วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

 

ชนเผ่าเมี่ยน : อาหารและโภชนาการ


แหล่งอาหาร แหล่งอาหารของเมี่ยนนั้นมักจะได้มาจากการหามาโดยตนเองเป็นส่วนใหญ่ เช่น มาจากการเพาะปลูก หรือหามาจากธรรมชาติตามป่าเขา อาทิเช่น

1. แหล่งอาหารที่ผลิตเอง
แหล่งอาหารที่ผลิตเอง ส่วนมากเป็นอาหารมาจากการเพาะปลูก มักจะเป็นอาหารหลัก ข้าวและผักชนิดต่าง ๆ โดยจะปลูกผสมลงในไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทานตะวัน งาดำ งำขาว พริก มะเขือ มะเขือเทศ น้ำเต้า ฟักทอง ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักกาด กระเทียม เผือก มันเทศ ขิง ข่า หอม แตงกวาต่าง ๆ ฯลฯ     
2. แหล่งอาหารที่ได้จากธรรมชาติ
ส่วนมากจะเป็นอาหารที่มาจากป่า สามารถหาได้ทุกฤดูกาลและตลอดปี แต่ละฤดูกาลชนิด และประเภทของอาหารก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละฤดูกาล ซึ่งจะขึ้นอยู่กับธรรมชาติและพื้นที่แต่ละที่ด้วย อาหารจากธรรมชาติส่วนใหญ่มักจะเป็น เช่น เห็ดชนิดต่าง ๆ หน่อไม้ หวาย ปลีกล้วยป่า ผักขม ชะอม ลูกต๋าว กระท้อน มะเขือพวง ลูกก่อ ผักหวาน ฯลฯ อาหารประเภทโปรตีนได้แก่ หมูป่า ไก่ป่า อี่เก้ง นก กระต่าย เลน กระรอก เม่น ลิ้น ฯลฯ
อาหารที่ได้จากแหล่งน้ำ ได้แก่ ปลาชิดต่าง ๆ ปู หอย กุ้ง เต่า ผักกูด ผักบุ้ง กบ เขียด ลูกอ๊อด ฯลฯ
3. แหล่งอาหารจากภายในชุมชน

ปัจจุบันในแต่ละหมู่บ้านส่วนใหญ่มีถนนตัดผ่าน การคมนาคมระหว่างชุมชนสะดวกสบาย วัฒนธรรมการบริโภคใหม่ ๆ เข้ามา มีการค้าขายระหว่างหมู่บ้านมากขึ้น ชนิดอาหารจาภายนอกได้เข้ามา เช่น อาหารประเภทปรุงรส ได้แก่ น้ำปลา น้ำตาล กะปิ ผงชูรส เกลือ อาหารสำเร็จรูป อาหารต่าง ๆ ผักและเนื้อบางอย่าง ตามแต่ละชุมชนสะดวก

การประกอบอาหาร
1. การต้มหุง

โดยทั่วไปแล้วเมี่ยนจะหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ ในแต่ละบ้านของเมี่ยนจะหุงข้างครั้งละมาก ๆ หม้อโต ๆ เพราะนอกจากจะรับประทานเฉพาะมื้อแล้ว ยังสามารถห่อไปกินในไร่ และเหลือไว้ให้เด็ก ๆ กินตลอดทั้งวันด้วย การหุงข้าวของเมี่ยนนั้นเริ่มด้วยการเอาข้าวใส่หมอล้างน้ำ 1-2 รอบ แล้วนำไปตั้งกับไฟ ไม่นานนักน้ำก็จะเดือดทิ้งเอาไว้ระยะหนึ่ง เมื่อตักมาบีบดูพอเห็นว่าสุก แล้วจะรินน้ำข้าวที่เหลือออกพอประมาณ แล้วนำหม้อข้าวมาวางบนไฟชั่วครู่ แล้วยกลงมาวางไว้หน้าเตาไฟที่เกลี่ยถ่านร้อน ๆ ออกมาลาดไว้ก่อนนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ข้าวสุกดี อาจใช้ไม้คนข้าวบ้าง ก็เป็นอันเสร็จ
 2. การปรุงอาหาร

