยังไม่มีสามี ก็สามารถเข้าร่วมพิธีได้ แต่ถ้าแต่งงานไปแล้วก็จะถือว่าเป็นสมาชิกใหม่ของตระกูลผีใหม่ คือของสามี และไม่มีสิทธิเข้าร่วมพิธีรำผีของตระกูลเดิมของตน นอกจากมาในฐานะของแขกคนหนึ่ง หรือมาช่วยงาน และก็ต้องได้รับเชิญจากทางเจ้าภาพเช่นแขกคนอื่นๆ คือเจ้าภาพจะให้พลูรับเชิญ สำหรับขออนุญาติผี (ฮะปลุอะวา) เมื่อรับมาแล้วถ้าไม่กินก็พกติดตัวเอาไว้ ถ้าไม่ได้รับพลูเชิญดังกล่าวจะเข้าร่วมพิธีไม่ได้ ต้องยืนดูอยู่ห่างๆและไม่สามารถหยิบจับสิ่งของใดๆภายในพิธี หรือแม้แต่กินข้าวดื่มน้ำของบ้านงานก็ไม่ได้

การรำผีมักกระทำกันในเดือนคู่หรือช่วงฤดูแล้ง ประมาณตั้งแต่เดือน 4 ถึงเดือน 6 เว้นไม่กระทำกันในวันพระเพราะต้องเข้าวัดทำบุญถือศีล เมื่อกำหนดงานแล้ว โดยการจัดงานของชาวมอญภายในตระกูลเดียวกัน ห้ามจัดงานเกินปีละ 1 ครั้ง งานในที่นี้รวมตั้งแต่ โกนจุก งานบวช งานแต่งงาน งานศพ และ รำผี สิ่งแรกที่ต้องกระทำก็คือบอกกล่าวญาติทุกคนที่นับถือผีเดียวกันทั้งหมดถ้า ญาติมาไม่ครบจะถือว่าการรำผีครั้งนั้นๆไม่หลุด ไม่ขาด หรือไม่สะอาด (เฮอะอ่ะห์) นอกจากนั้นก็เชิญแขกคนอื่นๆมาร่วมงาน จัดซื้อข้าวของ และปลูกโรงพิธีขึ้นภายในบริเวณบ้านของตนเอง

โรงพิธีนั้นมีข้อกำหนดปลีกย่อยที่แตกต่างกันในแต่ละตระกูล เช่น ขนาดกว้างยาวของโรงพิธี บางตระกูลผีต้องมีหลังคา 2 ชั้น บางตระกูลผีมีหลังคาชั้นเดียว เป็นต้น แต่โดยรวมๆแล้ว โรงพิธีปลูกขึ้นอย่างง่ายๆ ปลูกด้วยเสา 6 ต้น มีพาไลข้างๆสำหรับวงปี่พาทย์มอญและผู้ร่วมพิธี โรงพิธีมุงหลังคาด้วยจาก หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ด้านหลังของโรงพิธีทำหิ้งยาวสูงประมาณหน้าอกสำหรับวางของเครื่องเซ่นและ อุปกรณ์รำผีซึ่งจัดไว้เป็นชุดๆ ตามจำนวนสมาชิกในตระกูล บางตระกูลอาจใช้ถึง 50 ชุด บรรจุอยู่ในกะละมังขนาดใหญ่

ภายในกะละมังเครื่องเซ่น ประกอบด้วย กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแห้งพร้อมหนวด ขนมชนิดต่างๆ (ขนมแป้งทอด ขนมต้มแดงต้มขาว, ขนมเล็บมือนาง แป้งปั้นทอดทำเป็นรูปสร้อย แหวน กำไลมือ กำไลเท้า) ปลาย่าง ไก่ต้มพร้อมน้ำจิ้ม ที่สำคัญคือ สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ผีประจำตระกูล(ไก่ เต่า งู เป็นต้น) เหล้าขาว หมากพลู นอกจากกะละมังเครื่องเซ่นแล้วยังประกอบด้วย ด้ายสายสิญจน์ น้ำอบ ขมิ้น กระจก หวี แป้งผัดหน้า อุปกรณ์ที่ใช้ในการรำ ได้แก่ ใบสันพร้ามอญ ดาบ 2 หรือ 3 คู่ แหลน 2 หรือ 3 อัน กระสวยทอผ้า 2 หรือ 3 อัน กระบุงใส่ผ้านุ่ง ผ้าสไบ ผ้าโพกหัว ดอกไม้ทัดหู สำหรับแต่งตัวขณะรำผี ขันครู พานดอกไม้ธูป เทียน เชี่ยนหมาก เป็นต้น

