ชนเผ่าม้ง - มุมสงบบนดอยภูคา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

มุมสงบบนดอยภูคา

เส้นทางลาดยางที่แยกจากถนนสายหลักระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร เป็นถนนสายที่คดเคี้ยวเลี้ยวลดผ่านภูเขาสูงสองฟากฝั่งที่ขนาบข้าง เบื้องล่างบางช่วงเป็นหุบเขาลึก ความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขาทำให้สายลมหนาวในยามบ่ายยังคงพัดผ่านลมเย็นมาไม่ จาง ตะวันส่องแสงแรงกล้ากลางฟ้าสีฟ้าใสไร้เมฆขาว แต่พื้นถนนกลับเปียกชื้น ฉันต้องขับรถจักรยานยนต์อย่างระมัดระวัง ทั้งความลาดชัน ความคดโค้งของดงดอย และถนนที่ลื่นด้วยไอเย็นของน้ำจากภูสูง ฉันใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงจากถนนสายหลัก กว่าจะมาถึงจุดหมายปลายทางที่ สำนักงานโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน จากจุดนี้จะมองเห็นหมู่บ้านมณีพฤกษ์ หมู่บ้านของชาวเขาเผ่าม้ง ตั้งเรียงรายลดหลั่นไปตามความลาดชันสูงต่ำของเทือกดอยภูคา

หมู่บ้านมณีพฤกษ์
ตั้งอยู่บนเทือกเขาของอุทยานแห่งชาติดอยภูคา เป็นหมู่บ้านชนเผ่าม้งดำ (ม้งจั๊ว) และมีชาวม้งขาว (ม้งด๊าว) ตั้งบ้านเรือนอยู่ไม่มากนัก บรรพบุรุษของพวกเขาอพยพมาจากประเทศจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ณ ดงดอยแห่งนี้มานานหลายร้อยปี และเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี ที่หมู่บ้านจงไผ่ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหมู่บ้านมณีพฤกษ์ ได้เข้าร่วมเป็นฐานที่มั่นในเขตน่านเหนือของเหล่าสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทย (พคท.) พอฐานที่มั่นถึงกาลล่มสลายในปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านมณีพฤกษ์ก็ปักหลักตั้งบ้านเรือน ณ จุดเดิมที่บรรพบุรุษเคยอยู่อาศัย พวกเขาสร้างหมู่บ้านถาวรมา 23 ปีแล้ว

ลักษณะบ้านม้งที่สร้างจากไม้ฟาก หลังคามุงหญ้าคาหรือมุงจากหายไป บ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมณีพฤกษ์สร้างจากไม้ ไม่ว่าจะเป็นผนังหรือเสา หลังคามุงสังกะสีหรือกระเบื้อง ตัวบ้านเป็นบ้านชั้นเดียวปลูกค่อมพื้นบ้านที่เป็นพื้นดินทุบแน่น บ้านทุกหลังจะมีพื้นที่เป็นลานโล่ง สำหรับใช้ทำงานและกินข้าวร่วมกันของคนในครอบครัว ตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง ในบ้านจะมีเตาไฟอยู่ 2 ขนาด คือเตาไฟเล็กใช้ประกอบอาหารในครัวเรือน และเตาไฟใหญ่สำหรับทำอาหารเลี้ยงแขกจำนวนมาก ส่วนพื้นที่ที่เป็นห้องนอนจะกั้นด้วยไม้หรือไม้ฟาก และมีแคร่ไม้ไผ่หรือไม้แผ่นยกสูงเป็นที่นอน

