วันที่เอกสารถูกสร้าง: 
18/12/2007
ที่มา: 
มูลนิธิกระจกเงา โครงการพิพิธภัณฑ์ชาวเขาออนไลน์ http://www.hilltribe.org

ชนเผ่าเมี่ยน : อยู่กรรม

อยู่กรรม ซึ่งแปลเป็นภาษาเมี่ยนว่า กิ่ง คือ วันที่ถูกกำหนดขึ้นมาตามความเชื่อของคนรุ่นก่อนหรือบรรพบุรุษ ซึ่งมีการยึดถือและปฏิบัติต่อ ๆ กันมา อยู่กรรมจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป การนับวัน เดือน ปี เมี่ยนนี้จะเหมือนกับปฏิทินจีน อาจจะแตกต่างจากการนับแบบของไทย หรือสากลทั่วไป เดือนแรกของเมี่ยนนั้นจะเริ่มในวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจะตรงกับวันตรุษจีน (ราวเดือนมกราคม หรือเดือนกุมภาพันธ์ของไทย) เป็นวันที่ชาวเมี่ยนทุกคนต้องหยุดทำงานในไร่ และอยู่ที่บ้านอย่างสงบไม่ส่งเสียงดัง ส่วนใหญ่ไม่นิยมฆ่าสัตว์ในวันนั้น และไม่ตากผ้าในที่สูง ถ้าใครในหมู่บ้านฝ่าฝืนจะมีผลร้ายต่อหมู่บ้าน และตัวของเขาเอง อยู่กรรมนี้จะตรงกันทุกหมู่บ้าน เพราะยึดปฏิทินแบบจีนเป็นสำคัญ

