ตามหา"เรือนเครื่องผูก" ภูมิปัญญาที่เลือนหาย

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
10/03/2009
ที่มา: 
http://www.monstudies.com

ตามหา"เรือนเครื่องผูก" ภูมิปัญญาที่เลือนหาย
ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์


 เรือนเครื่องผูกริมทาง

ไปเที่ยวใกล้ๆกรุงเทพฯ สมุทรสาครจังหวัดเล็กๆ ริมแม่น้ำท่าจีน เป็นเมืองเล็กๆ ที่เศรษฐกิจดูรุ่งเรือง บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อย งานก่อสร้างอาคารในศาสนสถานหรือวัดใหญ่โตงดงามเมืองเล็กๆ แม้จะดูสับสนบนถนนเข้าเมืองสู่ศูนย์กลาง แต่เมื่อพ้นจากกลางเมืองออกไป ชุมชนโดยรอบก็สงบเงียบเหมือนกับเมืองอื่นๆ ทั่วๆ ไปในประเทศ ผู้คน ชาวเมือง ชาวบ้านผู้มีอัธยาศัย พูดคุยกับคนต่างถิ่นด้วยมิตรไมตรี มีเสน่ห์

ประวัติของเมืองนี้มีผู้เขียนอื่นๆ บอกเล่าเชิญชวนไปท่องเที่ยวมามากมายแล้ว ครั้งนี้จึงขอเน้นผลงานก่อสร้างวัดวาอาราม ตามสายตา "ช่าง"

งานก่อสร้างวัดวาอารามในเมืองนี้ค่อนข้างใหญ่โต ที่น่าจะตื่นเต้นถึงความใหญ่โต เห็นจะเป็นวิหารวัดป้อมวิเชียรโชติการาม ที่จำลองขยายรูปทรงมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รูปแบบและรูปทรงที่น่าทึ่งใหญ่โตทีเดียว บอกไปถึงศรัทธาทางศาสนาของชาวสมุทรสาครว่ามั่นคงยิ่งใหญ่เพียงใด

โชคดีที่วันนี้คติ สัญลักษณ์ ฐานานุรูป ฐานานุศักดิ์ ทางสถาปัตยกรรมเลือนไปมากจึงทำกันได้ ถ้าเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเก่า เห็นทีคงจะมีปัญหากันแน่

นอกจากความใหญ่โตของอาคารในวัดป้อมวิเชียรโชติการามแล้ว ยังมีวัดที่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่อีกหลายวัด แต่ให้ดูเปรียบเทียบอีกวัดก็คือ วัดตึกมหาชยาราม วัดนี้มีงานก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยกว่าวัดป้อม วิเชียรโชติการาม แล้วยังมีงานทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ 2 หลังด้วยกัน คือ

โบสถ์ไม้สัก ที่ทางวัดได้อนุรักษ์รูปทรงและรูปแบบไว้ค่อนข้างดี ถึงแม้จะทาสีรักษาเนื้อไม้เสียจนดูแปลกออกไป ดูแลได้ดีพอสมควร หน้าบันพระอุโบสถ ไม้แกะรูปครุฑยุดนาคที่สวยงามชั้นหนึ่ง บานประตูไม้แกะฝีมือดี


ที่น่าสนใจอีกหลังก็คือ พิพิธภัณฑ์วัดตึกมหาชยาราม เป็นอาคารทรงตึกปนไม้สูง 3 ชั้น สร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ทางวัดอนุรักษ์ดูแลไว้เป็นอย่างดี รูปทรงอาคารก็ดูกลมกลืนงดงาม ซึ่งตัวอาคารเดิมน่าจะเป็นหอฉันเพราะอยู่กลางหมู่กุฏิพระที่วางผังไว้ดีที เดียว


เรือนเครื่องผูกที่สมุทรสาคร

กลุ่มอาคารกลุ่มนี้จะอยู่ค่อนไปทางแม่น้ำ จะดูก็เดินลึกเข้าไป ที่น่าสงสารเห็นจะเป็นศาลาหน้าวัดชื่อศาลากรรณสูต ที่กลายเป็นที่จอดรถไป

วัดที่น่าสนใจอีกวัดก็คือ วัดโกรกกราก ที่น่าสนใจมากก็คือ โบสถ์ไม้สักที่ทางวัดอนุรักษ์ดูแลไว้เป็นอย่างดีทั้งรูปทรงและลายไม้ ฝาผนังที่เป็นฝาปะกนที่ยังชัดเจน