ครอบครัว ชาวม้งเป็นครอบครัวขยาย บ้านบางหลังมีเกือบ 10 ครอบครัวพักอาศัยอยู่ร่วมกัน อย่างที่ฉันได้สัมผัสที่หมู่บ้านมณีพฤกษ์ มีครอบครัวหนึ่งที่ฉันได้ฝากท้องไว้กับพวกเขา มีผู้อยู่อาศัยรวมกันทั้งหลัง 35 คน มีไม้กั้นเป็นห้องนอน 6 ห้อง แต่ท่ามกลางความคงเดิม ชาวม้งบ้านมณีพฤกษ์บางส่วนก็เริ่มสร้างครอบครัวแบบครอบครัวเดี่ยวบ้างแล้ว สังเกตได้จากขนาดของบ้านที่เล็กลง และมีไม้กั้นห้องเพียง 1 หรือ 2 ห้อง

ภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านมณีพฤกษ์อยู่บนดงดอยสูง แต่มีทางลาดยางจากถนนสายหลักมาจนถึงหน้าหมู่บ้าน ความงดงามของผืนป่าบนเทือกดอยภูคา รวมถึงการเป็นชนเผ่าที่ยังคงนับถือแบบดั้งเดิม มีการประกอบพิธีกรรมของชนเผ่าในทุกประเพณี ถือเป็นปัจจัยเหมาะสมที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความสงบ และต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมชนเผ่า นี่คือความคิดของฉัน ที่มองว่าการท่องเที่ยวถือเป็นอีกหนึ่งรายได้ของชุมชน และเมื่อชาวบ้านมีทรัพยากรพร้อม พวกเขาคงจะเห็นเช่นเดียวกับฉัน

เมื่อฉันมาถึงหมู่บ้านมณีพฤกษ์ยามดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ เป็นวันแรกของการเปิดงานปีใหม่ม้ง ในลานชุมชนทางเข้าหมู่บ้าน หนุ่มสาวชาวม้งดำในเครื่องแต่งกายครบเครื่อง ชายหนุ่มสวมเสื้อสีดำแขนยาว ปกสาบเสื้อด้านขวาป้ายทับซีกซ้ายของตัวเสื้อ ตลอดแนวสาบเสื้อประดับด้วยผ้าปักลวดลายของชนเผ่า กางเกงสีดำขากว้างพองด้านบน แต่ด้านล่างลีบเล็ก เป้ากางเกงหย่อนต่ำกว่าระดับเข่า มีผ้าสีแดงพันรอบเอวทับกางเกง ส่วนหญิงสาวสวมเสื้อสีดำปักลวดลายม้งตรงสาบเสื้อทั้งสองข้าง สวมกระโปรงสีครามเป็นจีบโดยรอบทอจากใยกัญชง ลวดลายกระโปรงมีทั้งการปักและย้อม มีผ้าเหลี่ยมผืนยาวปักลวดลายทับด้านหน้ากระโปรง ทั้งชายหนุ่มหญิงสาวชาวม้งกำลังโยนลูกช่วงกันอย่างสนุกสนาน ลูกช่วงทำจากเศษผ้า มีลักษณะเหมือนลูกบอลแต่ขนาดเล็กเหมาะมือ การโยนลูกช่วงเป็นการละเล่นของชาวม้งเพื่อความสนุกสนานในการฉลองเทศกาลปี ใหม่ บริเวณรอบๆ ลานชุมชนมีชาวบ้านมาร่วมงานจำนวนมาก แต่มีรถยนต์ของนักท่องเที่ยวเพียงไม่กี่คัน พอเวลาใกล้พลบค่ำ เสียงเครื่องยนต์ก็เคลื่อนออกจากหมู่บ้าน ฉันชมการละเล่นโยนลูกช่วงจนอิ่มใจ ก็เริ่มเดินหาที่พัก เพราะคิดหวังไว้ว่าที่นี่น่าจะเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ อีกทั้งเป็นหมู่บ้านที่มีบ้านเกิน 100 หลังคาเรือน คงพอมีที่พักสำหรับคนผ่านทาง