อาหารของเมี่ยนมักจะปรุงแบบง่าย ๆ เริ่มจากการตั้งกระทะบนไฟ แล้วใส่น้ำมันหมูพอสมควรตามความจำเป็น ตามอาหารแต่ละชนิด เมื่อร้อนได้เต็มที่แล้วก็เติมน้ำลงไป ใส่เกลือ ตั้งไว้พักหนึ่ง 5-10 นาทีใส่ผัก หลังจากสุกก็ยกลงวางไว้บนหิ้งข้างฝา ซึ่งนิยมทำเป็นที่รองเป็นขดกลม ๆ ด้วยฟางข้าวบางทีก็ว่าไว้บนเตา ผักที่ใช้ปรุงอาหารจะต้องได้การล้างก่อนนำมาลงกระทะ ใช้มือบิดให้ขาดเป็นท่อน ๆ เมี่ยนจะไม่นิยมนำมีดมาหั่น ยกเว้นพืชผักบางชนิด เช่น มะเขือ แตงกวา ฟักทอง มะระ ซึ่งเป็นพืชที่นิยมมาก นำมาหั่นจนฝอย แล้วผัดกับน้ำมัน เมี่ยนจะนิยมรับประทานอาหารที่สุกแล้วเป็นส่วนมาก ยกเว้นเพียงแต่อาหารประเภทลู่ ซึ่งจะประกอบด้วยเลือดสด ๆ ใช้เครื่องเทศต่างประกอบ ชึ่งจะหาได้จากในป่านำมาสับให้ละเอียด แล้วนำลงกวนกับเนื้อซึ่งสับแล้วในเลือด รอจนกว่าเลือดจับกันเป็นก้อน อาหารลู่นี้จะนิยมทานเฉพาะผู้ชายเมี่ยนวัยกลางงขึ้นไปเท่านั้น คนหนุ่มและเด็กไม่ค่อยนิยมกินลู่ที่มีเลือดเช่นนี้ เชื่อกันว่าจะสร้างเลือดที่ไม่ดีในร่างกาย
อาหารโดยทั่วไปของเมี่ยนมักจะมีรสเค็มเป็นส่วนมากเท่านั้น รสเปรี้ยว หวาน และเผ็ดนั้นมีเป็นส่วนน้อยมาก ถึงแม้ว่าเมี่ยนจะนิยมกินอาหารเผ็ด แต่ก็ไม่นิยมปรุงอาหารให้มีรสเผ็ด ไม่มีการแกงโดยใช้เครื่องแกงแบบพื้นราบ เครื่องปรุงต่าง ๆ นิยมซื้อจากตลาดในพื้นราบ เช่น เกลือ เมี่ยนจะนิยมซื้อเกลือครั้งละมาก ๆ อาจจะเป็นกระสอบ นอกจากซื้อทีเดียวแล้วยังแบ่งปันกันได้ด้วย น้ำปลา น้ำตาลทราย ผงชูรส โดยปกติทั่วไป เมี่ยนยังไม่นิยมใช้น้ำปลาเท่าใดนัก อาหารที่ปรุงให้สุกใช้เกลือเพียงอย่างเดียว พวกนี้ถ้าจะมีก็ใช้เฉพาะทำน้ำจิ้มเท่านั้น

