เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฎหมายไทย (4)

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
06/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ธรรมศาสตร์มอญ  เค้ากฏหมายไทย (4)

โดย พิศาล บุญผูก

เนื้อหาของตัวบทในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์
พระธรรมศาสตร์ของไทย มีมูลคดีมากกว่าของ มอญ  กล่าวคือ  พระธรรมศาสตร์ไทยมีมูลคดี 39 ประการ แยกเป็นมูลคดี ดังนี้
มูลคดีแห่งผู้พิพากษาตุลาการ 10 ประการ มูลคดีวิวาท 29 ประการ
พระธรรมศาสตร์ของ “มอญ” มีมูลคดีวิวาท 18 ประการ

สาระสำคัญของตัวบทในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์
ตัวบทพระธรรมศาสตร์ถือได้ว่า เป็นสาระสำคัญยิ่งของคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ที่บัญญัติไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ทั้งหลายทั้งของ “มอญ” และ ของ “ไทย” แบ่งได้เป็น 2 ภาค คือ

      ภาค 1 ว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้พิพากษา
ตัวบทพระธรรมศาสตร์ส่วนนี้ กล่าวถึงลักษณะของตุลาการ ต้องประกอบด้วยคติธรรมดังนี้ คือ ต้องปราศจากอคติ 4 ประการ มีโลภะ โทสะ โมหะ และฉันทะ และหลักที่ตุลาการพึงระลึกและปฏิบัติ ในการพิจารณาความพิพากษาคดีรวม 24 ประการ อันเป็นส่วนที่กล่าวถึงจรรยาบรรณของผู้พิพากษา อำนาจศาล และวิธีพิจารณาความ

        ภาค 2 ว่าด้วยมูลคดีวิวาท
ภาคที่สองนี้ เป็นกฏหมายลักษณะคดีต่าง ๆ ที่บัญญัติขึ้นใช้ ระงับข้อพิพาทของราษฎร คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ตอนที่สองนี้ ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ พระราชกำหนดกฏหมาย ที่พระมหากษัตริย์ทรงบัญญัติขึ้น ได้ท้าวความถึงตัวบทพระธรรมศาสตร์นี้ทั้งสิ้น จากข้อแตกต่างของมูลคดีวิวาท ที่ได้บัญญัติไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ได้บัญญัติไว้ 18 ประการ น้อยกว่าพระธรรมศาสตร์ไทย ที่บัญญัติถึงมูลคดีวิวาท 29 ประการ ที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ มีผู้สันนิษฐานว่าเนื่องจากพระธรรมศาสตร์นั้น มีหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นของอินเดีย ของ มอญ  หรือของไทย เมื่อมีการรวบรวมประมวลหลักกฏหมายนี้ในเวลาต่อ ๆ มา จึงได้นำเอาความหลากหลายเหล่านั้น มารวมกันไว้ด้วยกัน และตามประวัติพระธรรมศาสตร์จะพบว่า ได้มีการแต่งแปล หรือประมวลพระธรรมศาสตร์กันหลายครั้ง และหลายยุคสมัย การรวบรวมครั้งหลัง ๆ จึงอาจมีการประมวลหลักการพระธรรมศาสตร์ จากหลาย ๆ สมัยที่มีมาก่อนเข้าด้วยกันก็ได้

พระธรรมศาสตร์ของ มอญ  ได้ถ่ายทอดสู่เมืองไทยหรือไม่  คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไทย ได้กล่าวในคำปรารภ ตอนต้นดังนี้

    ยญจ โลกหิตํ สตกํ ธมมสตํถมปากฏํ
                                                          ภาสิตํ มนุสาเรน มูลภาลย วาทิโต
                                                          ปรมปราภตํ ทานิ รามญเญสุ ปติฏฐิตํ
                                                          รามญญสส ว ภาสาย ทุคคาฬหํ ปุริเสนิท
                                                          ตสมา ตํ สามภาสาย รจิสสน ตํ สุนาถเมติ