ความคิดของฉันผิดถนัด ที่นี่ไม่ใช่หมู่บ้านเพื่อการท่องเที่ยว แต่โชคดีที่ฉันมาเที่ยวคนเดียว จึงได้ที่พักพิงที่บ้านของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีอายุเพียง 26 ปี ถือเป็นผู้นำหมู่บ้านที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่ฉันเคยผ่านพบมา ที่นี่ฉันได้รับรู้ความรู้สึกและแนวคิดของคนในชุมชนจากผู้เฒ่าหลายคนที่มี โอกาสได้สนทนา เมื่อก่อนหมู่บ้านมณีพฤกษ์เคยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่คนที่มีรายได้หลักกลับกลายเป็นคนนอกที่พานักท่องเที่ยวมาพัก ชาวบ้านรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมจึงไม่เปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเช่นเดิม แต่ปัจจัยหลักที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว จึงยังมีผู้คนมาชมหมู่บ้าน ชมวิถีชีวิตอย่างสม่ำเสมอ ถ้านักท่องเที่ยวกลุ่มใดอยากพักค้างคืน ชาวบ้านจะจัดให้พักที่โรงเรียน แต่ถึงชาวบ้านไม่เปิดหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยวมาพักเป็นกิจจะลักษณะ แต่พวกเขาก็ไม่ปิดกั้นการเข้ามาท่องเที่ยวหรือเรียนรู้ของคนภายนอก นี่คือคำบอกเล่าของพ่อเฒ่าผู้หนึ่ง ที่ลูกหลานในบ้านถอดความเป็นภาษาไทยให้ฉันได้รับรู้

จากการพูดคุยทำให้ฉันรู้ว่า ชาวม้งที่บ้านมณีพฤกษ์เชื่อว่า พวกเขาสามารถสร้างรายได้ของชุมชนได้โดยไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยว พวกเขามีอาชีพทำการเกษตรบนที่สูง แม้พื้นที่หมู่บ้านจะถูกจำกัดเพราะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่พวกเขาก็ได้สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยมีรายได้จากภาคการเกษตรเป็นหลัก การไม่พึ่งพิงรายได้จากการท่องเที่ยว ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาปิดกั้นการเรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่แตกต่าง พวกเขาเต็มใจและยินดีให้ผู้คนมาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชนเผ่าม้ง อีกทั้งพวกเขาก็สนับสนุนการเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันโลกกว้าง จะเห็นได้จากเยาวชนหญิงชายในหมู่บ้านได้รับการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งระดับมัธยมศึกษา รวมถึงระดับปริญญาตรี แต่เยาวชนเหล่านี้แม้จะไปอยู่พื้นราบเพื่อศึกษาในระบบ แต่หญิงสาวก็ยังปักผ้าม้งได้ ชายหนุ่มก็ยังปลูกพืช ทำไร่บนดอยได้ อาจเป็นเพราะว่าหมู่บ้านมณีพฤกษ์มีผู้เฒ่าหลายคน ที่มีคลังความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง คอยเป็นที่ปรึกษาและถ่ายทอดสิ่งที่ดีงามของชนเผ่าแก่ลูกหลาน

มณีพฤกษ์จึงถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาในเรื่องสาธารณูปโภค และการศึกษา แต่พวกเขาก็ยังประกอบพิธีกรรมบูชาเซ่นไหว้บรรพบุรุษทุกประเพณี ฉันโบกมือลาความสวยงามของธรรมชาติบนดงดอยสูง ความสงบของหมู่บ้านมณีพฤกษ์ที่ตั้งตระหง่านกลางเทือกเขา และงานปีใหม่ม้งที่สนุกสนาน แต่ฉันก็ยังคงจำคำพูดของพ่อเฒ่าผู้หนึ่งไม่รู้ลืม “ ถ้าจะตัดต้นไม้ ตัดใบ ยอด กิ่ง ก้านไปได้ แต่อย่าตัดทั้งราก ทั้งโคน ” ฉันจึงไม่แปลกใจเลยที่พวกเขายังคงรักษาวิถีชีวิต วัฒนธรรมชนเผ่าม้งไว้ได้อย่างมั่นคง เหนียวแน่น และไม่เสื่อมคลาย