เตาทำอาหาร

โดยทั่วไปแล้วอาหารจะได้รับการตระเตรียมในครัว ซึ่งป็นส่วนของผู้หญิง เมี่ยนจะมีเตาไฟอยู่ 2 ประเภท คือ เตาไฟแบบก่อด้วยดินเป็นแท่ง ภายในจะว่างมีประตู 2 ด้าน สำหรับใส่ฟืนด้านบนเจาะเป็นที่ตั้งหม้อซึ่งนิยมทำไว้ 2 ที่ ขนาดใหญ่และอย่างละที่ นอกจากเตาแบบนี้แล้ว บางบ้านอาจจะมีเตาสามขา คือใช้ก้อนหิน 3 ก้อนวางเป็น 3 มุม หรือใช้สามขาที่ทำด้วยเหล็ก และยังมีเตาไฟสำหรับต้มอาหารเลี้ยงหมู ทำเป็นเตาขนาดใหญ่สำหรับวางกระทะใบใหญ่ มีลักษณะกลม นอกจากต้มอาหารให้หมูแล้ว ยังใช้สำหรับต้มน้ำ เพื่อใช้ในการลวกขนหมูออก หลังจากที่ฆ่าหมู หรือใช้ต้มน้ำเพื่อให้คนป่วยอาบ แล้วใช้นึ่งขนมด้วย (ยั้วเจี๊ยะ ยั้วด้าว) ของเมี่ยนนั้นเอง ซึ่งเป็นขนมในงานพิธีกรรม นอกจากพวกนี้แล้ว ยังใช้ต้มกลั่นสุราได้ด้วย เตาอีกเตาหนึ่งอยู่หน้ายกพื้นสำหรับรับรองแขก (พ่าง) ความจริงลักษณะเป็นกองไฟมากกว่าเตาไฟ แต่บางบ้านใช้เตาสามขาวางครอบกองไฟนี้ด้วย เพื่อใช้ต้มน้ำร้อนหรือน้ำชาสำหรับดื่ม เมี่ยนจะชอบนั่งล้อมรอบกองไฟนี้ แล้วแลกเปลี่ยนกันสูบบ้องยาน้ำ ตามภาษาของผู้เฒ่าผู้แก่     
และเมี่ยนเชื่อกันว่ามีวิญาณตนหนึ่งอาศัยอยู่ที่เตาไฟด้วย การรดน้ำลงบนเตาไฟถือเป็นข้อห้ามอย่างหนึ่งทางจารีตประเพณีของเมี่ยนเลยที เดียว การนั่งหันเท้าไปสู่เตาไฟ และการนั่งผิงไฟโดยหันก้นให้กับเตาไฟจะกระทำไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้หญิงมีครรภ์ จะต้องไม่เดินผ่านปากเตาไฟในระยะใกล้ ๆ โดยเมี่ยนเชื่อว่า ข้อห้ามเหล่านี้ถ้าได้รับการละเมิด วิญญาณเตาไฟจะทำร้ายผู้อาศัย โดยจะทำให้เกิดมีแบดแผล หรือมีแผลผุพอง มีการเจ็บป่วยเหมือนถูกไฟใหม้
    อุปกรณ์ในการประกอบอาหาร

1. หม้อข้าว (แชง) ปัจจุบันนิยมใช้หม้ออลูมิเนียมที่ซื้อจากตลาด มีทั้งหม้อข้าวที่มีหูและไม่มีหู ในสมัยก่อนใช้หม้อเหล็ก ลักษณะคล้ายกับบาตรของพระสงฆ์แต่มีหูไว้สำหรับยก ในปัจจุบันบางบ้านเมี่ยนยังคงมีหม้อข้าวชนิดนี้เก็บไว้อยู่เหมือนกัน
2. กระทะ (แชง เบี้ยน) ใช้ในการปรุงอาหารประเภทผัด แกงจะนิยมใช้หม้อ แต่ละบ้านของเมี่ยนนั้น จะมีกระทะหลายใบ
3. ตะหลิว มีใช้กันบ้างแต่ไม่ค่อยนิยม เมี่ยนมักจะใช้ขันที่ตักข้าว หรือใช้ไม้ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพายเล็ก ๆ ที่ใช้คนข้าวแทนตระหลิวเอา
4. ไม้คนข้าว (ฮ่างเจ้ย) นิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน หรือไม้ไผ่ที่มีลักษณะคล้ายที่พายเรือ มีขนาดเล็ก การหุงข้าวที่ไม่ใช้ไม้คนข้าว ข้าวจะไม่ระอุดี เพราะเมี่ยนจะหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ
5. ตะเกียบ (เจี่ยว) เมี่ยนนิยมใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหาร ซึ่งจะเหลาจากไม้ไผ่ จะย้อมตะเกียบให้เป็นสีแดง เพราะถ้านำมาใช้ในงานพิธีต่าง ๆ จะถือว่าเป็นสิริมงคล เช่น งานแต่งงาน และการย้อมสีตะเกียบนี้ เพื่อเป็นการรักษาให้ตะเกียบใช้งานได้นานด้วย ตะเกียบจะไม่ขึ้นรา โดยปกติจะเก็บตะเกียบกับไม้คนข้าวไว้ในกระบอกไม้ไผ่ที่ติดอยู่กับชั้นวางอุปกรณ์ต่าง ๆ