ด้านหน้าของโรงพิธีทำเพิงต่อจากหน้าจั่วเล็กๆมุงจากเช่นกัน ต่อจากเพิงออกไป ปลูกต้นหว้า 1 ต้น (ตัดกิ่งหว้ามา 1 กิ่งปักดินไว้หาเสามาตอกผูกกิ่งหว้ากับเสาให้แน่น) โคนต้นหว้าวางตุ่มขนาดย่อมใส่น้ำให้เต็ม 3 ใบ สำหรับอาบน้ำให้ต้นผี ถัดออกไปปักเสาไม้สูงประมาณ 10 เมตร ปลายเสาทำคล้ายหุ่นไล่กา สวมเสื้อชุดทำนาแขนยาว และสวมงอบด้วย

วงปี่พาทย์นั้นสำคัญมาก ต้องเป็นวงปี่พาทย์มอญเพราะต้องบรรเลงเพลงมอญตลอดทั้งพิธี และต้องบรรเลงทั้งวัน ได้พักเพียงช่วงสั้นๆและกินข้าวเท่านั้น โดยมากวงปี่พาทย์และผู้อำนวยการพิธีมักจะมาด้วยกัน หรือไม่ก็มักออกงานด้วยกันประจำ  กล่าวคือ ต้องรู้ขั้นตอนของพิธีกรรมทั้งหมดอย่างดี เพราะต้องรับต้องส่งกัน ขั้นตอนพิธีกรรมต่างๆ ท่ารำ และเพลงต้องสัมพันธ์กัน

นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกก็คือ ความแตกต่างของแต่ละตระกูลผี บางตระกูลใช้ตะโพนคู่ บางตระกูลใช้ตะโพนเดี่ยว ซึ่งจะสัมพันธ์กับจำนวนมะพร้าวแห้งด้วย คือ ถ้าตระกูลที่ใช้ตะโพนคู่ก็ต้องใช้มะพร้าวแห้ง 2 ใบ ถ้าตระกูลที่ใช้ตะโพนเดี่ยวก็ต้องใช้มะพร้าวแห้ง 1 ใบ โดยวงปี่พาทย์จะถูกจัดให้อยู่ที่ระเบียงด้านซ้ายของโรงพิธี

ส่วนกลางของโรงพิธีจะยกพื้นสูงขึ้นไปประมาณ 1 คืบ เพื่อให้ผู้อำนวยการพิธีและผู้ช่วยทำพิธี ได้แก่ รำถวายมือ แต่งตัวผู้รำผีชุดต่างๆ และจัดเครื่องเซ่นแต่ละชุด (เครื่องเซ่นแต่ละชุดเมื่อใช้รำไปแล้ว จะไม่นำกลับมาใช้อีก จะยกให้ผู้รำชุดนั้นๆไปเลย) เสาทั้ง 4 ต้นผูกผ้าประดับไว้บนเพดานโรงพิธีเหนือที่ยกพื้นขึ้นไป ขึงผ้าสีสันสวยงาม ประดับดอกไม้รอบๆ จำลองการขึงผ้าในการจัดงานศพแบบมอญ จากบนเพดานของโรงพิธีค่อนไปทางด้านหลังมีผ้าผืนหนึ่งผูกห้อยลงมา เรียกว่าหยาดฮะลัว แปลว่าผ้าสำหรับจับยึดหรือช่วยพยุงตัว ในการรำผีแต่ละชุดหรือร่างทรงเมื่อรำครบขั้นตอน เข้ามาจับผ้าผืนนี้แล้วผีจะออกจากร่างผู้อำนวยการพิธีรำผีหรือโต้งนั้น สามารถเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่โดยมากจะเป็นผู้หญิง อาจเป็นเพราะว่ามีจิตอ่อน สามารถสื่อสารกับผีได้ง่ายกว่า ผู้อำนวยการรำผีมักจะทำหน้าที่นี้เป็นอาชีพ สลับกับการประกอบอาชีพหลัก เช่น ทำสวน ทำไร่ เป็นต้น และมักจะสืบทอดหน้าที่นี้กันภายในตระกูลของตน ผู้อำนวยการพิธีจะเป็นผู้ที่สั่งการจัดแจงทุกขั้นตอน ตั้งแต่เจ้าบ้าน ต้นผีหรือลูกหลานในตระกูล ให้ทำไปตามพิธีกรรมต่างๆ และการรำแต่ละบท ตามแต่ว่าจะเชิญผีใดมาเข้าทรง