ตัววัดแบ่งเป็น 2 ส่วน มีถนนคั่นกลาง ดังนั้นพระอุโบสถจึงแยกออกจากตัววัด เป็นเขตสังฆาวาส แต่ก็มีชาวบ้านอาศัยศาลาริมน้ำหน้าวัดเป็นที่พักผ่อน ที่สงบร่มเย็น

ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นพร้อมประวัติให้อ่านรู้เรื่องราวของวัด ที่เป็นวัดของชุมชนจริงๆ บานประตูหน้าต่างเข้าใจว่าคงซ่อมแซมเพิ่มเติมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แกะสลักภาพทศชาติ พระอุโบสถเปิดตลอดเวลาให้คนเข้าไปไหว้พระได้

เรื่องที่น่าสนใจต่อมาคือ "เรือนเครื่องผูก" หรือบ้านประจำถิ่นที่ก่อสร้างด้วยวัสดุพื้นถิ่น ฝีมือช่างพื้นถิ่นสำหรับชาวบ้านทั่วไป อยู่ลี้ลับนอกเส้นทางท่องเที่ยว

แม้ประสงค์จะไปเที่ยวดู ก็คงไม่ได้มีโอกาสที่จะสังเกตเห็นได้ง่าย เพราะอยู่กระจัดกระจายตามชายขอบที่ดินที่การพัฒนาอย่างในปัจจุบันจะเข้าไป ถึง

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบบ้านพักอาศัยในท้องถิ่นที่กำลังเปลี่ยนและกำลังเลือนหายไปจากประเทศไทย

เรือนเครื่องผูกคือบ้านของคนไทยที่ปลูกสร้างกันในพื้นถิ่นทั่วไปในประเทศ แตกต่างกันไปตามวัสดุที่ใช้

ข้อมูลจากหนังสือ "เรือนเครื่องผูก" โดยรศ.เสนอ นิลเดช ระบุว่า เรือนเครื่องผูก คือ ลักษณะของเรือนไทยรูปแบบหนึ่ง เป็นเรือนหลังคาจากที่ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่ สอดรัดด้วยเส้นหวายเพื่อผูกมัดให้ส่วนต่างๆ กอปรกันขึ้นเป็นรูปทรงที่อยู่อาศัยอย่างง่ายๆ แสดงถึงความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ และนำธรรมชาติมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว ดังเช่นเรือนไทยที่เคยเจนตาเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน สิ่งปลูกสร้างที่มีฝาเป็นแบบขัดแตะ พื้นเรือนทำจากฟาก ใช้หวายและตอกผูกมัด เรือนไทยในรูปแบบนี้จึงได้ชื่อว่า เรือนเครื่องผูก

ส่วนต่างๆ ของตัวเรือนจากจุดเล็กๆ ที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญ แต่ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ไปก็ไม่สามารถเป็นเรือนที่สมบูรณ์ได้ ส่วนประกอบของเรือนชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นอกไก่ กบทู ไม้เสียบหนู หรือไม้ข้างควาย ล้วนกลายเป็นเรื่องยากในการทำความเข้าใจของคนรุ่นต่อมาถึงหน้าที่และความ สำคัญของส่วนต่างๆ เหล่านี้ ที่แม้จะดูเป็นเรือนแบบง่ายๆ แต่ก็มีโครงสร้างของเรือนที่มีความละเอียดลออ มีองค์ประกอบในแต่ละส่วนที่สัมพันธ์กัน ซึ่งมีหน้าที่และความหมายในตัวเอง

เรือนไม้เหล่านี้ ค่อยๆ จางหายไปจากสังคมไทยทีละเล็กละน้อย แม้ยังสามารถพบเห็นเรือนเหล่านี้ได้ตามชนบทแต่ก็นับวันจะมีให้เห็นน้อยลง เราไม่ได้หวังให้คนไทยกลับมาอยู่บ้านเรือนไม้ใต้ถุนสูงอย่างในอดีต หากเพียงแต่ไม่ลืมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและนำมาปรับใช้ในวิถีชีวิตแบบคนไทย รุ่นใหม่ได้อย่างกลมกลืนนั้น ก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถดำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมไว้ให้แก่คน รุ่นต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

ความเรียบง่ายและใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นของเรือนเครื่องผูก ทำให้คนไทยทั้งปวงมีบ้านพักอาศัยเป็นส่วนตัวโดยทั่วไป และโดยเฉพาะคนไทยที่มีฐานะยากจนที่เมื่อถูกกำหนดแบ่งเป็นชนชั้นตามระดับ เศรษฐกิจก็คือ ผู้มีรายได้น้อยทั้งปวง