การถนอมอาหาร
เมี่ยนจะนิยมประเภทเนื้อสัตว์สำหรับรับประทานในระยะเวลายาว โดยเฉพาะการเก็บเนื้อหมู วิธีต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้หลายพิธี เช่น
1. การแขวนเนื้อหมูไว้ใต้เพดานหิ้งในครัว ปล่อยให้รมครันไฟจนส่วนนอกมีสีดำคล้ายติดเขม่าไฟ จะสามารถเก็บเนื้อไว้ได้นาน เมื่อจะรับประทานก็แล่เนื้อด้านนอกทิ้ง เนื้อด้านในสภาพจะยังคงเหมือนเดิมอยู่
2. อ๊อซุย คือเนื้อหมู่ที่นำมาดองจนเปรี้ยว โดยจะเอาเนื้อหมูมาหันเป็นชิ้น ๆ เรียงใส่ในไห และโรยเกลือให้ทั่วจนเต็มไห แล้วปิดปากไหให้แน่น หากปาดเอาหนังหมูมาสับ และเอาข้าวสุกมาใส่จะทำให้เนื้อมีรสชาติเปรี้ยวเร็วขึ้น และสามารถเก็บไว้ได้นาน
3. อ๊อบ้วนซุย เนื้อดอง จะหันเนื้อเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอาข้าวสารแช่น้ำ 2-3 ชั่วโมง แล้วนำมาตำให้ละเอียดจนเป็นข้าวผง เอามาคลุกกับเนื้อแล้วใส่น้ำเล็กน้อย จะสามารถเก็บไว้รับประทานได้ยาวนานเป็นปี โดยเอาใส่ไหไว้
4. อิ๊บอ๊อซุย คือ เอาเนื้อมาทอดให้น้ำมันออก เมื่อสุกแล้วตักมาไว้ให้เย็นก่อน แล้วเอามาใส่ไหปิดให้มิดชิด
5. หน่อไม้ดอง (แบ่ซุย) ใช้หน่อไม้มาดองกับเกลือ ดองได้ทั้งหน่อหรือที่ซอยแล้วก็ได้ หน่อไม้ 1 ไห ต่อเกลือ 1/2 กิโลกรัมใส่ไห่เติมน้ำแล้วปิดฝา
6. ผัก กาดดอง (ไร่ซุย) จะเอาผักกาดมาหันฝอย แล้วเอาน้ำข้าวร้อน ๆ ใส่ดองไว้ประมาณ 4-5 วัน หรือจนกว่าผักจะเปรี้ยว แต่ถ้าดองมาก ๆ ก็จะใส่น้ำข้าวปนข้าวสุขไปด้วย
7. แคบหมู (อ๊อฟ้าว) เมื่อฆ่าหมูเมี่ยนจะเลาะเอาไขมันที่ติดกับหนังหมูมาทอดในกระทะขนาดใหญ่ เพื่อให้น้ำมันออกจนหมด ก็จะได้แคบหมู การเก็บนั้นจะต้องเก็บรวมกับน้ำมันในไหน้ำมันด้วย อาจจะเพิ่มเนื้อแดงที่ทอดสุกมาเก็บไว้รวมกันก็ได้ เมื่อถึงเวลารับประทานก็จะตักออกมาอุ่นให้น้ำมันออก แล้วนำมาประกอบอาหารต่อ

ข้าวซ้อมมือ
ข้าวที่เมี่ยนหุงรับประทานประจำวันเป็นข้าวซ้อมมือ การตำข้าวจะเป็นครกกระเดื่อง เกือบทุกหลังคาเรือนจะมีครกกระเดื่องภายในบ้าน และถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญต่อขวัญเด็ก ขวัญของเด็กทารกในครรภ์มารดาในช่วงเดือนที่สามและเก้า จะอยู่ที่ครกกระเดื่อง จึงมีข้อพึงสังวรในเรื่องการเอามีดฟันไม้ครกกระเดื่อง