การเตรียมการต่างๆดังกล่าวข้างต้นนั้นจะมีขึ้นในวันสุกดิบ คือ 1 วันก่อนวันทำพิธีรำผี ผู้อำนวยการพิธีจะต้องเป็นผู้กำกับดูแลขั้นตอนต่างๆอย่างละเอียด ตั้งแต่การปลูกโรงพิธี การเตรียมของประกอบพิธี เช่น ขนมผี อาหารคาวหวาน ผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นต้น หากบ้านผู้อำนวยการพิธีและวงปี่พาทย์อยู่ไกลจากบ้านที่รำผี จะต้องมาค้างก่อน 1 คืน เพราะการรำผีจะเริ่มแต่เช้ามืด รุ่งเช้าต้องก่อไฟด้วยเตาสามเส้า  ตั้งหม้อดิน เป็นหม้อข้าวหม้อแกงข้างๆหรือมุมใดมุมหนึ่งในโรงพิธี ต้องคอยดูไฟไม่ให้มอดดับตลอดจนเสร็จพิธี

การประกอบพิธีจะเริ่มจากการเชิญผีของต้นตระกูลเข้าสู่โรงพิธีก่อน บางรายเป็นตระกูลใหญ่เก่าแก่ดั้งเดิม ก็เชิญจากในบ้านที่อยู่อาศัย สำหรับบางรายที่เป็นครอบครัวเล็ก แยกครอบครัวออกมาแต่ยังไม่ได้แยกผีออกมาจากตระกูลใหญ่ ผีประจำตระกูลจึงยังคงอยู่ที่บ้านใหญ่ คือบ้านพ่อแม่ หรือบ้านปู่ย่า จึงต้องไปเชิญผีมาจากบ้านนั้นๆแม้ว่าบางครั้งอาจอยู่ต่างหมู่บ้าน ต่างตำบล หรือต่างจังหวัด หากอยู่ไกลมากต้องไปเชิญมาตั้งแต่เย็นวันสุกดิบ ในการเชิญต้นผีและการรำผีในแต่ละบทนั้น ผู้อำนวยการพิธีจะเป็นคนกำกับอย่างละเอียด ตั้งแต่เจ้าบ้าน ต้นผี ลูกชาย ลูกสะใภ้ ลูกสาว และหลานของเจ้าบ้าน ให้แต่งตัวไปตามแต่ละบท จัดเครื่องเซ่นให้ผู้รำ อุปกรณ์ประกอบการรำ และท่าทางการรำ หมู่บ้านที่มีการรำผีกันเป็นประจำ ผู้ที่ร่วมพิธีจะรู้ขั้นตอนต่างๆดีอยู่แล้ว ผู้อำนวยการพิธีจะแต่งตัวให้เจ้าบ้าน นุ่งผ้าสีแดง มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมเสื้อมอญ เป็นผ้าดิบแขนยาวใช้เชือกที่ทำจากผ้าชนิดเดียวกันผูกเข้าด้วยกันเป็นแถวด้าน หน้าแทนกระดุม(คล้ายเสื้อจีน) มีผ้าโพกหัว ผ้าแดงพาดไหล่ ทัดดอกไม้ที่หูซ้าย กระแจะแป้งที่หน้า (ผู้อำนวยการพิธีจะใช้ 3 นิ้ว คือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง จุ่มลงในถ้วยแป้งน้ำหอม แล้วประทับลงบนแก้ม 2 ครั้งทั้ง 2 แก้ม และหน้าผาก) ลูกหลานทุกคนต้องมารวมกันต่อหน้าเจ้าบ้านที่นั่งอยู่โคนเสาผีบนบ้าน ลูกหลานห่มสไบนั่งพับเพียบ จุดธูปเทียน พรมน้ำอบเสาผี บูชาผี ผู้อำนวยการพิธีเองก็แต่งชุดมอญ มีสไบคล้องคอ  จากนั้นผู้อำนวยการพิธีเชิญผีเข้าร่างเจ้าบ้าน