แปลความว่า
“คัมภีร์อันใดเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก ปรากฏชื่อว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์อันพระมนูสารฤาษี (มโนสารฤาษี) ได้กล่าวไว้ในมูลภาษาหรือภาษาเดิม (ซึ่งเป็นภาษามคธหรือบาลี) ครั้นแล้วได้มาประดิษฐานแต่สมัยปรัมปรา ในดินแดนของพวกรามัญ แต่ในบัดนี้เป็นสิ่งยากที่อำมาตย์จะเข้าใจได้ จึงแปลออกจากภาษารามัญเป็นภาษาสยาม”

จากคำปรารภดังกล่าวนี้ แสดงว่าได้มีการนำพระธรรมศาสตร์ของ มอญ มาใช้ในไทย ด้วยการแปลพระธรรมศาสตร์ มอญ  ที่เป็นภาษามอญให้เป็นภาษาไทย

นอกจากนั้น บรรดานักปราชญ์ของไทยได้กล่าวยืนยันว่า ไทยได้รับพระธรรมศาสตร์มาจาก มอญ ดังเช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์ ของพระองค์เกี่ยวกับพระธรรมศาสตร์ว่า

“ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิม มอญ ได้มาเป็นภาษาสันสกฤษมีพระภิกษุรูปหนึ่งแปลออกเป็นภาษามคธ ที่เมืองรามัญ(แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกทีหนึ่ง) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญเพิ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียโดยมาก มีภาษามคธชื่อเก่า พระยาโหราธิบดี (แหยม วัชรโชติ) เป็น มอญ บ้านบางตลาด ปากเกร็ด นนทบุรี มาติกากฏหมายนอกนั้น เป็นภาษารามัญได้วานพระยาโหราฯ แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ ตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญ ถึงเรื่องพระมหาสมมติ ตรงกับในพระธรรมศาสตร์ของไทย แต่นอกจากนั้นไปคนละทางหมด”

เนื่องจากคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ  มีหลายฉบับ ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ละฉบับมีสำนวนแตกต่างกัน เท่าที่รวบรวมพระธรรมศาสตร์ มอญ  ที่เป็น ภาษามอญ นี้มีมากกว่า 10 ฉบับ ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่า คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ที่ไทยรับมาใช้และอ้างว่าได้แปลจาก ภาษามอญ ดังกล่าวข้างต้นนี้นั้น ได้มาจากพระธรรมศาสตร์ฉบับใดของ มอญ ยิ่งกว่านั้นข้อแตกต่างของพระธรรมศาสตร์ มอญ และไทยมีอยู่หลายแห่งดังได้กล่าวมาแล้วเช่นกัน จึงยิ่งยากที่จะชี้ชัดไปได้ว่าไทยได้แปลพระธรรมศาสตร์ มอญ จากฉบับใด แม้ฉบับพระเจ้าฟ้ารั่วซึ่งมีส่วนใกล้เคียงกันมาก แต่ยังมีส่วนที่แตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะในเรื่องประวัติพระมนู ที่ไม่ตรงกัน คือ

1. การใช้ชื่อพระมนูว่า พระมนูสาร หรือ พระมโนสาร นั้น ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ไทยทั้งภาษาไทย และภาษามคธได้เพิ่มคำท้ายนามพระมนูซึ่งไปเหมือนกับ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพม่าที่ใช้คำ พระมนูสาร แต่”มอญ” ใช้คำว่า พระมนู หรือ พระมนูฤาษี
2. การพิจารณาพิพากษาคดีไร่แตง ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของไทย ไปเหมือนกับของพม่าอีก เพราะคัมภีร์พระธรรมศาสตร์พม่าได้กล่าวถึงการวินิจฉัยคดีไร่แตง