โดยปกติเป็นงานของแม่บ้านหรือหญิงสาวในบ้านจะต้องเตรียมข้าวสารสำหรับหุง รับประทาน เมี่ยนจะไม่นิยมตำข้าวไว้รับประทานหลาย ๆ มื้อ จะตำเพื่อหุงเฉพาะมื้อเท่านั้น หลังจากที่เสร็จงานบ้านที่เกี่ยวกับการเตรียมอาหาร และบริการสมาชิกในครอบครัวแล้ว แม่บ้านหรือหญิงสาวในบ้านก็จะตำข้าวต่อ บางบ้านจะนิยมตำข้าวในตอนเช้าตรู่ คือ เมื่อก่อไฟตั้งหม้อข้าวแล้ว ผู้หญิงจะตำข้าวและเสียงตำข้าวนี้ก็จะช่วยปลุกให้ผู้อื่นตื่นด้วย
ข้าวซ้อมมือหรือข้าวตำด้วยครกกระเดื่อง จะเป็นที่นิยมเพราะว่ามีวิตามินสูง อร่อย การตำเช่นนี้จะทำให้สารอาหารยังคงอยู่ สารอาหารไม่ค่อยถูกขัดออกมาก เมี่ยนจึงชอบตำข้าวด้วยครกกระเดื่องนั่นเอง

ชนิดของครกกระเดื่อง

ครกกระเดื่องของเมี่ยนจะมี 2 ประเภท คือ ครกกระเดื่องแรงคน เรียกว่า ตาบต๋อย กับ ครกกระเดื่องแรงน้ำ เรียกว่า อวม ต๋อย ประเภทนี้จะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ส่วนมากจะมีเฉพาะในหมู่บ้านที่มีแม่น้ำลำธารเท่านั้น เมี่ยนจะไม่ตำข้าวในช่วงตอนวันมากนัก เพราะถ้าตำข้าวในช่วงตอนกลางวันนั้นจะมีไก่มารบกวน ข้าวที่ตำด้วยครกกระเดื่องนี้จะมีสีข้าวไม่ขาวจัดเหมือนเอาเข้าไปในโรงสี ข้าว มีรำเมล็ดข้าวที่เปลือกแตกปะปนอยู่ด้วย ต้องเอามาฝัดด้วยกระด้ง ก็จะทำได้รำข้าวสำหรับเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูด้วยตาม ๆ กันไปนั้นเอง แต่ปัจจุบันนี้ในชุมชนเมี่ยนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใช้กันแล้ว เพราะว่ามีโรงสีข้าวข้าว เพราะว่าโรงสีข้าวนี้จะช่วยให้สะดวกสบายมากขึ้น และยังไม่ต้องใช้แรงงานมากอย่างการตำด้วยครกกระเดื่องนั้นเอง

อาหารสำหรับบุคคลในวัยต่างๆ


1. อาหารสำหรับสตรีมีครรภ์และหลังคลอด
อาหารสำหรับสตรีมีครรภ์โดยทั่วไปจะไม่มีรูปแบบพิเศษ จะเป็นแค่อาหารธรรมดาที่บริโภคทั่วไปในชีวิตประจำ เมี่ยนจะให้สตรีมีครรภ์บริโภค เนื้อไก่ เนื้อหมู ไข่ พริก และผักเขียวต่าง ๆ แต่มีข้อห้ามบางอย่างอยู่ คือ เมี่ยนจะห้ามบริโภคสัตว์ป่าต่างๆ แ ละผลไม้ทุกชนิดที่เป็นแฝดติดกัน เมี่ยนจะให้ความสำคัญกับสตรีมีครรภ์หลังคลอดมาก จะต้องบริโภคข้าวหมากต้มไก่ใส่สมุนไพรเป็นอาหารหลัก จะไม่สามารถรับประทานอาหารจำพวกมะเขือต่าง ๆ ฟักทอง ยอดฟักทอง แตงกวา ฟักเขียว ปลีกล้วย กล้วยสุก มะละกอสุก กะหล่ำปลี ฝรั่ง ปลา จำพวกนี้จะรับประทานไม่ได้โดยเด็ดขาดเลย     

