วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
09/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

สะบ้าทอยกีฬาหนุ่มชาวมอญ
พีระ   กาบแก้ว

 

ในปีพุทธศักราช  ๒๓๕๘  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้าให้สร้างเมืองหน้าด่านทางทะเลขึ้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่า “ เมืองนครเขื่อนขันธ์ ” หรือพระประแดงในปัจจุบันเพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเล  เมื่อสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์เสร็จแล้ว ได้อพยพชายฉกรรจ์ จำนวน ๓๐๐  นาย   จากอำเภอสามโคก  จังหวัดปทุมธานี มาทำหน้าที่รักษาเมืองนครเขื่อนขันธ์  และยังมีการสร้างป้อมปราการอีกหลายแห่ง

ในจำนวนชายฉกรรจ์ทหารมอญ  ๓๐๐  นาย ยังมีครอบครัวและ ญาติพี่น้องได้ติดตามมาภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามเขตรอบ ๆ เมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นส่วนใหญ่  โดยตั้งชื่อตามหมู่บ้านตนเองที่อพยพมา  ซึ่งรวมได้ประมาณ  ๑๖  หมู่บ้าน  ชื่อหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านจะเรียกเป็นภาษามอญว่า “ กวาน ” เช่นกวานเว่ขะราว  กวานจางบี (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมทรัพยากรธรณี)  กวานเต่อ  กวานดาง  กวานเกริงกาง  กวานฮะเริ่น  กวานตา  กวานฮะโต่นเจิญ  กวานเชียงใหม่  กวานโรงเกลิ่ง  กวานทรงคนอง  กวานอะมาง (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา)  กวานแซ่ร์  กวานทะมัง  กวานตองอุ๊   กวานเดิงฮะโมกข์  และยังมีหมู่บ้านเล็ก ๆ  ที่แฝงอยู่ในหมู่บ้านอื่นอีกหลายแห่ง  ชาวบ้านทั้ง  ๑๖  หมู่บ้าน ประกอบอาชีพการทำนาเป็นส่วนใหญ่  การทำนาในสมัยนั้นจะไปทำตามอำเภอต่าง ๆ  เช่น อำเภอพระประแดง  อำเภอบางพลี   อำเภอบางบ่อ  อำเภอเมืองในจังหวัดสมุทรปราการ  เขตมีนบุรี  เขตลาดกระบัง  เขตหนองจอก  กรุงเทพมหานคร  เมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว  ทุกครัวเรือนจะกลับมาอยู่ที่ เมืองนครเขื่อนขันธ์  หรือพระประแดง หรือที่ชาวบ้านเรียนตัวเองว่า “ ชาวปากลัด ” ประมาณเดือนมีนาคม – เมษายน  ทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์

ก่อนถึงวันสงกรานต์ประมาณ  ๑๐  วัน  ทุกหมู่บ้านจะเริ่มกวนขนมกะละแม มอญเรียกว่า “กวานฮะกอ” กันทุกครัวเรือน เพื่อเตรียมไว้ทำบุญในวันสงกรานต์ และแจกญาติพี่น้อง  เมื่อถึงวันสงกรานต์ทุกหมู่บ้านจะหุงข้าวแช่เพื่อนำไปถวายพระตามวัดมอญต่าง ๆ เราจะได้เห็นสาว ๆ แต่งตัวแบบมอญที่สวยงามเดินถือถาดใส่ข้าวแช่หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ส่งข้าวสงกรานต์” ซึ่งเป็นภาพที่บ่งบอกถึงความเคร่งครัดในพระพุทธศาสนาของชาวมอญ

พอตกเย็นหนุ่มเล็ก หนุ่มใหญ่  ก็จะมารวมตัวกันตามลานบ้านที่มีลานขนาดกว้างไม่ต่ำ  ๓ - ๔  วา.( ๖ – ๘ เมตร ) ความยาวไม่ต่ำ  ๑๕ วา.( ๓๐ เมตร ) เพื่อมาเล่นสะบ้าทอยกัน มอญเรียกว่า “ว่านฮะเหน่ะทอย” การเล่นสะบ้าทอยนั้นนิยมเล่นกันในกลุ่มชายฉกรรจ์ ที่มีพละกำลังร่างกายแข็งแรง  เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ผู้เล่นสนุกสนาน ผู้ดูก็สนุกสนานไปด้วย ถือเป็นการออกกำลังกาย  พักผ่อนหลังจากสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว  และยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนมอญในแต่ละหมู่บ้านอีกด้วย  และไม่นิยมเล่นเป็นเกมส์การพนัน  จะมีก็เพียงสุรา  กับแกล้ม เล็ก ๆ น้อย ได้เสียก็กินด้วยกันในหมู่คณะเท่านั้น