เมื่อผีเข้าร่างแล้วจะเรียกว่าปาน่ก  ซึ่งหมายถึงพ่อใหญ่หรือเจ้าพ่อ โปรยข้าวตอกดอกไม้ ให้น้ำอบกับลูกหลานประพรมทั่วบ้าน จากนั้นผู้อำนวยการพิธีขอให้ปาน่กทำนายเรื่องการทำมาหากิน ทำนายเรื่องน้ำและฝนในการทำนาทำสวนปีหน้า กรณีที่เกิดการผิดผีโดยไม่ทราบสาเหตุ คนในบ้านเจ็บป่วย ลูกหลานก็จะถามปาน่ก(ซึ่งอยู่ในร่างเจ้าบ้าน)ว่าเป็นเพราะเหตุใด เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็จะกราบขอขมา รับปากว่าจะไม่ทำอีกและขอพรจากปาน่กให้ช่วยปกป้องคุ้มครองให้โชคให้ลาภ จากนั้นเชิญปาน่กสู่โรงพิธี ถือดาบพาดไหล่ ผู้อำนวยการพิธีจะหอบเอาหีบผ้าหรือกระบุงผ้าผีตามไปด้วย เมื่อเจ้าบ้านมาถึงยังโรงพิธีแล้ว หากตระกูลผีที่ใช้ตะโพนคู่ จะทำพิธีเวียนรอบโรงพิธีก่อน 3 รอบ หากตระกูลผีที่ใช้ตะโพนเดี่ยว จะทำพิธีเวียนรอบเฉพาะเสาในโรงพิธี 3 รอบแทน ในการทำพิธีทุกขั้นตอนจะมีวงปี่พาทย์บรรเลงตลอด

สำหรับลูกหลานที่เข้าร่วมพิธีในแต่ละบท เมื่อจะเริ่มบทนั้นๆต้องเข้าไปแต่งตัวบนปะรำในโรงพิธี การแต่งตัวก่อนการรำผีนั้นต้องเอาผ้าสำหรับรำผีนุ่งทับ เป็นผ้าที่ไม่เย็บติดกัน คล้ายโจงกระเบน ซึ่งวิธีการนุ่งจะนุ่งแบบลอยชาย  คือไม่เอาปลายไปเหน็บด้านหลังเช่นโจงกระเบน ผ้าคาดเอว สไบคล้องคอ ทัดดอกไม้และกระแจะแป้งบนใบหน้าเช่นเดียวกันกับเจ้าบ้าน ในทุกบทของการรำผี ผู้รำจะต้องรำด้วยเครื่องเซ่น 1 กะละมัง เหล้า และรำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ ต้นสันพร้ามอญ(ข่าไก่ดำ) มัดเป็นมัด 1 คู่ ดาบ 1 คู่ กระสวยและกี่ทอผ้า  และเหล้าอย่างละคู่ การรำผีแต่ละบทแต่ละขั้นตอนจะมีท่ารำและเพลงประกอบเฉพาะแต่ละบทนั้นๆ เมื่อปาน่กลงโรงพิธีแล้ว จะทำพิธีกันในโรงพิธีไปตลอดทั้งวันโดยทำพิธีไปตามขั้นตอนในตำราดังนี้ คือ 1. รำถวายถาด (หรือรำ 3 ถาด หรือรำถวายมือ)  เป็นการรำถวายผีในโรงพิธีและขอขมาเจ้าที่ ในการประกอบพิธีกรรมของมอญทุกพิธีถือเป็นขั้นตอนแรกที่ต้องกระทำ ตั้งแต่การยกฉัตรยอดเจดีย์ งานศพ แม้กระทั่งรำผี ส่วนมากเริ่มด้วยบทแก้บนก่อน รำโดยผู้อำนวยการพิธี จากปะรำด้านในวนรอบต้นหว้าหน้าโรงพิธี หลังจากถาดทั้ง 3 แล้ว ต่อด้วยอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด ตามขั้นตอนดังนี้