เรือนเครื่องผูกเริ่มเลือนหายไป เพราะการพัฒนาเปลี่ยนแปลงชุมชนทำให้วัสดุพื้นถิ่นที่เป็นวัสดุก่อสร้างเรือน เครื่องผูกหายไป เช่น ต้นไผ่ ต้นจาก ต้นกก หวาย ไม้พุ่มชนิดไม้เนื้อแข็ง ขนาดเล็กๆ หลายประเภทสูญหายไปจากท้องถิ่นสิ่งเหล่านี้เป็นวัสดุพื้นฐานส่วนใหญ่ที่ใช้ สร้างเรือนเครื่องผูก อีกประการก็คือ ตัวช่างพื้นถิ่นที่มีภูมิปัญญาที่ผ่านประสบการณ์ของการผูกเรือนเครื่องผูก ที่ล้มหายตายจาก ไม่มีงานปลูกสร้างเรือนเครื่องผูกที่สานต่อความรู้ความเข้าใจวิธีการผูก เรือนให้กับคนรุ่นหลัง

เรื่องที่ตามกันต่อมาก็คือ เมื่อไม่มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาของการปลูกสร้างเรือนเครื่องผูกก็ไม่มีการ พัฒนา ซึ่งในไม่ช้าเรือนเครื่องผูกก็จะหายไปจากแผ่นดินไทย

ในขณะเดียวกันเรือนเครื่องผูกถูกลอกเลียนรูปแบบรูปทรง กลายเป็นรีสอร์ตหรูที่มีค่าพักต่อคืนละเป็นหมื่นบาท อาศัยปรับสภาพสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่หรูหรา ด้วยวัสดุก่อสร้างที่มีราคา เพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย จึงเป็นที่พักผ่อนที่มีราคาอย่างที่กล่าวมา ดูรูปเปรียบเทียบจะเข้าใจได้อย่างชัดเจน

เรือนเครื่องผูกแบบดั้งเดิมที่ให้ความสุข ความสงบ ความสบายและความปลอดภัยของชีวิตกำลังจะเลือนไปจากวิถีชีวิตพื้นบ้าน เพราะการเลือนไปของวัสดุก่อสร้าง และช่างฝีมือที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญาที่จะสร้างสรรค์บ้านพักอาศัยให้เข้ากับ สภาพแวดล้อมที่สุขสบายไปตามสภาพสังคมของตน จึงทำให้ผู้คนในพื้นถิ่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปลายสุดของสังคมไทยกำลังหมด โอกาสที่จะมีบ้านสมควรแก่อัตภาพไปด้วย

ตรงนี้ก็มีคำถามว่า เราหรือสังคม หรือชุมชน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหวังดี อยากจะให้ชาวบ้านทั่วไปในระดับเศรษฐกิจรากหญ้ามีสิทธิมีโอกาสจะมีบ้านอยู่ อาศัยของตนจะทำอย่างไร

ในประเทศจีนมีหน่วยงานวิจัย พัฒนาไม้ไผ่ วัสดุก่อสร้างท้องถิ่น มาเป็นสินค้าหลากหลายที่มียอดส่งออกเป็นร้อยล้าน แต่บ้านเราไม่มีหน่วยงานใดมาวิจัย มารักษา มาพัฒนาไม้ไผ่ เพื่อเอาไปใช้เป็นวัสดุพื้นถิ่น เพื่อจะได้สร้างบ้านที่อยู่อาศัย

บ้านเราไม่มีหน่วยวิจัยที่จะวิจัยบ้านดิน บ้านที่ให้ความอบอุ่นความสบายของชีวิตธรรมดา ก่อสร้างได้โดยใช้แรงงานท้องถิ่น หรือของคนจะอยู่เองก็ไม่มีการศึกษาพัฒนาให้มีอยู่ คงอยู่ เพื่อเป็นที่อยู่ที่อาศัย

เรือนเครื่องผูกที่กำลังเลือนไป ทำให้ผู้คนที่อยู่ในระดับรากหญ้าหมดหวัง หมดหลักประกันในชีวิตและความเป็นอยู่คำถามทิ้งท้ายคือ ใครและหน่วยงานใดจะรักษาโอกาสของคนเหล่านี้ได้ ?