1. วัน กรรมเสือนอน (กิ่ง ดะ ม่าว ป๋วย) เป็นวันกรรมที่เสือนอนหลับ คนไม่ควรเสียงดังรบกวน เพราะเชื่อว่า ถ้า ฝ่าฝืนจะมีผลเสียต่อสัตว์เลี้ยง และทรัพย์สิน จะมีการขอให้วิญญาณทั้งมวล ตลอดจนวิญญาณบรรพบุรุษช่วย ดูแลเสือไม่ให้มารบกวนชีวิต และทรัพย์สินของชาวบ้าน
2. วัน กรรมเสือเดิน (กิ่ง ดะ ม่าว ย่าง เจ้า) เป็นวันถัดมาจากวันกรรมเสือนอน เพื่อขอให้เทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้ เสือเดินทางไปหากินที่อื่น
3. วันกรรมมีด (กิ่ง หยุ) เป็นวันกรรมที่จะี่หยุดงานในไร่นา เพื่อให้มีความปลอดภัยจากมีดและขวาน
4. วันกรรมพายุ (กิ่ง จย๋าว) เป็นวันกรรมที่ต้องอยู่กรรม เพื่อให้ลมพายุไม่พัดทำลายชีวิตและทรัพย์สิน
5. วันกรรมนก (กิ่ง เหนาะ) เป็นวันกรรมที่ต้องอยู่กรรม เพื่อไม่ให้นกมาทำลายพืชผลต่าง ๆ ที่ปลูกไว้
6. วันกรรมหนู (กิ่ง หนาว) เป็นวันกรรมที่ต้องอยู่กรรม เพื่อไม่ให้หนูมาทำลายข้าวและพืชที่ปลูกไว้
7. วันกรรมงู (กิ่ง นาง) เป็นวันกรรมที่ต้องอยู่กรรม เพื่อไม่ให้งูต่าง ๆ เข้าบ้าน และไม่ให้งูกัดเวลาเดินทางในป่า
8. วันกรรมแมลงบุ้ง (กิ่ง แก้ง ปะเย) เป็นวันที่ต้องอยู่กรรม เพื่อไม่ให้ตัวบุ้งหรือตัวหนอนต่าง ๆ เข้าบ้าน หรือมารบกวน
9. วันกรรมฟ้า (กิ่ง บะ อง) ถือว่าเป็นวันเกิดของเทพฟ้าผ่า เมี่ยนจะไม่ไปไร่ หรือตำข้าว
10. วันกรรมน้ำหลาก (กิ่ง โหล่) เป็นวันกรรมที่ต้องอยู่กรรม เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้ามาทำความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และพืชไร่
11. วันกรรมเซ็งเม้ง (กิ่ง เฉ็ง เม่ง) เป็นวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ
12. วันกรรมชุ่นปุน (กิ่ง ชุ่น ปุน) เป็นวันกรรมเพื่อรับฤดูใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งจะทำ
ให้การเพาะปลูกได้ผลดี
13. วัน กรรมเลี่ยวห่า (กิ่ง เลี่ยว ห่า) เป็นวันผลัดเปลี่ยนฤดูกาลตามแบบจีน บางหมู่บ้านเชื่อว่า ระหว่างอยู่กรรม ห้ามผู้ชายนอนหลับในตอนกลางวัน เพราะถ้าหลับขวัญของเขาจะหายไป และจะไปอยู่ประเทศที่มีแต่ผู้หญิงที่ เมี่ยนเรียกว่า เยี่ยว เยี่ยน กั้ว
14. วันกรรม ปั้วชุน (กิ่ง ปั้ว ชุน) เป็นวันที่มีการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณอื่น ๆ ให้ช่วยดูแลรักษา และช่วยไล่สัตว์ป่าไม่ให้มารบกวนผลิตผลทางการเกษตร
15. วัน กรรมเลียบเชียว (กิ่ง เหลียบ เชียว) เป็นวันกรรมที่เซ่นไหว้ป่าเขา โดยทำเครื่องเซ่นที่มีรูปร่างคล้ายธง และทำให้เป็นรูปคล้ายเหรียญเงินเหรียญทอง เพื่อให้เจ้าป่าช่วยดูแลพืชผลต่าง ๆ ในไร่
16. วันกรรมข้าวตั้งท้อง (กิ่ง กู๋ โด๋ง จยด) เป็นวันที่ต้องอยู่กรรม เพื่อให้ข้าวตั้งท้องออกรวงตามปกติไม่ลีบฝ่อ
17. วัน กรรมเจียบ หือม (กิ่ง เจียบ หือม) เป็นวันที่ต้องอยู่กรรม เพื่อไม่ให้บรรดาวิญญาณทั้งปวง รวมทั้งวิญญาณที่ถูกขังโดยเวทย์มนต์ได้ออกมาท่ิิองเที่ยวอย่างอิสระ เป็นวิญญาณที่เป็นใหญ่ในรอบปี
18. วันกรรม เมี้ยนปุ๋ยบัวะ (กิ่ง เมี้ยน ปุ๋ย บัวะ) เป็นวันกรรมที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำรูปเทพสวมดาว ซึ่งถูกเก็บไว้อย่างมิดชิดออกมาผึ่งแดด ซึ่งเมี่ยนกล่าวว่า เป็นการเปิดหูเปิดตาเทพสามดาว
19. พิธีเจี๋ย ชุ่น ย่าง เป็นวันกรรมสำหรับการเปลี่ยนฤดูกาลมาสู่ฤดูหนาว บางหมู่บ้านกล่าวว่า พิธีนี้มีขึ้นเพื่อไม่ให้ฝนตกลงมา ทำความเสียหายแก่ต้นพืชระหว่างที่เก็บเกี่ยวเสียหาย

ในบางวันกรรมนั้น ชาวเมี่ยนจะจุดธูปปักไว้ที่ประตูเข้าบ้านและ ในวันนั้นจะใส่ชุดเมี่ยน หรือ ถ้าไม่ใส่ก็ควรที่จะแขวนไว้หน้าบ้าน เพราะชาวเมี่ยนมีความเชื่อว่า เพื่อจะให้วิญญาณบรรพบุรุษได้ปกปักคุ้มครองลูกหลาน