(1) ถวายถาด  (2) ต้นสันพร้ามอญ หรือต้นข่าไก่ดำ (3) กระสวยและกี่ทอผ้า  (4) ดาบ  (5) เหล้า
2. ฟันต้นกล้วย  คล้ายเป็นการทำพิธีศพ มีการอาบน้ำศพ แล้วตัดต้นกล้วยออกเป็น 4 ท่อน, 2 ท่อนกลางโยนไว้ในโรงพิธี, ท่อนยอดไว้ใต้หิ้งวางเครื่องเซ่น และท่อนโคนเหน็บหลังคาโรงพิธีไว้ ปาน่กเรียกผู้ชายมาหมดทั้งตระกูลเข้าหาป้อนข้าว  หนียวกับน้ำตาล แล้วทั้งหมดรำรอบต้นไม้หน้าโรงพิธีพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด เข้ามาเปลี่ยนรอบละชนิด
3. อาบน้ำต้นผี  จำลองขั้นตอนการโกนจุกและอาบน้ำชำระร่างกายให้ต้นผี คือลูกคนที่จะสืบทอดการถือผีต่อไป รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
4. บวชเณรและออกบิณฑบาต  จำลองขั้นตอนการบวชเณร การพายเรือออกบิณฑบาต คนในพิธีจะช่วยกันใส่บาต อาหาร ผลไม้ เงิน (เงินจะตกเป็นของคนรำ) รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
5. กาขโมยปลาย่าง  จำลองขั้นตอนการกินปลาย่าง จะมีกา(แสดงโดยคนใดคนหนึ่ง) บินมาโฉบขโมยปลาย่าง รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
6. ฝรั่งกินปลา   จำลองขั้นตอนการเลี้ยงอาหารแก่ฝรั่ง แสดงการกินอาหารอย่างฝรั่ง ซึ่งมีพระคุณช่วยคนมอญข้ามแม่น้ำได้อย่างปลอดภัยจากการหนีพม่าข้าศึก รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
7. ฝรั่งส่องกล้อง  สืบเนืองจากบทฝรั่งกินปลา เป็นการเลียนแบบฝรั่ง การใช้กล้องส่องทางไกล การวัดระยะ รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
8. ลูกสะใภ้   เป็นบทที่รวมลูกสะใภ้ทั้งหมดมารำพร้อมๆกัน
9. เจ้าพ่อรักษาโรค   เจ้าบ้านเป็นร่างทรง เรียกคนป่วยในตระกูลมาทั้งหมด นั่งบนสากตำข้าว เจ้าพ่อจะใช้อุปกรณ์การรำทั้ง 4 ทีละชนิด จี้ ไล่ไปตามตัวจากหัวสู่เท้าทีละคน ปาน่กจะทาขมิ้น และพ่นน้ำมนต์ใส่คนป่วย เพื่อรักษาโรค
10. เทียนเสี่ยงทาย   ผู้อำนวยการพิธีเตรียมเทียนซึ่งได้ให้เจ้าบ้านปั้นเอาไว้ตั้งแต่วันสุกดิบ ปักลงในขันที่มีข้าวสารอยู่ภายใน ให้เจ้าบ้านเป็นคนจุดเทียน ตั้งจิตอธิษฐานและปล่อยทิ้งไว้ รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
11. กินปลาย่าง  จำลองขั้นตอนการกินปลาย่างของเมียน้อย ซึ่งต้องแอบกิน กินตอนมืดๆ ไม่ให้เมียหลวงเห็น ที่สุดถูกแมวขโมยปลาย่างไป รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด

