การตำข้าว - ความเชื่อและพิธีกรรม วันจกข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
19/03/2009
ที่มา: 
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/

การตำข้าว  - ความเชื่อและพิธีกรรม
(ศรีเลา เกษพรหม ผู้เขียน)

วันจกข้าว

วันจกข้าว คือวันที่ขึ้นไปตักข้าวเปลือกออกจากยุ้งฉาง เพื่อนำไปตำให้เป็นข้าวสารโดยทั่วไปจะห้ามตำข้าวในวันพระ นอกจากนั้นคนโบราณยังมีตำราดูฤกษ์ดูวัน เรียกว่า “ต๋ารางวันจกข้าว” และ “วันผีช่วยกิน” ถ้าจกไม่ดูตำราก่อน เมื่อไปถูกหรือตรงกับวันที่ห้ามจกข้าวแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ข้าวในยุ้งนั้นหมดเร็วกว่าปกติ

ต๋ารางวันจกข้าว

ต๋ารางวันจกข้าวทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกหรือไม้จริง กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ด้านหนึ่งทำเครื่องหมายขีดเป็นตาราง 2 แถวจากด้านบนลงล่าง แถวละ 15 ช่องตามจำนวนวันขึ้นแรม โดยแถวหนึ่งเป็นข้างขึ้น อีกแถวหนึ่งเป็นข้างแรม สำหรับดูวันที่จะตักข้าวเปลือกไปตำ ไปสี มักจะผูกแขวนไว้ที่ประตูยุ้งข้าว

:: รูปแบบหนึ่งของไม้ต๋ารางวันจกข้าว ::

วันผีช่วยกิน


นอกจากต๋ารางวันจกข้าวแล้ว ยังมีตารางที่ใช้ประกอบดูวันอีกชนิดหนึ่ง คือวันผีช่วยกิน เรียกว่า “ตารางวันผีตามอยช่วยกินข้าว” เป็นตารางบอกว่าวันไหนผีช่วยกินกี่ตัว วันไหนผีไม่กินสักตัว ถ้าตรงกับวันผีช่วยกินห้ามไม่ให้ตักข้าวออกจากยุ้ง เพราะผีจะช่วยกินข้าวให้หมดเร็ว
การดูตารางวันที่ผีตามอยช่วยกินข้าวให้นับตั้งแต่ 1 ค่ำ ไปถึง 15 ค่ำ แถวบนเป็นเดือนข้างขึ้น แถวล่างเป็นเดือนข้างแรม

ในการตักข้าวเปลือกไปตำนั้น คนโบราณท่านว่าไม่จำเป็นไม่ควรใช้กระบุงหรือภาชนะอย่างอื่นตัก ข้าว จะทำให้ขวัญข้าวหนี แต่จะใช้ “อองเต่า” (คือกระดองเต่าที่ตัวตายไปแล้ว) เป็นภาชนะตักข้าวเปลือกจากยุ้งใส่กระบุง เมื่อจะนำข้าวออกไปตำไปสี


ทานข้าวใหม่
เมื่อนำข้าวเปลือกใส่ยุ้งฉางแล้ว เจ้าของบ้านจะยังไม่เอาข้าวใหม่มาตำหรือสีกินจนกว่าจะได้ทำบุญข้าวใหม่เสียก่อน เรียกว่า “ทานข้าวใหม่” เพื่ออุทิศกุศลไปถึงเทวดา ผีขุนน้ำ (เช่น ขุนหลวงบ่าลังคะ เป็นต้น) และปู่ย่าตายาย พ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไร่นามาแต่เดิม

สำรับข้าวที่จะทานข้าวใหม่ประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่งสุก อาหารตามความนิยมของท้องถิ่น บางแห่งมีห่อนึ่งหัวปลีหรือห่อนึ่งไก่ 1 ห่อ บางท้องถิ่นมีแกงวุ้นเส้น แกงอ่อม บางท้องถิ่นมีปลาย่างหรือปลาบ้วง 1 ตัว ข้าวจี่ และข้าวหลาม

การทานข้าวใหม่นี้ใครเก็บเกี่ยวเสร็จก่อนก็ยกไปทำบุญก่อน สำหรับวันที่นัดพร้อมกันไปทำบุญทานข้าวใหม่ที่วัด คือ วันเพ็ญเดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม) ซึ่งเรียกวันนี้ว่า “เดือน 4 เป็ง” สมัยโบราณในวันนี้ทางวัดทุกวัด จะจัดให้มีประเพณีทานข้าวใหม่ และก่อกองฟืนที่หน้าวิหาร เพื่อจุดไฟให้พระประทานในวิหารได้ผิงแก้หนาวในเช้าของวันเดือน 4 เป็ง ด้วย เรียกกองฟืนนี้ว่า “หลัวหิงพระเจ้า”

หน้าพระประธานในวิหารจะปูเสื่อกะลาไว้ 2 จุด แต่ละจุดตั้งบาตรพระไว้ 1 ลูก สำหรับให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือก และข้าวสาร มาใส่บาตร เพื่อทานเป็นข้าวล้นบาตร หรือเรียกว่า หล่อข้าวบาตร หรือการทานดอยข้าว ซึ่งข้าวนี้พระภิกษุสามเณรจะเก็บไว้ฉันเวลาที่ฝนตกหนักออกบิณฑบาตไม่ได้


อ่านเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยวทุกหัวข้อ คลิ๊กที่นี่จ้า