2. อาหารสำหรับเด็กทารกและเด็กเล็ก
อาหารสำคัญสำหรับเด็กแรกเกิดเด็กหรือวัยทารก นมแม่ เด็กทารกจะได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ เพราะถูกเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดกับแม่ตลอดเวลา เด็กวัยทารกจะเริ่มได้รับอาหารเสริมที่ไม่ใช่นมแม่ตั้งแต่มีอายุประมาณ 3-5 เดือนเป็นต้นไป อาหารเสริมสำหรับเด็กทารก ได้แก่ กล้วยบด ไข่ต้ม ต้มจืด โจ๊กหมู โจ๊กไก่ ข้าวผสมน้ำครุก หรือน้ำตาล หรือเกลือ ข้าวบดกับกล้วย นอกจากนี้แล้วยังมีข้อห้ามเรื่องอาหารสำหรับเด็กวัยทารก เช่น ห้ามบริโภคเสือ แมวป่า เหยี่ยว และผึ้ง เพราะเชื่อว่าถ้าให้เด็กบริโภคแล้วจะทำให้เด็กเล็กมีอาการชัก

3. อาหารสำหรับผู้สูงอายุหรือคนชรา

สำหรับผู้สูงอายุหรือคนชรานั้นจะบริโภคอาหารตามปกติที่มีอยู่ในชีวิต ประจำวัน จะไม่มีรูปแบบอาหารพิเศษเฉพาะกลุ่ม จะเป็นอาหารธรรมดา เช่น ต้มจืดผักต่าง ๆ ต้มเนื้อ เป็นต้น โดยปกติแล้วผู้สูงอายุจะไม่บริโภคอาหารที่มีรสจัด ไม่เผ็ดมากเกินไป และควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย นุ่ม ไม่แข็งมาก และในจารีตประเพณีเมี่ยนนั้นจะให้เกียรติผู้สูงอายุ จะต้องตักอาหารเสิร์ฟให้ผู้สูงอายุก่อนคนอื่น ถ้าจำเป็นต้องรับประทานก่อน จะต้องตักแบ่งอาหารเก็บไว้ให้ผู้สูงอายุ

4. อาหารสำหรับกลุ่มผู้ป่วย
อาหารสำหรับกลุ่มผู้ป่วยนั้นมีหลักเกณฑ์พิจารณาว่า อาหารสำหรับผู้ป่วยควรย่อยง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่มีรสจืด เช่น ต้มผัก ปิ้งเนื้อคลุกเกลือ ไข่ลวกหรือไข่ต้ม ข้าวต้มปรุงรสด้วยเกลือ แกงเนื้อหมูต้มเปื่อย และจะมีข้อห้ามบางอย่าง เช่น ถ้าเป็นโรคเหน็บชา จะห้ามไม่ให้รับประทานอาหารประเภทดอง ถ้าป่วยเป็นผิวหนังก็จะไม่รับประทานอาหารประเภทเนื้อ ถ้าเป็นหวัดจะไม่รับประทานอาหารประเภทที่มีรสหวาน ถ้าบาดเจ็บเป็นแผลแขนขาหักจะไม่รับประทานอาหารประเภท ไก่ ปลา กบ ปู เป็นต้น เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้หายช้า

5. อาหารสำหรับในงานโอกาสต่างๆ
อาหารสำหรับในงานพิธีหรือเทศกาลต่าง ๆ นั้น จะหรูหรากว่าปกติ การเตรียมอาหารก็จะเป็นผู้หญิง อาหารที่ใช้ในพิธีกรรมหรืองานเทศกาลจะใช้หมู หรือไก่เป็นส่วนใหญ่ หลังจากที่ทำพิธีกรรมเสร็จ ก็จะนำมาประกอบอาหารใช้เลี้ยงแขก หรือเพื่อนบ้านที่มาร่วมงานนั้นเอง ในเทศกาลนี้อาจจะมีอาหารหลายอย่างจากข้างนอกก็ได้ เช่น ซื้ออาหารจากตลาดใหญ่ในเมืองมาเป็นเครื่องประกอบด้วย ตามแต่ละบ้านที่พร้อมและมีเงินนั้นเอง