ชนเผ่าม้ง - วิถีชีวิตม้งในปัจจุบัน2

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

 

ชนเผ่าม้ง จากอดีตถึงปัจจุบัน
    
            ภาพสวยงามในอดีตที่ยังคงตรึงอยู่ในหัวใจม้งทุกคน นั่นคือ ชุดม้งที่ยายชราสวมใส่อยู่ เป็นชุดม้งที่ม้งทุกคนต้องสวมใส่ตลอด แต่ปัจจุบันภาพสวย ๆ งาม ๆ เหล่านี้เริ่มสูญหายไปจากสังคมม้ง ส่วนใหญ่จะพบภาพที่สวยในแบบฉบับปัจจุบันนี้ คือ ภาพสองตายาย แต่งชุดทันสมัยใหม่ แม้ว่าจะเป็นชุดลำลองอยู่บ้านเท่านั้น แต่เมื่อสวมใส่แล้ว รู้สึกสบายมากขึ้น ไม่ต้องลำบากในเวลาทำความสะอาดเสื้อผ้า เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ม้งต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้มานุ่งเสื้อผ้าสมัยใหม่ เนื่องจาก เสื้อผ้าชุดม้งนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อมากกว่า และต้องนำมาตัดเย็บเป็นชุดใหม่ กว่าที่จะตัดเย็บเรียบร้อย ใช้เวลานาน และเสื้อผ้าม้งนั้นมีความหนามาก ดังนั้น เวลาสวมใส่หน้าร้อน จะยิ่งเพิ่มความร้อนมากยิ่งขึ้น จึงเป็นเหตุผลในการปรับเปลี่ยนตัวเอง และอีกเหตุผลหนึ่ง คือ เวลาเข้าสังคมกับคนอื่นแล้ว ไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้น ม้งจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมมากขึ้น    

     

            ภาพเด็กม้งที่ทุกคนถูกฝึกมา เพื่อที่จะแบ่งเบาภาระทางครอบครัวเป็นหลัก นั่นคือการทำงานในไร่ ในสวน ในอดีต เด็กม้งจะต้องตื่นแต่เช้า เพื่อที่จะได้ช่วยครอบครัวทำงาน และต้องแบกหลังด้วยกระโด่งใบใหญ่กว่าตัวเด็กเสมอ เพื่อที่จะไปแบก พืชไร่ หรือพืชสวนที่ทำไว้กลับมาไว้ที่บ้าน แต่ปัจจุบันภาพ เหล่านี้เริ่มจางหายไปพร้อมกับความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ความ เจริญทางสังคมเริ่มแผ่ก่ายเข้ามาในชีวิตม้งในชนบท และสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับชาวม้งทุกคน ดังนั้นม้งเริ่มที่จะมีความนิยมชมชอบสิ่งเหล่านี้ และในที่สุด ชาวม้งก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองขึ้นมา เพื่อที่จะได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และคิดว่าสิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่ดี ซึ่งปัจจุบันนี้ม้งหมดยุดการแบกชลอง (กุ่ย) ไป แล้วหันมาเล่นกีฬาตามแบบฉบับของสังคมไทย ถือได้ว่าเป็น ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของชาวม้ง    

 

             เด็กชายม้งกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าเด็กชายม้งคนนี้ จะตัวเล็กเท่าพริกขี้หนู แต่ก็มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวของเขา ต้องตื่นนอนแต่เช้า ตระเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำไปทำไร่ เมื่อตระเตรียมเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปใส่ในชลอง (กุ่ย) แล้วแบกหลังพร้อม กับธนูคู่กายเด็กชายม้งทุกคน พร้อมกับจูงเจ้าเพื่อนยาก คือ ควายไปทำงานในไร่ ซึ่งในอดีตนั้นเด็กชายม้งทุกคนต้องทำเช่นนี้ เพราะเขาเหล่านั้นถูกฝึกมาเช่นนี้ แต่กาลเวลาแปรเปลี่ยนไป สิ่งใหม่ ๆ ก็เข้ามาแทนที่ โดยแทบตั้งตัวไม่ทัน ผู้ปกครองหลาย ๆ คน ต้องส่งลูกหลานของตัวเองเข้าเรียน เพื่อที่จะได้เข้าศึกษาเล่าเรียน ปัจจุบันนี้ เด็กชาย-เด็กหญิงม้งส่วนใหญ่ จะได้เข้าโรงเรียนทั้งหมด ยกเว้นเฉพาะบริเวณ ที่อยู่ห่างไกลความเจริญมาก หรือ โรงเรียนยังเข้าไปไม่ถึงเลยแต่มีส่วนน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้ว เด็กเหล่านี้จะอ่านหนังสือออกทั้งนั้น

            หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน คำกล่าวนี้คงจะหนีไม่พ้นหญิง-ชายม้งหลายคู่นี้ ทุกวันหลังจากทำงานในไร่เรียบร้อยแล้ว พอจะกลับบ้านเพื่อที่จะเก็บแรงไว้พรุ่งนี้อีก วันหนึ่ง ชาวม้งส่วนใหญ่ต้องแบกฟืนจากไร่มาเก็บไว้ที่บ้าน เพื่อที่จะได้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหารต่อไป ซึ่งในอดีตม้งนิยมใช้ม้าบรรทุกสัมภาระต่าง ๆ แต่ ยกเว้นฟืน ม้งจะนิยมแบกฟืนมากกว่าใช้ม้าบรรทุก ธรรมชาติแล้วม้งจะมีความอดทน ขยัน ประหยัด ดิ้นรนปากกัดตีนถีบ เพื่อที่จะได้อาหารมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวัน ๆ ใช้ตัวเองเป็นเครื่องจักร แต่ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีมีความเจริญ ก้าวหน้า และครอบคลุมความต้องการของมนุษย์ทุกคน ม้งก็เป็นคนคนหนึ่งที่ ถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยีที่สามารถเข้าไปถึงได้เช่นกัน จะเห็นได้จากการเข็นรถเข็น การใช้โทรศัพท์มือถือต่าง ๆ การมีรถยนต์เป็นของตัวเอง การใช้เครื่องเฟอร์นิเจอร์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น