ชนเผ่าเมี่ยน (เย้า - ประวัติ ความเป็นมา

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
16/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าเมี่ยน : ประวัติความเป็นมา


เมี่ยน [เย้า] ได้รับการจัดให้อยู่ในเชื้อชาติ มองโกลอยด์ คืออยู่ในตระกูลจีนธิเบต ได้ปรากฏครั้งแรกในเอกสารบันทึกของจีน สมัยราชวงศ์ถัง โดยปรากฏในชื่อ ม่อ เย้า มีความหมายว่าไม่อยู่ใต้อำนาจของผู้ใด เล่ากันว่า เมื่อประมาณ 2000 กว่าปีมาแล้วบรรพชน ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ราบรอบทะเลสาปตงถิง แถบแม่น้ำแยงซี ยอมอ่อนน้อมให้ชนชาติผู้ปกครองรัฐ และไม่ยินยอมอยู่ภายใต้การบังคับกดขี่ของรัฐ จึงได้ทำการอพยพเข้าไปในป่าลึกบนภูเขาสูง ได้ตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านด้วยมือของเขาเอง เพื่อปกป้องเสรีภาพจึงถูกขนานนามว่า ม่อ เย้า ซึ่ง เหยา ซี เหลียน ได้บันทึกไว้ในเหลียงซูต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่ง คำเรียกนี้ี้ถูกยกเลิกไปเหลือแต่คำว่า "เย้า" เท่านั้น

ต่อมาคำว่าเย้าเคยปรากฏในเอกสารจีน เมื่อประมาณศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช ซึ่งมีความหมายว่าป่าเถื่อน หรือคนป่ากล่าวกันว่าในประเทศจีนชนชาติเย้ามีคำเรียกขานชื่อของตนเองแตกต่างกันถึง 28 ชื่อ แต่คนเย้าในประเทศไทย เรียกตัวเองว่า เมี่ยน หรือ อิ้วเมี่ยน ซึ่งมีความหมายว่า มนุษย์ หรือ คนเหยา ซุ่น อัน กล่าวว่าชาวเย้าในประเทศจีนแยกออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ เผ่าเปี้ยน เผ่าปูนู เผ่าฉาซัน และเผ่าผิงตี้ ชาวเย้าเผ่าเปี้ยนมีประชากรมากที่สุดและเป็นกลุ่มที่ย้ายถิ่นฐานตลอดเวลาเป็นระยะทางที่ไกลที่สุด และกระจายกันอยู่ในอาณาบริเวณที่กว้างขวางที่สุดด้วย ภาษาเย้าในปัจจุบัน ผ่านการพัฒนากลายเป็นภาษาถิ่นย่อย 3 ภาษา คือ ภาษาเมี่ยน ภาษาปูนู และภาษาลักจา

มีนิทานที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาของชาวเมี่ยนว่า ในสมัยก่อนตาอง [โล่งช้วน] ตากู๋ [กู๋ฟาม] เป็นเทพ อยู่บนสวรรค์ มีความคิดที่จะสร้างเผ่าเมี่ยนขึ้นมา ดังนั้นตาอง และตากู๋จึงได้ปรึกษาหารือกันอยู่บนสวรรค์ว่า จะให้ตากู๋ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ โดยให้ลงมาเกิดเป็นลูกสาวคนที่สามของพระราชา ส่วนตาองจะลงมาเกิดในร่าง ของสุนัขมังกร เพราะมนุษย์ถือว่าสุนัขนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ตํ่าต้อยที่สุด มักมีคนดูถูกตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อถึงเวลา ทั้งคู่จึงลงมาเกิดโดยวางแผนกันไว้ว่า อนาคตต้องทำการปกป้องคุ้มครองเผ่าเมี่ยน ตากู๋ลงมาเกิดเป็นลูกสาว พระราชามีชื่อว่า แป้งฮู่ง ซึ่งมีสิริโฉมงดงาม และฉลาดกว่าคนอื่น และได้ทำสัญลักษณ์ว่ามีไฝหนึ่งเม็ดที่ขาของตากู๋

