การตำข้าว - อุปกรณ์และวิธีตำข้าว

วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
19/03/2009
ที่มา: 
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.sri.cmu.ac.th/

อุปกรณ์และวิธีตำข้าว

(ศรีเลา เกษพรหม ผู้เขียน)

ในอดีตนั้นก่อนจะนำข้าวมาบริโภค จะต้องนำข้าวเปลือกมาตำเพื่อให้เปลือกข้าวหลุดออกจากเมล็ดข้าว การตำข้าวแต่ละครั้งจะตำครั้งละไม่มากนัก โดยทั่วไปจะใช้เปี้ยดหรือต๋างตักข้าวเปลือกออกจากเสวียนหรือยุ้งข้าวครั้งละ หาบ แล้วนำข้าวเปลือกไปตากแดด 1-2 วัน เพื่อลดความชื้นและช่วยให้การกะเทาะเปลือกออกทำได้ง่ายขึ้น


:: ตากข้าวเปลือก ::

อุปกรณ์ตำข้าว    

ชาวไร่ชาวนามีอุปกรณ์ที่ใช้กะเทาะข้าวเปลือก เช่น โหลย ครกมือ และครกมอง

  • โหลย

“โหลย” เป็นเครื่องกะเทาะเมล็ดชนิดหนึ่ง การกะเทาะเปลือกข้าวออกจากเมล็ดข้าวจะตากข้าวเปลือกให้ร้อนก่อน เพื่อให้กะเทาะง่ายหลังจากนั้นนำข้าวเปลือกมาเทลงปากโหลยแล้วโยกคานโหลยให้ ตัวโหลยหมุนบดข้าวเปลือกไหลลงไปออกตามช่องข้างล่าง

อย่างไรก็ตามโหลยไม่สามารถกะเทาะเปลือกได้หมด หลังจากใช้โหลยแล้วต้องนำไปใส่ครกมองเพื่อตำซ้ำอีกที


:: โหลย ::
(ภาพจากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดแม่ฮ่องสอน)

  • ครกมือ

ครกมือเป็นครกที่ตำด้วยมือ ครกทำด้วยท่อนไม้ใหญ่ เจาะหลุมด้านบนตรงกลางลำต้นของท่อนไม้ สากครกทำด้วยท่อนไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว มักเป็นสากสองหัว ยาวประมาณ 1.5 เมตร กึ่งกลางสากทำเป็นมือจับ ครกมือมีฐานกว้างสามารถวางอยู่บนพื้นดินได้โดยไม่ต้องฝังลงไปในดิน จึงสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ได้


:: สากของชาวลัวะ ::

 


:: ครกที่ทำด้วยท่อนไม้ใหญ่ ::

 

:: ครกมือของชาวไทใหญ่ ::

 

:: ครกมือของชาวไทใหญ่อีกแบบหนึ่ง ::

การใช้ครกมือตำข้าว จะนำข้าวเปลือกใส่ลงไปในครกพอประมาณ ผู้ที่ทำหน้าที่ตำข้าวจะยืนข้างๆ ครก ใช้มือทั้ง 2 ข้างจับที่กึ่งกลางสาก ยกสากขึ้นแล้วทิ่มลงไปในครก ให้สากไปกระแทกข้าวเปลือก ทำเช่นนี้เรื่อยไปจนกว่าเปลือกข้าวจะหลุดออกหมด


:: สาธิตการใช้ครกมือตำข้าว ::


:: สาธิตการใช้ครกมือตำข้าว ::

  • ตรกมอง

ครกมองประกอบด้วยส่วนของครกที่ทำจากขอนไม้ขนาดใหญ่ และตัวมองทำด้วยไม้ท่อนหนึ่งขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 นิ้ว ยาวประมาณ 4-5 เมตร ทำหน้าที่เป็นไม้กระดกตำข้าว เรียกว่า “แม่มอง” ทำจุดหมุนระหว่างหัวมอง (แม่มองส่วนที่มีสากติดอยู่) กับหางมอง (ปลายแม่มองอีกด้านที่เป็นที่รับน้ำหนักกดลง)


:: ส่วนของหัวมองที่มีสากยึดติดอยู่และครกมองของชาวม้ง ::


   
:: “แม่มอง” ของชาวม้ง ::

ในสมัยโบราณก่อนที่จะตัดไม้มาทำแม่มอง มีวิธีวัดความยาวของแม่มองให้ตรงกับโฉลกที่ดี คือให้วางเท้าขนานไปกับคันมอง เริ่มที่หัวมองก่อน วางเท้าไป 1 ก้าวก็ให้กล่าวคำโฉลกคำหนึ่ง เมื่อตกโฉลกที่ดีและได้ความยาวที่เหมาะสม จึงตัดไม้ตรงนั้น เชื่อว่าข้าวที่ตำกับแม่มองนี้จะกินไม่สิ้นเปลือง