เมื่อจบการรำชุดกินปลาย่างแล้วจึงจะสามารถพักกินข้าวกลางวันได้ ซึ่งการรำผีในช่วงเช้าเป็นแบบพิธีการ ออกนอกลู่นอกทางไม่ได้        ต่อเมื่อช่วงบ่ายจึงคลายลงไม่เป็นทางการมาก มีการเสริมลูกเล่น เพิ่มความสนุกสนาน การบรรเลงปี่พาทย์สามารถเล่นเพลงอื่นๆผสมผสานได้ เช่น เล่นเพลงลูกทุ่งไทยตามสมัยนิยม ผู้อำนวยการพิธีและต้นผีต้องกินข้าวในโรงพิธีเท่านั้น เสร็จแล้วจึงทำพิธีต่อในช่วงบ่าย
12.  ผีประจำโรงพิธี   (ประจำตัวผู้อำนวยการพิธี) ผีทั่วๆไป ผีประจำหมู่บ้าน เป็นการรำเพื่อสักการะบูชา รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
13. หนุ่มจีบสาว  จำลองขั้นตอนการจีบสาวของเจ้าพ่อหนุ่ม ซึ่งมีการดูตัว และมีผู้ใหญ่คอยกีดกัน แต่ที่สุดก็ประสบความสำเร็จรำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
14. ส่งขันหมาก   จำลองขั้นตอนการแต่งงาน เมื่อจีบสาวสำเร็จแล้วจะมีการส่งขันหมากสู่ขอกันตามประเพณี รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
15. ชนไก่   จำลองขั้นตอนการละเล่นอย่างหนึ่งนั่นคือ การชนไก่ แบ่งคนออกเป็น 2 ฝ่าย มีการแต่งตัวตลกขบขัน สนุกสนาน เป็นคนอุ้มไก่และกองเชียร์ ใช้ไก่จริงๆในการรำ(มัดขาไก่กันหนี) อุ้มไว้ฝ่ายละคนรำไปมาและจับให้หัวไก่ชนกันเบาๆเป็นระยะๆ จากนั้นสมมุติให้ฝ่ายหนึ่งชนะ มีการฉลองชัยชนะ และรำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
16. สามสาว   เลือกสาว  3 คน เลือกเอาสาวๆ สวยๆ ที่ต่างผี(คนละตระกูลกัน) รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
17. เก็บฝ้าย   จำลองขั้นตอนการดำเนินชีวิต การปลูกฝ้ายเก็บฝ้าย แบ่งคนออกเป็น 2 ฝ่าย มีการแต่งตัวตลกขบขัน สนุกสนาน คือเจ้าของ และคนขโมยสำลี เมื่อขโมยสำลีจนหมดแล้ว รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
18. เล่นสะบ้า   จำลองการละเล่นชนิดหนึ่งของมอญ คือการเล่นสะบ้า เสร็จแล้วรำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
19. คล้องช้าง  จำลองการคล้องช้าง มีการแต่งตัวตลกขบขัน สนุกสนาน ให้ช้างแต่งตัว ม้วนผ้าขาวม้าให้คล้ายงวงช้างคาดศีรษะ มีถังน้ำขนาดใหญ่ให้ช้างอมพ่นใส่ผู้ที่จะเข้ามาคล้อง มีการร่ายรำหลอกล่อ เมื่อคล้องได้แล้วมีการฉลองชัยชนะ รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
20. ออกศึก   สืบเนื่องจากการคล้องช้าง เมื่อได้ช้างแล้วก็ใช้ในการออกศึก รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
21. รำกะเหรี่ยง   จำลองการละเล่นชนิดหนึ่ง เป็นการนำการละเล่นของกะเหรี่ยง ที่เห็นว่าสนุกสนานมาเล่นบ้าง(คล้ายกับการละเล่นลาวกระทบไม้ของไทย แต่ใช้สากตำข้าวแทนไม้ทั้งสองอัน)
22. รวมญาติ   หรือผีตะครุบ เป็นการรำรวมญาติ ให้ต้นผีเข้าทรง รำไปมาและเตรียมผ้าสไบไว้มากๆ สำหรับคล้องคอผู้ที่อยู่ภายนอก คนที่ถูกคล้องต้องออกไปรำรอบๆต้นหว้าหน้าโรงพิธี ช่วงนี้เป็นช่วงสนุกสนาน รำร่วมกันทั้งตระกูล
23. ผีบ้าน   เจ้าบ้านออกมาเป็นร่างทรง รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด และเอาหีบหรือกระบุงผ้าผีที่ลงมาเมื่อเช้ากลับขึ้นบ้าน
24. รำถวายมือ ทุ่มมะพร้าว  ผู้อำนวยการพิธี ทำการรำถวายมือ รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด เมื่อรำเสร็จหักทำลายอุปกรณ์ทั้งหมดใส่แพ(ทำจากต้นกล้วย) ที่มีดอกไม้ เศษอาหาร ขมิ้น และสายสิญจน์ทุกเส้นที่ได้แจกให้กับทุกคนในตอนเช้า นำมะพร้าวแก่(ปอกเปลือก เกลาขุยให้สะอาด) ออกไปรำ คลึงไปมาเป็นจังหวะ ทุ่มลงบนพื้นให้แตก เป็นการเสี่ยงทายหากผลมะพร้าวแตกทันทีและเป็นเส้นตรงดี ทำนายว่าทำมาค้าขึ้น แล้วเก็บเศษทั้งหมดใส่แพต้นกล้วย รำพร้อมอุปกรณ์ทั้ง 4 ชนิด
25. ลากเรือ   ใช้ไม้ดันหรือเข็นเรือ(แพต้นกล้วย)ออกนอกโรงพิธีทางด้านหน้า คว่ำหม้อข้าวหม้อแกงข้างในโรงพิธี ล้มต้นหว้า เอาเสาแขวนเสื้อและงอบ(คล้ายหุ่นไล่กา)ลง