ขณะนั้นในโลกมนุษย์มีเมืองอยู่ 2 เมือง เป็นของฝ่ายแป้งฮู่ง และกู๋ฮู่งได้ตกลงทำสงคราม มีคืนหนึ่งทั้งแป้งฮู่ง และกู๋ฮู่งต่างก็ได้ฝันว่าจะมีคนมาช่วยทำศึกให้นับจากนี้ 10 วัน ซึ่งขณะนั้นฝ่ายของแป้งฮู่ง ยังไม่พร้อมที่จะทำการสู้รบ จึงได้เรียกเหล่าขุนนางมาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี และในที่สุดก็สรุปว่าถ้าภายใน 1 เดือน ใครที่สามารถตัดหัวของกู๋ฮู่งแล้วนำมาให้ตนได้ ตนจะยกลูกสาวคนที่สามให้ผู้นั้นเป็นรางวัล โดยให้เป็นลูกเขย และจะยกแผ่นดิน และข้าทาสบริวารให้ปกครองครึ่งหนึ่ง เมื่อประกาศออกไปแล้ว ประชาชนในเมืองของแป้งฮู่งไม่มีใครกล้าอาสาออกไปสู้รบกับกู๋ฮู่ง ที่ท้ายเมืองมีครอบครัวหนึ่งตั้งบ้านอยู่ที่ปากทางนอกเมือง

วันหนึ่งได้มีสุนัขมังกร 5 สีตัวหนึ่งชื่อว่า ผันหู เข้ามาหา หญิงม่ายคนหนึ่งเห็นเข้าจึงได้พูดขึ้นว่า ตั้งแต่เกิดมาในโลกนี้ยังไม่เคยเห็นสุนัขมังกรตัวไหนที่ มีลักษณะสง่างาม และฉลาดเช่นนี้มาก่อน เราจะเอาสุนัขมังกรตัวนี้ไปถวายให้้กับพระราชาเป็นการสร้างบุญกุศลดีกว่า ดังนั้นจึงไปบอกพระราชา เมื่อพระราชาทราบจึงส่งคนรับกลับไปเลี้ยงไว้ เมื่อพระราชาได้เห็นก็รู้สึกดีใจ และได้สังเกตเห็นจุดต่าง ๆ บนร่างกายที่มีทั้งหมด 120 จุด และแต่ละจุดก็มีความสวยงามมาก และที่สำคัญคือ รู้ภาษาด้วย

วันหนึ่งพระราชาได้เปิดประชุม กับเหล่าขุนนาง และผันหูก็เข้าไปร่วมด้วย เมื่อฟังแล้วก็ไม่เห็นมีใครขันอาสาจะไปฆ่ากู๋ฮู่งได้ ผันหู จึงกล่าวขึ้นว่า ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องสิ้นเปลืองเสบียงอาหาร และใช้ทหารทั้งกองทัพ ให้ข้าไปจัดการคนเดียว เพราะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตํ่าต้อย คงไม่มีใครสงสัย และเฉลียวใจ ฝ่ายแป้งฮู่งก็เห็นด้วย เมื่อถึงเวลาออกเดินทาง เรื่องเดือดร้อนไปถึงบนสวรรค์์เบื้องบนต้องส่งยาวิเศษมาให้ผันหู 1 เม็ด เมื่อกินแล้วสามารถ ทนความหิวและอยู่ในทะเลได้ 7 วัน 7 คืน เมื่อว่ายนํ้าไปถึงฝั่งของกู๋ฮู่ง กู๋ฮู่งเห็นเข้า ก็นึกดีใจแล้วคิดว่าคงจะเป็นสุนัขมังกรที่จะมาช่วยตน

เมื่อพูดถึงกู๋ฮู่ง กู๋ฮู่งเป็นกษัตรย์ที่ชอบเข่นฆ่าคน ชอบทำสงคราม ชอบเอารัดเอาเปรียบประชาชน กู๋ฮู่งเมื่อเห็นผันหูพลางนึกในใจว่า คราวนี้เมื่อมีีสุนัขมังกรก็เห็นว่ามีความสามารถมากมาย อีกทั้งฉลาดด้วย จึงรักราวกับสมบัติอันมีค่า ไม่ว่าจะไปที่แห่งใดจะพาผันหูไปด้วยเสมอเหมือนเงาตามตัว เมื่อมีผันหูคุ้มครองคราวนี้ กู๋ฮู่งก็ไม่ต้องการทหารอารักษ์ขาอีกแล้ว จึงปล่อยปละละเลยราชกิจบ้านเมือง ไม่สนใจพออยู่กันไปผันหู