:: ครกมองของชาวกะเหรี่ยง ::


:: ครกมองของชาวกะเหรี่ยง ทำราวสำหรับจับด้วย ::
(เอื้อเฟื้อภาพโดยคุณนิพนธ์ บุญมี)


การตำข้าวด้วยครกมอง จะเอาข้าวเปลือกใส่ลงไปในครก จากนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ตำจะใช้น้ำหนักตัวกดลงบนหางมอง โดยใช้เท้าเหยียบหางมองให้สากที่อยู่หัวมองกระดกขึ้น แล้วปล่อยหางมองให้สากตกลงไปกระแทกกับข้าวเปลือกในครก


:: ครกมองของชาวลัวะ ::
(อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ถ่ายภาพ)


:: ครกมองของชาวม้ง ::

  • ครกมองพลังน้ำ

นอกจากครกมองที่ใช้คนเหยียบแล้ว ยังมีการใช้ครกมองพลังน้ำ ซึ่งเป็นครกมองที่สามารถทำงานได้เอง ได้แก่ ครกมองพลังน้ำชาวเขา และครกมองพลังน้ำหมุนกังหัน

  • ครกมองพลังน้ำชาวเขา

ชาว เขาจะสร้างครกมองพลังน้ำ โดยออกแบบหางมองให้เป็นกระเปาะหรือภาชนะบรรจุน้ำ เส้นผ่าศูนย์กลางของขอบปากกระเปาะประมาณ 50 เซนติเมตร โดยทำรางต่อน้ำมาที่กระเปาะหางมอง เมื่อน้ำเต็มกระเปาะหัวมองจะกระดกขึ้นทำให้น้ำจากหางมองถูกเทออกจากกระเปาะ เมื่อน้ำหมดกระเปาะๆ จะกระดกขึ้นหัวมองก็จะตกลงในครกเช่นนี้เรื่อยไป


:: ครกมองพลังน้ำชาวเขา ::
(ภาพจากหนังสือเทคนิควิทยาพื้นบ้านล้านนา)'

 

  •     ครกมองพลังน้ำหมุนกังหัน

ครกมองพลังน้ำหมุนกังหัน เป็นครกมองที่ใช้พลังน้ำในการทำให้กังหันหมุน ส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ ครกมอง กังหัน และแกนเฟือง


:: ครกมองพลังน้ำหมุนกังหันของชาวไทใหญ่ ::

ครกมองพลังน้ำหมุนกังหันนี้สามารถทำงานได้เองเช่นเดียวกับครกมองพลังน้ำชาวเขา โดยการทำรางต่อน้ำจากลำห้วยมาที่กังหัน เมื่อน้ำไหลลงไปในช่องของกังหันจะทำให้กังหันหมุน



:: รางน้ำต่อจากลำห้วยเข้ากังหัน ::


:: น้ำจากรางน้ำจะไหลลงกังหัน ::


:: น้ำจากรางน้ำจะไหลลงกังหัน ::


เมื่อกังหันหมุนแกนเฟืองที่มีแขนไม้ยึดติดอยู่จะหมุนไปกดหางมองให้แม่มองกระดกขึ้น และปล่อยให้หัวมองตกลงมาตำข้าวเปลือกในครก เมื่อแขนไม้หมุนเลยหางมองไป หมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป

การทำงานของครกมองพลังน้ำแบบนี้ สามารถทำให้ครกมองทำงานได้พร้อมๆ กันหลายครก ขึ้นอยู่กับจำนวนแขนไม้ที่ยึดติดกับแกนเฟือง



:: แกนเฟืองไม้ยึดติดกับกังหัน ::


:: แขนไม้ยึดติดกับส่วนปลายของแกนเฟือง ::


:: แขนไม้หมุนตามแกนเฟืองไปกดหางมอง ::



:: ทำให้หัวมองกกระดกขึ้น ::

   

:: เมื่อแขนไม้หมุนเลยหางมองไป สากครกจะตกลงไปกระแทกกับข้าวเปลือกที่อยู่ในครก ::

เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ,วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดแม่ฮ่องสอน กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,2542.
ธีรศักดิ์ วงศ์คำแน่น และ นิรันดร์ ยงไสว ,เทคนิควิทยาพื้นบ้านล้านนา. ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว บรรณาธิการ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง,2541.
มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ คณะ,โครงการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. รายงานวิจัย เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2545.
สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ความเชื่อพื้นบ้านล้านนา. คมเนตร เชษฐพัฒนวนิช บรรณาธิการ. เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง,2540.


อ่านเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่นหลังการเก็บเกี่ยวทุกหัวข้อ คลิ๊กที่นี่จ้า