จากข้อสังเกตเหล่านี้จึงสันนิษฐานว่า
1. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของ มอญ มีมากกว่าที่รวบรวมค้นหาไว้ได้ในขณะนี้ แต่ได้สูญหายไปหมด เมื่อครั้งพม่าได้เผาผลาญกรุงหงสาวดีเมื่อ พ.ศ. 2300
2. คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มอญ ที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายเสียหายหมดอีกครั้ง จากการเผาผลาญของพม่าในเวลา 10 ปีต่อมา ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310  จึงทำให้ไม่สามารถค้นหา คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”มอญ” ที่เป็นต้นฉบับแปลเป็นภาษาไทยนั้นได้
3. มอญ ได้ถ่ายทอดพระธรรมศาสตร์ให้พม่า แล้วพม่าได้แต่งเพิ่มเติมพิสดารขึ้น ต่อมาภายหลังได้แปลจากภาษาพม่ากลับเป็น ภาษามอญ แล้วจึงมาเป็นต้นฉบับของ มอญ ที่แปลเป็นภาษาไทยต่อมา

ถึงแม้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ จะมีความแตกต่างกันและมีหลายสำนวนหลายฉบับก็ตาม แต่เป็นเพียงส่วนน้อย ในส่วนที่เหมือนกันทุกฉบับไม่ว่าจะเป็นของอินเดีย ของ มอญ ของไทย หรือของพม่า คือความยิ่งใหญ่ ความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์นี้เน้นถึงสาระสำคัญ ในหลักการของนิติธรรม ที่ประสงค์ให้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็น ด้วยการกำหนดกรอบจริยวัตร ของบุคคลในชาตทั้งผู้ปกครอง และผู้อยู่ในปกครองให้ประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงามมีคุณธรรม งดเว้นการเบียดเบียนกัน อันจะเกื้อกูลสังคมประเทศชาติ ให้ไปสู่ความสงบสุขเจริญมั่งคั่งอย่างแท้จริง แสดงถึงคุณค่ามหาศาลของเนื้อหาสาระ ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์และแสดงถึง ภูมิปัญญาของนักปราชญ์ นักการปกครอง ผู้ให้กำเนิดพระธรรมศาสตร์ ได้เป็นอย่างดีทั้งอินเดีย “มอญ” และไทย ดังนั้นการที่ชนชาติใดได้นำคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ มาใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองนั้น ย่อมเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง และสำแดงถึงศักดิ์ศรีของชนชาติเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีว่า เป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรือง และเป็นดินแดนของอารยะชนอย่างแท้จริง

เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร  เรื่องกฏหมายตราสามดวง กรุงเทพฯ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมศึกษา 2521
คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี ประชุมศิลาจารึก กรุงเทพฯ โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2521
ดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา ชุมนุมพระนิพนธ์ตำนานกฏหมายไทย กรุงเทพฯ โรงพิมพ์อักษรไทย 2534 จารึกกัลยาณี พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา พระนคร. โรงพิมพ์โสภณพิธบรรณากร 2468.
พระธรรมศาสตร์พระธรรมวิลาสะ ภาษามอญ
พระธรรมศาสตร์พระเจ้าฟ้ารั่ว ภาษามอญ
พระธรรมศาสตร์ ภาษามอญ
รอง ศยามานนท์ ดำเนิน เลขะกุล, วิลาศ วงค์นพรัตน์  ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา พระนคร โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี 2515
สุทธิวาทนฤพุฒิ, หลวง คำบรรยายประวัติศาสตร์ กฏหมายไทย พระนคร โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2510
เสนีย์ ปราโมช , ม.ร.ว กฏหมายสมัยอยุธยา พระนคร ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวะพร, 2510
วรภักดิ์พิบูลย์, พระ  ประวิติศาสตร์กฏหมายไทย พระนคร โรงพิมพ์วิบูลย์กิจ, 2495.
Pan Hla.Nai   “THE SIGNIFICANT ROLE OF THE MON VERSION DHARMA SASTRA’ Instiue for the Study of Langauges and Cultures of ASIA and Africa, Tokyo. 1991
R.Lingat “Evoluation of the Conception of Law in Burma and Siam “Jss vol.38,1950


อ่านทั้งหมด

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (1)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (2)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (3)

เอกสารมอญ - ธรรมศาสตร์มอญ เค้ากฏหมายไทย (4)