เมื่อได้โอกาสเหมาะจึงกระโดดกัดคอกู๋ฮู่งขาด และคาบไว้้ข้ามทะเลกลับ เมื่อถึงเมืองแป้งฮู่งเห็นก็ดีใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ตนไม่ต้องไปรบ แต่กลับได้ชัยชนะ จึงเกิดการจัดงานเลี้ยงใหญ่โต แป้งฮู่งเคยพูดว่าถ้าใครสามารถเอาหัวกู๋ฮู่งมาได้จะยกลูกสาวคนที่สามให้ และเมืองอีกครึ่งหนึ่งแป้งฮู่ง กล่าวแล้วย่อมไม่คืนคำ แต่สงสารลูกสาวที่ต้องแต่งงานกับสุนัขมังกร กลัวโดนนินทา และลูกสาวจะต้องอาย ไม่กล้าสู้หน้าคน ดังนั้นจึงได้ทำผ้าคลุมหน้าเจ้าสาวไว้ แล้วเกณฑ์สาว ๆ ในเมืองที่มีรูปร่าง หน้าตาที่คล้ายลูกสาว ตนแล้วแต่งตัวคล้ายกันหมด ประมาณ 10 คนให้ทั้งหมดมานั่งอยู่ข้างนอก และให้ข้าทาสบริวารทุกคนออกมาชี้ว่า
คนไหนเป็นลูกสาวของตน แต่ไม่มีใครสามารถชี้ตัวได้ถูกต้อง ดังนั้นจึงเรียกผันหูมาชี้ตัว ผันหูจึงได้ใช้จมูกดมไปตามเท้าของแต่ละคนไปเรื่อย ๆ เพื่อจะหาสัญลักษณ์ที่ได้ บอกกับตากู๋ไว้ ดูไปเรื่อย ๆ จนเจอไฝหนึ่งเม็ดที่หน้าแข้ง จึงได้ใช้ปากงับชายเสื้อของลูกสาวแป้งฮู่งไว้แล้วดึง 2-3 ครั้ง

เมื่อแป้งฮู่งเห็นดังนั้น จึงรู้ว่าไม่สามารถหลบหลีกได้ และคิดในใจว่าสุนัขตัวนี้คงไม่ธรรมดาแน่ จึงจัดงานแต่งให้ 3 วัน 3 คืน แป้งฮู่งสงสารลูกสาวตัวเอง จึงได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาเรียกว่า เกีย เซ็น ป๊อง [หนังสือเดินทาง] และแบ่งข้าทาสบริวารคอยติดตามรับใช้ และสามารถทำมาหากินได้บนผืนแผ่นดินได้โดยไม่่ผิดกฏหมาย และได้แต่งตั้งลูกเขยของตนเป็น พ่าน ต๋าย โหว ซึ่ง เป็นแซ่แรกของเผ่าเมี่ยน คือ แซ่่พ่าน และได้บอกว่าถ้าหากมีบุตรต้องพามาให้แป้งฮู่งตั้งชื่อให้

เมื่อได้อําลาแป้งฮู่งแล้วก็นำบริวารทั้งหมดเข้าไปในป่า ซึ่งไม่มีบ้านเมืองต้องทำการโค่น ล้ม แผ้ว ถางป่า เพื่อสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ กระทั่งภรรยาได้คลอดบุตรออกมา เป็นชาย 6 คน หญิง 6 คน ลูกชายได้แต่งภรรยาเข้าบ้าน และลูกหญิงทั้งหมดก็ให้แต่งสามีีเข้าบ้านเพื่อช่วยกันสืบเชื้อสาย ดังนั้นจึง เป็นที่มาของ ทั้ง12 แซ่ แซ่จากหนังสือ เกีย เซ็น ป๊อง

1. โล่ห์เปี้ยน [แซ่พ่าน]
2. เหล์เซี้ยม [แซ่เชิ้น]
3. โล่ห์ตั่ง [แซ่ตั้ง]
4. โล่ห์เจ๋ว [แซ่จ๋าว]
5. โล่ห์แจ๋ง [แซ่เจิ้น]
6. โล่ห์ย่าง [แซ่ว่าง]
7. โล่ห์ฟูง [แซ่ฟุ้ง]
8. โล่ห์เจียว [แซ่เจียว]
9. โล่ห์ต้อง [แซ่ถาง]
10. โล่ห์รวย [แซ่รวย]
11. โล่ห์เจียง [แซ่จาง]
12. โล่ห์เหลย [แซ่ลี]