การเล่นสะบ้าทอยในอดีตจะเล่นกันตามหมู่บ้านที่มีสถานที่กว้างขวาง  ในปัจจุบันมีเล่นที่วัดทรงธรรมวรวิหารเพียงแห่งเดียวในช่วงเทศกาลสงกรานต์   การเล่นสะบ้าทอยนั้นผู้เล่นจะต้องแต่งกายด้วยชุดลอยชายหลากสีแบบมอญ ๆ ทำให้บรรยากาศไม่เหมือนกีฬาประเภทอื่น   ส่วนการเล่นสะบ้าทอยที่ปากลัดหรือนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดงนั้น ต่อไปนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่า “ปากลัด” แทนคำว่าพระประแดงหรือนครเขื่อนขันธ์


การทำบ่อนสะบ้าทอย   ก่อนเล่นสะบ้าทอยจะต้องจัดหาสถานที่หรือบ่อนที่มีขนาดใหญ่พอทำบ่อนสะบ้าได้  โดยใช้ไม้กระดานกั้นเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า  กันลูกสะบ้าลื่นไถลออกนอกสนามหรือบ่อน  มีความกว้าง  ๔  วา.( ๘ เมตร ) ความยาว  ๑๕  วา.( ๓๐ เมตร ) หรือมากกว่านั้นตามความเหมาะสมของสถานที่   ส่วนพื้นบ่อนหรือสนามนั้นจะต้องเป็นดินผสมทรายอัดแน่น เรียบ    เพื่อให้ลูกสะบ้าลื่นไถลไกลตามแรงโยนหรือทอย  การทำสนามแข่งขันสะบ้าทอยนั้นจะแบ่งสนามเป็น  ๓  ช่วงในบ่อนเดียวกัน คือระยะ  ๑๐  วา.(๒๐ เมตร)  ๑๒  วา.(๒๔ เมตร) และ  ๑๕  วา.(๓๐ เมตร) เพื่อแบ่งรุ่นการแข่งขันได้สะดวก  เช่น  รุ่นเล็ก  แข่งขันในระยะ  ๑๐  วา. (ประเภทมือใหม่)  รุ่นกลาง  แข่งขันในระยะ  ๑๒  วา. (ประเภทเคยแข่งขันรุ่นเล็กมาแล้ว)  และประเภทรุ่นใหญ่  แข่งขันในระยะ  ๑๕  วา. (รุ่นนี้เคยผ่านการแข่งขันมาหลายครั้งแล้ว)  สำหรับลูกสะบ้าที่ใช้สำหรับทอยจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งและแกร่ง จะทำให้ไม่หักหรือแตกง่ายเมื่อกระทบกับพื้นขณะที่ทำการทอย ลูกสะบ้าทอยมีลักษณะกลมแบนลบเหลี่ยมหนึ่งด้านจำนวน  ๖  ลูก.  มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  ๑๒  ซม.  หนาประมาณ  ๒  ซม.  น้ำหนักประมาณ  ๒๕๐ -  ๓๐๐  กรัม. ส่วนลูกสะบ้าที่ใช้ตั้งทำด้วยไม้เนื้อแข็งลักษณะกลมแบบไม่ลบเหลี่ยมจำนวน  ๑๐  ลูก.  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ   ๖  ซม. หนาประมาณ  ๑.๕  ซม.