จากนั้น จึงเปิดดูเทียนเสี่ยงทาย ที่ทำพิธีเอาไว้ในการรำบทที่ 10 เมื่อดึงเทียนขึ้นมาหากมีข้าวสารติดโคนต้นเทียนเป็นทรงกลมและใหญ่ จะถือว่าครอบครัวสงบสุข มีความสามัคคี ทำมาหากินขึ้น หากมีข้าวสารติดโคนต้นเทียนขึ้นมารูปร่างกลมแต่เล็ก แสดงว่าครอบครัวสงบสุข มีความสามัคคีดี แต่ไม่ร่ำรวยมาก และเจ้าของบ้านตระหนี่ถี่เหนียว หากมีข้าวสารติดโคนต้นเทียนขึ้นมารูปร่างบิดเบี้ยว ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ทำมาหากินไม่ขึ้น เป็นต้น

การรำผีจะจบลงด้วยการรวบรวมเอาเศษอาหาร ใบหว้า ต้นใบสันพร้ามอญ และต้นกล้วยที่เอามาตัดในระหว่างพิธีเทรวมกันแล้วบรรทุกลงในเรือที่ทำขึ้น จากแพกล้วย นำเรือนั้นลอยน้ำ เป็นการลอยเสนียดจันไรทิ้งไป บางครั้ง การรำผีอาจ ใช้เวลาจนมืดหรือดึก แล้วแต่จำนวนสมาชิกในตระกูล และขึ้นอยู่กับว่ามีผีเข้าร่าง


มากน้อยและนานเพียงใด จากนั้นคนในตระกูลต้องช่วยกันรื้อโรงพิธีให้เสร็จภายในวันเดียวกันนั้น คนนอกตระกูลช่วยเหลือไม่ได้ เสร็จแล้วต้องเอาชิ้นส่วนทั้งหมดของโรงพิธีโยนทิ้งน้ำให้หมด แต่ปัจจุบันมีการอนุโลมขออนุญาติผีให้นำไปมอบแก่คนยากคนจนได้