สำหรับความหมาย ของแต่ละแซ่นั้นเป็นบัญญัติเฉพาะ ไม่มีคำแปล แต่ในประเทศไทยขณะนี้ มีการสำรวจพบ 12 แซ่ บางแซ่ไม่ได้ปรากฏในเกีย เซ็น ป๊อง ดังนี้

1. โล่ห์เปี้ยน [แซ่พ่าน]
2. โล่ห์เหลย [แซ่ลี]
3. โล่ห์ตั่ง [แซ่เติ้น]
4. โล่ห์เจ๋ว [แซ่จ๋าว]
5. โล่ห์ล่อ [แซ่ล่อ]
6. โล่ห์ย่าง [แซ่ว่าง]
7. โล่ห์ปู๋ง [แซ่ฟุ้ง]
8. โล่ห์จั้น [แซ่ชิ่น]
9. โล่ห์เลี่ยว [แซ่เลี่ยว]
10. โล่ห์สว้าง
11. โล่ห์ตั๋ว [แซ่ตั๊ว]
12. โล่ห์ท่าว [แซ่ท่าว]

วันหนึ่งผันหูนึกอยากกินเนื้อเลียงผา แต่ลูกหลานไปไร่กันหมด ผันหูจึงได้ออกมายังหน้าผา เพื่อไล่เลียงผา พอเลียงผาเห็นเข้าก็ตกใจวิ่งชนถูกผันหู ทำให้ผันหูตกลงไปในเหวแล้วก็ติดอยู่บนต้นตะจู้ง [ต้นซ้อ] ที่หน้าผาจนเสียชีวิต พอลูกหลานกลับมารู้ จึงได้ไปบอกแป้งฮู่ง แป้งฮู่งจึงได้มาดูเห็นผันหูตายแล้ว แต่ร่างกายไม่ถึงพื้นดินคาอยู่บนต้นตะจู้งข้างล่าง มีกอไผ่่หนึ่งกอรองรับไว้ แป้งฮู่งจึงบอกว่าถ้าสถานที่ตายเป็นอย่างนั้น ก็ให้เอาไม้ไผ่นั้นมาทำเป็นขลุ่ยต้นตะจู้ง ให้ตัดลงมาทำโล่งศพ

และถ้าหากวิญญาณของผันหูมีจริง คืนนีขอให้ลมพายุช่วยพัดต้นตะจู้ง ลงมาเพื่อให้ลูกหลานได้้นำร่างของผันหูกลับคืนนั้น และก็เกิดจริง ตอนที่ตกลงมานั้น มือข้างหนึ่งไปเกาะไม้ไผ่ต้นหนึ่งไว้ และอีกข้างหนึ่งก็ไปยันอีกต้นหนึ่งไว้ รุ่งเช้าแป้งฮู่งจึงพูดขึ้นว่าควรตัดไม้ไผ่นั้นมาทำเป็นจ๋าว [ไม้เสี่ยงทายใช้ในการประกอบพิธีกรรม] และให้เอาหนังเลียงผามาขึงทำเป็นกลอง เพื่อมาเคาะตีในงานพิธีงานศพให้กับผันหู

การเดินทางจากจีนสู่ประเทศไทย ชาวเมี่ยนเผ่าเดิมมี 12 สกุล เส้นทางการอพยพของสกุลใหญ่ ๆ จะรู้เส้นทางชาวเย้าเผ่าเมี่ยนทั้งหมด ในหนังสือทางลงจากภูเขาของบรรพชน 12 สกุลที่ตำบลจงเหอเซียง อำเภอปกครองตนเอง ชนชาติเย้าเจียงหัว มณฑลฮูหนาน ถิ่นเดิมของชนชาติเย้าอยู่ที่นานไห่ผู เฉียวโถว จากตำนานชาวเย้าบางเผ่าที่อาศัยอยู่ตอนใต้ของทะเลสาปต้งถิงหู ก็มีเล่าว่าบรรพชนของพวกเขาย้ายมาจาก ผู เฉียว โกว แถบฝั่งเหนือของทะเลสาปต้งถิงหู จึงสันนิษฐานได้ว่า หนานไห่น่า จะหมายถึง ทะเลสาปต้ง ถึงชาวเย้า 12 สกุลคงจะข้ามทะเลสาปอพยพมาสู่ภาคใต้ ราวศตวรรตที่ 15-16 ชาวเย้าเผ่าเปี้ยน อพยพเข้ามาสู่ภาคเหนือของเวียตนามผ่านประเทศลาว และอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยในราว 100 ปีมานี้เอง