การแข่งขันสะบ้าทอยนั้นจะลงแข่งขันกันเพียงทีมละ  ๑  คนเท่านั้น โดยการจับฉลากว่าใครจะอยู่ด้านเหนือลมหรือใต้ลม  หนุ่ม ๆ ที่ลงเล่นสะบ้าทอยแต่ละครั้งจะต้องแต่งกายด้วยเสื้อลายดอกหลากสี และที่สำคัญต้องนุ่งผ้าลอยชาย  ซึ่งเป็นกีฬาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่ไม่เหมือนใครและก็ไม่มีใครเหมือนเช่น กัน   เมื่อลงสู่สนามแข่งขันแล้วคณะกรรมการจะแนะนำตัวแต่ละฝ่ายให้ผู้ชมได้ทราบ และผู้แข่งขันแต่ละฝ่ายจะต้องตั้งลูกสะบ้าของตนให้เรียบร้อย  คือแถวกลางตั้งแบบแถวเรียงหนึ่ง  จำนวน.  ๓  ลูก. ห่างกันประมาณ  ๕๐  เซ็นติเมตร.  ๓  ลูกนี้เรียกว่า  หัว – ตัว – หาง  ส่วนอีก  ๒  ลูกที่เหลือจะต้องตั้งไปทางซ้ายและขวาของแถวกลางด้านละ  ๑  ลูก.ให้ตรงกับลูกที่  ๒  ของแถวกลาง ห่างจากแถวกลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร  ๒  ลูกนี้เรียกว่า ปีกขวาและปีกซ้าย  ถ้ามองดูแล้วจะเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนนั่นเอง  เมื่อตั้งลูกสะบ้าเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายที่เลือกทางลมก่อนหรือเลือกทอยสะบ้าก่อน ก็จะเอาลูกสะบ้าทั้ง ๖  ลูก ทอยไปยังฝั่งตรงข้ามครั้งละหนึ่งลูกจนครบ  ๖  ลูก ให้ถูกลูกสะบ้าของฝ่ายตรงข้ามที่ตั้งไว้จนล้มหมดทั้ง  ๕  ลูก  แต่ถ้าทอยลูกสะบ้าไปถูกลูกสะบ้าฝ่ายตรงข้ามล้มหมดก่อนก็ไม่ต้องทอยอีก  และให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้ทอยลูกสะบ้ามายังอีกฝ่ายเช่นกันจนครบลูกสะบ้าทอย ทั้ง  ๖  ลูก  แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังทอยลูกสะบ้าที่ตั้งไว้ทั้ง  ๕  ลูกล้มไม่หมด ยังมีโอกาสทอยสะบ้าได้อีกครั้งหนึ่งจำนวน  ๖  ลูกเช่นกัน  รวมแล้วคนหนึ่งมีสิทธิ์ทอยสะบ้า  ๑๒  ลูก  เสร็จแล้วให้มีการสลับข้างกันและมีการตั้งลูกสะบ้าทั้ง  ๕  ลูกใหม่ทั้ง  ๒  ฝ่าย  และทอยลูกสะบ้าเหมือนครั้งแรกจนครบฝ่ายละ  ๑๒  ลูกเช่นเดียวกัน  รวมแล้วแต่ละฝ่ายมีโอกาสได้ทอยถึง  ๒๔  ลูก การทอยสะบ้าและการให้คะแนน การแข่งขันสะบ้าทอยนั้น จะกำหนดไว้เป็น  ๓  รุ่น ผู้ใดมีความสามารถรุ่นใดก็จะเข้าแข่งขันในรุ่นนั้นดังกล่าวแล้ว เดิมการแข่งขันจะไม่มีการนับคะแนน จะ ทอยกันไปจนกว่าฝ่ายใดจะทอยลูกสะบ้าของฝ่ายตรงข้ามล้มหมดก่อนก็ถือว่าชนะ มาระยะหลังเนื่องจากอาชีพการงานและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป จึงทำให้การแข่งขันสะบ้าทอยและกติกาเปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างไรก็ตามการเล่นสะบ้าทอยส่วนมากจะนิยมเล่นในหมู่ผู้ชาย เพราะท่าทางที่เล่นและความแข็งแกร่งในการเล่น ไม่เหมาะสมกับกิริยาของผู้หญิง ส่วนคะแนนลูกสะบ้าแถวกลางทั้ง  ๓  ลูก ถ้าฝ่ายใดทอยถูกสะบ้าที่ตั้งไว้ในแถวกลางจะเป็นลูกหัว ลูกกลาง  หรือลูกท้าย(หัว – ตัว – หาง) ก็จะได้ลูกละ  ๑  คะแนน   แต่ถ้าทอยถูกลูกทางซ้ายหรือทางขวา(ปีกซ้าย – ปีกขวา) ก็จะได้ลูกละ  ๒  คะแนน  รวมแล้วเป็น  ๗  คะแนน  ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ

ในระหว่างการแข่งขันนั้นบรรยากาศจะเต็มไปด้วยสีสรรค์ของการแต่งตัวแบบมอญ ๆ  เสียงเชียร์หยอกล้อของแต่ละฝ่ายด้วยคำศัพท์ว่า เด็ดหัว  เด็ดตัว  เด็ดหาง  เด็ดปีกขวา  เด็ดปีกซ้าย    ส่วนผู้ชมนั้นก็ได้รับความสนุกสนานติดตามเกมส์ว่าจะออกมาในรูปใด และเต็มไปด้วยความตื่นเต้นหวาดเสียวในการทอยลูกสะบ้าแต่ละครั้งว่าลูกสะบ้า จะหลงทิศทางมาถูกตัวเองหรือเปล่า  ได้รับความ  สนุกสนาน   ทั้งผู้เล่น ผู้ชม และเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะของคนมอญแต่ละกวานอีกด้วย

ดังนั้นประเพณีการเล่นสะบ้าทอย(ว่านฮะเหน่ะทอย) ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนกลายเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายมอญ การเล่นสะบ้าทอยนอกจากจะเป็นการออกกำลัง ได้แสดงพละกำลัง ความแม่นยำในการแข่งขันและเชื่อมความสามัคคีแล้ว  ยังเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างชาวมอญในท้องถิ่นอื่น ๆ อีกด้วย  การเล่นสะบ้าทอยนี้จะหาชมได้ในบริเวณวัดทรงธรรมวรวิหาร  ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปากลัดทุก ๆ ปี.